จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 03:01:59 PM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดศรีลังกา (ต้นโชค)"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 03:01:59 PM
วัดศรีลังกา (ต้นโชค) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บนถนนสายสันป่าตอง – ลำพูน ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ วัดนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2327 เนื่องจากทางวัดได้นำต้นศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกามาปลูกไว้ที่บริเวณของวัด และได้ตั้งชื่อวัดว่าวัดศรีลังกา ชาวบ้านเรียกว่า วัดต้นโชค

วัดนี้แรกสัมผัสก่อนเข้ามาตรงประตูทางเข้า เห็นซุ้มประตูโขงแล้ว พาลให้นึกถึงวัดในแถบภาคอีสาน เพราะส่วนใหญ่วัดทางภาคอีสานมักจะทำซุ้มประโขงเข้าวัดลักษณะนี้ ส่วนทางภาคเหนือนั้น หาเจอได้ยากกว่า (จากประสบการณ์ที่ไปมาหลายๆ ที่นะ)

จากนั้นเข้ามายังด้านในของวัด บริเวณก่อนทางเข้าไปยังวิหาร จะมีต้นศรีมหาโพธิ์ เมื่อครั้งนำมาปลูกตอนสร้างวัดใหม่ๆ ภายใต้ต้นโพธิ์มีไม้ค้ำโพธิ์ไว้ตามความเชื่อ ที่หมายถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอดทั้งนี้ ความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทย วัดต่างๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลีไปค้ำยันไว้ และในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วยเช่นกัน

เข้ามายังวิหาร เป็นวิหารทรงล้านนา ที่ให้ความสำคัญกับนาคตั้งแต่บันไดนาค นาคลำยอง ซึ่งเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง ตามคตินิยมที่นาคเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง ส่วนในวิหารมีจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาหลายเรื่อง

ด้านหลังเป็นเจดีย์วัดศรีลังกา ตัวเจดีย์เป็นทรงล้านนา มีเอกลักษณ์ตรงซุ้มประตูทางเข้าองค์เจดีย์ โดยมีลักษณะของซุ้มประตูโขงที่คล้ายกับซุ้มประตูโขงหน้าวัดแทบทุกอย่าง ยกเว้นแต่มีขนาดที่เล็กกว่า การประดับตกแต่งที่น้อยกว่า ทั้งนี้ประตู โขง สร้างขึ้นอาจจะเพื่อให้เฉพาะเจ้านายเสด็จผ่านเข้าไปในลานประทักษิณชั้นใน เพื่อประกอบพิธีสําคัญๆ ทางพุทธศาสนา

สุดท้ายศาลาบาตร ศาลาประเภทหนึ่งที่ใช้ในเขตสังฆาวาส สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรของพระสงฆ์ที่วางเรียงรายเป็นแถวยาว เพื่อรับเครื่องไทยทานที่ พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ ก่อนที่ศิษย์วัดจะนำไปประเคนถวายพระภายหลัง ซึ่งศาลาบาตรนี้มักพบในวัดที่อยู่ในเขตชุมชนมากกว่าในแถบชนบทหรือถิ่นกันดาร ทั้งนี้ภายในศาลาบาตรยังมีจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวความเชื่อของพุทธศาสนาเหมือนๆ กับวิหารของวัด เพื่อแต่ของศาลาบาตรจะเน้นเรื่องของทศชาติชาดกที่สำคัญ และกล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีใน 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระโคตมพุทธเจ้า