ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
มิถุนายน 30, 2024, 09:19:07 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ การกระทำใดๆ  เพื่อที่จะให้กระทู้ตัวเองมาอยู่อันดับต้นๆ ประจำ หากพิจารณาแล้วว่า ไม่เกิดประโยชน์กับผู้เข้าชม  ก็รับสิทธิ์โดนแบนเหมือนกันครับ


  แสดงกระทู้
หน้า: « 1 2 3 4 »
121  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดฟ่อนสร้อย” ชมความงามของวิหารสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เมื่อ: มีนาคม 12, 2014, 11:59:26 PM
“วัดฟ่อนสร้อย” ชมความงามของวิหารสถาปัตยกรรมท้องถิ่น

สมัยอบรมมัคคุเทศก์ที่สถาบันแห่งหนึ่งในกรุงเทพ มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมวัดวาอาราม และโบราณสถานต่างๆ ในภาคเหนือ แม้จะเคยมาเมืองเหนือแล้วหลายครั้ง แต่การมาเยี่ยมเยือนเชียงใหม่ครั้งนั้นพิเศษกว่าครั้งอื่น เพราะเราได้เรียนรู้เรื่องราวสถาปัตยกรรม และโบราณคดีของล้านนา ทำให้เวลาเที่ยวชมวัดวังต่างๆ ไม่ใช่แค่เดินดูอาคารสถานที่ แต่ทำให้เราเข้าใจความเป็นมาของวัดแห่งนั้นได้มากขึ้น


ที่เกริ่นมาแบบนี้ ก็เพราะการมาเยี่ยมเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น ทำให้เลดี้ ดาริกาสนใจสถาปัตยกรรมล้านนาเป็นพิเศษ ลักษณะอาคารหลังคาซ้อนชั้น และหลูบต่ำลงจนเกือบติดพื้น เป็นเอกลักษณ์ของล้านนา และสุโขทัยที่มองทีไรก็รู้สึกว่าคลาสสิก และใจสงบมากๆ วัดฟ่อนสร้อย พระอารามเล็กๆ ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในวัดที่มีสถาปัตยกรรมลักษณะนี้ เกิดชอบใจเลยอยากเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง

พระวิหารวัดฟ่อนสร้อย


วัดฟ่อนสร้อย ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ใกล้กับตลาดประตูเชียงใหม่ เป็นวัดเล็กๆ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๑ นับถึงตอนนี้ก็อายุได้ ๕๒๖ ปีแล้ว เก่าแก่มากทีเดียว จากการศึกษาโครงนิราศหริภุญชัยโดยคุณวิจิตร ยอดสุวรรณ ทำให้ทราบว่าที่ตั้งของวัดฟ่อนสร้อยในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ที่ตั้งดั้งเดิมในอดีต วัดฟ่อนสร้อยเดิมซึ่งร้างไปแล้วนั้นอยู่ห่างไปทางทิศใต้เล็กน้อย คำว่า “ฟ่อนสร้อย” สันนิษฐานว่ามาจากขุนนางที่มียศว่า “พันสร้อย” ต่อมาจึงเพี้ยนกลายเป็น “ฟ่อนสร้อย”

ลวดลายวิจิตรของวิหารหลวง

มุขทางเข้าด้านข้างพระวิหาร

วิหารหลวงวัดฟ่อนสร้อย ถือเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนผสมไม้ หลังคาซ้อนชั้น และหลูบลงต่ำมากเกือบติดพื้นดิน เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมไทยในอดีต โดยเฉพาะลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาและสุโขทัย บันไดทางขึ้นขนาบด้วยนาคสองตัว หน้าบันประดับด้วยลวดลายก้านกดปิดทองบนพื้นสีเขียว ละเอียดอ่อนช้อย สวยงามมาก ประตูวิหารแกะสลักจากไม้เป็นรูปเทวดา เปรียบเสมือนทวารบาลคอยอารักขาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สวยวิจิตรไม่แพ้กัน ด้านข้างพระวิหารมีมุขทางเข้าอีกทางหนึ่ง มีไว้สำหรับพระสงฆ์เข้าออกเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เราสามารถพบเห็นพระวิหารลักษณะนี้ได้มากมายในวัดต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่

พระเจดีย์ประธานของวัด

บรรยากาศของวัด

ด้านหลังพระวิหารเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา มีสัดส่วนงดงามหมดจด องค์เจดีย์ทั้งสี่ด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังสีทองสุกใส ยอดพระเจดีย์ประดับด้วยฉัตรสีทอง บริเวณฐานพระเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นกัน มุมเจดีย์มีสิงห์ปูนปั้นแบบล้านนาตั้งอยู่ทั้งสี่ทิศ ฐานเจดีย์แต่ละชั้นประดับด้วยหม้อปูรณฆฏะ ตามคติล้านนาเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์

หอไตรของวัด


วัดฟ่อนสร้อยแม้จะเป็นวัดเล็ก แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ ใครไปเที่ยวเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ เที่ยววัดใหญ่ๆ มาเยอะแล้ว ลองมาเที่ยวชมความงามของวัดเล็กๆ กันดูบ้าง วัดจะได้ไม่เหงาจนเกินไป

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  905
122  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / ร้านอาหารอีสาน ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ เชียงใหม่ / “ไก่ย่างเชิงดอย” อาหารง่ายๆ แต่อร่อยสุดๆ ที่ย่านนิมมานฯ เมื่อ: มีนาคม 12, 2014, 03:12:19 PM
“ไก่ย่างเชิงดอย” อาหารง่ายๆ แต่อร่อยสุดๆ ที่ย่านนิมมานฯ

ถนนนิมมานเหมินท์ เป็นย่านท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเมืองเชียงใหม่ แหล่งร้านกาแฟ ผับบาร์ ร้านเบเกอรี่นั่งชิว และร้านอาหารอร่อยๆ หลากหลายชนิด ตั้งแต่อาหารพื้นๆ ไปจนถึงอาหารหรูระดับไฮเอ็นด์ ร้านค้าแต่ละร้านมีกลยุทธพิชิตใจลูกค้าแตกต่างกันไป ตั้งแต่บรรยากาศ รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ และบริการให้ประทับใจ วันนี้เลดี้ ดาริกาขอพาเพื่อนๆ ไปแวะชิม “ไก่ย่าง” อาหารธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในย่านนิมมานเหมินท์ เรียกว่าอร่อยมากๆ ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ก็คงไม่ผิดนัก เพื่อนๆ รู้จัก “ไก่ย่างเชิงดอย” กันไหมคะ?


ร้านไก่ย่างเชิงดอย ตั้งอยู่ย่านถนนนิมมานฯ ก็จริง แต่ต้องเข้ามาในถนนสุขเกษม ซึ่งเป็นซอยแยกย่อยจากถนนนิมมานฯ เป็นซอยหนึ่งในย่านนิมมานฯ ที่ไม่ได้เรียกด้วยตัวเลขค่ะ สังเกตได้จากร้าน Jeffer Steakด้านหน้าปากซอย เข้ามาในซอยประมาณ 50 เมตร ร้านตั้งอยู่ขวามือค่ะ



แม้ร้านจะมีชื่อว่า “ไก่ย่าง” เพราะว่ามีไก่ย่างเป็นไฮไลท์ แต่ร้านนี้ไม่ได้มีดีแค่ไก่ย่าง แต่ขายอาหารอีสานหลากหลายชนิดที่นิยมรับประทานกับไก่ย่างจำพวกส้มตำ ลาบ น้ำตก คอหมูย่าง ต้มแซบ และอื่นๆ รับประกันความอร่อย และสะอาด เรียกว่าเป็นร้านอาหารอีสานระดับท้อปๆ ของเชียงใหม่ ดูจากการตกแต่งบรรยากาศภายในร้านที่สะดวกสบาย แต่ไม่ทิ้งกลิ่นอายของการนั่งเปิบข้าวเหนียว จิ้มส้มตำ และเม้าส์มอยเฮฮาประสาเพื่อนฝูง ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการกินส้มตำ โต๊ะไม้จัดไว้ให้บริการเป็นสัดส่วน อาหารที่เสิร์ฟรสชาติกลมกล่อม จัดจ้านแบบพอดีๆ คนกินเผ็ดไม่ค่อยได้ก็รับประทานได้ เพราะไม่หนักเผ็ด เน้นความพอดี รสชาติละมุน


ไก่ย่างหนังกรอบ เมนูแนะนำสุดๆ ไฮไลท์ของร้านเลยค่ะ

มาร้านไก่ย่างเชิงดอย เมนูต้องลองคือ “ไก่ย่างหนังกรอบ” ตำหรับของร้านนี้ค่ะ ความพิเศษที่หนังถูกย่างจนกรอบ เนื้อไก่นุ่มไม่ช่ำน้ำเกินไป แต่ก็ไม่แห้ง รสสัมผัสดีมากๆ ทานคู่กับน้ำจิ้มมะขาม เปรี้ยวๆ หวานๆ อร่อยจริง

