หัวข้อ: มัสยิดช้างเผือก ศูนย์รวมจิตใจชาวมุสลิทเชื้อสายปากี-อินเดีย เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กันยายน 16, 2016, 04:29:54 PM ใครบอกว่าเชียงใหม่มีแต่เฉพาะย่านช้างคลานเท่านั้นที่มีชุมชนมุสลิม ขอบอกว่าคิดผิดครับ เพราะย่านช้างเผือกก็มีเหมือนกันครับ แถมยังมีมัสยิด ช้างเผือก สถานที่ที่ผมจะพามาเยี่ยมชม และทำความรู้จัก
อย่างที่ได้บอกไป ย่านช้างเผือกมีชุมชนมุสลิม ซึ่งเก่าแก่อีกชุมชนหนึ่ง เป็นที่รวมของชาวมุสลิมเชื้อสายปากี-อินเดีย ซึ่งมีมุสลิมกลุ่มแรกประมาณ 4-5 ครอบครัว ที่อพยพมาจากประเทศปากีสถานและประเทศอินเดีย เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ รู้จักกันโดยทั่วไปคือ ทุ่งเวสาลี เป็นที่อุดมสมบรูณ์น้ำท่วมไม่ถึง แต่จะมีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดจากห้วยแก้วและห้วยช้างเคี่ยน จึงเป็นที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกพืชผักบางชนิด ในช่วงแรก มัสยิดช้างเผือกยังไม่มีการก่อสร้างมัสยิดเป็นอาคารถาวร ดังนั้น การประกอบศาสนกิจที่สำคัญของชาวมุสลิม คือ การนมาซวันคุกร์ ชาวมุสลิมในย่านนี้จะเดินทางไปนมาซที่มัสยิดช้างคลาน เป็นประจำตลอดมา ในเวลาต่อมา ย่านนี้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในหมู่พ่อค้าทั้งหลาย ทำให้มีชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มากขึ้น ชาวปากีสถาน-อินเดีย และพ่อค้าชาจีนมุสลิมยูนนาน ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมัสยิดในย่านนี้ คือ ท่าน นะปะซาง หรือรู้จักกันดีในหมู่พ่อค้าว่า พ่อเลี้ยงเลานะ ท่านเป็นผู้ที่ค่อนข้างจะมีฐานะ เศรษฐกิจดีพอสมควร เป็นผู้นำในการปรับปรุงและสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ เป็นอาคารที่ทำด้วยไม้กระดาน (จากเดิมที่ทำด้วย เสาไม้ใผ่ ฝาขัดแตะ หลังคามุ้งด้วยใบตองและไม่มีพื้น) อาคารนี้มีลักษณะมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น และท่านได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ให้เป็นผู้นำศาสนา (อีหม่าม) ของสัปปุรุษแห่งนี้ ราวปี พ.ศ. 2473 ได้มีผู้รู้ทางศาสนาเชื้อสายปากีสถานท่านหนึ่งชื่อ ท่านโมลวีกายิมมาคิน อพยพมาจากประเทศปากีสถาน เป็นผู้มีชื่อเสียงมากในการอ่านพระมหาคัมภีร์-กุรอ่าน ได้อย่างมีความไพเราะเพราะพริ้ง ท่านอาศัยอยู่ในย่านช้างคลาน เมื่ออีหม่ามเลานะเสียชีวิตลง ชาวมุสลิมช้างเผือกในยุคนั้นได้เชิญให้ท่านมาเป็นอีหม่ามประจำมัสยิดสืบแทน ท่านได้ทำหน้าที่อีหม่ามประจำมัสยิดดุน-นุร (ช้างเผือก) เป็นเวลาถึง 30 ปี ท่านเป็นผู้มีความประพฤติอันงดงาม ปฏิบัติศาสนกิจ อย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ ตลอดการมีชีวิตของท่าน อีกทั้งท่านยังได้สร้างความเจริญก้าวหน้า ในด้านการศึกษา สังคมให้กับชุมชนมุสลิมช้างเผือกอย่างมาก เมื่อท่านถึงแก่กรรมศพของท่านถูกฝั่งไว้ในบริเวณเขตกำแพงมัสยิด ด้านขาวมือของประตูมัสยิด ปัจจุบันลูกหลานของท่านได้ย้ายไปฝั่งยังกุโบร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 คณะกรรมการมัสยิดและสัปปุรุษ เห็นควรให้มีการปรับปรุงสร้างอาคารมัสยิดขึ้นใหม่ เนื่องจากอาคารมัสยิดเดิมชำรุดทรุดโทรมลงมาก พี่น้องมุสลิมที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมมือร่วมใจกันระดมทุนเพื่อช่วยในการก่อสร้างมัสยิด โดยมีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้าง ในสมัยนั้นคือ ฮัจญีศรีบุตร วารีย์ เป็นประธาน และมี นายนานา มูฮัมมัด หุเซ็น นายน้อย บรรณศักดิ์ นายซิดดิก เจ้าดูรี เป็นกรรมการ และมัสยิดสำเร็จลุล่วงด้วยดีในปี พ.ศ. 2496 เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นกระโจมรูปเดิม แลดูมั่นคงสง่างาม ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบปากีสถาน และยังคงตั้งเด่นอยู่ริมถนนโชตนา ตลาดช้างเผือกปัจจุบัน ถือได้ว่ามัสยิดแห่งนี้ มีทั้งความสวยงาม และเรื่องราวที่น่าสนใจของคนในชุมชนเป็นอย่างยิ่งกันครับ |