จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 07, 2015, 06:13:08 AM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดศรีล้อม"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ พฤษภาคม 07, 2015, 06:13:08 AM
เพื่อนผมเล่าให้ฟังถึงการท่องเที่ยวว่า ทุกวันนี้มีเงินไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวต่างประเทศไกลๆ ก็ได้ เอาใกล้ๆ แถวบ้านเราก็พอ อย่างไปเที่ยวประเทศลาว มีวัดให้ดูเยอะแยะ ซึ่งแม้จะเป็นวัดเล็กๆ แต่พอได้อ่านดูรู้ประวัติแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจที่มาที่ไปมากยิ่งขึ้น

ผมแสดงความเห็นกลับว่าถ้าเที่ยววัด เอาแถวบ้านเราก็พอ เพราะบ้านเราวัดสวยๆ ก็เยอะ อย่างเชียงใหม่ เที่ยวไปเถอะ เที่ยววัดซัก 2 ปี ก็ยังไปมาแทบไม่หมดทุกที่เลย อ่อ อีกอย่างคนไทยเวลาไปวัดส่วนใหญ่ก็มักจะไปไหว้พระ ทำบุญ อะไรกันมากกว่า จะไปชมความสวยความงาม ซึ่งไอ้ความสวยความงามที่ผมว่านั้นก็คือ ความงามในด้านของสถาปัตยกรรมกันครับ

ฉะนั้น การไปวัดไม่ใช่ว่าจะไปทำบุญ ไหว้พระกันอย่างเดียว เรายังสามารถไปเสพคุณค่าของสถาปัตยกรรมต่างๆ อื่น ภายในวัดอีกด้วย ดูไปเถอะ แต่ละอย่างมีความหมายกันทั้งนั้น

อย่างเมื่อหลายวันก่อน ผมมาวัดศรีล้อม ซึ่งเป็นวัดขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ 4 บ้านป่าแง๊ะ ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาค้นหา มาเที่ยวเพื่อดูงานสถาปัตยกรรมกัน

จากประวัติบอกเล่าเอาไว้ว่า วัดศรีล้อม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 ตามประวัติวัดแจ้งว่าสร้างประมาณ พ.ศ. 2473 แต่เดิมเป็นอารามมานาน เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาศรัทธาชาวบ้านจะไปนิมนต์พระจากวัดใกล้เคียงมาจำพรรษา พอออกพรรษาบางปีก็มีพระ บางปีก็ไม่มีพระ เป็นเช่นนี้อยู่หลายปี ในปี พ.ศ. 2465 คณะศรัทธาจึงได้นิมนต์ พระอิ่นคำ ขัตติโย จากวัดแม่กุ้ง มาอยู่จำพรรษา ปี พ.ศ. 2473 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีล้อม

ในส่วนของสถาปัตยกรรมนั้น เริ่มกันที่บริเวณด้านหน้าวัด มีรูปปูนปั้นสิงห์ล้านนา ที่สร้างตามความเชื่อที่ว่า เป็นสัตว์ที่มีพลัง อำนาจสามารถขับไล่สิ่งอัปมงคลและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าเขตวัดและอารามได้ (ตามความเชื่อของจีน) ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นได้ตามวัดทั่วไป ในภาคเหนือของประเทศไทย อันได้รับอิทธิจากพม่า ซึ่งล้านนาเองแต่ก่อนเคยเป็นเมืองขึ้นของพม่า

ส่วนของวิหารวัด เป็นรูปแบบล้านนา มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตัวบันไดวิหารเป็นบันไดนาคคายมกร ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนาน และข้างวิหารมีพระสีวลีเถระประดิษฐานอยู่