จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => เชียงใหม่ ท่องเที่ยว - ข่าวสารเกี่ยวกับเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ => ข้อความที่เริ่มโดย: Dockaturk ที่ กรกฎาคม 01, 2016, 02:31:11 PM



หัวข้อ: พาไปตะลุยเลือกหนังสือในงาน "เชียงใหม่บุ๊คแฟร์" ครั้งแรก
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กรกฎาคม 01, 2016, 02:31:11 PM
หลังกำเนิดของ E-Book พร้อมทั้งโซเชียลมีเดียเติบโตเร็วรุดหน้ายิ่งกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ดูเหมือนว่าจะถึงคราว “อวสาน” ของสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือ และนิตยสารต่างๆ

ความหวาดกลัวเริ่มแผ่ปกคลุมตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อยอดขายจากสื่อสิ่งพิมพ์ตกลงฮวบฮาบ ชนิดทีเอาไมค์ไปทิ่มปากพนักงานขายหนังสือ พวกเขาก็คงได้แต่เบือนหน้าหนี พอกันกับบริษัท ในขณะที่ยอดขายสมาร์ทโฟนก็โตเอาๆ และก็แน่นอนมันส่งผลมาถึง การเข้าถึงโซเชียลมีเดีย กับข้อมูลต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ต่างพากันสไลด์หน้าจอมือถือ มากกว่าเปิดดูหนังสือพิมพ์

ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ คนอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ไม่ต่างกันกับ “ไดโนเสาร์” ส่วนคนที่อ่านข่าวบนเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็คงเป็น “จรวดไอพ่น”

และเมื่อกาลเวลาผ่านไปมาถึงปัจจุบัน แม้ E-Book ที่ทำท่าว่าจะมาแรงแต่แรก จะมียอดขายขึ้นลงสลับไปบ้างตามวาระ และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างเว็บไซต์, facebook ยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง ในมุมของสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ค่อยๆ หายไปทีละหน่อย แม้จะยังไม่ถึงขั้นอวสานก็ตามที

ข้อมูลจาก บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยเม็ดเงินโฆษณาในสื่อประเภทต่างๆ ประจำปี 2558 พบว่า เม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหนังสือพิมพ์ลดลง 6.45% (12,332 ล้านบาท ลดลงจาก 13,166 ล้านบาท ในปี 2557) ส่วนนิตยสารหนักกว่า ลดลง 14.28% (4,227 ล้านบาท ลดลงจาก 4,721 ล้านบาท ในปี 2557) สวนทางกับอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น 11.37% (1,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 950 ล้านบาท ในปี 2557) และยังสวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณา ที่โตขึ้น 3.34% (122,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 102,348 ล้านบาท ในปี 2557)

นอกจากนี้ เมื่อสำรวจรายได้ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็พบว่าหลายบริษัทประสบภาวะ “ขาดทุน”

อย่าง บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ POST เจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น Bangkok Post, โพสต์ทูเดย์ และ M2F และนิตยสารดังอีกหลายหัว เช่น Cleo, Elle, Forbes Thailand ฯลฯ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 ขาดทุน 204.64 ล้านบาท บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ MATI เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน, ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารอีกหลายฉบับ เช่น มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 ขาดทุน 51.53 ล้านบาท บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เจ้าของหนังสือพิมพ์ The Nation, คมชัดลึก และกรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร อาทิ เนชั่นสุดสัปดาห์ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 กำไร 81.38 ล้านบาท และบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SPORT เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน, สตาร์ซอคเก้อร์, สปอร์ตพูล ฯลฯ นิตยสารหลายฉบับ อาทิ FHM, สยามดารา ฯลฯ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 ขาดทุน 12.27 ล้านบาท