คอหมูโหระพากรอบ อร่อยยกนิ้ว

เมนูต่อมาที่อยากแนะนำคือ “คอหมูโหระพากรอบ” คอหมูย่าง ไม่ติดมันจนเกินงาม โรยหน้าด้วยใบโหระพาทอดกรอบกับกระเทียม กินคอหมูย่างกับใบโหระพากรอบอร่อยไม่เบาทีเดียว

ต้มแซ่บกระดูอ่อน จัดจ้านถึงใจ

“ต้มแซบกระดูกอ่อน” เมนูโปรดอีกจานหนึ่งของเลดี้ ดาริกาค่ะ กระดูกหมูอ่อนต้มจนเปื่อยกำลังดี เสิร์ฟมาในน้ำซุปอีสานรสแซบถึงใจ หอมกรุ่น กินร้อนๆ อร่อยมากค่ะ

ส้มตำไข่เค็ม อร่อยสุดยอด :)

ราคาอาหารไม่แพงจนเกินไป ปริมาณพออิ่ม ระหว่าง 35 - 70 บาท ความอร่อยของร้านนี้โด่งดังทีเดียว ช่วงกลางวันลูกค้าเข้าร้านเยอะมาก ทั้งชาวไทยและนักท่องเทียวต่างชาติ แน่นจนไม่มีโต๊ะนั่งเลยค่ะ เพื่อนๆ ที่อยากมาลองสัมผัสความอร่อยที่นี่ แนะนำให้มาช่วงเย็นน่าจะสะดวกกว่ามาก ร้านเปิดตั้งแต่ 11:00 – 20:30 น (เมนูสุดท้ายรับเวลา 20:00 น) ปิดเฉพาะวันจันทร์ เวลาปิดอัพเดทล่าสุดค่ะ เริ่มตั้งแต่ 16 มีนาคมนี้เป็นต้นไป

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :111:
123  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดถวาย” ชื่นชมงานศิลป์ พลังศรัทธาของสล่าชาวเหนือ เมื่อ: มีนาคม 12, 2014, 01:54:15 PM
“วัดถวาย” ชื่นชมงานศิลป์ พลังศรัทธาของสล่าชาวเหนือ

วัดถวาย ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์หัตถกรรมบ้านถวาย จากห้างเซ็นทรัลแอร์พอต มุ่งลงใต้ไปตามถนนเชียงใหม่-หางดงประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ถึงตัวเมืองอำเภอหางดง เลี้ยวซ้ายที่สามแยกบริเวณกศน. ประมาณ ๓ กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปบ้านถวาย ขับรถไปตามเส้นทางนั้นอีก ๘๕๐ เมตร วัดตั้งอยู่ทางซ้ายมือ


วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๘ โดยชาวลั้วะที่อพยพมาจากอำเภอจอมทอง และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ ภายในวัดค่อนข้างเป็นระเบียบ แบ่งเขตเสนาสนะต่างๆ อย่างชัดเจน ไม้ยืนต้นให้ความร่มรื่นอยู่รอบวัด เอกลักษณ์ของวัดนี้คือความวิจิตรสวยงามของลวดลายต่างๆ ที่ประดับประดาอยู่บนตัวอาคารถาวรวัตถุ ทั้งลายปูนปั้น และงานแกะสลักไม้

พระอุโบสถหลังใหม่วัดถวาย

บรรยากาศภายในพระอุโบสถ

พระประธานในพระอุโบสถ

ประตูพระอุโบสถแกะสลักจากไม้


พระอุโบสถหลังใหม่ สถาปัตยกรรมล้านนา อยู่ติดกับประตูวัด ฐานก่ออิฐถือปูนยกสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร ตัวอาคารส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ มีปูนบางส่วน กลางอาคารมีมุขยื่นอกมาคลุมราวบันไดมกรคายนาค ช่อฟ้าเป็นเศียรพญานาคสีน้ำเงินอมม่วงเช่นเดียวกับนาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้ลายพรรณพฤกษา ตรงกลางเป็นรูปเทพพนม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีนามว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ” เป็นพระประธาน ฝาผนังมีงานแกะสลักไม้เล่าเรื่องพุทธประวัติ

พระเจดีย์ของวัด

ซุ้มโขงเก่าแก่ข้างพระเจดีย์

พระเจ้าหกนิ้ว ประดิษฐานในซุ้มโขงโบราณ

พระเจดีย์อยู่ถัดจากพระอุโบสถหลังใหม่ มีกำแพงล้อมรอบ ฐานล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จยกสูงรับกับฐานบัว ๓ ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์หุ้มด้วยทองจังโกและประดับด้วยกระจกสี ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ๗ ชั้น ทางทิศใต้ของเจดีย์มีโขงพระเจ้าหกนิ้วอายุกว่า ๒๐๐ ปี

พระอุโบสถหลังเก่าสวยงามวิจิตร

หน้าบันประดับลายปูนปั้นสวยงามมาก

หมู่พระประธานภายในอุโบสถหลังเก่า



พระอุโบสถหลังเก่าอยู่ตรงข้ามกับพระเจดีย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้พรรณพฤกษา นกการเวก หงส์ทอง และมังกร ภายในประดิษฐานพะปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ฝาผนังมีจิตกรรมเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก บนผนังด้านหลังก็สวยงามไม่แพ้ด้านหน้า เป็นลายปูนปั้นรูปเทวดาเหล่าเทวดาและนางอัปสรฟ้อนรำอยู่บนสรวงสวรรค์

พระวิหารของวัด สถาปัตยกรรมล้านนา

พระวิหาร สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง ตัวอาคารตั้งอยู่บนฐานยกสูง ๑.๕๐ เมตร บันไดทางขึ้นเป็นมกรคายนาครูปร่างสมส่วน น่าเกรงขาม หน้าบันแบ่งออกเป็นช่องตามลักษณะโครงสร้างม้าต่างไหม ประดับด้วยงานแกะสลักไม้รูปพรรณพฤกษาและเทพพนม โก่งคิ้วใต้หน้าบันแกะสลักเป็นรูปพญานาคและหนุมานสวยงามมาก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน

พระประธานภายในพระวิหาร

หอไตร อยู่ทางตะวันออกของเจดีย์ เป็นอาคารสองชั้น สร้างจากไม้ทั้งหลัง ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งแกะจากไม้ประดับด้วยกระจกหลากสี หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้พรรณพฤกษาทาด้วยสีทองบนพื้นกระจกสีน้ำเงิน หลังคาทั้งสองชั้นมีรูปปั้นนกการเวก บริเวณลูกกรงแกะสลักเป็นรูปพรรณพฤกษาและสัตว์ต่างๆ

หอไตรสร้างจากไม้

ปูชนียสถานต่างๆ ภายในวัดถวายล้วนสร้างด้วยแรงศรัทธาของชาวหมู่บ้านถวาย ส่วนใหญ่เป็นช่างแกะสลักหรือสล่าในภาษาเหนือ ที่มีฝีมือระดับแนวหน้าของเมืองเชียงใหม่ การประดับตกแต่งของอาคารต่างๆ จึงสวยงาม และทำด้วยความประณีต ใครเห็นก็ต้องตื่นตาตื่นใจแน่นอน จึงอยากเชิญชวนให้เพื่อนๆ ที่เดินทางมาเที่ยวซื้องานฝีมือที่บ้านถวายแวะเข้ามาที่วัดถวายกันด้วย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
124  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว เส้นทางหลวงหมายเลข 108-1009 สู่จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย / บ้านถวาย สวรรค์ของคนรักงานหัตถกรรมไม้ เมื่อ: มีนาคม 12, 2014, 11:40:17 AM
บ้านถวาย สวรรค์ของคนรักงานหัตถกรรมไม้

งานแกะสลักไม้ถือเป็นหัตถกรรมขึ้นชื่ออีกแขนงหนึ่งของภาคเหนือ หลายคนมาเชียงใหม่ก็อยากได้งานฝีมือติดไม้ติดมือกลับไปฝากญาติพี่น้อง และมิตรสหาย ถ้าเป็นเครื่องเงินต้องไปย่านวัวลาย แต่ถ้าอยากได้งานไม้แน่นอนต้องมาที่ “บ้านถวาย” ศูนย์รวมงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่



จากห้างเซ็นทรัลแอร์พอต มุ่งลงใต้ไปตามถนนเชียงใหม่ – หางดง ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร จนถึงตัวเมืองอำเภอหางดง เลี้ยวซ้ายที่สามแยกกศน.หางดง ตรงไปตามเส้นทางสักพัก ก็จะมีแต่ร้านค้าที่งานหัตถกรรมเรียงรายอยู่ตลอดสองข้างทางก่อนถึงบ้านถวาย ขับรถไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร มีซุ้มประตูที่มีป้ายชี้ให้เลี้ยวขวาไปบ้านถวาย ขับรถไปตามเส้นทางนั้นก็จะพบกับร้านค้าขายงานหัตถกรรมแกะสลักไม้มากมาย


บ้านถวาย ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าแต่ก่อนเป็นชุมชนโบราณของเวียงละโว้ เมืองหน้าด่านแห่งหนึ่งของนครหริภุญไชย แต่หลังจากที่พญามังรายยึดครองลำพูนได้ เวียงละโว้แห่งนี้จึงค่อยๆ หมดความสำคัญ และล่มสลายไปในที่สุด “ชนเผ่าลัวะ” อพยพมาจากจอมทอง และตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จนกลายมาเป็นชุมชนในปัจจุบัน


