หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดทุ่งปุย" สันป่าตอง เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 30, 2015, 09:12:13 AM น่าจะเป็นไม่กี่วัดสุดท้ายแล้วครับ ใน ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง ที่ผมไปเที่ยวถ่ายภาพวัดมาเกือบจะหมดแล้ว ซึ่งคราวนี้ผมจะพาไปรู้จักกันกับวัดทุ่งปุย
วัดทุ่งปุย ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 7 ร่องน้ำ ตำบลมะขามหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อ 2539 เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน มีพระดวงคำมาบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 และจากนั้นพระดวงคำก็ได้รักษาการเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สิ่งที่น่าสนใจประกอบไปด้วย พระธาตุเจดีย์ศรีทุ่งปุย เป็นเจดีย์ที่พบเฉพาะในล้านนา และเป็นแบบที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เพิ่มซุ้มพระ 4 ทิศที่ชั้นฐาน โดยในซุ้มพระก็จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมทั้งรอบเจดีย์ยังมีปูนปั้นสิงห์ล้านนาประดับด้วย วิหาร มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) บันไดนาคเป็นแบบลักษณะ ของมกรคายนาค ซึ่งมักจะพบมากในวัดทางภาคเหนือ ภายในประดิษฐาน พระพุทธชินราชเนื้อทองเหลือง สุดท้ายมี ศาลาบาตร สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรของพระสงฆ์ที่วางเรียงรายเป็นแถวยาว เพื่อรับเครื่องไทยทานที่ พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ ก่อนที่ศิษย์วัดจะนำไปประเคนถวายพระภายหลัง ศาลาบาตรนี้มักพบในวัดที่อยู่ในเขตชุมชนมากกว่าในแถบชนบทหรือถิ่น กันดาร เพราะการที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นทำให้เกิดกิจกรรมอันเนื่องในการทำบุญเลี้ยง พระบ่อยครั้งขึ้น การสร้างศาลาบาตรหรือศาลาตั้งบาตรนี้ ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการตักบาตรถวายมิให้เกิดความชุลมุนแย่งกันใส่บาตร และเพื่อมิให้เป็นการเจาะจงเลือกถวายเฉพาะแด่ พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ และในส่วนอุโบสถของวัดจะอยู่กันตรงบริเวณด้านนอกรั้ววัดออกไปไกลซักหน่อย ฝั่งด้านข้างของวัด |