หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดป่าลาน" อ.หางดง เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 03:00:26 PM หลังจากที่เล่าถึงวัดป่าลาน ใน อ.สันป่าตอง กันมาแล้ว ก็อยากจะเล่าถึงอีกหนึ่งวัดป่าลาน ใน อ.หางดง กันบ้างครับ
สำหรับวัดป่าลานนี้ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 บ้านป่าลาน ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2435 โดยศรัทธาชาวบ้านได้พัฒนาบริเวณส่วนที่สร้างวัดโดยรอบ แล้วสร้างเสนาสนะขึ้น จากนั้นก็นิมนต์พระสงฆ์มาจำพรรษา เมื่อเดินเข้ามาภายในวัด สิ่งแรกที่จะพบเจอก็คือ ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งการที่มีไม้ค้ำโพธิ์แบบนี้ตามความเชื่อหมายถึง การค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอดทั้งนี้ ความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทย วัดต่างๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลีไปค้ำยันไว้ และในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วยเช่นกัน ต่อมาเป็นวิหารรูปแบบล้านนา มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง บันไดนาควิหารเป็นลักษณะของมกรคายนาค ซึ่งมักจะพบมากในวัดทางภาคเหนือ สำหรับ ตัว "มกร" นี้เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการ นัยว่า เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาค ออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด ด้านหลังวิหาร เป็นพระเจดีย์ ลักษณะเป็นพระเจดีย์ที่พบเฉพาะในล้านนา และเป็นแบบที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เพิ่มซุ้มพระชั้นฐานขึ้นไปทั้งหมด 2 ชั้น รอบอง๕เจดีย์ใหญ่ประดับด้วยองค์เจดีย์ขนาดเล็กหลายองค์ สุดท้ายข้างวิหาร เป็นศาลาบาตร ศาลาประเภทหนึ่งที่ใช้ในเขตสังฆาวาส สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรของพระสงฆ์ที่วางเรียงรายเป็นแถวยาว เพื่อรับเครื่องไทยทานที่ พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ ก่อนที่ศิษย์วัดจะนำไปประเคนถวายพระภายหลัง ซึ่งศาลาบาตรนี้มักพบในวัดที่อยู่ในเขตชุมชนมากกว่าในแถบชนบทหรือถิ่นกันดาร |