หัวข้อ: พาไปเที่ยว นิทรรศการ "วาดเส้นสาย...อ่านลายเมือง" เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กรกฎาคม 08, 2016, 08:20:52 PM มาเดินเล่นแถวคุ้มบุรีรัตน์ ใครบอกว่ามีแต่นิทรรศการงานสถาปัตยกรรมให้เสพอย่างเดียว คงคิดผิดกันแล้ว เพราะบางงานก็มีอย่างอื่นให้เสพกันด้วย อย่าง นิทรรศการ วาดเส้นสาย
อ่านลายเมือง อันเป็นโครงการล้านนาคดีศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านที่ 5 สถาปัตยกรรม ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ที่ต้องบอกเช่นนั้นกัน เพราะ นี่คือนิทรรศการที่แสดงผลงานการวาดลายเส้น และสีน้ำ โดยถ่ายทอดออกมาเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในล้านนา ทั้งวัด บ้านเรือน อาคาร ตลาด เป็นต้น อย่างหลักๆ ที่เห็นก็จะเป็นงานวาดเส้น อันเป็นพื้นฐานของงานทัศนศิลป์และการออกแบบ โดยการใช้ ดินสอดำ ปากกา สร้างสรรค์งานให้เกิดลายเส้นหรือภาพแรเงา โดยเน้นความงามของเส้นและแสงเงาเป็นสำคัญ ซึ่งรูปแบบการเขียนภาพก็มี ทั้งการเขียนภาพแบบเหมือนจริง หมายถึงการเขียนภาพตามสายตามองเห็นให้เหมือนแบบ เหมือนของจริง ทั้งรูปทรง สีสันและแสงเงา การเขียนภาพแบบตัดทอน หมายถึงการเขียนภาพตัดทอนรูปทรง สี แสงเงา ให้เหลือบางส่วนที่สำคัญไว้ เพื่อให้เกิดความงามและสื่อความหมายเข้าใจง่ายและรวดเร็วในการสร้างงาน และการเขียนภาพตามความรู้สึก หมายถึงการเขียนภาพที่ไม่มีรูปร่างรูปทรงที่เหมือนจริง แต่แสดงความรู้สึกให้ปรากฏในผลงาน เช่นความตื่นเต้น ความกลมกลืน ความขัดแย้ง ความน่ากลัว และซึ่งจากเท่าที่ดูในนิทรรศการนี้ น่าจะเป็นการเขียนภาพแบบตัดทอน ที่ตัดทอนรูปทรง สี แสงเงา ให้เหลือบางส่วนที่สำคัญไว้ เพื่อให้เกิดความงามและสื่อความหมายเข้าใจง่ายและรวดเร็วในการสร้างงาน ส่วนงานแสดงอีกแบบเป็น จิตรกรรมสีน้ำ อันเป็นวิธีการเขียนภาพที่ใช้สีน้ำเป็นอุปกรณ์การเขียน โดยปัจจุบันเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะความงดงามของสีน้ำที่แสดงให้เห็นถึง มิติของสี ความซับซ้อนของพื้นภาพ และประกายแสง ลักษณะพิเศษเหล่านี้ เกิดจากการระบายที่ประณีตซับซ้อน นอกจากนั้นแล้ว สีน้ำยังมีเสน่ห์ ในการนำออกไประบายยังสถานที่ี่ ต่างๆ เราเพียงแต่มีกล่องใส่สีน้ำหรืออาจจะใช้สีน้ำช่วยระบายเป็นภาพร่าง ทั้งนี้ สีน้ำ เป็นสีที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ทั้งในแถบยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสามารถในการระบายสีน้ำ แต่ในอดีตการระบายสีน้ำมักใช้เพียงสีเดียว คือ สีดำผู้ที่จะระบายได้อย่างสวยงามจะต้องมีทักษะการใช้พู่กันที่สูงมาก การระบายสีน้ำจะใช้น้ำ เป็นส่วนผสม และทำละลายให้เจือจาง ในการใช้สีน้ำ ไม่นิยมใช้สีขาวผสมเพื่อให้มีน้ำหนักอ่อนลง และไม่นิยมใช้สีดำผสมให้มีน้ำหนักเข้มขึ้น เพราะจะทำให้เกิดน้ำหนักมืดเกินไป แต่จะใช้สีกลางหรือสีตรงข้ามผสมแทน ลักษณะของภาพวาดสีน้ำจะมีลักษณะใส บาง และ สะอาด การระบายสีน้ำต้องใช้ความชำนาญสูงเพราะผิดพลาดแล้วจะแก้ไขยากจะระบายซ้ำๆ ทับกันมากๆ ไม่ได้จะทำให้ภาพออกมามีสีขุ่น ๆ ไม่น่าดู หรือที่เรียกว่า สีเน่า หัวข้อ: Re: พาไปเที่ยว นิทรรศการ "วาดเส้นสาย...อ่านลายเมือง" เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กรกฎาคม 08, 2016, 08:23:16 PM ในส่วนของผลงานที่จัดแสดงกันนั้น มีกันหลายชิ้นเลยเหลือเกินครับ ที่น่าสนใจ และจากที่คัดสรรมา ก็พอจะบรรยายได้ดังต่อไปนี้