ชื่อบ้านถวาย มีหลักฐานจากหลายแหล่ง บ้างก็ว่าแต่เดิมแถวนี้มีต้นหวายเยอะ คนในชุมชนจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ต้าหวาย” บ้างก็ว่าครั้งหนึ่งพระนางจามเทวีจะเสด็จผ่านมาแถวนี้ ชาวบ้านจึงเตรียมของเพื่อที่จะถวายแด่พระนาง พื้นที่บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “จุดถวาย” และกลายมาเป็นชื่อ “บ้านถวาย” จนถึงปัจจุบัน



ในบริเวณบ้านถวาย มีพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกจัดสรรให้เป็นร้านค้า ลักษณะคล้ายสวนจตุจักริมสองฝั่งคลอง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะงานแกะสลักไม้ขึ้นชื่อ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเลือกซื้อหาสินค้าหัตถหรรมต่างๆ ยังคงบรรยากาศวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ ร้านรวงต่างๆ ใช่จะมีเพียงแต่พ่อค้า แม่ค้านั่งขายของกันเท่านั้น แต่ที่บ้านถวายนี้ยังเปรียบเสมือนพื้นที่สรรสร้างงานศิลป์ไปพร้อมๆ กัน เรียกได้ว่าแกลลอรี่มีชีวิต บ้างนั่งตอกสิ่ว บ้างแกะสลัก หรือทาสีผลิตภัณฑ์ของตน ทำกันสดๆ โชว์ลูกค้ากันเลยทีเดียวค่ะ




สินค้าที่ขายกันที่นี่มีหลากหลาย ทั้งเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เครื่องบูชา ของกระจุกกระจิก ตู้ ชั้นเก็บของ หีบ ภาพแขวน ขันโตก ป้าย และเฟอนิเจอร์แบบต่างๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นงานที่ทำขึ้นจากมือและหัวใจ ละลานตาจนเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว นอกจากงานไม้แล้ว ยังมีภาพจิตกรรมด้วย สวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย



ใครกำลังมองหาของฝาก เครื่องใช้ไม้สอย หรือของประดับจากไม้ ยอมเสียเวลาเดินทางออกนอกเมืองไปไกลสักหน่อย แต่รับรองว่าได้ของสมใจแน่ มีหลากหลายให้เลือก ในราคาค่อนข้างถูกกว่าร้านในเมืองด้วย เพราะที่นี่ช่างเป็นคนทำเองขายเอง กำไลนิดหน่อยไม่มีพ่อค้าคนกลาง มากันจนถึงบ้านถวายแล้ว ถ้ามีเวลาอย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมความงามของวัดถวายที่อยู่ใกล้ๆ กันด้วยนะคะ ใครสนใจติดตามอ่านได้จากข้อมูลวัดค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  914
125  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เที่ยว “วัดป่าจี้” เรียนรู้ประเพณีเลี้ยงดงผีอันเก่าแก่ เมื่อ: มีนาคม 10, 2014, 10:09:07 PM
เที่ยว “วัดป่าจี้” เรียนรู้ประเพณีเลี้ยงดงผีอันเก่าแก่

เลดี้ ดาริกาขอพาเพื่อนๆ ออกนอกเมืองกันอีกครั้ง คราวนี้เราไม่เพียงแต่เที่ยวชมวัดวาอารามสวยๆ เท่านั้น แต่เราจะไปเรียนรู้วิถีชุมชนเก่าแก่ และประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานาน เกริ่นมาเท่านี้ก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ บทความนี้อาจจะออกแนวมานุษยวิทยาสักหน่อย อย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อนนะ


วัดป่าจี้ หรือวัดป่าชี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จากตลาดต้นพะยอม ใช้เส้นทางเลียบคลองชลประทานลงมาทางทิศใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ถึงสามแยกอุโบสถวารีประทาน ขับรถเลยแยกมาประมาณ ๓๐๐ เมตร เลี้ยวขวาข้ามสะพาน เข้าไปในซอยอีก ๒๐๐ เมตรก็จะถึงวัด  ความเป็นมาของวัดทราบแต่เพียงว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๕

วิหารโบราณวัดป่าจี้ สวยสดงดงามตามแบบล้านนา

บริเวณวัดค่องข้างโล่ง ต้นไม้น้อยมาก  มีอยู่รอบๆ วัดเพียงไม่กี่ต้น อากาศอาจจะร้อนไปหน่อย แต่พอได้เห็นพระวิหารโบราณที่ยังคงความสวยงามแบบดั้งเดิม บอกกับตัวเองได้เลยว่าร้อนแค่ไหนก็ไม่เกี่ยง

ลวดลายปูนปั้นสีชมพูอ่อนๆ สวยงาม



เรามาเริ่มจุดแรกกันที่พระวิหารโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งอยู่บนพื้นยกสูงประมาณครึ่งเมตร ราวบันไดเป็นพญานาคเกล็ดสีส้มเขียว ส่วนหัวประดับด้วยกระจกสีเขียวและน้ำเงิน ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งตกแต่งด้วยกระจกหลากสี โดดเด่นมาก ด้านหน้าพระวิหารประดับด้วยลายปูนปั้นแทบทุกตารางนิ้ว ละเอียดมากๆ หน้าบันแบ่งออกเป็นช่องต่างๆ ตามโครงสร้างหลังคาแบบม้าต่างไหม เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมล้านนา  ตกแต่งด้วยลวดลายพรรณพฤกษาและสัตว์ต่างๆ ประตูก็วิจิตรไม่แพ้กัน เป็นงานแกะสลักไม้รูปพระอินทร์ประทับยืนอยู่บนช้างเอราวัณ

พระอุโบสถวัดป่าจี้

ด้านหลังพระวิหาร เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถสถาปัตยกรรมล้านนา ข้างๆ กันเป็นพระเจดีย์ศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย ตั้งอยู่บนพื้นสี่เหลี่ยมยกสูงประมาณ ๑ เมตร แต่ละมุมมีเจดีย์บริวาร ฐานล่างสุดเป็นสีเหลี่ยมย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานยกสูง มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทานพรอยู่ทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้มด้วยทองจังโกที่ค่อนข้างสูงเพรียว ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ด้านหน้าพระเจดีย์เป็นศาลาพระเจ้าทันใจ

พระเจดีย์วัดป่าจี้


หลังจากทำความรู้จักกับปูชนียสถานต่างๆ แล้ว เรามารู้จักกับประเพณีที่สำคัญของชาวแม่เหียะกันบ้างนะคะ “เลี้ยงดง” ประเพณีเก่าแก่ของชาวเชียงใหม่ หาดูได้ยากมาก เพราะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวแม่เหียะ ประเพณีเลี้ยงดงเกี่ยวข้องอย่างไรกับวัดป่าจี้แห่งนี้

วัดป่าจี้เป็นสถานที่เก็บรักษา “พระบฏ” หรือ “ผ้าพระบฏ” อายุเก่าแก่กว่า ๑,๐๐๐ ปี คำว่า “บฏ” มาจากภาษาบาลีว่า “ปฏ” (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอหรือผืนผ้าที่วาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อเป็นรูปเคารพบูชา ซึ่งพระบฏเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีเลี้ยงดงผี ซึ่งจัดขึ้นปีละ1 ครั้ง ราวๆ เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน


ประเพณีเลี้ยงดง ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีในป่า มีการแห่ขบวนพระบฏจากวัดป่าจี้ไปยังสถานที่ประกอบพิธีที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยที่4 (แม่เหียะ) มายังสถานที่ประกอบพิธี และนำมาห้อยไว้ที่กิ่งไม้ เชื่อกันว่าภาพของพระพุทธองค์สามารถสะกดดวงวิญญาณปู่แสะย่าแสะ และผีป่าให้อยู่ในกรอบ จากนั้นจะอัญเชิญดวงวิญญาณ “ปู่แสะย่าแสะ” เชื่อกันว่าเป็นผู้ปกปักษ์รักษาผืนป่าในแถบนี้ ผ่านร่างทรงที่จะมารับเครื่องเซ่นที่เป็นควายรุ่นเขาเพียงหูสีดา โดยการกินเนื้อดิบและเครื่องเซ่นอื่นๆ


