หัวข้อ: โบราณสถานแห่งดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ @ วัดพระธาตุภูเข้า (Page 1-2) เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ ธันวาคม 13, 2016, 10:57:40 AM โบราณสถานแห่งดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ @ วัดพระธาตุภูเข้า (Page 1)
สถานที่ตั้ง : บ้านสบรวก หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ : 053 784 224, 081 706 0311 พิกัด : 20.351907, 100.081360 วัดพระธาตุภูเข้า หรือวัดพระธาตุปูเข้า (เรียกต่างกันไปตามสำเนียงท้องถิ่น กับภาษากลาง จึงทำให้มี 2 ชื่อ) ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับชายแดนสามแผ่นดินริมน้ำโขง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังประจำอำเภอเชียงแสน อันมีนามว่า สามเหลี่ยมทองคำ วัดพระธาตุภูเข้า สร้างขึ้นบนดอยเชียงเมี่ยง ริมปากแม่น้ำรวกที่มาบรรจบกับแม่น้ำโขง เมื่อปี พ.ศ. 1302 ในสมัยพระยาลาวเก้าแก้วมาเมือง กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งเวียงหิรัญนครเงินยาง โบราณสถานประกอบด้วยพระวิหารและกลุ่มเจดีย์ที่พังทลาย ก่อด้วยอิฐมีร่องรอยการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น นอกจากนี้บนดอยเชียงเมี่ยงยังเป็นจุดชมวิวมุมสูง ที่สามารถมองเห็นสามเหลี่ยมทองคำได้อย่างชัดเจน รวมถึงแผ่นดินฝั่งประเทศเมียนมาร์ และฝั่งประเทศลาวอีกด้วย วัดพระธาตุภูเข้า ตั้งอยู่บนดอยริมแม่น้ำโขง มีมณฑปอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด ล้อมรอบด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก 5 องค์ ด้านหน้าเป็นวิหาร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้น 3 ด้าน คือทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ตามจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 วัดพระธาตุภูเข้า นับถึงปัจจุบันมีอายุมากถึง 1,257 ปี เพราะความเก่าแก่โบราณของวัดแห่งนี้ จึงทำให้มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และได้มีการจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ดังนี้ พระวิหาร เป็นวิหารที่มีอายุกว่าพันปี ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ รวมถึงพระเจ้าเชียงแสนองค์ใหม่ที่สร้างขึ้นภายหลัง พระพุทธรูปพระเจ้าเชียงแสน องค์เก่าที่อยู่คู่วัดแห่งนี้มาตั้งแต่อดีต ประดิษฐานอยู่นอกพระวิหาร ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงพระวรกายบางส่วนให้ได้กราบสักการะบูชาเท่านั้น พระธาตุภูเข้า ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยที่พระยาลาวเก้าแก้วเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งเวียงหิรัญนครเงินยาง ยังทรงเยาว์วัยนั้น ได้มีปูยักษ์ 2 ตัว เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของประชาชน พระยาระวะจักรราช พระราชบิดาของพระองค์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายได้มอบหมายให้พระองค์มาปราบปูยักษ์ และในที่สุดก็จับได้ตัวหนึ่ง ส่วนอีกตัวหนีลงไปใต้ภูเขา ครั้นพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้สร้างพระธาตุปิดทางปูเอาไว้ ทำให้พระธาตุแห่งนี้มีชื่อว่า พระธาตุปูเข้า นอกจากนี้ยังมีตำนานกล่าวไว้ว่าในสมัยที่พระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้นเคยเสด็จมายังบริเวณนี้และได้ทำนายไว้ว่า ในอนาคตที่แห่งนี้จะมีชื่อว่า ดอยปูเข้า และจะมีความเจริญในภายภาคหน้า หัวข้อ: Re: โบราณสถานแห่งดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ @ วัดพระธาตุภูเข้า (Page 1-2) เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ ธันวาคม 13, 2016, 11:02:33 AM โบราณสถานแห่งดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ @ วัดพระธาตุภูเข้า (Page 2)
