หัวข้อ: วัดม่อนปู่ยักษ์ : เมื่อศิลปะพม่าผสมผสานกับความเป็นตะวันตก เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 16, 2013, 06:19:56 AM (http://upic.me/i/tc/img_5315.jpg) (http://upic.me/show/46533648) ยังนะครับ ยังไม่หมดกันเท่านี้กับซีรีย์ยาวของวัดพม่าในภาคเหนือ ลำปางผมจัดไปแล้วสองที่คือวัดศรีชุมกับวัดศรีรองเมือง ซึ่งถึงตอนนี้เราจะมาว่ากันต่อถึงวัดพม่าแห่งที่ 3 กันครับ วัดม่อนปู่ยักษ์ หรือวัดม่อนสัณฐาน พิกัดวัดจะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวังบนเนินเขาเล็กๆ ไม่สูงนักกลางเมืองลำปาง ตรง ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง โดยวัดมีเนื้อที่ครอบคลุมทั้งหมด 15 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดที่มีรูปแบบศิลปะพม่า เช่นเดียวกับวัดพม่าทั่วไปในล้านนาที่ผมเล่ามาก่อนหน้านี้ (http://upic.me/i/ea/img_5304.jpg) (http://upic.me/show/46533642) ตามประวัติเล่าว่าวัดม่อนปู่ยักษ์น่าจะมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ในช่วงปี พ.ศ.2425 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 โดยในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดสัตว์ พร้อมด้วยพระอรหันต์เผยแผ่พระพุทธศาสนา มาทางทิศบูรพานั้น ครั้งผ่านมาทางแว่นแคว้นแห่งหนึ่ง ก็ปรากฏมียักษ์อยู่ตนหนึ่ง ขัดขวางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ และได้ขับไล่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จผ่านมาทางป่าบ้านพระบาทจนถึงบริเวณป่าม่อนจำศีล ในขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดม่อนจำศีลท่ามกลางพระอรหันต์ ทรงเห็นว่ายักษ์ตนนั้นน่าจะหยุดกระทำการขัดขวางเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้แล้ว จึงได้ให้ยักษ์ตนนั้นเข้าเฝ้าและฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ยักษ์เมื่อได้ฟังก็เกิดอัศจรรย์ปีติใจตนเอง จนก้มลงกราบแทบพระบาท และด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงขอบำเพ็ญศีลภาวนาที่ม่อนจำศีล ครั้นเมื่อเวลาล่วงเลยไปไม่นาน ยักษ์ตนนั้นตายลงที่ม่อนปู่ยักษ์ อันอยู่ไม่ไกลจากม่อนจำศีลมากนัก ต่อมาได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาท และรอยเท้ายักษ์บริเวณวัดพระบาท ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างวัดขึ้น โดยสร้างวัดคร่อมรอยพระพุทธบาทเพื่อยกให้สูงขึ้น เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป (http://upic.me/i/8z/img_5322.jpg) (http://upic.me/show/46533651) ส่วนอีกหนึ่งเรื่องเล่าจากหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 8 พ.ศ.2525 บันทึกไว้ว่า วัดม่อนปู่ยักษ์ได้ก่อสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2442 โดยพ่อเฒ่านันตาน้อย พ่อเฒ่านันตาไก่ พร้อมพี่น้องอีก 3 คน ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (วิสุงคามสีมา คือ ที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ) และหลักฐานอ้างอิงชิ้นนึงบอกไว้ในปี พ.ศ.2444 หรือ ค.