จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 30, 2015, 09:14:31 AM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดแม่ก๊า"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 30, 2015, 09:14:31 AM
ไม่พูดพร่ำทำเพลงมา จากตัวเมืองสันป่าตอง ผมจะพามาทำความรู้จักกับ “วัดแม่ก๊า” กัน

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่  197  บ้านแม่ก๊า หมู่ที่  12 ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2463 โดยเจ้าอธิการคำปัน  สิริวิชโย และขุนวังพร้าวผดุง คล่องการงาน เป็นผู้สร้างวัดขึ้นในที่ตั้งปัจจุบันซึ่งย้ายมาจากที่ตั้งวัดเดิมที่ติดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงซึ่งถูกน้ำท่วมเป็นประจำ  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่  2  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2499  เขตวิสุงคามสีมา  กว้าง  40  เมตร  ยาว  80  เมตร  และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตรเมื่อวันที่  9  เมษายน  พ.ศ. 2530

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดประกอบด้วย วิหารวัดแม่ก๊า เป็นวิหารรูปแบบล้านนา ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) บันไดนาคเป็นแบบลักษณะ ของมกรคายนาค ซึ่งมักจะพบมากในวัดทางภาคเหนือ ภายในมีพระพุทธรูปทองเหลืองโบราณ ปางมารวิชัย อันเป็นพระพุทธรูป อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้

ศาลาบาตร ศาลาประเภทหนึ่งที่ใช้ในเขตสังฆาวาส สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรของพระสงฆ์ที่วางเรียงรายเป็นแถวยาว เพื่อรับเครื่องไทยทานที่ พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ ก่อนที่ศิษย์วัดจะนำไปประเคนถวายพระภายหลัง ซึ่งศาลาบาตรนี้มักพบในวัดที่อยู่ในเขตชุมชนมากกว่าในแถบชนบทหรือถิ่นกันดาร

พระเจดีย์ เป็นรูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เพิ่มซุ้มพระ 4 ทิศที่ชั้นฐาน ในซุ้มพระมีพระพุทธรูปยืนปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่

นอกจากนี้ในวัดก็ยังมีอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 5 ด้วย ส่วนเรื่องการก่อสร้างนั้นไม่ทราบที่มาแน่ชัด แต่สันนิษฐานน่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับทางวัดเมื่อครั้งในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 กันอย่างแน่นอน ไม่อย่างงั้น คงไม่สร้างกันไว้ตรงกลางวัดเป็นแน่