เป็นยังไงบ้างคะกับความงดงามของเสนาสนะต่างๆ ในวัดป่าจี้ และประเพณีเลี้ยงดงผีที่เก่าแก่ และหาชมได้ยาก หลายคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าใกล้ๆ เมืองเชียงใหม่นี้ยังมีประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน บางคนมองว่าเป็นประเพณีล้าสมัย แต่จริงๆ แล้ว “เลี้ยงดงผี” เป็นประเพณีทางจิตวิญญาณที่อยู่คู่กับคนชนชาติไทมายาวนาน แฝงคติธรรมมากมาย และมุ่งสอนให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนหวงแหนผืนป่าอันสมบูรณ์ของดอยสุเทพ-ปุย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :1001:
126  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / ร้านอาหารญี่ปุ่นเชียงใหม่ / บ้านกระทะเหล็ก (Teppan House) - อาหารปรุงด้วยหัวใจไม่ใช่แค่ฝีมือ เมื่อ: มีนาคม 10, 2014, 09:53:36 PM
บ้านกระทะเหล็ก (Teppan House) - อาหารปรุงด้วยหัวใจไม่ใช่แค่ฝีมือ

credit:https://www.facebook.com/TeppanHouse?fref=ts

คนชอบกิน จะไกลแสนไกลแค่ไหน ไปยากอย่างไร ถ้าเขาว่าดี เขาว่าอร่อยก็ย่อมอยากไปลองชิมให้รู้ด้วยตัวเอง เลดี้ ดาริกาไม่รักษาหุ่น มีเรื่องกินที่ไหนก็อยากจะกินกับเขาด้วย ยังไม่ถึงขั้นนักชิมมืออาชีพหรอกนะคะ ก็แค่นักอยากกินเท่านั้นเอง เมื่อไม่นานมานี้บังเอิญมีเพื่อนๆ แนะนำมาว่ามีร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นอร่อยๆ ราคาสมเหตุสมผล นักอยากกินอย่างฉันหรือจะพลาด จัดแจงหาเวลาไปเยี่ยมชิมฝีมือเชฟดูสักหน่อย ร้านนี้ชื่อว่า “บ้านกระทะเหล็ก” ค่ะ อยู่นอกเมืองเชียงใหม่ออกไปไกลเหมือนกัน แต่กระซิบบอกเพื่อนๆ ไว้ก่อนตรงนี้เลยว่า...รับรองติดใจชัวร์ ออกตัวแรงขนาดนี้ ไม่ได้ค่านายหน้าค่าโฆษณาอะไร แต่นำเสนอเพื่อนๆ ด้วยความชอบล้วนๆ



ออกจากเมืองเชียงใหม่ เริ่มจากสี่แยกกาดต้นพะยอม เลียบคันคลองชลประทานลงมาทางใต้ มุ่งหน้าไปทางอำเภอหางดง ขับตรงไปไกลหน่อยนะคะ ประมาณ 9 กิโลเมตรจนถึงสี่แยกวัดต้นเกว๋น กลับรถมาประมาณ 1.5 เมตร สังเกตโรงไฟฟ้าเล็กๆ มีทางเข้าหมู่บ้าน (ไม่สังเกตดีๆ ระวังขับเลยนะคะ เพราะทางเข้าหมู่บ้านนี้ อารมณ์ทางเข้าหมู่บ้านชนบทเล็กๆ เองค่ะ อย่าเพิ่งจินตนาการไปว่าเป็นหมู่บ้านจัดสรรหรูๆ นะคะ) มีป้ายบอกทาง “บ้านกระทะเหล็ก” อยู่ด้านหน้า เลี้ยวเข้าไปตามทางเล็กๆ นั้นประมาณ 200 เมตร สังเกตป้ายร้านด้านซ้ายมือค่ะ



ร้าน “บ้านกระทะเหล็ก” เป็นอาคารโปร่งๆ สร้างง่ายๆ แต่เก๋ไก๋ ตั้งอยู่ด้านหลังบ้านของคุณเชฟเจ้าของร้านเอง เรียกได้ว่าอินดี้มากๆ ค่ะ ตอนแรกที่เข้ามาตามเส้นทางนี้ ฉันเองก็นึกแปลกใจว่ามาถูกทางไหม เพราะไม่คิดว่าจะมีร้านอาหารตั้งอยู่ในหมู่บ้านชนบทห่างไกลแบบนี้ ความที่ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองนี่เอง ทำให้ร้านนี้มีบรรยากาศเงียบสงบ และเจริญอาหารมากๆ ไม่วุ่นวาย และมีเอกลักษณ์ดีค่ะ แค่บรรยากาศก็ถูกใจแล้ว คุณเชฟเจ้าของร้านเริ่มต้นร้านนี้เพราะความชอบทำอาหารค่ะ คล้ายๆ เป็นงานอดิเรกหลังเลิกงาน แต่คุณเชฟก็รักงานนี้มากจนอยากทำแทนงานประจำเลยทีเดียว




เมนูหลักๆ ของบ้านกระทะเหล็ก คืออาหารจานร้อนสไตล์ญี่ปุ่นแบบที่เรียกว่า “เทปปันยากิ” เสิร์ฟบนจานเหล็กร้อนๆ เช่น สเต็กเทปปันยากิ  (ไก่, หมู, ปลา, ทะเล) สปาเก็ตตี้หลากหลายสไตล์ บางครั้งอาจมีเมนูพิเศษมานำเสนอแล้วแต่โอกาสค่ะ ระหว่างรออาหารก็มีสลัดบาร์เล็กๆ พร้อมน้ำสลัดหลายแบบ บริการฟรีไม่คิดเงิน ใครใคร่ผักแบบไหน ชอบน้ำสลัดอย่างไรก็ตักรับประทานได้ ใครรักการกินผักที่นี่ก็น่าสนใจไม่น้อย แต่สลัดบาร์อาจไม่ละลานตา เพราะระยะทางค่อนข้างไกล และยังมีคนรู้จักน้อย จึงจัดไว้แต่พอดีไม่ให้เสียของ แต่ผักสดสะอาดมาก รับประกันคุณภาพได้เลยค่ะ




รอเพียงไม่นานอาหารที่สั่งก็มาวางยั่วน้ำลายอยู่ตรงหน้า สปาเก็ตตี้ซีฟู้ดผัดขี้เมา สเต็กหมูเทปปัน และ สเต็กปลาซาบะ แค่สามอย่างแต่ก็อิ่มอร่อยได้ สปาเก็ตตี้ซีฟู้ดถูกใจเลดี้ ดาริกามากเป็นพิเศษ รสชาติจัดจ้าน วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารก็คุณภาพดี กุ้งขนาดพอดีคำและสด ปริมาณอาหารสมราคา น่าประทับใจ ราคาอาหารอยู่ระหว่าง 65 – 95 บาท ไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับคุณภาพอาหาร และความอร่อย


ร้านบ้านกระทะเหล็กเปิดทุกวันค่ะ วันจันทร์ – ศุกร์ เปิดช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 17:30 – 22:00 น วันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เปิดตั้งแต่ 11:00 – 22:00 น แนะนำให้โทรไปสอบถามทางร้านก่อนว่าเปิดหรือไม่ เพราะเดินทางค่อนข้างไกล ถ้าไปแล้วร้านปิด เสียดายแย่เลยค่ะ โทร. 088 – 2676436, 084 – 6119655

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :onio:
127  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / “Fern Forest Café” ชิมเค้กละเลียดชา หลบร้อนในป่าเฟิร์นกลางเวียง เมื่อ: มีนาคม 09, 2014, 03:50:51 PM
“Fern Forest Café” ชิมเค้กละเลียดชา หลบร้อนในป่าเฟิร์นกลางเวียง

ร้อน ร้อน ร้อน ร้อน ร้อน...เชียงใหม่เมื่อหน้าหนาวที่ผ่านมาก็เย็นกว่าทุกปีจนน่าแปลกใจ พอเข้าสู่หน้าร้อนก็ร้อนมากทั้งๆ ที่ยังเป็นแค่ต้นฤดูร้อนเท่านั้น ร้อนๆ แบบนี้ทำให้อาการขี้เกียจของหลายคนกำเริบ รวมทั้งฉันด้วย ไม่อยากออกไปไหนให้ผิวไหม้ และเสียอารมณ์ เลดี้ ดาริกาเลยอยากพาเพื่อนๆ  ไปหาที่หลบร้อนกันสักหน่อย อยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ใกล้แค่เอื้อม “Fern Forest Café” ร้านกาแฟบรรยากาศป่าเขตร้อนชื้น จิบกาแฟท่ามกลางต้นไม้เขียว เย็นสบายแม้ในยามที่แดดร้อนจัดจ้า



“Fern Forest Caf锠 ถนนสิงหราช ซอย 4 (ถนนหน้าวัดพระสิงห์) ถ้าขับรถมาจากหน้าวัดพระสิงห์ให้เลี้ยวขวามาตามถนนสิงหราช มุ่งหน้าไปทางถนนศรีภูมิ เข้าซอยไปประมาณ 40 เมตร บรรยากาศร่มครึ้ม เต็มไปด้วยแมกไม้ กำแพงอิฐมีต้นเฟิร์น และตีนตุกแกขึ้นเกาะเกี่ยวเขียวครึ้ม ให้บรรยากาศร่มรื่นและสดชื่น ไม่ผิดหรอกค่ะ...คุณเดินทางมาถึงร้านแล้ว Fern Forest Café ไม่ใช่ร้านกาแฟน้องใหม่ แต่เปิดให้บริการมากว่า 10 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2003) ปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 11 เรียกได้ว่าเป็นร้านกาแฟรุ่นพี่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มานานพอสมควร




