หัวข้อ: สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 1-4) เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ มกราคม 13, 2017, 05:10:18 PM สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 1)
สถานที่ตั้ง : ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ : 083 566 0844 พิกัด : 18.788593, 98.981318 วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่ภายในเขตคูเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานพระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่รู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง" วัดพระสิงห์ มีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามเป็นวัดที่นักท่องเที่ยวรู้จักและคุ้นชื่อกันอย่างดี วัดพระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดินทางมาเคารพสักการะกันอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้พากันมา สรงน้ำ ในเทศกาลปีใหม่ตามคติล้านนา รวมถึงคนที่เกิดปีมะโรงจะต้องหาโอกาสมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยวัดพระสิงห์ได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายนาม พญาผายู ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดาของพระองค์ ต่อมาอีก 2 ปีได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อยทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ" สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระสิงห์ กระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 วัดพระสิงห์ได้รับพระกรุณาโปรดให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร จึงมีนามเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จวบจนปัจจุบัน พระอุโบสถ เป็นรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยพระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งด้านหน้าด้านหลัง ลักษณะอาคารและการตกแต่งเป็น แบบศิลปะล้านนา โดยแท้ ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณ ซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้าประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือคิ้วโก่งเป็น วงกลม สองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน มีรักปั้นปิดทองงดงามวิจิตรเป็นอันมาก หัวข้อ: Re: สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 1-4) เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ มกราคม 13, 2017, 05:13:47 PM สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 2)
สถานที่ตั้ง : ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ : 083 566 0844 พิกัด : 18.788593, 98.981318 พระประธาน ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธปฏิมาศิลปะล้านนาไทย พุทธศตวรรษที่ 21 ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง มีพุทธลักษณะสง่างาม ประณีต ตรงฐานมีจารึกอักษรธรรมล้านนาไทยว่า กุลลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา อันหมายถึง ปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ในทางพระพุทธศาสนาที่ระบุว่า สภาวะธรรมทั้งปวงมี 3 ประเภท คือ ธรรมทั้งหลายที่เป็น กุศล ก็มี, ธรรมทั้งหลายที่เป็น อกุศล ก็มี และธรรมทั้งหลายที่อยู่นอกเหนือจาก กุศลและอกุศล ก็มี พระเจดีย์ เป็นพุทธศิลป์ศิลปะล้านนา สร้างในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง เช่นปี พ.ศ. 2492 โดยท่านพระครูสิกขาลังการ เจ้าอาวาสในขณะนั้น และอีกหลายครั้งในสมัยต่อมา โดยท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน หอไตร สร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้น ทำเป็นรูปเทพพนมยืน บ้างก็เหาะประดับ อยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐได้ซ่อมแซมขึ้น ใหม่ที่ฐาน หอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัว ภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก กิเลน เป็นต้น และมีลายประจำยามลักษณะคล้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน บานประตูหลวง ทำด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีตวิจิตรบรรจง เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยศิลปินเอกผู้มีผลงานเป็นที่กล่าวขานในระดับโลก นามว่า อ.ถวัลย์ ดัชนี เป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกาย คนเราทุกคน ซึ่งแนวคิดของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถ่ายทอดธาตุทั้ง 4 ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด เพื่อการสื่อความหมายโดยให้ ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของดิน นาค เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของลม และ สิงห์โต เป็นสัญลักษณ์ของไฟ ผสมผสานกันโดยมีลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีลีลาเฉพาะแบบของ อ.ถวัลย์ ดัชนี งานแกะสลักบานประตูวิหารนี้ พระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้มอบความไว้วางใจให้ สล่าอำนวย บัวงาม หรือ สล่านวย และลูกมืออีกหลายท่านเป็นผู้แกะสลัก ใช้เวลาในการแกะสลักเกือบหนึ่งปี ได้บานประตูด้วยลวดลายและลีลาการออกแบบ และฝีมือการแกะสลักเสลาอย่างประณีตบรรจง นับว่า บานประตูนี้ได้ช่วยส่งเสริมความงดงาม ของพระวิหารได้โดดเด่นมากขึ้น หอระฆัง เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาไทยประยุกต์ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน ขนาดความสูง 25 นิ้ว ยาว 39 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ. 2438 ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง หัวข้อ: Re: สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 1-4) เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ มกราคม 13, 2017, 05:16:04 PM สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 3)
