จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => เชียงใหม่ ท่องเที่ยว - ข่าวสารเกี่ยวกับเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ => ข้อความที่เริ่มโดย: Boran ที่ ตุลาคม 22, 2011, 04:03:01 PM



หัวข้อ: ข้อเท็จจริงพื้นที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวร
เริ่มหัวข้อโดย: Boran ที่ ตุลาคม 22, 2011, 04:03:01 PM
พื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระรเนศวรมหาราช มีนักวิชาการท้องได้เสนอว่า เมืองแหน ที่ปรากฏในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ที่นายต่อแปล เป็นหลักฐานสำคัญที่อ้างว่าคือ เมืองแหง อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่ มีอยู่ทั้งหมด 3 เหตุการณ์ สรุปความได้ดังนี้
1. ศักราช 929 ออกญาธรรมราชา (พระมหาธรรมราชา) ผู้ครองเมืองพิษณุโลก มีใบบอกมากราบทูลพระเจ้าหงสาวดีว่าเจ้าเมืองเลียงเชียงได้ยกกองทัพมาตีพิษณุโลก จึงทรงให้เจ้าประเทศราชเงี้ยวยกกองทัพไปช่วยออกญาธรรมราชา รับสั่งให้ยกไปทางเมืองนาย แล้วตัดไปทางเมืองเชียงใหม่ ครั้นยกกองทัพไปถึงเมืองแหนเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้าเมืองเลียงเชียงทราบว่ากองทัพหงสาวดียกกองมาช่วย ก็รีบถอยหนี  (สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ 2545 : 102)
2. ครั้นจุลศักราช 974 พระเจ้าอยุธยาพระนเรศทางเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่จะไปตีอังวะ ครั้นเสด็จมาถึงเมืองแหน แขวงเมืองเชียงใหม่ก็ทรงประชวนโดยพลันก็สวรรคตในเมืองนั้น (สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ 2545 : 183)
3.ในสมัยนพระเจ้าตากสิน ยกกองทัพ 4-5 หมื่น ยกไปตีเชียงใหม่ ฝ่ายกองทัพสีหะปะเต๊ะทนฝีมือไม่ได้ก็แตกหนีไปเมืองแหนจนไปถึงเมืองนาย (สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ 2545 : 277)
โดยให้เหตุผลว่า การที่พม่าเขียนคำว่า เมืองแหน แทนคำว่า เมืองแหง นั้น เนื่องจากพม่าไม่มี ง. เป็นตัวสะกด  จึงใช้ตัว น. สะกดแทน
เมื่อสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษา ยืนยันว่าพม่ามี ง.เป็นตัวสะกดมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ไม่มีเสียงพยัญชนะลงท้ายเต็มเสียง อย่าง กง ในภาษาไทย แต่จะสะกดท้ายด้วยพยัญชนะที่กำกับด้วยไม้ทัณฑฆาต ซึ่งเรียกว่า ตัวการันต์    เป็นสระนาสิกที่สะกดด้วยอักษรในแม่กง ดังนั้นพยัญชนะ  ตัว ง. ในภาษาพม่าจะเป็นตัวสะกดในแม่กง เช่นเดียวกับภาษาไทย แต่จะอยู่ในรูปของตัวการันต์เท่านั้นเอง
มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ที่นายต่อแปล พบว่าได้แปลมาจากพระราชพงศาวดารฉบับหอแก้ว (The Glass Palace Chronicle) โดยแปลจากภาษาพม่า เป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง ซึงเป็นต้นฉบับเดียวกับที่นายเทียน (U Aung Thien) หรือหลวงไพรสณฑ์    ชาวพม่าที่เข้ามารับราชการไทย ได้แปลเมื่อ ปี พ.