หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดหลักพัน" เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ เมษายน 27, 2015, 03:21:48 AM ยังคงวนเวียนและตามเก็บภาพของวัดใน อ.สันทราย กันอย่างต่อเนื่องนะครับ ซึ่งคราวนี้ ผมจะพามายังวัดหลักพัน หมู่ 5 ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งจากทำเลที่ตั้งของวัดนั้น ทิศเหนือจรดโรงเรียนบ้านหลักพัน ทิศใต้ กับทิศตะวันออก จรดลำเหมืองสาธารณะ และทิศตะวันตกจรดถนนสาธารณะกันครับ
ตามประวัติความเป็นมาบอกไว้ว่า วัดหลักพัน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 เดิมหน้าวัด มีหลักปักไว้ ซึ่งพวกจีนฮ่องิ้วและไทยใหญ่เดินทางไปมาค้าขายระหว่างเชียงใหม่กับเชียงตุง ได้นำวัวและม้ามาผูกกับหลักอาศัยอยู่บริเวณนี้ ศาสนสถานที่สำคัญได้แก่ วิหาร อุโบสถ และเจดีย์ ของวัด เริ่มที่อุโบสถวัดหลักพัน เป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน มีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบอาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง โดยจะกำหนดบริเวณทิศทั้ง 8 และฝังไว้ตรงกลาง รวมทั้งหมด 9 แห่ง ทั้งนี้ การสร้างวิหารจะนิยมมากกว่าโบสถ์ อาจจะเนื่องมาจากการมีประโยชน์ใช้สอยที่มากกว่า เพราะคติแต่เดิมโบสถ์ใช้ในการประชุมสังฆกรรมเพื่อการอุปสมบทพระสงฆ์ตามที่ บัญญัติไว้ในพระวินัยเป็น สำคัญ นอกจากนี้ก็จะมีการรับกฐิน การสวดปาติโมกข์ประจำทุก ๆ 15 ค่ำ ส่วนพิธีอื่น ๆ ที่เป็นประเพณีประจำปีมักจะกระทำในวิหาร อีกทั้งยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ เป็นศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ประชุมพุทธบริษัทต่างๆ รวมถึงคติการบวชดังที่เราจะพบอยู่บ่อยครั้งในตำนานทางภาคเหนือ จะนิยมบวชโดยใช้สมมุติสีมาน้ำที่เรียกว่า นทีสีมา หรือ อุทกสีมา ตามประเพณีที่ได้รับมาจากลังกา ต่อมาเป็นเจดีย์วัดหลักพัน เจดีย์รูปทรงที่ช่างล้านนาได้สร้างสรรค์รูปทรงขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย ลักษณะรูปแปดเหลี่ยม มีฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เพิ่มซุ้มพระ 4 ทิศที่ชั้นฐาน ตรงฐานล่างสุดมีรูปปั้นของนักษัตรทั้ง 12 ราศี สุดท้าย พระวิหารวัดหลักพัน เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ กล่าวคือ ส่วนฐานของอาคารตลอดจนถึงผนัง มักก่อด้วยอิฐฉาบปูน เทคนิคปูนก่อและฉาบแบบโบราณ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนา เรียกว่าโครงสร้างแบบม้าต่างไหม หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) สำหรับการสร้างวิหารช่างมักมีการสร้างส่วนประกอบทั้งหมดของโครงสร้างด้าน ล่างก่อน หลังจากนั้นจึงยกขึ้นประกอบพร้อมกัน |