หัวข้อ: ทรัพยากรสัตว์ป่า เริ่มหัวข้อโดย: teawadmin ที่ มีนาคม 28, 2007, 11:00:14 AM อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อย เท่าที่พบมีทั้งหมด 446 ชนิดพันธุ์ แยกออกได้เป็น 4 ประเภท คือ นกป่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดพันธุ์ของสัตว์ประเภทนี้ที่พบมีอยู่ 39 ชนิดพันธุ์ ในอดีตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมมากของสัตว์ป่าประเภทนี้ แต่ในช่วง 2 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และการล่าคุกคามความเป็นอยู่ของสัตว์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น พวกกระรอก (Squirrel) กระแตธรรมดา (Common Tree Shrew) กระเล็นขนปลายหูสั้น (Burmese Striped) อ้นเล็ก (Cannomys badius) เม่นหางพวง (Atherurus macrourus) อีเห็นข้างลาย (Paradoxurus hemaphroditus) และชะมดแผงสั้นหางดำ (Viverra megaspila) เป็นต้น (http://www.doiinthanon.com/background/images/bg07_01.jpg) นก พบในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 382 ชนิดพันธุ์ จากจำนวนดังกล่าว แยกเป็นนกประจำถิ่น (resident bird) รวม 266 ชนิดพันธุ์ นกอพยพย้ายถิ่น (migratory bird) อีกจำนวน 104 ชนิดพันธุ์ ส่วนที่เหลืออีก 12 ชนิด ไม่ทราบถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน (http://www.doiinthanon.com/background/images/bg07_02.jpg) สัตว์เลื้อยคลาน พบไม่น้อยกว่า 29 ชนิดพันธุ์ ชนิดพันธุ์ที่น่าสนใจได้แก่ เต่าหก (Testudo emys) ซึ่งเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่สุดของประเทศ เต่าปูลู (Platysternum megacephalus) จิ้งเหลนน้ำพันธุ์ไทย (Tropidophorus berdmori) จิ้งเหลนเรียวจุดดำ (Leiolopisma melanostictum) จิ้งจกหางแหลม (Hemidactylus frenatus) ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) งูลายสาบคอแดง (Rhabdophis subminiatus) งู และสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพบว่า สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด เช่น แลน หรือตะกวด (Varanus bengalensis) และงูเหลือม (Python reticulatus) เป็นสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ จนปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ประเภทนี้มีปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ รวม 14 ชนิดพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่ายในช่วงฤดูฝน ในช่วงฤดูแล้งมักหลบซ่อนหรือจำศีล สัตว์ที่พบ ได้แก่ กบห้วยสีข้างดำ (Rana nigorittata) เขียดหนอง (R. limnocharis) อึ่งกราย (Megophrys spp.) คางคกเล็ก (Bufo parvus) อึ่งอี๊ดหลังลาย (Microhyla pulchra) และปาดแคระ (Philautus parralus) สำหรับชนิดพันธุ์ที่สำคัญและน่าสนใจคือ กะท่าง (Tylototriton verrucosus) ซึ่งคนในพื้นที่แถบนั้นมักเรียกว่า จักกิ้มน้ำ ในบริเวณหุบเขาหรือพื้นที่ตามแนวลาดเขา และตามที่ราบริมลำห้วยลำธาร แหล่งที่อาศัยของสัตว์ประเภทดังกล่าวนี้ มักพบเป็นพื้นที่บริเวณแคบ ๆ มีหมู่ไม้ใหญ่ เช่น ยางปาย ไทร กระบาก มะไฟ มะกอกป่า และเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม สัตว์ที่พบมักเป็นพวกที่กินยอดไม้และผลไม้เป็นอาหาร เช่น ชะนีมือขาว (Hylobates lar) ค่างแว่นถิ่นเหนือ (Presbytis phayrei) ลิงเสน (Macaca speciosa) นางอาย (Nycticebus coucang) พวกกระรอกต่าง ๆ พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) และพญากะรอกบิน (Petaurista sp.) ในช่วงเวลากลางวันเป็นแหล่งที่พักและหลบซ่อนตัวของอีเห็น ชะมด (Viverra sp.) หมูป่า (Sus scrofa) และอีเก้ง (Muntiacus muntjak) (http://www.doiinthanon.com/background/images/bg07_03.jpg) ตามแนวลาดเขาหรือยอดเขาหลายแห่งในพื้นที่ซึ่งมีลักษณะด้านหนึ่งเป็นผาหินสูงชัน มีพันธุ์ไม้พุ่มและไม้ล้มลุกหลายชนิดขึ้นปกคลุม บางจุดมีหญ้าขึ้นแทรกปะปน และอีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ค่อย ๆ ลดลง มีหมู่ไม้ใหญ่ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ของป่าดงดิบเขาปกคลุมแน่นทึบ ลักษณะสภาพดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผา (Naemorhedus goral) สัตว์ป่าสงวนที่หายาก 1 ใน 15 ชนิดของประเทศ สัตว์ป่าอื่น ๆ ที่ยังพอเห็นได้ในปัจจุบัน ได้แก่ เลียงผา (Capricornis sumatraensis) เม่นหางพวง (Atherurus macrourus) และค้างคาวชนิดต่าง ๆ อีกหลายชนิดซึ่งเข้าไปหลบอาศัยอยู่ภายในถ้ำ หรือซอกผาที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของผาหิน |