หัวข้อ: รำลึก "อนุสาวรีย์ช้างเผือก" แห่งนครพิงค์ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 04:03:24 PM ใครที่เคยมาใช้บริการสถานีขนส่งช้างเผือก ของเชียงใหม่เพื่อต่อรถไปยังอำเภอต่างๆ คงจะเห็นตรงหน้าสถานีขนส่งนะครับ ว่าตรงนั้นมีอนุสาวรีย์ช้างเผือกตั้งอยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ช้านาน และก็แน่นอนว่าด้วยความสำคัญเยี่ยงนี้ ผมเลยจะพารู้จักกับอนุสาวรีย์ช้างเผือกกันครับ
จากประวัติความเป็นมาปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ว่าในสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 ในราชวงศ์มังรายนั้น ล้านนากับสุโขทัยมีสัมพันธ์ไมตรีอันดีต่อกัน ครั้งหนึ่งกษัตริย์ของสุโขทัย คือ พระเจ้าไสยลือไท เกิดความขัดแย้งกับกษัตริย์อยุธยา จึงได้มีราชสาส์นมาขอกองทัพเชียงใหม่ไปช่วยรบกับอยุธยา หัวข้อ: Re: รำลึก "อนุสาวรีย์ช้างเผือก" แห่งนครพิงค์ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 04:04:14 PM พญาแสนเมืองมาทรงยกกองทัพไปช่วย เมื่อถึงสุโขทัยได้ตั้งทัพอยู่นอกเมืองแล้วพักพลรอให้พระเจ้าไสยลือไทออกมาต้อนรับ แต่การณ์กลับเป็นว่าสุโขทัยยกทัพเข้ารอบโจมตีทัพเชียงใหม่ในเวลาดึกของคืนหนึ่งโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ทัพเชียงใหม่แตกพ่าย พญาแสนเมืองมาพลัดหลงออกนอกจากกองทัพ เสด็จหนีไปทางทับสลิด และได้พบกับชายสองคน คนหนึ่งชื่ออ้ายออบ อีกคนหนึ่งชื่ออ้ายยี่ระ บุคคลทั้งสองได้ผลัดกันแบกพระองค์มาตามทางจนถึงเมืองเชียงใหม่ คุณความดีครั้งนั้นพญาแสนเมืองมาทรงชุบเลี้ยงให้เป็นทหารระดับพวกเป็น พวกช้าง ซ้ายขวา แล้วให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของเชียงโฉมทางทิศตะวันออก จากนั้นทั้งสองได้ ให้สร้างรูปช้างเผือกไว้ซ้ายขวา โดยให้มีช่องทางเดินระหว่างช้างทั้งสองเชือก
หัวข้อ: Re: รำลึก "อนุสาวรีย์ช้างเผือก" แห่งนครพิงค์ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 04:04:57 PM รูปช้างเผือกอนุสาวรีย์ของอ้ายออบกับอ้ายยี่ระ จะตั้งอยู่ที่ใดมีรูปร่างอย่างไร ผู้คนในสมัยปัจจุบันไม่มีใครพบเห็น กระนั้นก็มีนักวิชาการหลายท่านเห็นตรงกันว่าอยู่บริเวณข้างทางเข้าออกฝังซ้ายขวาของประตูหัวเวียงและด้วยเหตุนี้ ชื่อประตูหัวเวียงจึงเรียกประตูช้างเผือกแต่นั้นมา ส่วนรูปร่างคงเป็นรูปช้างเผือกตั้งอยู่คนละฟากถนน เพราะในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า "แปลงรูปช้างเผือก ๒ ตัวไว้ซ้ายขวาเทียว (เดิน) เข้าออกตามรูปช้างนั้น"
อย่างไรก็ตาม รูปอนุสาวรีย์ดังกล่าวจะมีอายุยืนนานเพียงใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่พบว่ามีการสร้างรูปช้างเผือกขึ้นใหม่ ณ บริเวณใกล้เคียงกัน ในสมัยพระญาติโลกราชครั้งหนึ่งและในสมัยพระเจ้ากาวิละอีกครั้งหนึ่ง แต่การสร้างสองครั้งหลังนี้เป็นการสร้างขึ้นในฐานะอารักษ์เมืองหรือเสื้อเมือง ซึ่งต่างจากการสร้างครั้งแรกที่สร้างในฐานะเป็นอนุสาวรีย์ หัวข้อ: Re: รำลึก "อนุสาวรีย์ช้างเผือก" แห่งนครพิงค์ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 04:05:31 PM ทั้งนี้ ในสมัยเจ้ากาวิละได้สร้างรูปปั้นช้างเผือก 2 เชือกให้มีขนาดใกล้เคียงกับช้างตัวจริง หันหน้าไปทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก และทำซุ้มครอบช้างทั้งสองเอาไว้ มีกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ทาด้วยสีขาว สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2343 และให้ชื่อช้างทั้งสองว่า พญาปราบเมืองมาร (ทิศเหนือ) และ พญาปราบจักรวาล (ทิศตะวันตก) และจากการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก 2 เชือกนี้จึงเป็นเหตุให้ในสมัยหลัง ชื่อประตูเมืองเชียงใหม่ ด้านเหนือเดิมชื่อ ประตูหัวเวียง เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ประตูช้างเผือก ไปตามชื่อของอนุสาวรีย์ ช้างเผือกจนถึงปัจจุบัน
