หัวข้อ: เจดีย์อัฐิราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง @ วัดกู่เต้า เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ พฤษภาคม 05, 2015, 04:39:03 PM เจดีย์อัฐิราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง @ วัดกู่เต้า
สถานที่ตั้ง : ถนนกู่เต้า ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พิกัด : 18.802656,98.988150 วัดกู่เต้า เดิมชื่อว่า วัดเวฬุวนาราม ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนของชาวไทใหญ่ หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากในตัวเมืองเชียงใหม่ วัดนี้มีเจดีย์ที่ลักษณะแปลกแหวกแนวกว่าเจดีย์แห่งอื่นในล้านนา คือมีรูปร่างคล้ายผลแตงโมวางซ้อนกันขึ้นไป 5 ลูก ซึ่งชาวล้านนาเรียกแตงโมเป็นภาษาคำเมืองว่า บะเต้า ชาวบ้านจึงเรียกเจดีย์นี้ว่า เจดีย์กู่เต้า ซึ่ง กู่ หมายถึง เจดีย์ที่บรรจุอัฐินั่นเอง อีกหนึ่งที่เป็นความสำคัญของวัดกู่เต้าแห่งนี้คือเป็นศูนย์กลางการจัดงานประเพณีอุปสมบทหมู่เณรน้อยภาคฤดูร้อนในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งหลายคนรู้จักกันดีในชื่อว่า ประเพณีปอยส่างลอง วัดกู่เต้า ไม่ปรากฏหลักฐานแฟ้มเอกสารหรือศิลาจารึกใดๆ ที่ทำให้ทราบว่าเริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด แต่มีตำนานเล่าขานกันมาและพอจะเชื่อได้ว่า เจดีย์วัดกู่เต้าสร้างในสมัยที่พม่าครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งรวมไปถึงอาณาจักรล้านนาทั้งหมดด้วย และเจดีย์ที่เห็นเป็นรูปทรงกลมเรียงซ้อนชั้นกันนี้ก็เป็นที่บรรจุอัฐิของราชวงศ์พม่าชื่อว่าพระเจ้าเม็งชานรธามังดุย หรือ เจ้าฟ้าสารวดี เป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งเคยยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาตามบัญชาของพระมหาอุปราชานันทบุเรง พระเชษฐาต่างมารดาและเป็นกษัตริย์ปกครองพม่าในสมัยนั้น แต่ถูกพระนเรศวรตีแตกพ่ายและยอมสวามิภักดิ์ในเวลาต่อมา ทำให้ตัดขาดจากพระเจ้านันทบุเรงและไม่อาจกลับคืนสู่ปิตุภูมิแผ่นดินเกิดได้ พระเจ้าเม็งชานรธามังดุยได้สิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2156 อัฐิของพระองค์จึงถูกบรรจุไว้ในเจดีย์วัดกู่เต้าแห่งนี้นี่เอง เจดีย์แต่ละชั้นจะมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้ง 4 ด้าน มีการนำกระจกสีมาประดับเป็นรูปดอกไม้เล็กๆ แลดูประณีตงดงาม เดิมทีองค์เจดีย์เป็นเพียงปูนเกลี้ยงๆ เวลาผ่านไปนานหลายปีได้มีการบูรณะโดยการนำกระเบื้องมาประดับบนเจดีย์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งการนำกระเบื้องสีของถ้วยชามมาประดับเป็นลวดลายกำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่สยามมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้วยกระเบื้องถือเป็นสินค้าหลักที่พ่อค้าชาวจีนนำมาขายโดยทางเรือสำเภา จะเรียกว่าสมัยนั้นเป็นยุคกระเบื้องเฟื่องฟูเลยก็ว่าได้ ส่วนยอดของเจดีย์ประดับด้วยฉัตรศิลปะแบบพม่า พระวิหารของวัดกู่เต้ามีการออกแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจแตกต่างไปจากวิหารที่เคยพบเห็นมา คือเป็นวิหาร 2 ชั้นในอาคารเดียวกัน ชั้นล่างมีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะพม่าที่มีความวิจิตรงดงาม เป็นพุทธลักษณะที่คล้ายกับพระมหามัยมุนี แห่งเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า สำหรับวิหารชั้นสอง มีองค์พระประธานที่ชื่อว่า พระเจ้าระแข่งหลวง ซึ่งเป็นพระเจ้าพาราละแข่งจำลองมาจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่าเช่นเดียวกัน by Traveller Freedom หัวข้อ: Re: เจดีย์อัฐิราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง @ วัดกู่เต้า เริ่มหัวข้อโดย: blacksheep ที่ พฤษภาคม 06, 2015, 10:36:35 AM ได้ข้อมูลดีๆ :16:
|