วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่นถนนท่าแพ คือถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเมืองเชียงใหม่กับท่าเรือแม่น้ำปิง ในอดีตตลอดแนวถนนท่าแพจึงเป็นชุมชนของเหล่าพ่อค้าวานิชจากดินแดนต่างๆ ทั้งชาวพม่า และชาวจีน ก่อเกิดวิถีชีวิต ประเพณี และศิลปะมากมายฝากไว้เป็นมรดกตกทอดสู่รุ่นลูกหลาน หลายๆ วัดบนถนนสายนี้จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจ วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จัก วัดอุปคุต พระอารามอีกแห่งหนึ่งบนถนนเส้นนี้ค่ะวัดอุปคุต ถนนท่าแพ ต. ช้างคลาน อ. เมืองฯ จ. เชียงใหม่ (ทางเข้าไนท์บาร์ซา)
วัดอุปคุตตั้งอยู่ริมถนนท่าแพ ต. ช้างคลาน อ. เมืองเชียงใหม่ ห่างจากสี่แยกสะพานนวรัฐ (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง) เพียง 10 เมตรซุ้มประตูทางเข้าวัด
พระวิหารของวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี พ.ศ. 2470 เป็นอาคารปูน ทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย ฝีมือช่างท้องถิ่น มองเผินๆ อาจไม่รู้เลยว่าเป็นพระวิหาร ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ทำจากไม้ประดับด้วยกระจกสี หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาดูเก่าแก่มาก เข้ามาด้านในสิ่งแรกที่สะดุดตา คือตุงขนาดเล็กจำนวนมากมายแขวนเรียงรายอยู่อย่างสวยงามหลังคาวิหารของวัดอุปคุต
โถงด้านในพระวิหาร
เดินเข้ามาด้านในเล็กน้อยเป็นฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธานของพระวิหาร พระอุปคุต ที่มาของชื่อวัด และพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานเขียนสีน้ำมัน ฝีมือศิลปินพื้นบ้าน เล่าเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดก ลักษณะการวาดค่อนข้างเสมือนจริง ไม่ใช่ภาพจิตรกรรมแบบประเพณีนิยมที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในวัดต่างๆพระประธานในพระวิหาร
พระเจดีย์ประธาน ทรงล้านนา ฐานล่างย่อมุม ต่อด้วยฐานกลมซ้อนกันสามชั้น ด้านบนเป็นองค์ระฆังแบบล้านนา ยกฉัตรสีทองไว้บนเรือนยอด มีซุ้มโขงแบบล้านนาประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่บนฐานเจดีย์ทั้งสี่ทิศ พระเจดีย์ประธานของวัด
พระวิหารหลังใหม่
พระวิหารหลังใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับปูนปั้นทั้งหลัง จุดเด่นคือลายปูนปั้นเทพพนม อ่อนช้อยงดงามตามแบบล้านนาสมัยใหม่ประดับอยู่โดยรอบตัวอาคาร ด้านในประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์ครูบาศรีวิชัย และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดับซุ้มเรือนแก้ว ผนังพระวิหารไม่ได้เขียนภาพจิตรกรรมอย่างที่นิยมกัน แต่ประดับพระพิมพ์ปางสมาธิขนาดเล็กนับพันองค์ ส่วนเพดานประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงามมากพระประธานในพระวิหารหลังใหม่
มีรูปหล่อสำริดครูบาศรีวิชัยอยู่ภายในพระวิหารด้วย
พระพิมพ์องค์เล็กๆ ประดับอยู่บนผนังมากมายกว่าพันองค์
หอเก็บพระพุทธรูปเป็นอีกอาคารหนึ่งภายในวัดที่น่าสนใจ เพราะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูง ก่อสร้างด้วยปูนและไม้ผสมกัน ประตูทางเข้ามียักษ์ปูนปั้นสองตนเฝ้าไว้ปูนปั้นเทวดา ประดับพระวิหารหลังใหม่
ประเพณีสำคัญของวัดแห่งนี้นี้ เรียกว่า ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน หรือ เป็งปุ๊ด (เพ็ญพุทธ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานมากกว่า 250 ปี ได้รับอิทธิพลจากพม่า เมื่อครั้งอาณาจากล้านนาตกเป็นเมืองขึ้น ในปัจจุบันมีเพียงวัดอุปคุตเท่านั้นที่ยังคงสืบทอดประเพณีนี้อยู่ โดยจะมีพิธีตักบาตรตอนเที่ยงคืนในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ พระสงฆ์จะประกอบกิจพุทธมนต์ในพระวิหารหลวงตั้งแต่เวลา 22.00 น. และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนจะออกจากพระวิหารเพื่อมารับบิณฑบาตจากญาติโยม โดยในแต่ละปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่มีเลยยักษ์ปูนปั้นหน้าหอเก็บพระพุทธรูป
ตามตำนานเล่าเอาไว้ว่า วันเป็งปุ๊ด เป็นวันที่ พระอุปคุต พระเถระที่สำคัญในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ขึ้นชื่อเรื่องการปราบมาร และสิ่งชั่วร้าย จะละจากการบำเพ็ญบารมีใต้ท้องสมุทรขึ้นมาโปรดสัตว์โลก โดยปลอมตัวเป็นสามเณรออกบิณฑบาตในยามเที่ยงคืน ผู้ใดได้ทำบุญกับพระอุปคุตจะได้บุญมาก เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตนอกจากความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมทางพุทธศิลป์ วัดอุปคุต ยังเป็นวัดที่สืบทอดประเพณีอันเก่าแก่ที่ในทุกวันนี้หาชมได้ยากมาก ใครสนใจก็อย่าลืมเปิดดูปฏิทินจันทรคติน และติดตามข่าวสารจากทางวัดให้ดีว่า วันเป็งปุ๊ด จะจัดขึ้นในวันใด หากมีโอกาสก็อย่าลืมไปสัมผัสประเพณีที่เหลือพียงหนึ่งเดียวของล้านนาให้ได้นะคะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา