จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: lady darika ที่ มกราคม 13, 2014, 10:48:47 AM



หัวข้อ: วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น
เริ่มหัวข้อโดย: lady darika ที่ มกราคม 13, 2014, 10:48:47 AM
วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น

ถนนท่าแพ คือถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเมืองเชียงใหม่กับท่าเรือแม่น้ำปิง ในอดีตตลอดแนวถนนท่าแพจึงเป็นชุมชนของเหล่าพ่อค้าวานิชจากดินแดนต่างๆ ทั้งชาวพม่า และชาวจีน ก่อเกิดวิถีชีวิต ประเพณี และศิลปะมากมายฝากไว้เป็นมรดกตกทอดสู่รุ่นลูกหลาน หลายๆ วัดบนถนนสายนี้จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจ วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จัก “วัดอุปคุต” พระอารามอีกแห่งหนึ่งบนถนนเส้นนี้ค่ะ

(http://i.imgur.com/QBmMV0S.jpg)
วัดอุปคุต ถนนท่าแพ ต. ช้างคลาน อ. เมืองฯ จ. เชียงใหม่ (ทางเข้าไนท์บาร์ซา)

วัดอุปคุตตั้งอยู่ริมถนนท่าแพ ต. ช้างคลาน อ. เมืองเชียงใหม่ ห่างจากสี่แยกสะพานนวรัฐ (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง) เพียง 10 เมตร

(http://i.imgur.com/t86BHve.jpg)
ซุ้มประตูทางเข้าวัด

พระวิหารของวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี พ.ศ. 2470 เป็นอาคารปูน ทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย ฝีมือช่างท้องถิ่น มองเผินๆ อาจไม่รู้เลยว่าเป็นพระวิหาร ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ทำจากไม้ประดับด้วยกระจกสี หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาดูเก่าแก่มาก เข้ามาด้านในสิ่งแรกที่สะดุดตา คือตุงขนาดเล็กจำนวนมากมายแขวนเรียงรายอยู่อย่างสวยงาม

(http://i.imgur.com/CFgNtnu.jpg)
หลังคาวิหารของวัดอุปคุต

(http://i.imgur.com/REGVrSo.jpg)
โถงด้านในพระวิหาร

เดินเข้ามาด้านในเล็กน้อยเป็นฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธานของพระวิหาร “พระอุปคุต” ที่มาของชื่อวัด และพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานเขียนสีน้ำมัน ฝีมือศิลปินพื้นบ้าน เล่าเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดก ลักษณะการวาดค่อนข้างเสมือนจริง ไม่ใช่ภาพจิตรกรรมแบบประเพณีนิยมที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในวัดต่างๆ

(http://i.imgur.com/KJNHp5X.jpg)
พระประธานในพระวิหาร

พระเจดีย์ประธาน ทรงล้านนา ฐานล่างย่อมุม ต่อด้วยฐานกลมซ้อนกันสามชั้น ด้านบนเป็นองค์ระฆังแบบล้านนา ยกฉัตรสีทองไว้บนเรือนยอด มีซุ้มโขงแบบล้านนาประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่บนฐานเจดีย์ทั้งสี่ทิศ

(http://i.imgur.com/k4K9RBn.jpg)
พระเจดีย์ประธานของวัด

(http://i.imgur.com/P3n6xns.jpg)
พระวิหารหลังใหม่

พระวิหารหลังใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับปูนปั้นทั้งหลัง จุดเด่นคือลายปูนปั้นเทพพนม อ่อนช้อยงดงามตามแบบล้านนาสมัยใหม่ประดับอยู่โดยรอบตัวอาคาร ด้านในประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์ครูบาศรีวิชัย และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดับซุ้มเรือนแก้ว ผนังพระวิหารไม่ได้เขียนภาพจิตรกรรมอย่างที่นิยมกัน แต่ประดับพระพิมพ์ปางสมาธิขนาดเล็กนับพันองค์ ส่วนเพดานประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงามมาก

(http://i.imgur.com/9iDhPFP.jpg)
พระประธานในพระวิหารหลังใหม่

(http://i.imgur.com/p76Lno4.jpg)
มีรูปหล่อสำริดครูบาศรีวิชัยอยู่ภายในพระวิหารด้วย