หัวข้อ: Re: พาไปตะลุยเลือกหนังสือในงาน "เชียงใหม่บุ๊คแฟร์" ครั้งแรก
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กรกฎาคม 01, 2016, 02:36:00 PM
และจากเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดการปิดตัวของนิตยสารหัวต่างๆ และหนังสือพิมพ์บางฉบับลง (ทั้งไทยและเทศ) ที่อยู่มาตั้งแน่นมนาน (ถ้าเป็นคนก็คงอายุรุ่นลุง) ซึ่งในภายภาคหน้าหากไม่มีการขยับ หรือปรับตัวให้เข้ากับสภาวะ ก็คงต้องบอกว่ารอดยาก แม้บางทีหลายคนจะยังเชื่อว่ารอดก็ตาม (ผมคนนึง)  เปรียบเป็นมวยตอนนี้ฝั่งสื่อสิ่งพิมพ์ ก็คงถูกต่อยไล่ต้อนจนมุม รอโดนน็อค

ฉะนั้น อยากรอดก็ต้องสวนซักหมัด เพื่อตัวเอง

ว่าแล้ว ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เลยสวนหมัดดังกล่าวด้วยการเปิดงาน “เชียงใหม่บุ๊คแฟร์” ครั้งที่ 1 ที่เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต โดยขนกว่า 200 สำนักพิมพ์ มาร่วมเปิดบูทระหว่าง  25 มิ.ย.-3 ก.ค. 59 ภายใต้แนวคิด “ความหวัง” (HOPE) เช่นเดียวกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่กรุงเทพฯ และเมื่อดูจากแนวคิดของจากการจัดงาน ก็พอจะบ่งบอกโดยนัยว่า นี่คือ ความหวังให้กับวงการหนังสือไทยในทุกๆ ภาคส่วน

“เชียงใหม่บุ๊คแฟร์” ครั้งที่ 1 ถือเป็นครั้งแรกที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นผู้จัดงานในระดับภูมิภาค และจะเป็นบรรทัดฐานของงานสัปดาห์หนังสือในส่วนภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งงานนี้จะบอกว่าเป็นงานหนูทอดลองยา ก็น่าจะถูกกัน ภายใต้แนวคิด “ความหวัง” อย่างทีได้บอกไป
“เชียงใหม่บุ๊คแฟร์ คือ การย่อส่วนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมาไว้ที่เชียงใหม่” นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

“หนังสือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดีของสังคม ทำให้มองโลกกว้างขึ้น” อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ตัวแทนนักเขียนเชียงใหม่

และใครอีกหลายคนที่กล่าวไว้

ตามกำหนดของงานนั้น มีด้วยกันราว 1 สัปดาห์ กิจกรรมหลักๆ ที่จะได้สัมผัสมีทั้งการเดินเลือกซื้อหนังสือในราคาพิเศษ และกิจกรรมพบปะกับนักเขียน ซึ่งในแต่ละวันก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนมาพูดคุยกับคนอ่าน

อย่าง คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) เจ้าของงานเขียน คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน ก็มาพบปะพูดคุยกันตั้งแต่วันแรก ที่เหลือจากนั้นไล่เรียงกันมา ก็มีทั้ง กิ่งฉัตร(อลินา) และพงศกร ผู้เขียน “กี่เพ้า” คุณแหม่ม วีรพร    กับผลงาน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” หนุ่ม เมืองจันทร์ แฟนหนังสือจาก สนพ. มติชน คงคุ้นเคยกันดี รวมทั้งมี ศุ บุญเลี้ยง ดร.ป๊อบ และมุนิน มาร่วมเสวนา เอาเป็นว่าใครเป็นแฟนนักเขียนคนไหน ไปตามหาตารางงานเอา เผลอๆ ไม่ต้องตามหา เพราะรู้อยู่แล้วว่ามาเวลาไหนกัน ฮ่าๆ

ส่วนตอนหน้า จะพาตระเวนไปดูบรรยากาศข้างใน ว่ามีอะไรน่าสนใจมากน้อยขนาดไหน และจะได้ชี้ทางสำหรับใครที่กำลังมองหาหนังสือที่ตัวเองกำลังอยากได้


หัวข้อ: Re: พาไปตะลุยเลือกหนังสือในงาน "เชียงใหม่บุ๊คแฟร์" ครั้งแรก
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กรกฎาคม 01, 2016, 02:36:23 PM
จาก 200 กว่าบูทที่มาจัดกันในงานนั้น พอจะบอกได้คร่าวๆ ออกมาดังต่อไปนี้