สถานที่ตั้ง : ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ : 083 566 0844 พิกัด : 18.788593, 98.981318 วิหารลายคำ มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมากแสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ ๆ พญานาค มีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว บริเวณ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ เต็มไปหมด ด้านหลังพระประธาน ยังมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง ผนังวิหารด้านเหนือมีภาพจิตรกรรม เขียน เรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เรื่องสุวรรณหงส์ นับเป็นภาพที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทอง พบเพียงแห่ง เดียวที่นี่ พระพุทธบาทจำลอง พระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ ว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา พลโทอัมพร จิตกานนท์ นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยความอนุเคราะห์จากท่านเอกอัครราชทูตอินเดียและอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และปลูกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนา ในฐานที่เป็นต้นไม้ซึ่ง พระโพธิสัตว์ลาดบัลลังก์ประทับในคืนก่อนตรัสรู้ เดิมเรียกกันว่าต้น อัสสัตถพฤกษ์ ที่ได้ชื่อว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็เพราะเป็นต้นไม้ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ โพธิธรรม ของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้นสาละลังกา เป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับสำเร็จสีหไสยาสน์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติโสภณ นำมาจากประเทศศรีลังกา และนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์เมื่อ พ.ศ. 2512 วัดพระสิงห์ มีเจ้าอาวาสที่บริหารวัดสืบต่อกันมานับแต่ปีที่สร้างวัด จนปัจจุบันจำนวน 9 รูป ดังนี้ ครูบาปวรปัญญา พ.ศ. 1943 - พ.ศ. 1962 ครูบาอินทจักรรังษี พ.ศ. 1962 - พ.ศ. 1985 พระอธิการอินตา พ.ศ. 1985 พระมหายศ พระธรรมปัญญา พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2440 พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก) พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2473 พระครูเมธังกรญาณ (ดวงต๋า) พ.ศ. 2473 - พ.ศ. 2488 พระครูสิกขาลังการ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2522 พระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) (ชื่น ปญฺญาธโร -แก้วประภา - ป.ธ.6) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2523 - ปัจจุบัน หัวข้อ: Re: สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 1-4) เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ มกราคม 13, 2017, 05:19:40 PM สุดยอดจิตรกรรมวิหารลายคำ @ วัดพระสิงห์ (Page 4)
สถานที่ตั้ง : ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ : 083 566 0844 พิกัด : 18.788593, 98.981318 พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง มีพุทธลักษณะสง่างาม ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีป ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 700 ต่อมาเจ้านครศรีธรรมราชได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเมืองเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อปี พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338 ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล โดยจะมีพิธีเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ ส่วนพระสิงห์ที่ประดิษฐานที่วัดแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปจำลอง หากพิจารณาถึงคำว่า วัดพระสิงห์ นั้น หมายถึง วัดซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์มาก่อน พระสิงห์ เป็นนามพระพุทธรูป อันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ตรงกับ พระพุทธสิหิงค์ อันเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ทางภาคเหนือล้านนา มิได้เรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ นิยมเรียกว่า พระสิงห์ ซึ่งหมายถึง สิงหนวัติ กษัตริย์โบราณผู้สร้างเมืองโยนกนคร นอกจากนี้ยังหมายถึง พระศากยสิงห์ เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า แต่ภาพรวมแล้ว พระสิงห์ ก็คือเป็นนามของพระพุทธรูป อันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์ เพราะทุกที่ที่ปรากฏว่ามี พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ นั้นแสดงให้เห็นว่าสถานที่เหล่านั้นได้มีพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างลังกาวงศ์แพร่หลายไปถึง ฉะนั้นควรถือกันว่าพระพุทธรูปที่เรียกพระนามอย่างนี้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาเถรวาท พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนานมีหลักฐาน ปรากฏในสิหิงคนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1,150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้ พ.ศ. 1850 ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย 70 ปี พ.ศ. 1920 ประดิษฐานที่พิษณุโลก 5 ปี พ.ศ. 1925 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 5 ปี พ.ศ. 1930 ประดิษฐานที่กำแพงเพชร 1 ปี พ.ศ. 1931 ประดิษฐานที่เชียงราย 20 ปี พ.ศ. 1950 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 255 ปี พ.ศ. 2250 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 105 ปี พ.ศ. 2310 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 28 ปี พ.ศ. 2338 ประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน by Traveller Freedom |