หัวข้อ: วัดชมพู : พระธาตุฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 03:45:59 PM หากเวียงกุมกาม คือโมเดลก่อนจะสร้างเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน พระธาตุที่ วัดชมพู หรือ วัดใหม่พิมพา ก็น่าจะเข้าข่ายเดียวกัน กับการสร้างพระธาตุดอยสุเทพ
อันที่จริงจะบอกว่าเป็นโมเดลก่อนสร้างก็ไม่ใช่ ต้องบอกว่าเป็นนพระธาตุคู่แฝดเลย น่าจะถูกที่สุด เหตุที่มาที่ไปก็คือ เมื่อครั้งที่ พระเจ้ากือนามหาราชเจ้านครเชียงใหม่ กษัตริย์แห่งล้านนาไทยทรงสร้างพระบรมธาตุดอยสุเทพ พระราชมารดา พระนางพิมพาเทวี ทรงปรารภว่าบนดอยสูงเกินคนเฒ่าคนแก่ขึ้นไปไหว้ไม่สะดวก ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระธาตุเจดีย์พร้อมวัด มีนามว่า วัดใหม่พิมพา ทั้งนี้ แม้จะคล้ายกัน แต่ยอดพระธาตุเจดีย์ทั้งสองต่างกันคือ พระบรมธาตุเจดีย์สุเทพมีฉัตร 5 ชั้น พระธาตุใหม่พิมพามี 7 ชั้น เชื่อกันว่ายุคนั้นนับถือ ศักดิ์ มากกว่า ยศ และสำหรับคนที่ขึ้นไปไหว้พระธาตุบนดอยไม่ได้ ก็จะไหว้พระธาตุคู่แฝดนี้แทนจนถึงปัจจุบัน หัวข้อ: Re: วัดชมพู : พระธาตุฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 03:46:44 PM วัดชมพู อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของคูเมืองเชียงใหม่ มีเนื้อที่ไม่ถึง 4 ไร่ เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ แต่จะสร้างสมัยไหน ใครเป็นผู้สร้างยังไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นที่แน่ชัด ฉะนั้นการเขียนถึงประวัติของวัดชมพู จึงถือเอาแน่นอนถูกต้องชัดเจนทีเดียวนั้นไม่ได้ ตัววัดมีอายุมากกว่า 600 ปี (พิจารณาจากศิลปะ ฝีมือการสร้าง) ทั้งนี้โดยอาศัยศิลปะวัตถุที่เก่าแก่ของวัดที่เหลืออยู่ คือ พระเจดีย์หุ้มด้วยทองจังโก ซึ่งสมัยนี้จะหาดูได้ยาก อยู่ทางทิศใต้ของวัด และมีซุ้มประตูโขง ซึ่งสร้างโดยศิลปะสมัยเดียวกัน อยู่ทางด้านทิศเหนือ แต่ทางวัดได้บูรณะเสริมฐานเพื่อความมั่นคง เมื่อปี 2526 แต่รูปแบบยังคงเดิมทุกประการ
หัวข้อ: Re: วัดชมพู : พระธาตุฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 03:47:20 PM เมื่อพูดถึงที่มาชองชื่อวัดมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพระเจ้ากาวิละบรมราชาธิบดีฯ พระเจ้าประเทศราชแห่งนครเชียงใหม่ที่ 1 สมัยรัตนโกสินทร์ ทรงได้ปราบศัตรูหมู่พม่าข้าศึกออกจากเมืองแล้วจึงเสด็จเข้าเสวยเมือง ครั้งนั้นได้นิมนต์พระอาจารย์ผู้ฉมังเวท ชื่อ ครูบาชมพู ติดตามมาในครั้งนี้ด้วย แต่พระอาจารย์ไม่ยอมเข้าเมือง ขอพำนักรักษาพระนครอยู่ ณ วัดใหม่พิมพา ซึ่งวัดนี้เคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการรบของแม่ทัพพม่ามาแต่เดิม ต่อมาผู้คนเรียกขานว่า วัดครูบาชมพู และในที่สุดกลายเป็น วัดชมพู มาจนถึงทุกวันนี้
หัวข้อ: Re: วัดชมพู : พระธาตุฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 03:52:00 PM สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด คือ พระธาตุเจดีย์ทองจังโก (คำว่าทองจังโก หมายถึง แผ่นทองผสมกับเนื้อโลหะหลายอย่าง ) สูงประมาณ 30 เมตร กว้างด้านละ 11.30 เมตร มีอายุประมาณเกือบ 600 ปี ไม่มีหลักฐานใดปรากฏว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาก่อน องค์พระเจดีย์เป็นแบบฐานบัวแก้ว ย่อเก็จตั้งรับบัว หน้ากระดานและมาลัยระฆังแบบสิบสองเหลี่ยม ซึ่งนับเป็นแบบสุดท้ายของศิลปะล้านนา ที่เอารูปแบบยุคที่สองมาฟื้นฟูใหม่ จัดเป็นรุ่นสุดท้ายต่อจากรุ่นที่มีเรือนธาตุ องค์พระธาตุเจดีย์บุ หุ้มด้วยแผ่นโลหะ ตามภาษาชาวบ้านนาที่เรียกว่า แผ่นทองจังโก ทั้งองค์มีการประดับตกแต่งลวดลายด้วยวิธีสลักดุนยกดอกกระหนกใบเทศและก้านขด มีบางแผ่นสลักเป็นลวดลายประกอบภาพสิบสองนักษัต รายรอบเป็นช่วง ๆ ลงรักปิดทองคำเปลว มีขนาดรูปทรงเหมือนกับพระบรมธาตุเจดีย์ดอยสุเทพเกือบทั้งหมด มีคำกล่าวเล่าขานเป็นตำนานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันว่า เป็นพระธาตุเจดีย์คู่แฝดกับพระบรมธาตุเจดีย์ดอยสุเทพ
นอกจากนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับองค์พระธาตุ ครูบาแฮด อดีตเจ้าอาวาสเคยเล่าให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟังว่า พวกพม่าข้าศึกใช้ไม้พาดระหว่างพระนาสา (บ่า) พระพุทธรูปในวิหารหลวงกับขอบขันเรือนธาตุ ใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ ยิงทำลายกำแพงเมือง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระธาตุเอียงทรุด หัวข้อ: Re: วัดชมพู : พระธาตุฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 03:52:32 PM เมื่อไม่แน่ใจในความแข็งแรง ไหนจะแกนในพระธาตุเจดีย์ทำด้วยดินเหนียว ที่ข้างในบางแห่งเป็นโพรงลึก เสี่ยงแก่การพังทลายอย่างยิ่ง ทางวัดจึงได้ทำการบูรณะ ปฏิสังขรณ์โดยรีบด่วน โดยมี นายนัฎจักร ณ เชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญการสอนศิลปะไทยระดับ 9 มาควบคุมดูแลและออกแบบเขียนแบบ ซึ่งมีทั้งงานซ่อมและสร้างเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ครบถ้วนตามรูปแบบอย่างมีหลักวิชาการและเหตุผล ร่วมกับช่างฝีมือพื้นบ้านล้านนา โดยใช้เวลาทั้งหมด 9 ปี จึงแล้วเสร็จ
หัวข้อ: Re: วัดชมพู : พระธาตุฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 03:53:13 PM ส่วนพระวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้ โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่ยังคงเป็นไม้ บริเวณฝาผนังมีจิตรกรรมภาพพุทธประวัติ ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย หรือ ชนะมาร หรือ สะดุ้งมาร เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้
หัวข้อ: Re: วัดชมพู : พระธาตุฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 20, 2017, 03:53:48 PM โดยตามประวัติของปางนี้เล่าว่า พระบรมโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม) ได้เสด็จไปประทับใต้ต้นมหาโพธิ์ในเวลาเย็น และนั่งสมาธิกำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนา เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แต่จิตของพระองค์ แทนที่จะคิดไปในทาง โลกุตตรธรรม กลับหันไปคิดถึง โลกิยสุข แต่เมื่อครั้งอยู่ครองเรือน ในหนหลัง และผู้แต่งปฐมสมโพธิกถา ได้แสดงการผจญในโลกิยสุขของพระบรมโพธิสัตว์โดยใช้การผจญของมารเป็นสัญญลักษณ์ ดังนี้ว่าเป็น พระยาวัสสวดีมารซึ่งคอยติดตามพระองค์อยู่ จึงเข้าขัดขวาง โดยขี่ช้างคิรีเมขละ นำเหล่าเสนามารจำนวนมากเข้ามารบกวน หวังให้พระองค์เกรงกลัวจะได้ลุกขึ้นเสด็จหนีไป แต่พระองค์ก็ยังประทับนิ่งเป็นปกติโดยมิได้ทรงหวั่นไหว พระยามารจึงโกรธมาก สั่งให้เสนามารกลุ้มรุมกันประหารพระองค์ พระองค์จึงทรงนึกถึงบารมี 30 ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญสั่งสมมาทุกชาติ โดยขอให้นางแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีจึงผุดขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วบิดมวยผมจนน้ำท่วม กระแสน้ำก็พัดพาพวกเสนามารไปหมดสิ้น พระยาวัสสวดีมารจึงยอมแพ้หนีไป
และทั้งหมดนั้น คือเรื่องราวของวัดชมพูกันครับ |