กาดกองต้า ลำปาง อาคารบ้านเรือนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำวัง ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุโรป จีน และพม่า ถนนตลาดเก่าเส้นนี้จึงเต็มไปด้วยบ้านเรือนสวย ๆ หลากสไตล์บ้านเรือนสิ่งก่อสร้าง มีทั้งเรือนแบบไทยภาคกลาง เรือนล้านนา เรือนพม่า ที่ดูจะโดดเด่นเห็นจะเป็น เรือน แบบจีน และเรือนขนมปังขิงแบบฝรั่งตะวันตก ทั้งนี้อาจเพราะในสมัยนั้นประเพณีราชนิยมแบบตะวันตก กำลังได้รับความนิยมสูงสุดในภาคกลาง ชาวตะวันตกเข้ามามีความสัมพันธ์กับสยามมากมาย รวมทั้งยังมีเรือนฝรั่งผสมจีนแบบนี้อยู่หลายแห่ง วัดนันตาราม พะเยา วิหารไม้ ที่สร้าง ในปี พ.ศ. 2467 รูปทรงแบบไทใหญ่ หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้อง ไม้) เพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรพิสดาร ไม่ซ้ำกัน เสาทั้ง 68 ต้นลงรักปิดทอง มีพระประธานในวิหารปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทอง ทั้งต้น ลงรักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ วัดจองคำ จองกลาง แม่ฮ่องสอน วัดเก่าแก่สร้างตามแบบอย่างศิลปะไทยใหญ สิ่งที่โดดเด่นคือ พระอารามหลวงมีหลังคาทรงประสาท 9 ชั้น และมีศาสนสถานที่สำคัญคือ วิหารหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูป องค์ใหญ่ที่สุดของแม่ฮ่องสอน สร้างเมื่อ พ.ศ.2477 โดยช่างชาวพม่า เหตุที่เรียกชื่อวัดจองคำ เนื่องจาก เสาวัดประดับ ด้วยทองคำเปลว ส่วนเจดีย์จองคำ มีลักษณะคล้ายมณีทบ โดยช่างฝีมือชาวไทยใหญ่รูปทรงจุฬามณี ความสูง 32 ศอก ฐานสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน พร้อมสิงห์ด้านละหนึ่งตัว ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งด้านละหนึ่งองค์ วัดพระธาตุแช่แห้ง น่าน องค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนา ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจาก กรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง วัดทุ่งอ้อหลวง เชียงใหม่ วิหารเก่า เป็นรูปแบบศิลปะที่สืบทอดต่อจากเวียงกุมกาม ความโดดเด่นและความสวยงามของวิหารอยู่ที่การประกอบไม้สักโดยไม่ใช้ตะปู ก่ออิฐถือปูน และใช้ไม้สสักเกือบทั้งหลังสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งหาดูได้ยากตามวัดทั่วไป ดังนั้นตัววิหารของวัดทุ่งอ้อจึงมีขนาดเล็กกว่าวิหารทั่วไป คือ จุคนได้ประมาณ 50-60 คน ส่วนผลงานชิ้นอื่นๆ ใครสนใจอยากดูเพิ่ม ไปดูกันได้ที่คุ้มบุรีรัตน์ กลางเวียงเชียงใหม่ งานมีถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 กันครับ |