จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำ โครงการหลวง Royal Project => ข้อความที่เริ่มโดย: Dockaturk ที่ ตุลาคม 15, 2016, 07:28:20 AM



หัวข้อ: การเดินทางอันยิ่งใหญ่ของ "ในหลวง"
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ ตุลาคม 15, 2016, 07:28:20 AM
การเดินทางช่วยเปลี่ยนความคิด และอะไรหลายๆ อย่างให้แก่ผู้ที่ออกเดินทางได้มองโลกที่กว้างขึ้น ในประวัติศาสตร์ของโลก มีการเดินทางที่นำไปสู่การพัฒนาหลายๆ อย่างในสังคม เช่นกรณีของ “เช กูวาร่า” ที่ออกเดินทางไปทั่วทวีปอเมริกาใต้และรู้สึกสะเทือนใจกับความยากจนข้นแค้น ความหิวโหย และโรคภัยที่เขาพบระหว่างทาง ความปรารถนาทำลายล้างสิ่งที่เขามองว่าเป็นการขูดรีดของทุนนิยมในละตินอเมริกา ผลักดันให้เขาเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปสังคมกัวเตมาลาภายใต้รัฐบาลฮาโกโบ กุซมัน

สำหรับเมืองไทยเรา ก็มีเฉกเช่นเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ ที่ใครหลายๆ คนมองข้าม และการเดินทางที่ว่านนั้น คือการเดินทางของ “ในหลวง” ของพวกเราชาวไทยทุกคนกันครับ

กล่าวกันว่าในหลวงนั้นทรงเป็น "นักเดินทาง" ไปทั่วแผ่นดินสยาม เพื่อนำความเจริญไปสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ซึ่งการเดินทางของพระองค์นั้น  ถือเป็นการเดินทางที่สร้างคุณประโยชน์มหาศาลแก่ปวงชนชาวไทย ชนิดที่คงจะหาการเดินทางที่ยิ่งใหญ่แบบไหนมาเทียบเคียงได้ และเรื่องราวบางส่วนที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ที่ได้ไปสัมผัสมาจากการได้ไปเที่ยวตามโครงการหลวง โครงการพระราชดำริต่างๆ รวมทั้งพิพิธภัณฑสถาน คือความภาคภูมิใจ และโชคดีที่ตัวเองได้รับรู้เรื่องราวของในหลวง กับหลายสิ่งหลายอย่างที่ท่านทำให้กับประชาชนชาวไทย เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แรกพบที่ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)

ย้อนไปเมื่อราว 4 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ไปดอยอ่างขาง ซึ่งนอกจากธรรมชาติที่ได้สัมผัสจนอิ่มเอมใจแล้ว สิ่งที่ยิ่งกว่านั้นคือการได้มาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดําริในการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องราวได้รับทราบวันนั้นมีสองเรื่องด้วยกันคือ พระราชดำรัสฯ "ขาดทุน คือกำไร" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีใจความว่าการดำเนินโครงการใดก็ตาม ให้ยึดผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ความ “คุ้มค่า” มากกว่า “คุ้มทุน” หรืออีกนัยหนึ่งคือ การพิจารณา “Cost–Effectiveness” มากกว่า “Cost–Benefit ratio” โดยให้ความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาที่เป็นผลประโยชน์ของคนส่วนรวมมากกว่าผลสำเร็จที่เป็นตัวเลขอันเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนน้อยนั่นเอง

“ช่วยเขา ช่วยเรา ช่วยโลก” อีกหนึ่งพระราชดำรัสฯ ที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงสรุปความไว้ อันหมายถึง คำจำกัดความของโครงการหลวง ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือชาวเขา ทีไม่ใช่เฉพาะการช่วยเหลือแต่ชาวเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเหลือเรา ซึ่ง”เรา” ก็คือประชาชนคนไทยทุกคน  รวมทั้งช่วยเหลือโลกด้วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการบุกรุกทำลายป่าไม้ เลิกปลูกฝิ่น แล้วหันมาส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาวแทน


หัวข้อ: Re: การเดินทางอันยิ่งใหญ่ของ "ในหลวง"
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ ตุลาคม 15, 2016, 07:30:56 AM
ต่อเนื่องมาจากพระราชดำรัสที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปโครงการหลวงมาหลายที่ ได้สัมผัสกับคนในท้องถิ่น ทุกที่มีความเป็นอยู่ชีวิตที่ดีขึ้น เพราะในหลวงเข้ามาช่วยเหลือ มีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใจความหนึ่งที่น่าสนใจว่า

"เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้นมีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้พยุงตัวให้มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่า ควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการสูบฝิ่นและค้าฝิ่นได้ผลดี อันเป็นผลอย่างหนึ่ง"

"อีกอย่างคือชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราสู่หายนะได้ ที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขาก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี อยู่ดีกินดีและปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ ถ้าสามารถทำโครงการนี้สำเร็จให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง และสนับสนุนนโยบายจะรักษาป่า รักษาป่าให้เป็นประโยชน์ต่อไปและยั่งยืนมาก"

นอกจาการช่วยเหลือชาวเขา ส่งเสริมปลูกพืชผักเมืองหนาวแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ผมเพิ่งไปสัมผัสมาคือเรื่องของธนาคารข้าว

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานข้าวเพื่อตั้งเป็นธนาคารข้าวที่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแห่งแรก เพราะชาวลั๊วะที่นั่นบางปีขาดแคลนข้าว ต้องยืมเงินซื้อโดยเสียดอกเบี้ยสูงมากจนไม่มีทางจะชำระหนี้ได้หมด ธนาคารข้าวที่ตั้งขึ้นนี้คิดดอกเบี้ยต่ำขนาดชาวบ้านสามารถใช้คืนได้ในฤดู เก็บเกี่ยวครั้งต่อไป หลักเกณฑ์ของธนาคารมีอยู่ว่า ชาวบ้านต้องช่วยกันสร้างยุ้งข้าวและรวมกลุ่มกันดูแลการจ่ายออกและทวงคืน มีธนาคารข้าวหลายแห่งที่สามารถสะสมข้าวได้จนเหลือใช้จึงทูลเกล้าฯ ถวายคืนเพื่อพระราชทานธนาคารอื่นต่อไป

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ผมได้มีโอกาสไปมา ที่พระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ และพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

ทั้งหมดนี้เป็นแค่เศษเสี้ยวบางส่วนที่เอามาเขียนฝากกัน และถ้าให้จะเขียนถึงคุณงามความดีของในหลวงต่อปวงชนชาวไทย คงต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด

เพราะพระองค์ทรงเป็นที่รักของคนไทยทั้งประเทศครับ