หัวข้อ: "โครงการหลวง" กับเหตุผลที่ควรมาเที่ยว เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ สิงหาคม 01, 2016, 04:00:51 AM หนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันสำหรับคนรุ่นใหม่ คงหนีไม่พ้น การท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชนบท ผสมผสานกันกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องด้วยเพราะการท่องเที่ยวสองแบบนี้ให้ความเพลิดเพลิน สบายใจ เข้าถึงความเรียบง่ายในวิถีชีวิตทั้งผู้คน และธรรมชาติ แต่ถ้าใครเน้นสายธรรมชาติมากหน่อย ก็อาจหันไปทางการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศอย่างเดียวกันเลย
ทีนี้เมื่อหันมามองถึงแหล่งท่องเที่ยวในแบบที่กล่าวถึงในย่อหน้าแรก ถ้าเป็นในเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ แลดูเหมือนว่า โครงการหลวง เป็นอะไรที่เข้าตา เข้าท่ากันมากๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว ความพิเศษจากการได้ไปเที่ยวโครงการหลวงต่างๆ มานั้น แต่ละแห่งก็ให้ความเพลิดเพลินแตกต่างกันไป รวมทั้งสาระความรู้ต่างๆ ซึ่งนับนิ้วดูๆ จากที่ตัวเองเคยไปเที่ยวมา จากทั้งหมด 38 โครงการหลวง ก็พบว่าไปเยือนมาแล้วด้วยกัน ประมาณ 7-8 ที่ และเร็วๆ นี้ คงไล่ตามเก็บกันจนครบ 10 ซึ่งนั่นหมายความว่า ก็ปาเข้า 1 ใน 4 ของโครงการหลวงทั้งหมดเลยทีเดียว หลายคนบอกโครงการหลวงมีอะไรดี ทำไมถึงเหมาะสำหรับเป็นที่เที่ยวในเชิงเกษตรกรรม (อาจจะรวมทั้งเชิงนิเวศ และวิถีชีวิตในชนบท) จากบรรทัดด้านล่างต่อไป คือคำตอบ และความเป็นมาของโครงการหลวงกันครับ กรอม้วนฟิล์มกลับไป เมื่อปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่ บ้านดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จึงทรงทราบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน รับสั่งถามว่านอกจากฝิ่นขายแล้ว เขามีรายได้จากพืชชนิดอื่นอีกหรือเปล่า ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว เขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่าๆกัน โดยที่ทรงทราบว่า สถานีทดลองดอยปุย ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้ ให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา เพื่อให้ได้ท้อผลใหญ่ หวานฉ่ำ ที่ทำรายได้สูงไม่แพ้ฝิ่น โดยพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวเพิ่มเติมจากสถานี วิจัยดอยปุยซึ่งมีพื้นที่คับแคบ ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า สวนสองแสน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น ในช่วงของการเริ่มต้นโครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย สำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และพระราชทานมีเป้าหมายสำหรับการดำเนินงาน ดังนี้ คือ 1.ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม 2.ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร 3.กำจัดการปลูกฝิ่น 4.รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วนที่ควรเพาะปลูก หัวข้อ: Re: "โครงการหลวง" กับเหตุผลที่ควรมาเที่ยว เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ สิงหาคม 01, 2016, 04:02:43 AM ทั้งนี้ การดำเนินงานต่างๆ ของโครงการหลวง มีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการด้านต่างๆ ปฏิบัติงานถวาย ทำให้การปฏิบัติงานก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยการปลูก พืชเขตหนาวชนิดต่างๆ เกษตรกรสามารถนำไปปลูกทดแทนฝิ่นได้ผลดี
เมื่อ วันที่ 10 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขา ความว่า "เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้นมีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้พยุงตัวให้มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่า ควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการสูบฝิ่นและค้าฝิ่นได้ผลดี อันเป็นผลอย่างหนึ่ง" "อีกอย่างคือชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราสู่หายนะได้ ที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขาก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี อยู่ดีกินดีและปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ ถ้าสามารถทำโครงการนี้สำเร็จให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง และสนับสนุนนโยบายจะรักษาป่า รักษาป่าให้เป็นประโยชน์ต่อไปและยั่งยืนมาก" นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิโครงการหลวงนำคณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าถวายเงิน และน้อมเกล้าฯ ถวายสิ่งของเพื่อสนับสนุนกิจการมูลนิธิโครงการหลวง ความว่า โครงการหลวง ได้เริ่มขึ้นเป็นกิจการเล็กๆ ซึ่งไม่เป็นโครงการ แต่เป็นการไปเที่ยวมากกว่า คือไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ได้เห็นว่าควรจะช่วยประชาชนในการอาชีพ จึงได้นำสิ่งของไปให้เขาเพื่อที่จะพัฒนาการอาชีพของชาวบ้าน ต่อมาก็ได้เพิ่มขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานราชการได้เข้ามาช่วย และมีคนส่วนหนึ่งช่วยเพื่อที่จะให้การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ต่อมามีการร่วมมือของทางองค์กรต่างประเทศ ตลอดจนรัฐบาลต่างประเทศด้วย จึงขึ้นมาเป็นโครงการที่เรียกว่า โครงการหลวง โครงการหลวงเริ่มต้นจากโครงการที่ประกอบด้วยผู้ที่เป็นอาสาสมัครและเป็นข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากต่างประเทศ ในที่สุดเป็นโครงการที่มามายใหญ่โตขยายออกไปจากการช่วยประชาชนในหมู่บ้าน ในวงจำกัด จนกระทั่งเป็นการช่วยเหลือเท่ากับเป็นภาคทีเดียว จึงต้องมีการบริหารที่ดีขึ้น และก็มีคนได้ช่วยบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อที่จะให้โครงการนี้ดำเนินไปตามจุดประสงค์ คือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงเป็น มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อที่จะให้กิจการนี้ดำเนินต่อไปได้อย่างสม่ำเสมอ ในการที่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ อย่างดีโดยเอื้อเฟื้อบุคลากรและ งบประมาณที่จะช่วยให้ทำได้ตามจุดประสงค์... ทางราชการมีส่วนหนึ่งทำให้การบริหารงานที่ทำยาก อยู่ที่ว่าแบ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม เหล่านั้น อาจมีการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน กันได้ และทางมูลนิธิโครงการหลวงก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้ส่วนราชการต่างๆ ได้เข้ามาร่วมมือกันอย่างกันเอง โดยที่ไม่ต้องกลัว จะถูกว่าว่าก้าวก่ายกัน หัวข้อ: Re: "โครงการหลวง" กับเหตุผลที่ควรมาเที่ยว เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ สิงหาคม 01, 2016, 04:05:28 AM ปัจจุบันโครงการหลวง ดำเนินงานใน 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการ จำนวน 21 ศูนย์ และหมู่บ้านพัฒนาอีก 6 หมู่บ้าน รวมหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการทั้งสิ้น 267 หมู่บ้าน
โดย ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า โครงการหลวง และดอยคำ อย่างที่ทราบเมื่อโครงการหลวงเป็นที่ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวต่างๆ รวมทั้งไม้ดอกเมืองหนาว ทำให้หลายๆ พื้นที่ของโครงการหลวงมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม และแน่นอนมันช่วยดึงดูดความสนใจแก่นักท่องเที่ยว และเมื่อมาเที่ยวจากเมนูหลักที่เป็นการมาชมวิวทิวทัศน์ กิจกรรมอื่นๆ ในโครงการกลวงก็มีให้นักท่องเที่ยวได้ทำกันอีกด้วยไม่ว่าจะเป็น การเยี่ยมชมแปลงพืชผักต่างๆ บ้างบางแห่งก็เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ลองเก็บผลผลิตด้วยตนเองด้วย ก่อนที่จะอุดหนุนด้วยการซื้อผลผลิต บางแห่งก็เปิดโอกาสให้ได้ทดลองปลูก หรือเรียนรู้การขั้นตอนต่างๆ ในเชิงเกษตรกรรม บางแห่งก็มีโอกาสได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วยว่ามีความเป็นอยู่ยังไง งานหัตถกรรมมีอะไรบ้าง เป็นต้น จากที่มาของโครงการหลวงที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น กลายเป็นว่าผลพลอยได้ทางอ้อมคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนไปในตัวอีกด้วย เพราะจะช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสได้ขายผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น อาจจะรวมไปถึงรายได้จากการเปิดโฮมสเตย์เอาไว้ให้กับนักท่องเที่ยวได้พัก สำหรับเราในฐานะนักท่องเที่ยว การได้ออกมาสัมผัสการท่องเที่ยวแบบนี้ ช่วยเปิดโลก และเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนว่าเป็นอย่างไร ยิ่งใครที่มาเที่ยวแล้วตัวเองมีความแตกต่างในด้านวัฒนธรรมมากกับสถานที่จะไป อัตราความสนุกในการท่องเที่ยวแบบนี้ก็ยิ่งจะมีมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นอย่าแปลกใจ ถ้าจะเห็นฝรั่งเขาชอบมาเที่ยวแบบเราแบบนี้ ส่งท้ายด้วยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงที่น่าสนใจในเชียงใหม่ เพื่อใครอยากตามไปเที่ยวกัน ที่แนะนำก็มี ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางดะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ เป็นต้น ซึ่งใครสนใจ ก็สามารถเข้าไปค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ว่าแต่ละแห่งมีอะไรน่าสนใจ และช่วงเวลาไหนเหมาะแก่การไปเที่ยวโครงการหลวงนั้นๆ กันบ้าง หรือใครอยากจะไปเที่ยวโครงการหลวงของจังหวัดอื่นๆ อันนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กันกับในเชียงใหม่ครับกระผม |