จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำ สถานที่ท่องเที่ยว ในตัวเมืองเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 18, 2015, 05:59:40 AM



หัวข้อ: เดินดู "ศาลเจ้ากวนอู" ที่กาดหลวง
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 18, 2015, 05:59:40 AM
เคยนัดเพื่อนไว้นานแล้วครับว่าจะพากันมาเดินถ่ายรูปเล่นแถวตรงศาลเจ้ากวนอู ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดข่วงเมรุ หรือตรอกเหล่าโจ๊ว ทางด้านทิศตะวันตกของตลาดวโรรสกัน แต่ด้วยเวลาผ่านไปนานจนเกือบจะครึ่งปี ถึงตอนนี้ก็ยังพากันไม่ได้ไป สรุปผมเลยต้องมาคนเดียวในยามเช้า

จริงๆ แล้วมีโอกาสจะมากันแล้วครับ แถมมากันกลุ่มใหญ่ด้วย เพียงแต่ว่าไอ้ตอนจะมาเนี่ยพากันไปติดแหงกตรงกาดต้นลำไย ถ่ายรูปเพลินตรงสะพานลอย ซึ่งพอถ่ายไปถ่ายมาจนค่ำ เป็นอันว่าศาลเจ้ากวนอู ก็ปิดแล้วเรียบร้อย

ตรงศาลเจ้ากวนอู ใกล้กาดหลวง ถ้าเป็นช่วงตรุษจีนแถวนี้จะคึกคักกันเป็นพิเศษมาก ใครเผลอเดินเข้ามาเที่ยวเนี่ย นึกว่าพากันอยู่ในเมืองจีนเลย ส่วนวันธรรมดาก็มีบ้างที่จะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชมกันทั้งไทยและเทศ

สำหรับของศาลเจ้ากวนอูนั้นไม่มีผู้ใดบันทึกไว้ แต่จากการเล่าสืบต่อกันมา บอกว่าชาวจีนที่ก่อตั้งศาลบู้เบี้ยเป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งย่อมจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้ หรือวิทยายุทธอยู่บ้างจึงเป็นที่รู้จัก และสันนิษฐานว่าอั้งยี่น่าจะอพยพมาจากกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ศาลเจ้ากวนอูน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 120 ปี จากการคำนวณโดยยึดหลักจากการพิราลัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ ในปี พ.ศ.2440

ในส่วนของสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ นอกจากสถาปัตยกรรมจีนแล้ว ยังพบว่ามีศาลของเจ้าหลวงเชียงใหม่และแม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งมีพระนามของท่านสลักเอาไว้ทั้งภาษาจีนและตัวอักษรธรรมล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นศาลเจ้าจีนที่ชาวจีนสร้างให้กับเจ้าหลวงเป็นศาลเจ้าประจำตระกูล เพราะคนจีนที่เมืองจีนมีการสร้างศาลเจ้าประจำตระกูล ศาลเจ้าประจำตระกูลของกษัตริย์ก็มีเช่นกัน

จากการศึกษาจากประวัติศาสตร์สังคมจีนในไทย เทพเจ้ากวนอูเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมที่มีการค้าฝิ่น และอย่างอื่น ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าศาลเจ้ากวนอูมีสมาคมดนตรีจีนอยู่ด้วย จากหลักฐานคำบอกเล่าบอกว่าคนสร้างศาลเจ้าจีน เป็นคนจีนที่อพยพขึ้นมาเป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งสมาคมลับของจีน คือพวกอั้งยี่มีการจัดโครงสร้างหัวหน้า อาวุโสต่างๆ ดื่มเลือดสาบาน อุทิศตนให้แก่ภราดรภาพ และรักษาความลับของสมาคม โดยมีพิธีกรรมและสัญลักษณ์ทางศาสนากวนอู

สุดท้ายถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มอิทธิพลอั้งยี่ แต่กลุ่มนี้ก็ได้แสดงถึงความจงรักภักดีต่อเจ้าหลวงในการสร้างศาลเจ้าหลวง เพราะการเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มีแต่ความสะดวกสบายทางการค้าขาย และชาวจีนได้รับความยุติธรรมกับสิทธิพิเศษต่างๆ จากเจ้าหลวงเป็นอย่างดี อีกทั้งชาวจีนได้ยกเจ้าหลวงของเชียงใหม่ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นเทพของชาวจีน ซึ่งแสดงถึงการยอมรับ เข้ามาพึ่งพระบารมีของเจ้าหลวงเชียงใหม่ จึงได้มีพระป้ายและศาลเจ้าหลวงให้เคารพบูชาคล้ายกับที่กรุงเทพฯ ที่รัชกาลที่ 4 มีคติการสร้างพระป้ายให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า