วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันสังขารล่อง" โดยมีตำนานกล่าวว่า เช้ามืดของวันนี้ปู่สังขาน ย่าสังขาน จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดง สยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสังขานนี้ จะนำเอาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาตามตัวมาด้วย จึงมีการจุดประทัดในตอนเช้า ๆ เพื่อให้เกิดเสียงดังต่าง ๆ นัยว่าเป็นการไล่สังขาน วันนี้จะมีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล และมีการสระผม
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" หรือ "วันเน่า" เป็นวันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะเชื่อว่าจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี ในตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด โดยถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนในส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัด จะนำมากองรวมกันเป็นเจดีย์
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" แต่คนเหนือมักจะเรียกว่า "วันพญาวัน" มากกว่า วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้า วัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย
วันที่ 16 เมษายน เรียกว่าวัน "วันปากปี" มักจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ เพื่อขอขมาคารวะ และจะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ห์ สืบชะตา จุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้าน
สำหรับการรดน้ำดำหัว คำว่า "ดำหัว" ปกติแปลว่า "สระผม" แต่ในประเพณีสงกรานต์ล้านนา จะหมายถึง การไปแสดงความเคารพ ขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ซึ่งของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย โดยเรียกว่า "น้ำขมิ้นส้มป่อย" พร้อมทั้งนำของไปมอบให้ผู้ใหญ่ โดยท่านจะอวยพรแล้วใช้มือจุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อยลูบศีรษะให้