หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดต้นแก้ว อ.สันป่าตอง" เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กุมภาพันธ์ 06, 2015, 09:30:25 AM มาเที่ยววัดบ่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ต้องจดจำเลยก็คือ ชื่อวัด และชื่อตำบล อำเภอครับ เพราะบ่อยครั้งที่ชื่อวัดมักจะซ้ำกัน และปัญหามันก็มักจะมาเจอตอนที่เรากำลังหาข้อมูล เพราะถ้าจำมาพลาด มันก็มักจะไปกันคนละเรื่องคนละราวเลย
อย่างวัดต้นแก้ว ที่ อ.หางดง ก็มีอยู่ 1 วัด และ อ.สันป่าตอง ก็มีอยู่ 1 วัด ซึ่งในส่วนของเรื่องที่กำลังเขียนอยู่นี้ เป็นวัดต้นแก้ว ใน ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ กัน อย่าได้ไปจำสับสนกับวัดใน อ.อื่น กันเชียว วัดต้นแก้ว จากข้อมูล ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. 2464 อายุอานามก็ถือว่าเก่าแก่กันพอควร สิ่งที่น่าสนใจในวัดมีวิหารทรงล้านนา ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธศาสนา มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด มีนาคลำยอง ซึ่งเป็นป้านลมหลังคาวิหาร ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง ซึ่งในประติมากรรมไทย มักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่างๆ บันไดนาค ลักษณะของมกรคายนาค ซึ่งมักจะพบมากในวัดทางภาคเหนือ เช่นกัน ด้านหลังวัด มีเจดีย์เจดีย์รูปแบบล้านนา ที่รับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ ผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลายโดยในซุ้มโขงที่ล้อมรอบองค์เจดีย์ มีพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์ จะอยู่ในพระอิริยาบถยืนห้อยพระหัตถ์ขวา ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ(อก)เป็นกิริยาทรงห้าม ส่วนผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกคือชนชาติกรีก ที่เป็นเจ้าแห่งศิลปะการแกะสลักอันงดงาม ซึ่งนับถือพุทธศาสนาในเวลานั้น ได้แกะสลักพระพุทธรูปที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด คือพระพักตร์เป็นแบบพวกกรีก เส้นพระเกศาหยักศก เกล้าเป็นเมาลี ครองจีวรเป็นริ้วตามธรรมชาติ จีวรหนา ยุคแรกสร้างจีวรแบบห่มคลุมเท่านั้น ยุคต่อมาจึงมีแบบเฉวียงบ่าหรือลดไหล่ เรียกกันว่าพระพุทธรูปแบบคันธาระ อันเป็นจุดกำเนิดของการสร้างพระพุทธรูปในสมัยต่อมา นอกจากนี้รอบๆ ฐานเจดีย์ยังมีปูนปั้นลวดลายนักษัตร 12 ราศี สำหรับใครที่มาไหว้พระทำบุญที่วัดแห่งนี้เสร็จแล้ว ยังสามารถไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาไทย เชียงใหม่ ได้ ซึ่งอยู่ห่างกันไม่ไกลมากนัก ประมาณ 2 กิโลเมตร ด้วยกันนะ ถ้าผมจำไม่ผิด ส่วนคราวหน้าผมจะพาไปเที่ยววัดที่ไหน ไว้คอยติดตามกันได้ครับ |