เดินเข้ามาภายในบริเวณร้าน อาคารร่วมสมัยสไตล์ตะวันตกผสมกลิ่นอายพื้นถิ่นปรากฏเด่นอยู่ตรงหน้า ที่ใต้ถุนบ้านมีตู้ขนมเค้กหลากชนิดเรียงรายรอให้คุณเลือกเฟ้นและลิ้มลอง ขนมเค้กเหล่านี้เป็นขนมเค้กทำเอง “Homemade” ที่ครีเอทขึ้นด้วยส่วนผสมหลากหลาย มีลักษณะเฉพาะหาทานที่อื่นไม่ได้แล้ว ยืนเมียงมองอยู่หน้าตู้เค้กสักพัก เลดี้ ดาริกาตัดสินใจเลือกชีสเค้กรสส้ม และเค้กมะพร้าว กินคู่กับชาเขียวเย็น และที่ขาดไม่ได้สำหรับร้านกาแฟทุกๆ แห่งที่ไปเยือน “ลาเต้เย็น” ค่ะ :)



นอกจากขนมเค้กที่เรียงรายอยู่ในตู้แล้ว ในเมนูก็ยังมีเค้กและขนมอื่นๆ ให้เลือกอีกหลายชนิดทีเดียว หรือใครอยากทานอาหารคาวเบาๆ ให้พออยู่ท้อง อย่าง แซนวิช สลัด ไส้กรอกเยอรมัน ที่นี้ก็มีให้บริการด้วยเช่นกัน เมนูเครื่องดื่มนอกจากกาแฟ และชาแล้ว ก็ยังมีน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มเบาๆ อย่าง โซดาดริ๊งค์ เหมาะเป็นเครื่องดื่มดับกระหายคลายร้อนยามบ่ายมากๆ




เลือกเมนูถูกใจได้แล้ว คราวนี้ก็มาเลือกที่นั่งสบายๆ ใต้ร่มไม้ใหญ่น้อยกันค่ะ ร้านนี้ถูกตกแต่งด้วยบรรยากาศแบบป่าเฟิร์นเขตร้อน มีต้นไม้จำพวกเฟิร์น และต้นดาหราใบหนาคอยให้ร่มเงา ฟังเสียงนกร้อง และเสียงน้ำไหล ผ่อนคลายไปกับบรรยากาศสบายๆ ในป่ากลางเมือง เหมาะที่จะเป็นที่พักผ่อนระหว่างวัน ใช้เวลาว่างในวันหยุดนั่งอ่านหนังสือ ทำงาน พูดคุยพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ




ไม่นานเมนูเค้กที่สั่งก็มาวางอยู่ตรงหน้า เค้กมะพร้าวเป็นของโปรดอยู่แล้ว เนื้อเค้กหนานุ่มชิ้นใหญ่ ครีมเยอะ อร่อยมากๆ ส่วนชีสเค้กรสส้มขอบอกเลยว่าหลงรักมากๆ ค่ะ เนื้อครีมรสส้มสัมผัสนุ่ม รองด้วยช็อกโกแล็ตรสเข้ม ตักกินเป็นคำพร้อมกัน ได้รสชาติกลมกล่อมละมุม มีรสเปรี้ยวนิดๆ อร่อยไม่เบาทีเดียว เมนูยอดนิยมของร้านนี้คือ “พายมะพร้าว” ค่ะ แต่เสียดายที่เลดี้ ดาริกาพลาดชิม ใครแวะเวียนมาชิม อย่าลืมเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ จะกลับไปแก้ตัวคราวหน้าแน่ๆ


ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่นี้กลางๆ ไม่แพงจนเกินไป ขนมเค้กราคาระหว่าง 70 – 90 บาท เครื่องดื่มมีหลากหลายราคาให้เลือกตั้งแต่ 55 – 80 บาท ร้านกาแฟในสวน Fern Forest Café เปิดให้บริการทุกวัน 8:30 – 20:30 น โทร.053 416204, 081 472 5347

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :64caf316:
128  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เยือน “วัดหนองสี่แจ่ง” ชมความงามของวัดในชนบท เมื่อ: มีนาคม 09, 2014, 02:22:36 AM
เยือน “วัดหนองสี่แจ่ง” ชมความงามของวัดในชนบท

เรื่องราวของวัดวาอารามในเขตชนบทแถบอำเภอสารภียังไม่จบ วันนี้เลดี้ ดาริกาขอพาเพื่อนๆ ย้อนกลับไปตามเส้นทางถนนสุดคลาสสิกที่มีต้นยางสูงใหญ่เป็นพระเอก ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน (สายเก่า) กันอีกครั้งค่ะ คราวนี้เราไปไกลกว่าเดิม (ไกลกว่าวัดพระนอนป่าเก็ดถี่) นิดเดียว ปลายทางของเราอยู่ที่ “วัดหนองสี่แจ่ง” ค่ะ


ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด

วัดหนองสี่แจ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองสี่แจ่ง ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตหมู่บ้านชนบทเล็กๆ เงียบสงบ ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไม่มากนัก พระอารามเล็กๆ ในหมู่บ้านชนบทแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๘  มีอายุประมาณ ๑๖๐ ปี ราวสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่ามีอายุไม่มากนักเมื่อเทียบกับพระอารามเก่าแก่แห่งอื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เรื่องราวของชุมชนหนองสี่แจ่งนั้นเก่าแก่กว่ามากทีเดียว


หมู่บ้านแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ย้อนกลับไปได้กว่า ๗๐๐ ปี เก่าแก่พอๆ กับเมืองเชียงใหม่เลยทีเดียว ตามประวัติเล่าว่าท้าวไชย หรือพระยาไชย เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้น ว่ากันว่าในสมัยโบราณมีหนองน้ำอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด กว้างและยาว ๓๐ ตารางวา เสมอกันหมดหมดทุกทิศ  เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านเป็นที่ลุ่ม ในฤดูฝนน้ำบ่าไหลเข้ามาสมทบ ทำให้น้ำท่วมบ้านและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านเสียหาย ครูบาอุต ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองสี่แจ่งในสมัยนั้น พร้อมด้วยผู้ศรัทธาได้ช่วยกันขุดลอกหนองน้ำ และสร้างทางระบายน้ำ

พระวิหารวัดหนองสี่แจ่ง

ดินที่ได้จากการขุดลอกหนองน้ำนำมาปั้นอิฐสร้างวิหารวัดหนองสี่แจ่ง ชื่อ “วัดหนองสี่แจ่ง” จึงได้มาจากหนองน้ำแห่งนั้น คำว่า “แจ่ง” ในภาษาเหนือ แปลว่า มุม

ภาพจิตรกรรมเหนือกรอบประตูทางเข้าพระวิหาร

บริเวณวัดหนองสี่แจ่งค่อนข้างกว้างขวาง และร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ที่ปลูกไว้อย่างมีระเบียบ สภาพภายในวัดสะอาดเรียบร้อยมาก พระวิหารขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งเป็นจุดเด่นอยู่กลางลานวัด ประดับตกแต่งอ่อนช้อยสวยงาม ดูใหม่ โอ่อ่า และสวยงามมาก บันไดทางขึ้นพระวิหารขนาบด้วยนาคสองตัวน่าเกรงขาม หน้าบันพื้นสีเขียวเลื่อมพราย ประดับด้วยลวดลายพรรณพฤกษาตามแบบวิหารล้านนาสมัยหลัง เหนือกรอบประตูเป็นภาพจิตรกรรมเรื่องราวพุทธประวัติ

หอไตรที่นี่ก็สวยงามมาก



ปูนปั้นนูนสูงรูปเทวดานางฟ้าประดับหอไตร


หอไตรวัดหนองสี่แจ่ง เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาสร้างใหม่ที่จัดได้ว่าสวยงามอีกแห่งหนึ่ง ลักษณะเป็นหอไตรสองชั้น หลังคาซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น ชั้นหนึ่งประดับลายปูนปั้นนูนต่ำสูงรูปเทวดาและนางฟ้าสวยงาม ชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ลงรักปิดทองสวยงามไม่แพ้กัน

พระเจดีย์วัดหนองสี่แจ่ง

ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป

ด้านหลังพระวิหารมีพระเจดีย์ประธานของวัดตั้งอยู่ เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ฐานสีเหลี่ยม องค์เจดีย์ย่อเก็จ มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวกลมซ้อนกันสามชั้น รองรับองค์ระฆัง ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรสีทองสวยงาม

พระอุโบสถ

พระอุโบสถของวัดมีลักษณะคล้ายพระวิหาร แต่หลังเล็กกว่า สถาปัตยกรรมแบบล้านนา บันไดมีนาคสองัวขนาบข้างอยู่ หน้าบันลวดลายวิจิตรงดงามมาก เหนือกรอบบานประตูพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังสีเข้มแต่ทว่าสวยงามเป็นเรื่องราวในป่าหิมพานต์ และสัตว์ในตำนานพระพุทธศาสนา

เหนือกรอบประตูพระอุโบสถ เขียนภาพจิตกรรมเรื่องป่าหิมพานต์

เสียดายที่อาคารหลายๆ แห่งภายในวัดปิดไว้ จึงไม่สามารถเข้าชมภายในได้ อาจเป็นเพราะว่าพระอารามแห่งนี้เป็นเพียงวัดประจำหมู่บ้าน ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวก็ได้ แต่ถึงแม้เราจะไม่ได้ชมข้างใน แต่ก็นับว่าโชคดีที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจมากก่อน

