หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดทรายมูล" สันป่าตอง เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 30, 2015, 09:11:12 AM ยังเลียบเลาะแถวริมปิง ใน อ.สันป่าตอง เพื่อเที่ยววัดต่างๆ กันนะครับ ถึงคราวนี้ก็มาถึง วัดทรายมูล กัน
วัดทรายมูลได้เริ่มก่อสร้างเมื่อราวประมาณ ปี พ.ศ. 2455 ขณะนั้นได้มีบุคคลคณะหนึ่ง ได้เดินทางมาจากในเมืองเชียงใหม่ และลำพูน บุคคลเหล่านั้นประกอบไปด้วย ท้าวแสนหลวง ท้าวคำวงศ์สา พ่อน้อยเมือง พ่อน้อยจันทร์ พ่อตา บุคคล ดังกล่าว ได้มาจับจองที่ดินบริเวณนี้ เดิมนั้นที่ดินแปลงนี้เป็นของนายติ๊บ สิงห์คะราช และนางจันทร์ แขมทอง ทั้งสองท่านได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินถวายให้เป็นสถานที่ตั้งวัด รวมเนื้อที่ทั้งหมด 6 ไร่ 3 งาน 1 ตารางวา สถานที่แห่งนี้เดิมชื่อว่าบ้านหนองแขม ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้ร่วมกันกับราษฎรในหมู่บ้านสร้างเป็นวัดขึ้นต่อมาได้ตั้งชื่อวัด ว่าวัดทรายมูล เหตุที่ตั้งชื่ออย่างนั้นก็เพราะว่า ก่อนที่จะตั้งเป็นวัด ได้มีพนังกั้นน้ำปิงขาดตรงบริเวณนั้น และได้พัดพาเอาทรายมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้ตั้งชื่อว่า วัดทรายมูล ก่อสร้างมาจนถึงปี พ.ศ. 2463 จึงได้รับอนุญาตแต่งตั้งเป็นวัดที่สมบูรณ์ สิ่งสนใจภายในวัด เริ่มที่ภายในวิหารทรงล้านนา มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ หลังวิหารมีเจดีย์ทรงล้านนา ที่ได้รับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เพิ่มซุ้มพระ 4 ทิศที่ชั้นฐาน ข้างวิหารวัด มีพระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร (บางตำราเรียกว่าเป็นปางห้ามญาติ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าเสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง มีลักษณะคล้ายกันกับปางห้ามพยาธิ ซึ่งตามประวัตินั้นในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิสาร ทรงขอประทับแรมอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิล (ฤษี ผู้บูชาไฟ) ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแคว้นมคธ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานัปการเพื่อทรมาน ฤษีอุรุเวลกัสสปะให้คลายความพยศลง ในครั้งที่น้ำท่วม พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกรมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง พวกเหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงยอมรับในอานุภาพของพระพุทธองค์ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ สุดท้าย ศาลาบาตร ศาลาประเภทหนึ่งที่ใช้ในเขตสังฆาวาส สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรของพระสงฆ์ที่วางเรียงรายเป็นแถวยาว เพื่อรับเครื่องไทยทานที่ พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ ก่อนที่ศิษย์วัดจะนำไปประเคนถวายพระภายหลัง ซึ่งศาลาบาตรนี้มักพบในวัดที่อยู่ในเขตชุมชนมากกว่าในแถบชนบทหรือถิ่นกันดาร |