หัวข้อ: รอบเรื่อง ประเทืองปัญญากับ 10 อย่าง ของวัดทางล้านนาที่น่าสนใจ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กรกฎาคม 27, 2016, 01:27:44 PM หลังจากเข้าๆ ออกๆ วัดยิ่งกว่าญาติโยมที่ไปทำบุญในวัดมา 2-3 ปี เพราะต้องมีไปเที่ยววัดต่างๆ ในภาคเหนือ เรื่องสถาปัตยกรรมทางศาสนสถาน ก็ซึมซับเข้าสมองผมโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่จะว่าไป ก็ไม่ได้เกิดความสนใจเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่แรก แต่ก็นั่นแหละ บางสิ่งบางอย่างพอทำมันบ่อยๆ เข้า จากที่ไม่ได้สนใจ ก็กลับกลายเป็นมาสนใจซะงั้น
ถ้าให้เปรียบเป็นคู่หนุ่มสาว ก็เหมือนกับชายหนุ่มคนนึงที่รู้จักกับหญิงสาว ที่พอนานๆ ยิ่งรู้จักมากขึ้นก็กลายเป็นว่าหลงรัก จากแต่แรกแทบจะไม่ได้ชายตามองเลยด้วยซ้ำ กลับมาที่เรื่องวัดเรื่องวา หลังจากที่เคยเล่าถึงในแง่ของสถาปัตยกรรมศาสนาอย่าง วิหาร โบสถ์ เจดีย์ ไปแล้วว่าเป็นยังไง มาครานี้ มีอีกเรื่องที่น่าสนใจหยิบมาฝากกันครับ เป็นเรื่องของลักษณะเฉพาะของวัดทางเหนือที่เห็นปุ๊บ แล้วร้องอ๋อ เลยว่าแบบนี้แหละ มีให้ดูเฉพาะทางล้านนาเท่านั้น จะบอกว่ามันเป็นลายเซ็นเฉพาะก็น่าจะถูก ว่าแล้วก็มาชายตาดูกัน ว่าวัดทางเหนือ มีอะไรที่น่าสนใจบ้างเวลาเรามาเที่ยว 1.กู่พระเจ้า หรือโขงพระเจ้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 2.โขง คือ ซุ้มประตูทางเข้า มักทำเป็นทรงโค้ง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นสวบงามเต็มพื้นที่ตั้งแต่ส่วนฐานถึงยอด 3.ตัวเหงา หรือหางวัน คือส่วนปลายของบันไดตรงตำแหน่งที่เป็นเศียรนาคประดิษฐ์ลายม้วนคล้ายเลขหนึ่งไทย 4.ลายหม้อดอก เป็นภาพรูปดอกไม้ในหม้อหรือแจกัน หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ศัพท์ทางศิลปะเรียกว่า ลายปูรณฆฏะ 5.สะตายจีน คือลายปูนปั้นน้ำมันที่ตกแต่งหน้าบันและเสา บางแห่งแต่งด้วยกระจกสี ซึ่งคนพื้นเมืองเรียกว่า กระจกจีน ลายปูนปั้นสะตายจีนแบบล้านนาประดิษฐ์ลายขนาดเล็ก จะติดตกแต่งเต็มพื้นที่จนแทบไม่เห็นพื้นไม้ที่ดูละเอียดยิบพราวตา 6.ขื่อม้าต่างไหม เป็นองค์ประกอบภายในส่วนเครื่องบนของอาคาร เรียกเช่นนี้เพราะลักษณะที่คล้ายกับ ต่าง หรือสิ่งที่ใช้บรรทุกผ้าไหมและสินค้าบนหลังม้า 7.กังขารี หรือตัวกินนร กินรีในภาคกลาง ประดับตามวิหาร โบสถ์ หรือส่วนหลังคา 8.ช่อฟ้า อยู่กึ่งกลางของสันหลังคา ตกแต่งเป็นแบบต่างๆ เช่น รูปมณฑป เขาสัตบริภัณฑ์ เป็นต้น 9.ลายคำ เป็นลายลงรักปิดทอง ตกแต่งบนผนัง เสา และส่วนประกอบของวิหารหรือโบสถ์ที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ 10. สัตภัณฑ์ เชิงเทียนแบบล้านนารูปทรงสามเหลี่ยม มีที่ปักเทียนตั้งลดหลั่นกันอยู่ 7 จุด ลักษณะเหมือนภูเขาซึ่งมีผู้อธิบายว่าเป็น เขาสัตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ศุนย์กลางจักรวาลในคติพุทธศาสนา บ้างก็ว่ามีนัยหมายถึงหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา คือ โพชฌงค์ 7 สัปปุริสธัมมะ 7 รูปภาพตามลำดับ คือ 1.กู่พระเจ้า 2.โขง 3.ตัวเหงา 4.สะตายจีน 5.ขื่อม้าต่างไหม 6.กังขารี หรือตัวกินนร 7.ช่อฟ้า 8.ลายคำ |