(http://i.imgur.com/8F1vcKp.jpg)
พระพิมพ์องค์เล็กๆ ประดับอยู่บนผนังมากมายกว่าพันองค์

หอเก็บพระพุทธรูปเป็นอีกอาคารหนึ่งภายในวัดที่น่าสนใจ เพราะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูง ก่อสร้างด้วยปูนและไม้ผสมกัน ประตูทางเข้ามียักษ์ปูนปั้นสองตนเฝ้าไว้

(http://i.imgur.com/4Fpnl8B.jpg)
ปูนปั้นเทวดา ประดับพระวิหารหลังใหม่

(http://i.imgur.com/8TEujTI.jpg)

ประเพณีสำคัญของวัดแห่งนี้นี้ เรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน” หรือ “เป็งปุ๊ด” (เพ็ญพุทธ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานมากกว่า 250 ปี   ได้รับอิทธิพลจากพม่า เมื่อครั้งอาณาจากล้านนาตกเป็นเมืองขึ้น ในปัจจุบันมีเพียงวัดอุปคุตเท่านั้นที่ยังคงสืบทอดประเพณีนี้อยู่ โดยจะมีพิธีตักบาตรตอนเที่ยงคืนในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ พระสงฆ์จะประกอบกิจพุทธมนต์ในพระวิหารหลวงตั้งแต่เวลา 22.00 น. และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนจะออกจากพระวิหารเพื่อมารับบิณฑบาตจากญาติโยม โดยในแต่ละปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่มีเลย

(http://i.imgur.com/LPyzujE.jpg)
ยักษ์ปูนปั้นหน้าหอเก็บพระพุทธรูป

ตามตำนานเล่าเอาไว้ว่า “วันเป็งปุ๊ด” เป็นวันที่ “พระอุปคุต” พระเถระที่สำคัญในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ขึ้นชื่อเรื่องการปราบมาร และสิ่งชั่วร้าย จะละจากการบำเพ็ญบารมีใต้ท้องสมุทรขึ้นมาโปรดสัตว์โลก โดยปลอมตัวเป็นสามเณรออกบิณฑบาตในยามเที่ยงคืน ผู้ใดได้ทำบุญกับพระอุปคุตจะได้บุญมาก เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

(http://i.imgur.com/utIm93g.jpg)

นอกจากความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมทางพุทธศิลป์ วัดอุปคุต ยังเป็นวัดที่สืบทอดประเพณีอันเก่าแก่ที่ในทุกวันนี้หาชมได้ยากมาก ใครสนใจก็อย่าลืมเปิดดูปฏิทินจันทรคติน และติดตามข่าวสารจากทางวัดให้ดีว่า “วันเป็งปุ๊ด” จะจัดขึ้นในวันใด หากมีโอกาสก็อย่าลืมไปสัมผัสประเพณีที่เหลือพียงหนึ่งเดียวของล้านนาให้ได้นะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  905




หัวข้อ: Re: วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น
เริ่มหัวข้อโดย: lady darika ที่ มกราคม 14, 2014, 10:20:06 AM
เอาข่าวพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดที่วัดอุปคุตมาฝากค่ะ คืนนี้แล้ว  911

"ด้วยทางวัดอุปคุต ได้จัดงานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด ขึ้นในวันอังคารที่ 14 เดือนมกราคม พุทธศักราช 2557 ซึ่งจะเริ่มประกอบพิธีทางศาสนาตั้งแต่เวลา 23.00 น. เป็นต้นไป จึงขอเชิญญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ร่วมทำบุญตักบาตร ณ วัดอุปคุต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามวันและเวลาดังกล่าว"
credit: https://www.facebook.com/WatUppacoot (https://www.facebook.com/WatUppacoot)

เผื่อใครสนใจค่ะ  908


หัวข้อ: Re: วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น
เริ่มหัวข้อโดย: parsuk ที่ มกราคม 15, 2014, 09:54:32 AM
น่าสนใจมากครับ


หัวข้อ: Re: วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น
เริ่มหัวข้อโดย: parsuk ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2017, 09:59:05 AM
 :onio: