จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 03:06:41 PM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดอินทราพิบูลย์ "
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 03:06:41 PM
ก่อนที่จะเข้ามาภายในวัดอินทราพิบูลย์ ต้องบอกเลยว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดที่เงียบสงบเอามากๆ จนรู้สึกเชิญชวนให้เข้าไปสำรวจภายในว่ามีอะไรน่าสนใจ น่าค้นหา แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงจุดนั้น เรามาว่ากันถึงที่มาที่ไปของวัดก่อน

วัดอินทราพิบูลย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2474 เดิมเป็นที่ดินวัดร้าง แต่ประชาชนได้ถือสิทธิครอบครองไว้ เจ้าอธิการอินตา อินฺทญาโณ ซึ่งย้ายมาจากวัดทุ่งแพ่ง ได้มาขอที่ดินแห่งนี้คืน และได้ซื้อที่ดินของประชาชนเพิ่มเติม จึงได้เริ่มสร้างวัด ชาวนาเรียกว่า วัดอินทราพิบูลย์ (หนองไคร้)

สิ่งที่น่าสนใจเริ่มต้น ทางเข้าวัดมีพระอุโบสถทรงล้านนาขนาดเล็ก จากนั้นเมื่อเดินมายังปากประตูทางเข้าวัดมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่และไม้ค้ำโพธิ์ไว้มากมาย ตามความเชื่อหมายถึง การค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอดทั้งนี้ ความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทย วัดต่างๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลีไปค้ำยันไว้ และในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วยเช่นกัน

วิหารทรงล้านนา ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด

หอไตร อาคารที่มีลักษณะเป็นหอสูงสำหรับใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานที่จารึกคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพระไตรปิฎก หรือจารึกความรู้เรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องตำรายาโบราณ วรรณคดีโบราณ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นของสูง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ และหาได้ยาก ส่วนใหญ่นิยมสร้างเพื่อมุ่งบุญกุศลเป็นสำคัญ ด้วยถือคติว่าสร้างไว้เก็บรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ จึงนิยมสร้างอย่างวิจิตรงดงาม มีรูปทรงพิเศษแปลกตา
 
สุดท้าย เจดีย์ เป็นแบบล้านนา และเป็นแบบที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เพิ่มซุ้มพระ 4 ทิศ มีองค์เจดีย์ขนาดเล็กอยู่ 4 องค์รอบล้อมองค์ใหญ่