หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดศรีทรายมูล" เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กุมภาพันธ์ 13, 2015, 10:39:27 AM ใน อ.สันทราย เพิ่งนึกได้ว่าตัวผมเอง ไม่ได้มีโอกาสมาเที่ยววัดในอำเภอนี้กันซักครั้ง แม้ว่าจะเคยผ่านไปผ่านมากันหลายที และเมื่อมีโอกาสอันเหมาะเจาะในเรื่องวันและเวลา ก็เลยขอสตาร์ทกันที่วัดแห่งแรก คือ วัดศรีทรายมูล
วัดศรีทรายมูล ตั้งอยู่เลขที่ 171 หมู่ 6 บ้านหนองไคร้ศรีทรายมูล ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จากตัวเมืองมาก็ถือว่าไม่ไกลมาก วัดศรีทรายมูล บางคนบางคนก็เรียกว่า วัดหนองไคร้ศรีทรายมูล อันเป็นชื่อที่เอาชื่ออย่างเป็นทางการของวัดรวมกับชื่อหมู่บ้าน บางคนก็เรียกว่าวัดหนองไคร้ใหม่ เพราะในบริเวณแห่งนี้เดิมเป็นอาณาบริเวณของศรัทธาวัดหนองไคร้หลวง ต่อมามีผู้คนอาศัยอยู่มากจึงแยกหมู่บ้านออกมาอีก 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยวัดหนองไคร้ฟ้ามุ่ย วัดหนองไคร้หน้อย (หนองไคร้ต้นจันทน์) วัดหนองไคร้นางเหลียว และวัดหนองไคร้ใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างทีหลังสุดจึงได้นามวัดว่าหนองไคร้ใหม่ และบางท่านเรียกว่าวัดหนองไคร้เทวดา เนื่องจากบริเวณกำแพงวัดได้มีรูปปั้นปูนเป็นรูปเทวดาโดยช่างที่มาจากพม่า ประดิษฐานบนกำแพงรอบวัด จึงได้ชื่อว่าวัดหนองไคร้เทวดา วัดศรีทรายมูล จากการบันทึกจดหมายเหตุของหมู่บ้านโดยป้อหน้อยป้อหนานในสมัยนั้นได้บันทึก ไว้ว่า วัดศรีทรายมูลสร้างเมื่อปี 2442 โดยการนำของพ่อหนานแสน เขื่อนแก้ว ได้เป็นผู้นำชาวบ้านถางป่าบริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นป่าไม้ไผ่ ที่มีกอไม้ที่ใหญ่ จุดมุ่งหมายเดิมไม่ใช่ถางป่าเพื่อสร้างวัด แต่เป็นการถางป่าเพื่อจับจองที่ดิน แต่บังเอิญที่ดังกล่าวได้พบซากเจดีย์ในกอไผ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุในปัจจุบัน จึงได้พร้อมใจกันบูรณะเจดีย์สร้างเสนาสนะอื่น ๆ อีก และได้นำเอาดินบริเวณทางทิศตะวันตกของวัดปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ลุ่มประกอบด้วยไม้ไคร้มากมายบริเวณนั้น มาปรับถมที่จะสร้างวัดให้สูงขึ้น พอสร้างเสนาสนะพอจะเป็นที่อยู่ของพระได้ จึงได้นิมนต์ ครูบาจีนา รองเจ้าอาวาสวัดหนองไคร้หลวง มาเป็นผู้นำในการพัฒนาสร้างวัดศรีทรายมูล สิ่งที่น่าสนใจ ภายในวัดศรีทรายมูลประกอบด้วย วิหาร รูปทรงแบบล้านนา เป็นวิหารแบบ ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับโครงสร้างไม้ หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธศาสนา ส่วนบริเวณด้านหลัง มีองค์เจดีย์ ที่สร้างขึ้นตรงซากเจดีย์เก่าที่ค้นพบสมัยเมื่อครั้งยังสร้างวัด เป็นเจดีย์แบบทรงล้านนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมี หอพระไตรปิฏก ศาลาบาตร ศาลาเอนกประสงค์ รวมอยู่ด้วย |