ศ.1901 วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดย นายจองนันตาแกง ซึ่งมาจากรัฐฉาน ในประเทศพม่า โดยถือโอกาสสร้างเพราะครบรอบ 30 ปี ที่จองนันตาแกงจากบ้านมา แต่ไม่มีใครรำลึกถึงท่านผู้นี้ และไม่มีใครรู้จักเลย (http://upic.me/i/5f/img_5320.jpg) (http://upic.me/show/46533650) (http://upic.me/i/9h/img_5324.jpg) (http://upic.me/show/46533652) ซึ่งพออ่านกันมาถึงตรงนี้ กระผมก็ชักจะเวียนหัวแล้วล่ะว่าตกลงพวกเราควรจะยึดถือข้อมูลอันไหนเป็นสำคัญ เอาเป็นว่าก็เอาไปอ่านกันทั้งหมดแหละครับ ฮ่าๆๆ หลังจากปวดหัวเรื่องที่มาวัด ก็มาดูโบราณสถานที่สำคัญกันบ้าง วัดม่อนปู่ยักษ์จะประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ กุฏิไม้ศิลปะพม่า วิหาร และอุโบสถศิลปะพม่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก (http://upic.me/i/hr/img_5306.jpg) (http://upic.me/show/46533643) กุฏิไม้ อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหาร หันหน้าไปทางทิศใต้เป็นกุฏิไม้แบบศิลปะพม่า มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องไม้ หลังคาตัวอาคารใหญ่ออกแบบเป็นหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ ซุ้มส่วนเหนือทางเข้าออกแบบเป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมยอดปราสาท จะเห็นได้ว่าเป็นหลังคาแบบผสมผสานอาคารยกพื้นชั้นเดียว บันไดทางขึ้นเป็นปูน ตกแต่งไม้แกะสลักแบบศิลปะพม่า ภายในประกอบด้วยพื้นที่เป็นโถงกลางถัดเข้าไปด้านในคือที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนด้านข้างใช้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ อาคารไม้หลังนี้เป็นสิ่งก่อสร้างรุ่นแรกของวัด เขยิบกันมาจากกุฏิไม้ จะเป็นวิหารที่ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก การประดับตกแต่งลวดลายประดับอาคาร การใช้ซุ้มโค้ง (Arch) แบบศิลปะตะวันตก (http://upic.me/i/wt/img_5308.jpg) (http://upic.me/show/46533645) (http://upic.me/i/6i/img_5307.jpg) (http://upic.me/show/46533644) อุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก (ทางวัดเรียกว่าวิหารทรงโปรตุเกส) ซึ่งเป็นอาคารขนาดย่อมประดับตกแต่งด้วยลายแกะไม้ และลายปูนปั้นประดับกระจก ปิดทอง (http://upic.me/i/fb/img_5318.jpg) (http://upic.me/show/46533649) ส่วนเจดีย์ของวัดม่อนปู่ยักษ์ เป็นเจดีย์แบบมอญบนฐานประทักษิณขนาดใหญ่ ชื่อว่าเจดีย์จุฬามณีสัณฐาน มีกำแพงแก้วอยู่โดยรอบ ก่ออิฐถือปูน (http://upic.me/i/f2/img_5313.jpg) (http://upic.me/show/46533646) และสำหรับพระประธานและพระสาวกจะประดิษฐถานอยู่บนฐานลายปัน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ปางมารวิชัย ศิลปะพม่า สกุลช่างมัณฑเลย์ ส่งท้ายสำหรับท่านที่จะมาเที่ยววัดม่อนปู่ยักษ์ หากขับรถมาเองเมื่อมาถึงสี่แยกเด่นชัยลำปาง ก็ให้เลี้ยวขวาผ่านเข้าถนนสายในจะเห็นป้ายร้านอาหาร อ.อู๊ด ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปจะเห็นป้ายวัดม่อนปู่ยักษ์ ส่วนใครนั่งรถโดยสารมาก็ใช้บริการของรถสองแถวกันเอา ส่วนเรื่องเส้นทางมาก็ไม่ต้องห่วง แค่บอกพี่โชเฟอร์ว่าจะไปวัดม่อนปู่ยักษ์ ประเดี๋ยวพี่เขาจะจัดให้เองครับกระผม หัวข้อ: Re: วัดม่อนปู่ยักษ์ : เมื่อศิลปะพม่าผสมผสานกับความเป็นตะวันตก เริ่มหัวข้อโดย: parsuk ที่ สิงหาคม 16, 2013, 09:00:22 PM ยังไม่เคยไป ต้องหาโอกาส
หัวข้อ: Re: วัดม่อนปู่ยักษ์ : เมื่อศิลปะพม่าผสมผสานกับความเป็นตะวันตก เริ่มหัวข้อโดย: DDjung ที่ ธันวาคม 17, 2013, 10:23:54 AM อ่านข้อมูลแล้ว เยี่ยมเลย จ้า
น่าไปสักการะ |