เฮือนโบราณไทยล้านนา @ ม่อนฝ้ายสถานที่ตั้ง : หมู่ที่ 3 ซอย 7ข ถนนป่าตัน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ : 053 110 145, 089 851 8010
พิกัด : 18.819186,98.990315
ม่อนฝ้าย เป็นเรือนไทยล้านนาประยุกต์ มีลักษณะใต้ถุนสูงเหมือนเรือนไทยทั่วไป ปลูกติดกัน 3 หลัง เรือนด้านหน้าเป็นส่วนต้อนรับ มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีต และหุ่นแสดงเครื่องแต่งกายโบราณ รอบๆ เรือนมีไม้ยืนต้นและไม้เลื้อยผสมผสานให้ความร่มรื่นเย็นสบาย ทางเดินเชื่อมไปแต่ละเรือนปูด้วยแผ่นไม้กระดานหนา แต่ละแผ่นวางแบบเว้นระยะห่างทำให้เห็นพื้นใต้ถุนด้านล่าง หน้าต่างเป็นฝาไม้บานเลื่อนแบบไทยโบราณขนานแท้ ทางทิศใต้ของเรือนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตและบางชิ้นยังใช้จนปัจจุบัน เช่น สลุงเงิน (คือภาชนะใส่น้ำ มีลักษณะคล้ายกับขัน นิยมทำด้วยเงิน) เชี่ยนหมาก (คือภาชนะสำหรับใส่เครื่องหมากพลู) เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน ภาพพระบฏ (หมายถึง ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ มาจากคำในภาษาบาลีแปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้ามีภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูปเพื่อเป็นที่เคารพบูชา)
ในห้องทางทิศเหนือของเรือนโถงกลาง จัดแสดงเครื่องแต่งกายพื้นเมืองล้านนา พับวางซ้อนเป็นชั้นๆ และวางพาดราวด้านบน เรียงเต็มห้อง เช่น สไบ ซิ่น ผ้า และชุดแต่งกายโบราณ ทั้งนี้ยังเปิดให้ชมลวดลายผ้าไหมที่ถักทอด้วยฝีมืออันประณีต โดยชุดแต่งกายบางชุดจัดตกแต่งแสดงไว้ในหุ่นอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังนำอุปกรณ์ในการตกแต่งกายอื่นๆ เช่นผ้าโพกศีรษะ เชือก ผ้าคาดเอว รวมทั้งเครื่องประดับที่ใช้ประกอบการแต่งกายแบบพื้นเมืองแสดงไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนชั้นล่างเป็นที่เก็บวัตถุพื้นบ้านชิ้นใหญ่ๆ เช่น สุ่ม ครก ไม้กวาด เป็นต้น
ด้วยลักษณะของม่อนฝ้ายที่เป็นเรือนโบราณไทยล้านนา แสดงให้เห็นถึงงานสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของชาวล้านนา รวมถึงแสดงเครื่องแต่งกายล้านนา ถ่ายทอดให้รับรู้ถึงศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตอันงดงามของชาวล้านนาในอดีต ม่อนฝ้ายแห่งนี้จึงไม่ต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ล้านนาขนาดย่อม นอกจากนี้ม่อนฝ้ายยังรับจัดเตรียมสถานที่เพื่องานมงคลต่างๆ ที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ งานมงคลสมรส หรืองานแต่งงาน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจัดงานในรูปแบบล้านนา โดยการจัดเตรียมงานทั้งหมดอยู่ในความดูแลของนักอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา อาจารย์รำพัด โกฏิแก้ว มีการจัดเตรียมสำรับอาหาร เครื่องแต่งกายแบบล้านนาให้ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาว รวมถึงแขกที่มาร่วมงาน สามารถจัดการแสดงฟ้อนรำแบบล้านนา ท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุคเสมือนจริง ด้วยบรรยากาศที่ให้อารมณ์เสมือนจริงนี้เอง ทำให้ม่อนฝ้ายได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครไทยโบราณมาแล้วหลายเรื่อง นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมความงามของเรือนไม้โบราณล้านนาแห่งนี้ได้ทุกวัน เผื่อว่าจะสนใจแต่งงานในกลิ่นอายแบบล้านนาขึ้นมาบ้าง
by Traveller Freedomติดตามบทความสถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ได้ที่
www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,8064.0.html#.VB_QJfl_sig