จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: lady darika ที่ มีนาคม 26, 2014, 06:26:58 PM



หัวข้อ: “วัดเจ็ดลิน” หนึ่งในวัดสำคัญของกษัตริย์ล้านนา
เริ่มหัวข้อโดย: lady darika ที่ มีนาคม 26, 2014, 06:26:58 PM
“วัดเจ็ดลิน” หนึ่งในวัดสำคัญของกษัตริย์ล้านนา

วัดเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน มีความสำคัญตั้งแต่ในระดับชาวบ้านธรรมดาๆ ไปจนถึงสถาบันกษัตริย์ วันนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักพระอารามแห่งหนึ่ง เชื่อว่าเพื่อนๆ ชาวเชียงใหม่คงเคยผ่านไปผ่านมากันบ้างแล้ว  “วัดเจ็ดลิน” วัดเล็กๆ ในเมืองเชียงใหม่ แต่ความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

(http://i.imgur.com/oIPkeFH.jpg)
เศียรเก่าของพระประธานในพระวิหาร จุดเด่นของวัดนี้

วัดเจ็ดลิน ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ใกล้ๆ กับวัดเจดีย์หลวง จากหลักฐานโคลงนิราศหริภุญชัย สันนิษฐานว่า วัดนี้แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดหนองจลิน”  หรือ “วัดเจ็ดลินคำ” สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๐๖๐ ในสมัยพญาเมืองแก้ว กษัตริย์ลำดับที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังราย มีอายุอานามกว่า ๔๙๐ ปีแล้ว เก่าแก่มากพอสมควรทีเดียว

(http://i.imgur.com/pptyteb.jpg)
พระวิหารของวัดเจ้ดลิน

วัดนี้เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ล้านนา ก่อนที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายทุกพระองค์จะขึ้นครองราชย์ จะทรงผ้าข้าวที่วัดผ้าข้าว จากนั้นเสด็จไปสะเดาะเคราะห์ที่วัดหมื่นตูม และเสด็จมาประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษก ณ หนองน้ำวัดเจ็ดลิน  เชื่อว่าวัดทั้ง ๓ แห่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ เพื่อใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกโดยเฉพาะ ต่อมาวัดนี้กลายเป็นวัดร้างชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งได้รับการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และยกขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖

ที่มาของชื่อวัดนั้น คำว่า “ลิน” เป็นภาษาล้านนา หมายถึง “รางน้ำ” ดังนั้น “เจ็ดลิน” จึงหมายถึงรางน้ำเจ็ดรางทำด้วยทองคำ ให้ขุนนางและประชาชนสรงน้ำกษัตริย์

(http://i.imgur.com/jAdN67i.jpg)
วันฟ้าใสที่วัดเจ็ดลิน

บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างร่มรื่น มีต้นไม้น้อยใหญ่อยู่พอสมควร สิ่งแรกที่จะสะดุดตาผู้มาเยือนคือ เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งเคยตกอยู่ด้านหลังพระประธาน สันนิษฐานเมื่อวัดนี้กลายเป็นวัดร้าง พระประธานค่อยๆ ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาจนกระทั่งเศียรนี้ตกลงจากพระประธานเพราะรับน้ำหลักไม่ไหว ต่อมาชาวบ้านร่วมมือกันบูรณะวัด หล่อเศียรพระประธานขึ้นมาใหม่ และนำเศียรที่หักมาประดิษฐานไว้ที่ลานวัดในปัจจุบัน

(http://i.imgur.com/zF4sH0Q.jpg)
พระประธานในพระวิหาร

พระวิหารสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง สถาปัตยกรรมล้านนาร่วมสมัย บริเวณทางเข้าเป็นซุ้มโขงสีดำประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และดอกบัวตัดกับตัวอาคารสีขาว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีทององค์ใหญ่ เมื่อสังเกตดีๆ จะเห็นว่าพระพักตร์จะเหมือนกับเศียรพระพุทธรูปเดิมที่ตั้งอยู่ในลานวัด

(http://i.imgur.com/wbOI204.jpg)
เจดีย์ประจำวัด

พระเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร ศิลปะล้านนา เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ๓ ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อเก็จ รับกับฐานย่อเก็จอีกชั้นหนึ่งที่ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากวัดเจ็ดยอด และวัดโลกโมฬี แต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปปางมาวิชัยภายในซุ้มจระนำ รับกับองค์ระฆังขนาดเล็ก ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ๗ ชั้น

(http://i.imgur.com/oXJxFNz.jpg)
หนองน้ำสำหรับประกอบพิธีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ล้านนาโบราณ

ด้านหลังวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีบัวกระด้งปลูกอยู่ ในอดีตเคยเป็นสถานที่สรงน้ำของกษัตริย์ก่อนที่จะเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีความสำคัญมากในเชิงประวัติศาสตร์

(http://i.imgur.com/Ufm19Bi.jpg)

วัดนี้นับได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญในฐานะวัดที่เกี่ยวพันกับพระราชพิธี โดยเฉพาะพระราชพิธีสำคัญอย่างการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ล้านนา ใครที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของกษัตริย์ล้านนา ลองแวะมาที่วัดนี้ สัมผัสบรรยากาศในวันวานในสถานที่จริง อาจช่วยให้การเรียนประวัติศาสตร์ของเพื่อนๆ สนุกขึ้นก็ได้นะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903