หัวข้อ: Re: รำลึก "อนุสาวรีย์ช้างเผือก" แห่งนครพิงค์ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 04:06:22 PM ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เจ้ากาวิละได้อพยพเทครัวชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณประตูช้างเผือกและประตูช้างม่อย ก่อนต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) ได้อพยพเทครัวชาวไทใหญ่ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าคง (แม่นํ้าสาละวิน) แถบบ้านแม่คะตวน ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดป่าเป้านอกเมืองเชียงใหม่ ชาวไทใหญ่เหล่านี้ล้วนศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าจึงมีการสร้าง บูรณะ เปลี่ยนแปลง วัดในเขตบริเวณนั้น รวมถึงอนุสาวรีย์ช้างเผือกด้วย
ราว ปี พ.ศ. 2443-2446 พบว่าในสมัยนั้นมีชาวมุสลิมเชื้อสาย ปากี-อินเดีย อีกกลุ่มชุมชนที่อาศัยร่วมกันกับกลุ่มชาวไทใหญ่ โดยมุสลิมกลุ่มแรกที่เข้ามาสู่เมืองเชียงใหม่ในสมัยแรกมีเพียง 4-5 ครอบครัว นำโดยท่านนะปะซางหรือพ่อเลี้ยงเลานะ ท่านเป็นผู้สร้างและปรับปรุงมัสยิดช้างเผือกจนได้รับการยกย่องเป็นอิหม่ามของสัปบุรุษมัสยิดช้างเผือก หัวข้อ: Re: รำลึก "อนุสาวรีย์ช้างเผือก" แห่งนครพิงค์ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 04:07:00 PM ด้วยความที่ในเขตชุมชนกู่เต้า-ช้างเผือก-ป่าเป้า มีถิ่นกำเนิดที่มาอย่างหลากหลายทั้งชาวไทยมุสลิม ชาวไทใหญ่ คนพื้นเมืองล้านนา แต่นั่นก็ทำให้มีการก่อเกิดวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะชาวไทใหญ่ในชุมชนช้างเผือก-ป่าเป้า ที่ให้ความเคารพนับถืออนุสาวรีย์ช้างเผือกเป็นอย่างมาก จนมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเมืองเชียงใหม่เกิดโรคห่าระบาด ชาวบ้านช้างเผือกปลอดภัยเพราะสักการะอนุสาวรีย์ช้างเผือกเป็นประจำ
ทุกครั้งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชุมชนช้างเผือก-วัดป่าเป้า จะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา และรดนํ้าดำหัวอนุสาวรีย์ช้างเผือกอยู่เป็นประจำ แต่ปัจจุบันนี้ทั้งสองชุมชน ต่างคนต่างทำมากกว่าที่จะรวมตัวกันจนเกิดความรักสามัคคีเหมือนเมื่อครั้งอดีต กระนั้นก็ยังถือว่าอนุรักษ์ประเพณี และวัฒนธรรมเดิมๆ เอาไว้ไม่ให้สูญหายไปไหน เพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอด หัวข้อ: Re: รำลึก "อนุสาวรีย์ช้างเผือก" แห่งนครพิงค์ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 04:07:34 PM หากใครมีโอกาสมาเที่ยวเมืองเชียงใหม่ และมาขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งช้างเผือก ก็สามารถฆ่าเวลาด้วยการแวะมาชมอนุสาวรีย์ช้างเผือกกันได้ครับ ซึ่งถือว่าเป็นการฆ่าเวลาที่ดี ที่มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ และร่องรอยให้ได้เรียนรู้กัน
แถมยังเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่กันอีกด้วย |