ศ. 2451 จากต้นฉบับภาษาพม่า เป็นภาษาอังกฤษ ได้กล่าวถึง 3 เหตุการณ์นี้เช่นกัน เนื้อความส่วนใหญ่สอดคล้องกัน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ 1 ว่ายกไปทางเมืองนาย เมื่อถึงเมืองแหน (ใช้คำว่า Maing-Hane) อันเป็นเขตแดนเชียงใหม่ (Maing-Hane in Chiengmai territory) เจ้าเมืองเลียงเชียงจึงยกทัพกลับ (The Siam Society Journal. Volume V (Part I) 1959 : 49) และเหตุการณ์ที่ 2 ที่กล่าวถึงเหตุการณ์การสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรที่มีเนื้อหาตรงกัน แต่ต่างกันที่ศักราช คือศักราช 966 และชื่อเมืองที่สวรรคต คือ เมืองหิน (Maing-Hin) แขวงเมืองเชียงใหม่ (Maing-Hin a provincial town of Zinme ) (The Siam Society Journal. Volume V (Part I) 1959 :151) ส่วนเหตุการณ์ที่ 3 ได้ตีพิมพ์ใน The Siam Society Journal. Volume VI (Part 2) (1959 : 78)   กล่าวว่ากองทัพสีหะปะเต๊ะหนีไปทางเมืองหิน (Maing-Hin)
ดังนั้น เมืองแหน  Maing-Hane   Maing-Han   Maing-Hin (เมืองหิน) ตามที่ปรากฏในเนื้อความพงศาวดารหอแก้วทั้งฉบับที่นายต่อแปล และฉบับภาษาอังกฤษ จึงเป็นเมืองเดียวกันอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังพบว่ามหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ที่นายต่อแปล (2545 : 381) เกี่ยวกับการอ่านคำว่า “เมืองหัน” จากภาษาพม่าโดยอ้างวงเล็บว่า คือ เมืองหาง นั้น กล่าวถึง สีหะปะเต๊ะผู้เป็นแม่ทัพ สั่งให้จัดทัพโดยมี ทัพเจ้าเมืองหล่ง 1 ทัพ เจ้าเมืองหล่ม 1 ทัพ เจ้าเมืองหัน 1 ทัพ เจ้าเมืองจัน 1 ทัพ...(สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ 2545 : 227) จากการตรวจสอบกับ The Siam Society Journal Volume VI (Part 2) (1959:27) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกัน และระบุชื่อ (เจ้า) เมืองได้ตรงกันทุกเมือง (แม้จะสลับที่กันบ้างหรือแปลต่างกันไปบ้าง) ระบุว่ามีเมือง คือ (1) Maing-Lon, (2) Maing-la, (3) Maing-Han, (4) Maing-San…จากหลักฐานดังกล่าวทำให้เข้าใจไปในทางเดียวกันว่าเมืองหัน (หาง) และเมืองแหน (Maing-Han) ที่กล่าวถึงในเหตุการณ์ก็คือเมืองเดียวกัน สนับสนุนว่าคือเมืองหาง ตามที่นายต่ออ้างอิงในวงเล็บนั้นเอง ซึ่งสอดคล้องกับ The Siam Society Journal. Volume VI (Part 2) (1959 : 22, 78) ที่ระบุว่าเมืองแหน (Maing-Han) และเมืองหิน (Maing-Hin) (1959 : 22, 78) ว่าคือ เมืองหาง (ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) ตามที่อ้างอิงไว้ในส่วนท้ายหน้ากระดาษ ส่วนคำว่า “Maing-Hane” น่าจะอ่านว่า “เมืองห้าง” ตามที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (น่าจะทรงเป็นผู้ร่วมถวายคำปรึกษาร่วมกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในการตรวจสอบความถูกต้องของฉบับที่นายต่อแปลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระนิพนธ์มหาราชพงศาวดารพม่า ในเหตุการณ์ที่ 1 ว่า เมื่อกองทัพไทใหญ่ยกไปถึงเมืองห้างในแว่นแคว้นนครเชียงใหม่ พระเจ้าล้านช้างจึงรีบถอยทัพกลับ

เอกสารชิ้นสำคัญของทางล้านนาได้แก่ Zinme Yazawin (ตำนวนพื้นเมืองเชียงใหม่ Sithu Gamani Thingyan 2003 : 54, 57) ได้ระบุชื่อเมืองแหง (Muang Haeng) และเมืองหาง (Muang Hang) แสดงให้เห็นว่าเป็นคนละเมืองอย่างชัดเจน และเป็นหนึ่งใน 57 หัวเมืองของเมืองเชียงใหม่ด้วยกันทั้งคู่ หากกล่าวว่า เมืองหาง แว่นแคว้น (แขวง) เมืองเชียงใหม่ก็ย่อมได้

ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนพื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่าคือ เมืองหาง รัฐฉาน ประเทศพม่า หรือที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลาย ๆ ฉบับ เรียกว่า เมืองหางหลวง หรือ เมืองหางหลวง นั่นเอง