จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 30, 2015, 09:07:34 AM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดหนองแขม"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 30, 2015, 09:07:34 AM
ก่อนจะมาถึงวัดหนองแขม ต้องบอกเลยว่าผมตามทางมาวัดตามป้ายครับ ตั้งแต่ตรงถนนสายหลักเชียงใหม่ – ฮอด เลย ซึ่งพอถึง อ. สันป่าตอง เส้นที่จะมายังพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา ผมก็เลี้ยวเข้ามา ขับรถมาเรื่อยๆ สังเกตระหว่างทางเอาว่า เมื่อไหร่จะถึงป้ายนำทางเข้าวัด

วัดหนองแขม ตามพิกัดจะตั้งอยู่เลขที่  160  บ้านสันคอกช้าง หมู่ที่ 7  ต.แม่ก๊า  อ.สันป่าตอง  จ.เชียงใหม่  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่  3  ไร่  1  งาน  96  ตารางวา  มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 2 แปลง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440  เดิมเป็นวัดร้าง  ครูบากุณาได้ชักชวนชาวบ้านมาบูรณะแล้วสร้างวัดขึ้นใหม่  ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดสันคอกช้าง ในทะเบียนวัดของจังหวัดเป็นชื่อวัดหนองแซม 

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้าเลย ด้านหน้าวัดตรงกำแพงจะมีรูปปั้นช้างเรียงรายกันหลายตัว สันนิษฐานเอาตามความเชื่อคิดว่า ที่สร้างรูปปั้นช้างตรงกำแพงวัด เพราะ เอาไว้ขับไล่สิ่งชั่วร้าย เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ทำนองคล้ายๆ กับสร้างรูปปูนปั้นสิงห์ล้านนาตรงบริเวณประตูทางเข้าวัด

จากนั้นพอเขยิบเข้ามาด้านใน จะเห็นได้ว่าวัดแห่งนี้ค่อนข้างที่จะร่มรื่นพอสมควร ด้วยสภาพแวดล้อมที่ถูกตกแต่งให้น่าอยู่ ผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนเห็นแล้วสบายกายสบายใจ มีเจดีย์โบราณที่เป็นพระเจดีย์ที่พบเฉพาะในล้านนา และเป็นแบบที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย มีรูปปูนปั้นสิงห์ล้านนาประดับโดยรอบ และเทพต่างๆ

อุโบสถ วัดหนองแขม รอบๆ จะถูกประดับด้วยสวนหย่อมขนาดเล็ก และมีเจดีย์องค์จำลอง 12 ปีนักษัตร มีศาลาบาตร สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรของพระสงฆ์ที่วางเรียงรายเป็นแถวยาว เพื่อรับเครื่องไทยทานที่ พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ ก่อนที่ศิษย์วัดจะนำไปประเคนถวายพระภายหลัง ซึ่งศาลาบาตรนี้มักพบในวัดที่อยู่ในเขตชุมชนมากกว่าในแถบชนบทหรือถิ่นกันดาร

และสุดท้าย วิหารวัด เป็นวิหารทรงล้านนา ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธศาสนา มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด บันไดวิหารเป็นแบบมกรคายนาค