จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 13, 2015, 05:47:27 PM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดท่านาค"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 13, 2015, 05:47:27 PM
ด้วยความที่ผมเพิ่งเคยขับรถผ่านถนนเส้นสันป่าตอง – ลำพูนครั้งแรก และพบเจอวัดต่างๆ มากมายที่สวยงาม จึงอดใจไม่ได้ที่จะจอดแวะลงไปเก็บภาพ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง โดยในครั้งนี้จะขอเริ่มกันที่วัดท่านาค

วัดท่านาค (ร้าง) ตั้งอยู่เลขที่ 156 หมู่ 6 บ้านท่านาค ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นวัดร้างมาหลายช่วงอายุคน จนไม่อาจทราบนามเดิมได้ แต่ก็ได้พบซากปรักหักพังของก้อนอิฐและฐานเจดีย์เก่าพร้อมทั้งฐานอุโบสถ มีความรกร้าง ภายหลังชาวบ้านจึงพร้อมกันแผ้วถางบริเวณวัดร้างแห่งนี้ แล้วจึงสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น จากนั้นจึงขออนุญาตขอเป็นวัด พร้อมกับนิมนต์พระนิคม อินทญาโณ มาจำพรรษา นับแต่นั้นมา

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้มีมากมายหลายอย่างครับ ที่น่าชม ขอเริ่มต้นที่ พระราหู หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทพราหู เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่งในคติไทย ซึ่งมีความเชื่อกันว่า สามารถบันดาลประโยชน์และโทษให้เกิดขึ้นกับบุคคล หรือสิ่งต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เพื่อให้สิ่งเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นบรรเทาเบาบางลง และแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดี ให้เกิดความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีโชคมีลาภ เจริญก้าวหน้าร่ำรวยยิ่งขึ้น จึงได้มีการบูชาพระราหูเกิดขึ้น โดยบางครั้งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า การไหว้ราหู นั่นเอง 

ต่อมาเป็นรูปปั้น พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพในศาสนาฮินดู นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง เป็นหัวหน้านำคณะข้ามความขัดข้อง (ผู้เป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง) ลักษณะของพระพิฆเนศวร มีรูปกายเป็นมนุษย์เพศชายอ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว (ถูกขวาน ปรศุรามหักเสียงา) สีกายสีแดง (บางแห่งว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง) มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือ ตรี พระหัตถ์ซ้ายถือบาศ (บ่วง) หนู นับเป็นสหายของพระพิฆเนศวร ไม่ใช่เป็นพาหนะ

พระเจดีย์วัดท่านาค ลักษณะเป็นพระเจดีย์ที่พบเฉพาะในล้านนา และเป็นแบบที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เพิ่มซุ้มพระ 4 ทิศที่ชั้นฐาน

นอกจากนี้ในวัดก็ยังมีโบสถ์ วิหาร ที่มีความสวยสดงดงาม และเป็นศิลปะพื้นบ้านล้านนาไทย ตลอดจนรูปภาพจิตกรรมฝาผนัง ให้ได้ชมกันอีกด้วย