จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำ โครงการหลวง Royal Project => ข้อความที่เริ่มโดย: Dockaturk ที่ พฤศจิกายน 02, 2016, 12:01:40 AM



หัวข้อ: 9 สถานที่เที่ยวในเชียงใหม่ กับเส้นทางตามรอยพ่อ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤศจิกายน 02, 2016, 12:01:40 AM
“ไม่มีที่ใดบนผืนแผ่นดินไทย ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง”

คำกล่าวนี้ บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า “ในหลวง” พระองค์ทรงเป็น "นักเดินทาง" ที่นำความเจริญไปสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า พระองค์ทรงงานหนัก และทุ่มเทพระวรกาย เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ มีอาชีพที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปี มีโครงการพระราชดำริมากมายเกิดขึ้นหลายพันโครงการทั่วแผ่นดินไทย

จากหลายพันโครงการที่เกิดขึ้น นอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ที่คนไทยอย่างเราๆ นั้นควรที่จะไปเห็น ไปสัมผัสกันว่า “เราช่างโชคดีแค่ไหนที่มีพระมหากษัตริย์ ที่ทรงรักใคร่ และทำเพื่อประชาชน มากกว่ากษัตริย์องค์ใดๆ ในโลก”

และจาก 9 สถานที่ที่คัดมาในเชียงใหม่ นี่คือเส้นทางตามรอยพ่อ ที่ควรไปเที่ยวกันครับ

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2504 เพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ จังหวัดเชียงใหม่นี้ รวมทั้งยังใช้รับรองพระราชอาคันตุกะในวโรกาสต่างๆ บรรยากาศโดยรอบพระตำหนักรายล้อมด้วยภูมิประเทศที่สวยงาม มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ส่วนภายในบริเวณประกอบไปด้วยพระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีชั้นใต้ดินตั้งอยู่บนเนิน และพระตำหนักสิริส่องภูพิงค์ ที่ใช้ไม้ยูคาลิปตัสมาก่อสร้างในรูปแบบ log cabin และยังมีเรือนรับรองเป็นอาคาร 2 ชั้นแบบไทยประยุกต์ ซึ่งใช้เป็นที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จ นอกจากนี้ในบริเวณพระตำหนักมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีภูมิทัศน์สวยงามสดชื่น สวนเฟิร์นธรรมชาติ มีอาคารที่จัดแต่งเป็นสวนดอกไม้ละลานตา โดยเฉพาะดอกกุหลาบหลากสายพันธุ์ที่พากันอวดช่อดอกดูสดใส

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2517 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารปัญหาชาวเขาได้ทำลายป่าเพื่อเปิดที่ทำกินใหม่ ปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย จึงตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยขึ้น  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกร โดยแนะนำพืชเศรษฐกิจใหม่ๆทดแทนการปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น โดยสามารถชมสถานีวิจัยพัฒนาพืชผักโครงการหลวง มีผักหลากหลายชนิดหมุนเวียนปลูกตามฤดูกาลเพื่อทำงานวิจัยเก็บข้อมูล เช่น อาติโช๊ค เรดโอ๊ค มะเขือเทศโครงการหลวง พืชสุมนไพร และผักไฮโดรโพนิคส์ปลูกโดยไม่ใช้ดิน ชมแปลงผักแบบขั้นบันไดกลางฤดูฝนจนถึงกลางฤดูหนาว (สิงหาคม-ธันวาคม) มีผักหลากชนิด เช่น ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี


หัวข้อ: Re: 9 สถานที่เที่ยวในเชียงใหม่ กับเส้นทางตามรอยพ่อ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤศจิกายน 02, 2016, 12:05:14 AM
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยอินทนนท์
ได้ดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยชาวเขา ให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง  ลดการทำไร่เลื่อนลอย   ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่เพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตรให้สูงขึ้น ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้นและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร  โดยให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบถาวร เป็นสถานีวิจัยกาแฟ ดอกไม้ เน้นขยายพันธุ์พืชและงานผลิต สามารถเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราต์ และกุ้งก้ามแดง อากาศหนาวเย็นแทบจะตลอดทั้งปี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมเวลามาเที่ยวดอยอินทนนท์กันเป็นอย่างมาก

