จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: Traveller Freedom ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 10:27:34 AM



หัวข้อ: พระราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราช @ วัดบุพพาราม
เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ พฤษภาคม 14, 2015, 10:27:34 AM
พระราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราช @ วัดบุพพาราม

สถานที่ตั้ง : เลขที่ 143 ถนนท่าแพ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด : 18.788190,98.998361
   
    วัดบุพพาราม หรือวัดอุปปาใน เป็นวัดลูกพี่ลูกน้องกับวัดอุปปานอก หรือวัดชัยมงคล ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง สำหรับวัดบุพพารามแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณถนนท่าแพ อยู่ห่างจากข่วงประตูท่าแพ 200 เมตร วัดนี้ปรากฏชื่อในชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2040 พระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 13 โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้น ณ พื้นที่ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2522 วัดบุพพารามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและกำหนดขอบเขตวัดอย่างถูกต้องครบถ้วน

    วัดบุพพาราม เดิมเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ หลังจากพระองค์สวรรคตแล้ว พระเจ้ายอดเชียงรายพระราชโอรสขึ้นครองราชย์สืบต่อมา และได้เคยเสด็จมาประทับ ณ พระราชอุทยานแห่งนี้ กาลต่อมาได้มอบราชสมบัติให้พระราชโอรส คือพระเจ้าดิลก ปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว เมื่อมีพระชนมายุ 35 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2037 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 13 ถัดจากนั้นอีกเพียง 1 ปี พระองค์ก็ทรงรับสั่งให้สร้างวัดบุพพารามขึ้น นับจนถึงปี พ.ศ. 2558 วัดแห่งนี้ได้มีความเก่าแก่ถึง 530 ปีแล้ว

    ได้อ่านเห็นตำนานพระเจ้าเลียบโลกตอนหนึ่ง จึงขอบอกกล่าวเล่าให้ทราบต่อว่า “พระพุทธเจ้าเสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทรงประทับนั่งแล้วทรงพยากรณ์ว่า ในฐานะที่นี้ต่อไปในภายภาคหน้า คนทั้งหลายจะมาสร้างวัดวาอารามขึ้น เป็นพระอารามใหญ่จะได้ชื่อว่า “บุพพาราม” ตามนิมิตที่อยู่ในทิศตะวันออก พระอรหันต์ พระเจ้าอโศกราชก็ทูลขอพระเกศาธาตุหนึ่งองค์ประดิษฐานไว้ที่นั้น” จากตำนานนี้วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดบุพพาราม” มาจนถึงในยุคปัจจุบัน และได้ทำการบูรณะมาอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด เกิดเป็นศาสนสถานและปูชนียวัตถุภายในวัดมากมาย เช่น

    พระวิหารหลังใหญ่ เป็นพระวิหารก่ออิฐถือปูน ศิลปะล้านนาผสมพม่าภายในประดิษฐาน “พระมหาพุทธปฏิมากร” หรือองค์พระแก้วมรกตจำลอง หล่อด้วยทองแดงล้วน น้ำหนัก 1 โกฎิ
    พระวิหารหลังเล็ก เป็นพระวิหารไม้ศิลปะล้านนาที่เก่าแก่ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธไชยลาภประสิทธิโชค” พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธาน
    พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ศิลปะพม่า ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เส้นผมของพระพุทธเจ้า หรือพระเกศาธาตุ
    บ่อน้ำทิพย์ เป็นบ่อน้ำดั้งเดิมที่มีมาก่อนการสร้างวัด เป็นบ่อน้ำในพระราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราช
    หอพระมณเฑียรธรรม เป็นมณฑปปราสาททรงจัตุรมุข 2 ชั้น สร้างขึ้นในยุคปัจจุบัน ชั้นล่างจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา ผนังมีงานจิตรกรรมเรื่องราวในพุทธประวัติ ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไม้สักนามว่า พระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ มีพระฉายาลักษณ์ของ “พระนางมณีจันทร์” สนมเอกในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่หาชมได้ยากยิ่ง

by Traveller Freedom