จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ มิถุนายน 29, 2015, 04:38:37 AM



หัวข้อ: สักการะ "พระเจดีย์นพบุรีศรีพิงค์มงคล" ที่วัดป่าจู้
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ มิถุนายน 29, 2015, 04:38:37 AM
นานๆ มาเที่ยววัดในต่างอำเภอ จะเจอเจดีย์สวยๆ ให้ได้ถ่ายภาพกันครับ เพราะปกติส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่วัดใหญ่ๆ เป็นวัดดังของอำเภอนั้น รูปแบบของสถาปัตยกรรมของเจดีย์นั้นมักจะไม่ค่อยโดดเด่น ผิดกับที่วัดป่าจู้ ใน ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่เป็นวัดเล็ก แต่มีองค์เจดีย์ที่สวยมาก

ดูจากลักษณะนั้น จะเห็นได้ว่าเจดีย์ทรงกลม ที่มีเรือนธาตุ เป็นรูปทรงกลมคล้าย องค์ระฆังคว่ำ ซึ่งต้นกำเนิดและพัฒนาการนั้นสันนิษฐานว่ามาจากเจดีย์สาญจี ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งในประเทศอินเดียเรียกเจดีย์รูปครึ่งวงกลม กว่า อัณฑะ หรือ ครรภะ ซึ่งหมายถึงศูนย์กลางจักรวาล สอดคล้องกับคติความเชื่อในเรื่องจักรวาล และเขาพระสุเมรุ นั่นเอง รูปแบบเจดีย์ดังกล่าวนี้ล้านนาน่าจะรับอิทธิพลมาจาก ประเทศศรีลังกา ผ่านมาจากอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพญากือนา

องค์ประกอบที่สำคัญของเจดีย์ทรงระฆัง ประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนองค์ระฆัง และส่วนยอด สำหรับส่วนฐานทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนชั้น 2-3 ชั้น เรียกว่าฐานเขียง ทำหน้าที่รับน้ำหนักส่วนบนของอาคาร ส่วนองค์ระฆังหรือส่วนเรือนธาตุของเจดีย์ จะออกแบบเป็นรูปทรงกลมคล้ายรูประฆังคว่ำ รอบองค์เจดีย์มีประดับด้วยซุ้มพระประดิษฐานไว้ภายใน และองค์เจดีย์ขนาดเล็กหลายองค์ สำหรับส่วนยอดนั้นจะเริ่มต้นด้วยบัลลังก์ ซึ่งทำเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กวางเหนือองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปทำเป็นปล้องไฉน ปลียอด และเม็ดน้ำค้างในส่วนปลายสุด สำหรับวัสดุที่ใช้ในการสร้างเจดีย์ ส่วนใหญ่มักก่อด้วยอิฐฉาบปูนทั้งองค์ ตกแต่งตัวองค์เจดีย์ด้วยแผ่นโลหะที่มีส่วนผสมระหว่าง ดีบุก ตะกั่ว และทองแดง ซึ่งภาษาช่างเรียกว่า ทองจังโก๋ ส่วนใหญ่มักเจดีย์มักหุ้มด้วยจังโก๋ทั้งองค์ และปิดด้วยทองคำเปลว อีกชั้นหนึ่ง

ทั้งนี้ เจดีย์ ในวัฒนธรรมล้านนานั้น มักสร้างเป็นประธานของวัดควบคู่กับพระวิหาร วางอยู่ในแนวแกนเดียวกับพระวิหาร ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่านอกจากเจดีย์จะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าและเป็น ศูนย์ของจักรวาลแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แทนวิถีแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอีกด้วย โดยอุปมาว่าส่วนฐานของเจดีย์เปรียบเสมือน ภาวะแห่งกิเลสตัณหาของมนุษย์ เรียกว่ากามภูมิ คือภูมิที่จิตใจมนุษย์นั้นยังหยาบกระด้าง ยังคงมีการเวียนว่ายตายเกิด ส่วนองค์ระฆังเรียกว่า รูปภูมิ หมายถึงจิตมนุษย์ ที่บริสุทธิ์ และส่วนยอดคือ อรูปภูมิ ภูมิ หรือจิตที่ละเอียดอ่อน ซึ่งไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอันหมายถึง พระนิพพาน ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนานั่นเอง โดยมีความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดผนวกไว้ด้วยในแนวคิดเดียวกัน

วัดป่าจู้ นอกจากจะมีองค์เจดีย์ที่สวยงาม และทรงคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว ภายในวัดยังมีวิหารทรงล้านนา พระเจ้าทันใจ ให้ได้ชมกันอีกด้วยครับ