จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 02:55:41 PM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดคันธรส"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 02:55:41 PM
การมาเที่ยววัดแถวสันป่าตองและลำพูน ผมใช้วิธีการขับรถตามถนนสายหลักแล้วแวะตามวัดที่อยู่ติดตามรายทาง ซึ่งถ้าวัดไหนมีความน่าสนใจ ก็จะจอดรถแวะเข้าไปเก็บภาพบรรยากาศมาฝากกัน

ในช่วงรอยต่อของสันป่าตองและลำพูน บางพื้นที่บนถนนเส้นดังกล่าว ก็จะมีบางส่วนของ อ.หางดง โผล่เข้ามา ซึ่งก็มีวัดหลายแห่งที่น่าสนใจ โดยหนึ่งในนั้นก็มีวัดคันธรสร่วมอยู่ด้วย

วัดคันธรส ตั้งอยู่ หมู่ 13 บ้านคันธรส ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2455 ตามประวัติวัดแจ้งว่า ปี พ.ศ. 2457 โดยมีพระอธิการหมื่น คันธรโส เป็นผู้สร้างวัดและได้นำฉายาของท่านมาเป็นชื่อวัด โดยชื่อเดิมของวัดนั้น คือวัดป่าซาง

สิ่งที่น่าสนใจอย่างแรกเลยคือ รูปปั้นเหมือนของพระอธิการหมื่น คันธรโส ผู้สร้างวัด ที่ตั้งอยู่หน้าเจดีย์ ที่มีลักษณะเป็นพระเจดีย์ที่พบเฉพาะในล้านนา และเป็นแบบที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม รอบฐานเจดีย์มีรูปปูนปั้นนักษัตร 12 ราศี

ต่อมาเป็นวิหารรูปแบบล้านนา ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) บันไดวิหารเป็นบันไดนาคธรรมดา ตัววิหารถูกประดับด้วย ใบระกา คือ ส่วนที่มีรูปทรงเป็นครีบที่มีลักษณะเรียว โค้ง และปลายแหลมคล้ายปลายมีด กลางครีบด้านหน้าถากเป็นสันนูน วางเรียงประดับตกแต่งบนขอบสันบ่าด้านบนตลอดแนวของตัวลำยอง และหางหงส์ คือ ส่วนประดับรูปทรงคล้ายหงส์ติดอยู่ปลายด้านล่างของเครื่องลำยอง โดยมากมักทำเป็นรูปโครงของนาคสามเศียรซ้อนกัน แต่ยังพบว่าหางหงส์ของเครื่องลำยองบางชุด ปรากฏการนำนาคมาประกอบโดยทำเป็นเศียรนาคหนึ่งเศียรก็มี

จากการเข้ามาสำรวจดูและเก็บภาพ วัดแห่งนี้เป็นวัดขนาดเล็กที่เงียบสงบ เหมาะแก่การมาสงบจิตสงบใจ ในการไหว้พระ ทำบุญเป็นอย่างยิ่ง