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
129  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / นมัสการพระอัฐิธาตุสุดยอดเกจิทั่วฟ้าเมืองไทยที่ “วัดสันติธรรม” เมื่อ: มีนาคม 08, 2014, 10:59:19 PM
นมัสการพระอัฐิธาตุสุดยอดเกจิทั่วฟ้าเมืองไทยที่ “วัดสันติธรรม”

วัดสันติธรรม ตั้งอยู่บนถนนหัสดีเสรี ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อ “วัดสันติธรรม นครเชียงใหม่” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ โดย “ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์” หรือรู้จักกันดีว่า “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร” สร้างขึ้นบนพื้นที่วัดเก่าแห่งหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ วัดนี้ได้รับอนุญาตให้เป็นวัดอย่างเป็นทางการ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น  “วัดสันติธรรม” จนถึงปัจจุบัน


บริเวณวัดร่มรื่น วัดมีอายุไม่มากนัก ปูชนียสถานต่างๆ สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จึงมีสภาพใหม่ ไฮไลท์ของวัดนี้คือพิพิธภัณฑ์พระธาตุบูรพาจารย์ เป็นอาคารปูน ๒ ชั้น สถาปัตยกรรมแบบชาวไทใหญ่ร่วมสมัย หลังคาซ้อนกัน ๔ ชั้น บริเวณจั่วมีพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระสังฆราชฯ ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจาก ๕ ประเทศ พระอรหันตธาตุ และอัฐิธาตุพระอริยสงฆ์ทั่วประเทศไทย หลายๆ คนอาจจะไม่เข้าใจว่าธาตุต่างๆ เหล่านี้คืออะไร

อาคารพิพิธภัณฑ์พระธาตุบูรพาจารย์

พระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า



พระบรมสารีริกธาตุ คือ ส่วนต่างๆ ของร่างกายพระพุทธเจ้า ทั้งกระดูก ผม เล็บ ฟัน ฯลฯ พระองค์ได้อธิษฐานไว้ก่อนปรินิพพาน ให้คงเหลือไว้หลังจากการถวายพระเพลิง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธบริษัท มีลักษณะแตกต่างจากคนทั่วไป ถ้าไม่สังเกตดีๆ จะดูคล้ายกับก้อนกรวดหรือเม็ดแก้วใสๆ ส่วนพระอรหันธาตุ และพระอัฐิธาตุพระอริยสงฆ์ จะเรียกว่าพระธาตุ มีลักษณะเช่นเดียวกับพระบรมสารีริกธาตุ ชาวพุทธเชื่อกันว่าพระอรหันต์หรือพระสงฆ์ที่บำเพ็ญเพียรจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ และเมื่อละสังขาร กระดูกที่เหลือจากการชาปนกิจจะกลายเป็นพระธาตุ





เราลองไปสำรวจชั้นบนของพิพิธภัณฑ์กันบ้างนะคะ ประตูทางเข้าเป็นลายรดน้ำรูปเทวดา ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุอยู่บนธรรมมาสศิลปะล้านนา รอบๆ เป็นตู้กระจกที่เก็บพระธาตุของพระอริยสงฆ์ทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เช่น พระธาตุหลวงปู่สิม เจ้าอาวาสผู้ก่อตั้งวัด พระธาตุหลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เป็นต้น ส่วนชั้นล่างเป็นห้องจัดเก็บหนังสือธรรมะสำหรับพระภิกษุ สามเณร รวมไปถึงประชาชนทั่วไป

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยหลวงปู่สิม ท่านสร้างตามกำลังทรัพย์ที่มี ไม่เคยเรี่ยไร หรือสร้างเครื่องรางของขลังเพื่อหาทุนทรัพย์ ถ้าหมดทุนก็หยุดสร้าง จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ รวมใช้เวลาสร้างถึง ๑๘ ปี พระอุโบสถมีขนาดความกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูง ๓๐ เมตร หลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูปพรรณพฤกษาสีทองบนพื้นสีฟ้า หน้าบันด้านหลังเป็นลายปูนปั้นพุทธประวัติ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

สันติเจดีย์ ถอดแบบมาจากเจดีย์เหลียมเวียงกุมกาม

สันติเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นเจดีย์เหลี่ยมศิลปะละโว้ถอดแบบมาจากพระเจดีย์ของวัดเจดีย์เหลี่ยม ฐานล่างสุดเข้าไปด้านในได้ องค์เจดีย์เป็นเรือนธาตุลดหลั่นกันลงไป ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางยืนด้านละ ๓ ซุ้ม รวมทั้งสิ้น ๖๐ ซุ้ม ชั้นที่๑ ประดิษฐานพระปางห้ามพระสมุทร ชั้นที่ ๒ ประดิษฐานพระปางอุ้มบาตร ชั้นที่ ๓ ประดิษฐานพระปางห้ามญาติ ชั้นที่๔ ประดิษฐานพระปางรำพึง และชั้นที่ ๕ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน แต่ละมุมมีเจดีย์บริวารประจำอยู่ ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง นอกจากนั้นเจดีย์ชั้นที่ ๒ ยังถูกใช้เป็นแท็งก์เก็บน้ำด้วยนะคะ นับว่าเป็นแนวคิดที่แปลกไม่เหมือนใครจริงๆ

การมากราบไหว้พระธาตุบูรพาจารย์ นอกจากเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเองแล้วนั้น ยังให้ข้อคิดคติเตือนใจว่า แม้ว่าเราจะตายจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ถ้าตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ทำแต่คุณงามความดี มันจะคงอยู่ตลอดไปมิเสื่อมคลาย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :5569fb93:
130  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดท้าวคำวัง” ความงดงามบนความเรียบง่าย เมื่อ: มีนาคม 08, 2014, 12:30:54 PM
“วัดท้าวคำวัง” ความงดงามบนความเรียบง่าย

สิ่งที่เรียกว่า “งาม” นั้น ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่อลังการเสมอไป ความเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์ก็จัดได้ว่าเป็นความงดงามอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะวัดหลวงใหญ่โตโอ่อ่า หรือวัดราษฎร์เล็กๆ ท่ามกลางความเงียบสงบของชนบทห่างไกลก็ล้วนแล้วแต่ “งดงาม” ตามแบบฉบับตนทั้งสิ้น ในชุมชนท้าวคำวัง อำเภอหางดง มีพระอารามเล็กๆ แห่งหนึ่งที่เลดี้ ดาริกาอยากจะแนะนำให้รู้จัก แม้จะเล็กและเรียบง่าย แต่ก็แจ๋วไม่หยอกทีเดียว


วัดท้าวคำวัง ตั้งอยู่ในชุมชนท้าวคำวัง ตำบลหางดง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอารามเล็กๆ ที่รายล้อมด้วยท้องทุ่ง และเงียบสงบ จากประวัติของวัดสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๓๐ อายุเก่าแก่กว่า ๕๐๐ ปีเลยทีเดียว เชื่อกันว่า “ท้าวคำวัง” ขุนนางในสมัยนั้นเป็นผู้สร้าง มีตำนานกล่าวไว้ว่า มีท้าวสามคน คือ ท้าวคำวัง ท้าวบุญเรือง และท้าวผายู มาตั้งหมู่บ้านอยู่ในเขตชนบทย่านนี้ และตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของตน “วัดท้าวคำวัง” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวหมู่บ้านท้าวคำวังในอดีต

วิหารวัดท้าวคำวัง สถาปัตยกรรมท้องถิ่น เรียบง่าย แต่สวยงาม

หน้าบันวิหารและการประดับลวดลายต่างๆ


วัดนี้เป็นเพียงวัดเล็ก มีพื้นที่ไม่มากนัก บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างเปิดโล่ง พอมีต้นไม้ให้ร่มรื่นบ้าง พระวิหารทรงล้านนาโบราณคือจุดเด่นของวัด ลักษณะทางสถาปัตยกรรมดูเก่าแก่มาก ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งทำจากไม้ประดับด้วยกระจกอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ หลังคาซ้อนกันสามชั้น ด้านหน้าเป็นบันไดเรียบๆ มีสิงห์สองตัวเฝ้าเป็นทวารบาลอยู่ หน้าบันประดับลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและดอกบัว ประดับด้วยกระจกสีน้ำเงิน หัวเสาก็เป็นกระจกสีโทนเขียวฟ้าตัดเป็นรูปกลีบบัว ช่องลมด้านหน้าเป็นงานแกะสลักไม้รูปมกรคายนาค ประตูทางเข้าเป็นบานไม้ธรรมดา ดูเรียบง่าย ด้านข้างทางทิศเหนือมีมุขเล็กที่เป็นทางเข้าอีกทางหนึ่ง โดยรวมแล้วคล้ายพระวิหารเก่าของวัดหางดง แต่มีขนาดเล็กกว่า และแตกต่างกันในรายละเอียด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน