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างศูนย์ฯ ตีนตก ด้วยจำนวนเงิน 300,000 บาท เพื่อจัดตั้งให้เป็นศูนย์พัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และการปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ นอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง กิจกรรมการท่องเที่ยว มีชมสวนกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ โรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหลากสี นั่งเล่นพักผ่อนริมลำธาร และที่ยวหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กำปอง กับการชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)
ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวางในปี พ.ศ.2523 แล้วทอดพระเนตรเห็นท้องทุ่งบริเวณนี้มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ท้องทุ่งแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี แก่เกษตรกรบนที่สูง และเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นักท่องเที่ยวที่มาเยือนศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จะได้สนุกไปกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เต็มไปด้วยแปลงไม้ผลเมืองหนาวนานาชนิดให้ชื่นชม รวมทั้งสัมผัสความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง ในช่วงกลางเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ก่อกำเนิดจากการที่ได้รับพระราชดำริ เมื่อวัน 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ที่พระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารและ ปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆในศูนย์ฯ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังมีพระราชดำริว่า "ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัย หนึ่งเป็น "สรุปผลการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้"


หัวข้อ: Re: 9 สถานที่เที่ยวในเชียงใหม่ กับเส้นทางตามรอยพ่อ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤศจิกายน 02, 2016, 12:07:59 AM
ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง
เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2521 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ และชาวไทยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงที่ประกอบอาชีพการเกษตร กรมป่าไม้ได้ยกพื้นที่ป่าสงวนให้จัดตั้งเป็นสถานีทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการในด้านวิจัยข้าว ปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว ต่อมาเมื่อมีกรมการข้าว ในปี พ.ศ. 2549 ก็ได้กลาย “ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง” โดยในช่วงราวๆ กลาง มี.ค. ของทุกปี ทุ่งข้าวสาลีจะกลายเป็นสีทองเหลืองอร่ามเต็มทุ่งสวยงาม

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้ จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”


ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าบนที่สูงถูกทำลาย สภาพดินเสื่อมจากการปลูกพืชแบบระบบหมุนเวียนพื้นที่ปลูกของชาวเขาที่ผ่านมา สร้างปัญหาให้แก่ป่า และระบบการไหลเวียนของน้ำ พื้นดินถูกกัดเซาะทำลาย รวมทั้งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงทรงมีพระราชดำริเรื่อง งานส่งเสริมและการพัฒนาต้นน้ำ ด้านการดำรงชีวิตให้แก่ชาวเขาตามสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ และทรงจัดตั้งโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ 6 ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 เพื่อเน้นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดการทำลายต้นน้ำ การจ้างงาน ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำและระบบการไหลเวียนของน้ำ ในเวลาเดียวกันต้องคำนึงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจในชุมชนของชาวเขา เปลี่ยนการปลูกฝิ่น ส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับภูมิประเทศในพื้นที่ที่จัดใหม่ เข้ามาดูแลให้บริการด้านความรู้ การศึกษา สุขอนามัย การบริโภค และเส้นทางคมนาคมอย่างกว้างขวาง สอนเทคนิควิธีทางการเกษตรและระบบชลประทานขนาดย่อม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวง จึงได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำมาเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ โดยที่นี้มีแปลงผักสาธิตให้ชม รวมทั้งวิวทิวทัศน์บนดอยแม่โถที่สวยงาม


หัวข้อ: Re: 9 สถานที่เที่ยวในเชียงใหม่ กับเส้นทางตามรอยพ่อ
เริ่มหัวข้อโดย: chiangmai food ที่ พฤศจิกายน 02, 2016, 10:39:23 AM
มาเที่ยวเชียงใหม่ ต้องไปเยือน