นอกจากนี้ยังมีเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวไว้ว่า เมื่ออาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสนล่มสลาย ในราวปี พ.ศ. 1003 ชาวบ้านที่เหลืออยู่ภายรอบนอกแห่งนคร จึงพากันสร้างเมืองใหม่ชื่อ เวียงปรึกษา และได้ย้ายมายังริมแม่น้ำโขงคือที่ตั้งเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน กระทั่งในราวปี พ.ศ. 1182 ลวะจังกราชเทพบุตรได้รับอภิเษกให้ปกครองเมือง เหรัญนครเงินยางไชยบุรีเชียงแสนครึ่งหนึ่ง 6 ปีต่อมา เหล่าท้าวพระยาเสนาอำมายต์ราชบัณฑิตทั้งหลาย ก็พากันสถาปนาพระองค์ให้เป็นใหญ่ครองทั้งเมือง และทรงพระนามใหม่ว่า ลวะจังกราชเอกกษัตริย์ เป็นกษัตริย์องค์แรก จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชบุตร 3 พระองค์ องค์แรกนามลาวกอ องค์ที่ 2 นามลาวเกือ องค์ที่ 3 นามลาวเกลา ในเวลาที่พระโอรสทั้ง 3 ยังทรงประเยาว์อยู่ ขณะนั้นยังมีปูตัวใหญ่เท่ายุ้งข้าว มีลูก 2 ตัว เวลากลางคืนมันพาลูกออกเที่ยวหากิน กัดข้าวกล้าในนาเสียหาย ใช้ก้ามคีบช้างคีบโคกระบือตายวายวอด จนชาวบ้านได้รับความเสียหายเดือดร้อนเป็นอันมาก พระมหากษัตริย์ผู้เป็นบิดาทรงรับสั่งให้พระโอรสทั้ง 3 ไปกำจัดปู 3 แม่ลูกกุมารน้อยทั้ง 3 ก็พากันไปตามลำน้ำตามรอยปูขึ้นไประหว่างเขาแห่งหนึ่ง เห็นปูอยู่ในถ้ำ ผู้พี่ทั้ง 2 พระองค์จึงช่วยกันขุด ให้น้องสุดคนสุดท้องไปดักรอเอาสวิงรออยู่ใต้น้ำ จนกระทั่งพลบค่ำก็ยังขุดไม่สำเร็จเพราะรูหินนั้นแข็งมาก จึงเอาก้อนหินใหญ่ปิดทับไว้แล้วชวนกันกลับวัง โดยมิได้เรียกองค์น้องกลับมาด้วย ส่วนลาวเกลา องค์น้องคนเล็กที่รออยู่เป็นเวลานานเกิดความสงสัยจึงขึ้นไปดูก็ไม่พบพี่ทั้งสอง มีแต่ก้อนหินทับปิดรูอยู่ จึงกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้พระราชบิดาทรงทราบ พระองค์ทรงตำหนิและสั่งสอนพระโอรสผู้พี่ทั้งสอง ต่อมาลาวเกลาได้เรียกรี้พลโยธาอาวุธครบมือขึ้นไปขุดรูปูลึกลงไปราว 300 ศอก ก็ถึงที่อยู่ของปู ลูกปูตัวหนึ่งวิ่งออกมาเลยถูกฆ่าตายและถอนเอาก้ามไปทำกลอง ส่วนแม่ปูและลูกปูอีกตัวกระดองแข็งมากฟันแทงไม่เข้า ได้ออกมาไล่ฆ่าไพล่พลจนล้มตาย แล้วหนีเข้าถ้ำลึกลงไปถึงริมแม่น้ำโขง ส่วนที่เหลือก็พยายามติดตามไล่ฆ่า แต่ก็ไม่สามารถฆ่าปูสองแม่ลูกนี้ได้ จึงพากันกลับ กาลต่อมาพระเจ้าลวะจังกราชทรงรับสั่งให้ลาวกอไปอยู่เมืองม้าเชียงของ องค์ที่สองนามลาวเกือให้ไปอยู่เมืองยอง ส่วนลาวเกลาองค์เล็กให้อยู่เวียงเหรัญนครเงินยางเชียงแสน เพื่อเป็นรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังค์ต่อไป ครั้นเมื่อลวะจังกราชเอกกษัตริย์ทรงสวรรคตลาวเกลาได้เถลิงถวัลย์ราชบัลลังค์ ในราวปี พ.ศ. 1302 และเมื่อทรงครองพระราชสมบัติแล้วพระองค์เป็นผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา จึงได้มาสร้างพระสถูปเจดีย์ ณ จอมดอยที่ปูเข้านี้ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียก ดอยเชียงเมี่ยง ด้วยเหตุว่าเมื่อกาลสมัยที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงเสด็จมาฉันภัตตาหาร เสร็จแล้วบ้วนปากลงไปยังฝั่งแม่น้ำ และมอบพระเกศาธาตุไว้ที่นี่เส้นหนึ่ง แล้วพระพุทธองค์ยังทรงทำนายว่าที่นี้ต่อไป จัดได้ชื่อว่า "ดอยภูเข้า" ว่าดังนั้น ด้วยเหตุนี้พระเจ้าลาวเก้าแก้วจึงได้มาสร้างมหาเจดีย์สวมครอบพระธาตุเจ้า ณ ที่แห่งนี้ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระองค์ทรงทำบุญให้ทาน ฉลององค์พระธาตุเจดีย์เป็นการใหญ่ ชนทั้งหลายจึงขนานนามสถานที่แห่งนี้ว่า พระธาตุดอยภูเข้านั่นแล พระเจ้าลาวเก้าแก้วมาเมืองเสวยราชได้ 12 ปี อายุ 80 พรรษา ในราวปี พ.ศ. 1315 ก็เสด็จสวรรคต by Traveller Freedom |