พระเจดีย์วัดท้าวคำวัง

พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร เจดีย์ทรงปราสาทศิลปะล้านนาผสมกับปะพม่า ฐานด้านล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จสามชั้นรับกับฐานยกสูง แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ประดับด้วยกระสกสี ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทองเจ็ดชั้น

พระอุโบสถสร้างใหม่ สถาปัตยกรรมล้านนา


พระพุทธชยันตีศรีล้านนา

ผนังด้านในพระอุโบสถเรียงรายไปด้วยพระพุทธรูป


พระอุโบสถ เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องในโอกาสมหามงคลครบรอบพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี สถาปัตยกรรมล้านนา ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปมกรคายนาค หลังคาซ้อนกันสามชั้น หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้สัญลักษณ์พระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก และลายเครือเถาวัลย์ ประตูเป็นลายรดน้ำรูปเทวดา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นผู้ประธานชื่อให้ว่า "พระพุทธชยันตีศรีล้านนา" หล่อสำริดขนาดหน้าตัก ๓๘ นิ้ว ผนังโบสถ์เป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็กหลายร้อยองค์


วัดนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดหางดงนัก เดินทางจากสี่แยกห้างเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอต ให้มุ่งลงใต้โดยใช้เส้นทางเชียงใหม่-หางดง ขับรถไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะพบกับสถานีน้ำมัน ปตท. ขับเลยไปประมาณ ๑๐๐ เมตร กลับรถตรง u-turn ย้อนกลับขึ้นเหนือประมาณ ๑๐๐ เมตร สังเกตทางซ้ายมือจะมีทางแยก และมีป้ายวัดท้าวคำวังบอกอยู่ ไปตามเส้นทางนั้นประมาณ ๑ กิโลเมตร

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริก  904
131  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เที่ยว “วัดหางดง” ชมพระวิหารเก่างดงามตามแบบฉบับล้านนาแต้ๆ เมื่อ: มีนาคม 08, 2014, 11:09:47 AM
เที่ยว “วัดหางดง” ชมพระวิหารเก่างดงามตามแบบฉบับล้านนาแต้ๆ

เลดี้ ดาริกาเคยพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับวิหารไม้ วัดต้นเกว๋น วิหารไม้ที่งดงามบริสุทธิ์ตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนากันมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่ามีใครติดใจ และเริ่มหลงรักสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นล้านนาจากบทความนั้นหรือไม่ แต่สำหรับฉัน สถาปัตยกรรมแบบล้านนาสมัยเก่าแท้ๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง หรือแต่งแต้มจนฉูดฉาดเกินงาม สื่อถึงจิตวิญญาณแบบล้านนาที่มาพร้อมกับความเรียบง่าย ครั้งนี้ได้โอกาสดี ขอพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมวิหารเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งนอกเมืองเชียงใหม่ที่มีเสน่ห์สะดุดตาสะดุดใจไม่แพ้กัน “วิหารวัดหางดง”


วัดหางดง ตั้งอยู่ที่ตำบลหางดง อำเภอหางดง การเดินทางมาไม่ยากเย็นอะไรนัก จากสี่แยกห้างเซ็นทรัล เชียงใหม่แอร์พอต ขับรถมุ่งลงใต้ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-หางดง ตรงไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตรก็เข้าสู่ตัวอำเภอหางดง สังเกตทางแยกด้านขวามือ อยู่ติดกับตลาดสดเทศบาลอำเภอหางดง เลี้ยวเข้าไปตามเส้นทางนั้นประมาณ ๒๐๐ เมตร เลี้ยวขวาอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็ถึงแล้วค่ะ วัดหางดงอยู่ทางซ้ายมือ 


เดิมพระอารามแห่งนี้ชื่อว่า “วัดสันดอนแก้ว” สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๒๗ ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนารุ่งเรืองมาก มีการสร้าง และบูรณะวัดวาอารามหลายแห่ง กระทั่งพม่าเข้ามาปกครองล้านนา วัดหลายแห่งถูกทำลาย บางแห่งก็ถูกทิ้งให้รกร้าง แต่วัดสันดอกแก้วยังคงอยู่ เพราะมีผู้นำชุมชนคอยบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เสมอ วัดนี้จึงเป็นศูนย์กลางชุมชน ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้สักว่า “วัดบ้านดง” ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ แขวงแม่ท่าช้างได้ยกฐานะเป็นอำเภอหางดง “วัดบ้านดง” จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหางดง” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่ออำเภอมาจนถึงปัจจุบัน


วิหารวัดหางดงสวยสดงดงามตามแบบล้านนา

หน้าบันสวยงามมาก

เดินทางมาถึงวัด มองผ่านประตูเข้าไปภายใน วิหารสีแดงเปลือกมังคุดตั้งเด่นเป็นสง่าประทับใจผู้มาเยือนเมื่อแรกเห็น สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณบริสุทธิ์ งดงามสมส่วน เพิ่งได้รับการบูรณะไปเมื่อไม่นานมานี้ วิหารจึงยังมีสภาพสมบูรณ์ และคงรูปแบบดั้งเดิมไว้อย่างดี ด้านหน้าพระวิหารมีสิงห์ปูนปั้นสองตัวประดับไว้ ตัวอาคารกว้าง ๗.๙๐ เมตร ยาว ๒๕ เมตร หลังคาลดหลั่นซ้อนกันสามชั้น ช่อฟ้า และนาคสะดุ้งทำจากไม้ประดับด้วยกระจกสีสันต่างๆ ยิ่งสวยงามมากขึ้นเมื่อสะท้อนแสงแดด หน้าบันแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายกับฝาปะกน (ฝาบ้านเรือนไทยภาคกลาง) เรียกหน้าบันลักษณะนี้ว่า “ม้าต่างไหม” เป็นเอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ประดับด้วยลายปูนปั้นรูปเทพพนม ลายพรรณพฤกษา และแก้วขนาดใหญ่สีต่างๆ บันไดขนาบข้างด้วยมกรคายนาค ทางเข้าพระวิมีสองทาง คือด้านหน้า และด้านข้างทางทิศใต้เป็นมุขเล็กๆ สำหรับพระสงฆ์เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ลายปูนปั้นประดับงานสถาปัตยกรรม ละเอียดอ่อนช้อยมาก

ลักษณะอาคาร

มุขทางเข้าด้านข้างสำหรับพระสงฆ์

ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยปิดทองทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๗ นิ้ว สูง ๙๙ นิ้ว ด้านหลังพระประธานมีลายปูนปั้นปิดทองสวยงาม ฝาผนังมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องรามเกียรติ์ เสาประดับลายปูนปั้นไม่ซ้ำแบบกัน

พระอุโบสถสถาปัตยกรรมล้านนา สร้างใหม่

พระอุโบสถ อยู่ด้านข้างพระวิหารทางทิศเหนือ สถาปัตยกรรมล้านนา สร้างขึ้นใหม่ หลังคาลดหลั่นซ้อนกันสามชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ซุ้มทางเข้ามีลายปูนปั้นรูปช้างเอราวัณ ประตูลายรดน้ำรูปเทวดา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ส่วนฝาผนังเป็นจิตรกรรมพุทธประวัติ

กรอบประตูพระอุโบสถ

วัดหางดงถือเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นในยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในดินแดนล้านนา เป็นศูนย์กลางชุมชนมาตั้งแต่อดีต จนกลายมาเป็นวัดประจำอำเภอในปัจจุบัน อีกทั้งยังคงคุณค่าความงามทางพุทธศิลป์โบราณไว้อย่างสมบูรณ์

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :111:
132  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / ร้านอาหารอีสาน ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ เชียงใหม่ / แซ่บแบบต้นตำหรับกับ “ส้มตำโซลาว” เมื่อ: มีนาคม 07, 2014, 02:08:19 AM
แซ่บแบบต้นตำหรับกับ “ส้มตำโซลาว”

พูดถึงอาหารไทย หลายๆ คนคงนึกถึง “ส้มตำ” เป็นอย่างแรก ไม่ว่าเพื่อนๆ จะไปเที่ยวส่วนไหนของประเทศ ส้มตำคืออาหารชนิดแรกๆ ที่นึกเปรี้ยวปากอยากกิน อาหารชนิดนี้ไม่ใช่แค่อาหาร แต่สำหรับสังคมสมัยใหม่ ส้มตำคือการเข้าสังคม และความครึกครื้น ตามลักษณะนิสัยชาวอีสานผู้เป็นเจ้าตำหรับ ร้านขายส้มตำมีอยู่แทบทุกถนนหนแห่งไม่ต่างอะไรกับร้านสะดวกซื้อ แม้แต่นิมมานเหมินท์ ย่านเดินเล่นขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ที่ออกจะมีภาพลักษณ์ไฮไซโก้เก๋กระชากใจวัยรุ่น ก็ยังมีร้านส้มตำ วันนี้ขอแนะนำเพื่อนๆ ให้รู้จัก “โซลาว” ร้านที่ใครมานิมมานมักไม่พลาด