การจัดงานอย่างเรื่องการแบ่งส่วนพื้นที่ ถือว่าทำออกมาได้ดี ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามแผนผังของงาน ใครเป็นแฟนหนังสือ สนพ. ไหน สามารถเดินลุยไปเลือกได้ แต่ถ้าใครไม่ได้มี สนพ. เป็นที่ชื่นชอบส่วนตัว ก็ค่อยๆ เดินเลือกไปทีละส่วนเอา

ข้อดีอีกอย่างของงาน “เชียงใหม่บุ๊คแฟร์” คือ จัดในห้องประชุม อากาศไม่ร้อน แถมไม่ต้องเสี่ยงโดนฝนไล่ ฉะนั้น เมื่อเทียบกับ งาน CMU บุ๊คแฟร์ ที่จัดใน มช. เป็นประจำทุกปี ที่นี้เลยค่อนข้างที่จะสบาย ในการเดินเลือก

กระนั้น แม้จะสบายกว่า แต่หนังสือที่เอามาขาย ก็ยังถือว่าไม่เยอะเท่า CMU บุ๊คแฟร์ อาจจะด้วยขนาดของพื้นที่ เลยทำให้มีหนังสือไม่มากเท่า แม้จะมีมาขายกว่า 200 บูทกันก็ตาม

200 กว่าบูท ที่มาตั้งขาย มีทั้ง สนพ. ต่างๆ ร้านหนังสือทั่วไป หนังสือทั้งเก่าและใหม่ ถ้าเล่มใหม่ๆ ก็ลดราวๆ 15-20 % แต่ถ้าเป็นพวกเล่มเก่าๆ ก็จะลดถล่มแบบครึ่งราคาเลยก็มี หรือบางร้านก็มีขายในราคาพิเศษเล่มละ 20 บาท กองพะเนินให้เลือกอย่างสะดวก แต่ที่น่าสนใจที่สุด คงเป็นบุฟเฟต์หนังสือในราคา 99 บาท โดยกฎมีอยู่ว่า ต้องซื้อถุงจากทางร้าน แล้วก็ไปเดินเลือกหนังสือได้เลย เต็มถุงนั้นจะกี่เล่มก็ได้ จ่ายเพียง 99 บาท (แต่ถุงห้ามขาดจากการยัด) ดูๆ ไป 1 ถุง ก็ตกประมาณ 5-6 เล่ม

ความพิเศษอีกอย่างจาก 200 กว่าบูท คือการมีบูทเฉพาะสำหรับผลงานนักเขียนเชียงใหม่ เป็นการเปิดพื้นที่ให้นักเขียนในท้องถิ่นได้แสดงผลงาน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีกันมากๆ

หนังสือมีสารพัดหมวดหมู่ ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม สุขภาพ อาหาร การศึกษา คอมพิวเตอร์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ สารานุกรม ศิลปะ การ์ตูน กฎหมาย บริหารธุรกิจ ภาษา เอาเป็นว่ามีครบ แต่จะเน้นหนักหน่อยไปทาง นวนิยายที่หอบเอามาลดราคาเยอะ
 
สุดท้าย นอกจากการเดินเลือกซื้อหาหนังสือ และกิจกรรมพบปะคนอ่านของนักเขียน ในงานยังมีนิทรรศการ 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ยกมาจัดแสดงในงานนี้ด้วย ซึ่งมี อาจารย์บุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ซึ่งกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีพิเศษ เนื่องจากเป็นปีที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก และในวาระ 100 ปี ชาตกาล คิดว่าเด็กรุ่นใหม่หรือผู้คนทั้งหลายที่รู้จักหรือยังไม่ค่อยรู้จักอาจารย์ป๋วยเท่าไหร่ ถ้าได้เรียนรู้ชีวิตของอาจารย์ป๋วย เหมือนเราได้อ่านหนังสือเล่มใหญ่เล่มหนึ่ง
     
และก็เช่นกัน “บ้านที่ไร้หนังสือ เสมือนกายที่ไร้วิญญาณ”ดังคำกล่าวจากปราชญ์ชาวตะวันตก