จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 03, 2015, 10:57:48 AM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดลัฏฐิวนาราม (ป่าตาล)"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 03, 2015, 10:57:48 AM
ให้หลังจากไปเดินเยี่ยมชมหมู่บ้านป่าตาลแล้วกับหัตถกรรมเครื่องปั้นดินผา แบบตุ๊กตายิ้ม ผมถือโอกาสแวะมาเที่ยววัดลัฏฐิวนาราม (ป่าตาล) ด้วย ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันมากกับบ้านป่าตาล โดยตั้งอยู่เลขที่ 118 หมู่ 4 บ้านป่าตาล เชียงใหม่-ฮอด ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2210 คาดว่าอยู่ในช่วงที่พม่าครองเชียงใหม่ โดยแต่เดิมมีชื่อว่า วัดป่าตาล เป็นเพราะสมัยก่อนจะเป็นป่าต้นตาล จึงเรียกตามกันมานับตั้งแต่นั้น ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วัดป่าตาลได้มีการเปลี่ยนชื่อวัด เป็น วัดลัฏฐิวนาราม

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด มีเจดีย์วัดลัฏฐิวนาราม (ป่าตาล) สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2210 ทรงศิลปะพื้นเมืองเหนือ ผสมพม่า โดยแต่เดิมเป็นสถูปมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในพระธาตุเล็ก 4 มุม โขงพระพุทธรูปไว้ 4 ด้าน เจดีย์เรือนธาตุเป็นรูปทรงกลมคล้าย องค์ระฆังคว่ำ ซึ่งต้นกำเนิดและพัฒนาการนั้นสันนิษฐานว่ามาจากเจดีย์สาญจี ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งในประเทศอินเดียเรียกเจดีย์รูปครึ่งวงกลม กว่า อัณฑะ หรือ ครรภะ ซึ่งหมายถึงศูนย์กลางจักรวาล สอดคล้องกับคติความเชื่อในเรื่องจักรวาล และเขาพระสุเมรุ นั่นเอง รูปแบบเจดีย์ดังกล่าวนี้ล้านนาน่าจะรับอิทธิพลมาจาก ประเทศ ศรีลังกา ผ่านมาจากอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพญากือนา ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 มีงานประเพณีสรงน้ำพะธาตุ ประจำทุกๆ ปีในวันวิสาขบูชา (หรือเดือนแปดเป็ง)

พระวิหารรูปทรงแบบล้านนา มีตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) ด้านหน้าวิหารเป็นบันไดนาค ลักษณะของมกรคายนาค ซึ่งมักจะพบมากในวัดทางภาคเหนือ โดยตัว “มกร” นี้เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการครับ นัยว่า เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาค ออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด

ด้านข้างวิหารประดิษฐาน พระสิวลี เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล โดยพระสีวลีเถระในความเชื่อของคนไทยเชื่อว่าผู้ใดได้บูชาพระสีวลีเถระแล้ว จะได้รับโชคลาภเงินทองไหลมาเทมา

นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอุโบสถทรงล้านนา รูปหุ่นจำลองครูบาสองพี่น้อง คือครูบาผัด ปัญญาสาโร กับครูบาติ๊บ อภิชโย กันอีกด้วยครับ

วัดลัฏฐิวนาราม (ป่าตาล) มีกิจกรรมงานบุญตลอดทั้งปี ตามเทศกาลและประเพณีต่างๆ อีกทั้งยังมีเทศกาลมหกรรมดินยิ้มของหมู่บ้านป่าตาล ที่มีชื่อเสียงทางด้านประติมากรรมดินเผา ทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์