แม้จะได้ชื่อว่าย่านนิมมานเหมินท์ แต่ “โซลาว” กลับตั้งอยู่บนถนนศิริมังคลาจารย์ ถนนคู่ขนาดกับถนนนิมมานเหมินทร์ ตรงเข้าไปในนิมมานฯ ซอย ๗ ร้านอยู่สุดซอยติดถนน ถ้าหาร้านไม่เจอก็มองหาป้ายส้มตำโซลาวสีส้มแสดสะใจ โดดเด่นเห็นแต่ไกล รับรองว่าไม่หลง



บรรยากาศภายในร้านเน้นเรียบง่าย ค่อนข้างสะอาด มีโต๊ะให้นั่งประมาณ ๔๐ โต๊ะ มีให้เลือกหลายแบบทั้งในตัวร้าน ที่เป็นอาคารไม้ให้อารมณ์ย้อนยุคนิดๆ หรือใครชอบนั่งโล่งๆ โปร่งสบาย แนะนำหลังร้านค่ะ ที่นี่ไม่มีแอร์ แต่ก็ไม่ได้ร้อนมาก ใครขี้ร้อนหน่อยก็หาที่นั่งตรงที่มีพัดลม เมนูมีให้เลือกกว่า ๗๐ อย่าง!! แค่ตระกูลตำทั้งหลายก็มีเกือบ ๓๐ อย่างแล้วค่ะ อย่างอื่นก็มีให้เลือกกันแบบจุใจ ทั้งยำ ทอด ต้ม จานเด็ดของร้านนี้ก็คือส้มตำโซลาว และปีกไก่ทอดน้ำปลา อร่อยใช้ได้เลยค่ะ ปีกไก่ทอดน้ำปลาทานบ่อยแล้ว ครั้งนี้เลยลองอะไรธรรมดาๆ บ้าง แต่ส้มตำโซลาวยังต้องมีค่ะ



สิ่งหนึ่งที่ต้องขอชื่นชมก่อนเลยก็คือการบริการรวดเร็วมาก นั่งประมาณสิบนาทีจานแรกก็มาแล้ว ทั้งๆ ที่ลูกค้าเต็มร้านเลย ไปมากี่ครั้งก็เป็นแบบนี้ มาดูที่จานแรกกันค่ะ ส้มตำปูสุดคลาสสิก ตอนสั่งไม่ได้บอกว่าเอาเผ็ดมากน้อยแค่ไหน ที่เขาทำมาก็รสชาติกำลังดี แต่ถ้าใครทานเผ็ดเป็นกิจวัตรอาจจะต้องกำชับหน่อยนะคะว่าขอเผ็ดๆ หน่อย จานต่อมายังคงเป็นส้มตำ “ส้มตำโซลาว” ซิกเนเจอร์ของร้าน เขาจะใส่หมูยอกับแคปหมูมาด้วย รสชาติถูกปากใช้ได้ (แล้วแต่ความชอบนะคะ)

ยำไข่เยี่ยวม้าแสนอร่อย


ส้มตำโซลาว ซิกเนเจอร์ของร้าน

หมูแดดเดียว Love Love :)

ยำไข่เยี่ยวม้า จานนี้รสชาติเปรี้ยวนำ เผ็ดกำลังดี ใครชอบทานเปรี้ยวๆ น่าจะถูกใจ และจานสุดท้ายคือหมูแดดเดียว ขอบอกว่าอร่อยมาก โดนใจสุดๆ ไม่เหนียวและแข็งจนเกินไป ยิ่งจิ้มกับซอสพริกด้วยแล้วล่ะก็ จะช่วยทวีความอร่อยเข้าไปอีก


หลังจากอิ่มหนำสำราญกันแล้ว ก็จ่ายเงินค่ะ อาหารสี่จาน ข้าวเหนียวสองกระติบ น้ำแข็งหนึ่งถัง โค้กกับน้ำเปล่าอย่างละหนึ่งขวด ทั้งหมดประมาณ 250 บาท ทานกันสองคนราคาถือว่ากลางๆ ค่ะ เพื่อนๆ อย่าลืมมาพิสูจน์ความอร่อยกันด้วยนะคะ  ร้านเปิดทุกวัน เวลา 10:00 – 20:00 โทร. 053-212787

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916
133  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / ร้านอาหารเวียดนาม เชียงใหม่ / “ปัญญ์ชลี” ร้านอาหารเวียดนามสำหรับคนรักสุขภาพ เมื่อ: มีนาคม 05, 2014, 11:10:00 PM
“ปัญญ์ชลี” ร้านอาหารเวียดนามสำหรับคนรักสุขภาพ

เรื่องกินกับเรื่องเที่ยวเกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าการเดินทางไปที่ไหนสักแห่งคือการปลดปล่อยความขุ่นมัวในใจ และผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียดแล้ว การกินก็เป็นการผ่อนคลายอีกแบบที่ให้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกัน อาหารชาติไหนเป็นของโปรดของเพื่อนๆ คะ? สำหรับ เลดี้ ดาริกา อาหารทุกชาติคือของโปรดค่ะ การกินคือชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่ “อาหารเวียดนาม” คือหนึ่งในอาหารชั้นนำที่ฉันมักจะคิดถึงเสมอเมื่อมีมื้อพิเศษ วันนี้เลยอยากแนะนำร้านอาหารเวียดนามร้านโปรดให้เพื่อนๆ รู้จักค่ะ


“ปัญญ์ชลี” ร้านอาหารเวียดนามนี้แม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่รับรองเรื่องรสชาติ ยิ่งสำหรับใครที่ชอบกินผักแล้วล่ะก็น่าจะชอบที่นี่ค่ะ การเดินทางสะดวกมาก “ปัญญ์ชลี” ตั้งอยู่ในซอยนิมมานเหมินท์ ๑๕ จากปากซอยตรงเข้าไปจนสุดซอยก็จะเจอร้านค่ะ เป็นอาคารพาณิชย์ห้องแรก สังเกตได้จากไม้ระแนงที่กั้นร้านเอาไว้



เมนูอาหารเวียดนามที่นี่มีให้เลือกหลากหลาย และครบถ้วนตามประสาอาหารเวียดนาม แหนมเนืองแสนอร่อยตัดเป็นชิ้นพอดีห่อ แผ่นแป้งที่เราต้องแช่น้ำเองทำให้การกินอาหารสนุกขึ้น กุ้งพันอ้อย ไข่กระทะ ปอเปี๊ยะทอด ขนมเบื้องญวน หมูห่อใบชะพลู กะยอสดและกะยอทอด หมูยอแก้ว และอื่นๆ อีกมากมายหลายเมนู สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอาหารเวียดนามคือผักพื้นบ้านนานาชนิดจัดใส่ถ้วยสวยงามบริการพร้อมอาหาร นอกจากอาหารคาวสไตล์เวียดนามแล้ว ยังมีอาหารหวานนานาชนิด และน้ำสมุนไพรเย็นชื่นใจเอาไว้ดับกระหายด้วยนะคะ



เมนูสุดโปรดที่เลดี้ ดาริกาขอแนะนำคือ “บั่นหอย”  เนื้อหมูหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ไม่หน้าจนเกินไป นำไปผัดกับเครื่องเทศมีตะไคร้เป็นตัวชูโรง กินกับน้ำจิ้มรสชาติเค็มๆ เปรี้ยวๆ เผ็ด แกล้มกับเส้นหมี่ขาวลวกสุกกำลังพอดี กินคู่กับผักสดอร่อยไม่หยอกทีเดียว


ยำสไตล์เวียดนามนานาชนิดมีให้เลือกสรรหลากหลาย อาทิเช่น ยำหมูยอ มีไข่ต้มด้วยนะคะ ผักมาแบบเน้นๆ สดถูกใจคนรักสุขภาพ ใครมาคนเดียวไม่อยากสั่งอาหารมากกลัวทานไม่หมดก็มีเมนูจานเดียวเป็นทางเลือก ทั้งอาหารไทย และอาหารเวียดนาม จะลองเฝอเวียดนามดูก็ได้นะคะ


เรื่องราคาอาหารถือว่าเป็นมิตรมากค่ะ แต่ละเมนูราคาอยู่ระหว่าง ๕๐ – ๙๐ บาทเท่านั้นเอง ทุกครั้งที่ไปทานอาหารที่นี่จ่ายเงินไปไม่เคยเกิน ๓๐๐ บาทก็อิ่มแปล้แล้ว ที่นี่มีบริการ wifi ฟรี เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 09:00 – 21:00 น โทรไปสอบถามหรือจองโต๊ะได้ที่ 084-173-8372

หมดเกลี้ยง อิ่มแปล้ด้วยราคาเบาๆ :)

ไม่ว่าจะไปเป็นคู่ ฉายเดียว หรือว่าแก๊งเพื่อน แต่ถ้ากำลังมองหาอาหารเพื่อสุขภาพอยู่แล้วล่ะก็ ลองให้ร้านอาหารเวียดนาม “ปัญญ์ชลี” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :01:
134  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วิจิตรงานปูนปั้นประดับเจดีย์ ณ “วัดพันแหวน” สุนทรียภาพเล็กๆ กลางเวียง เมื่อ: มีนาคม 05, 2014, 05:21:44 PM
วิจิตรงานปูนปั้นประดับเจดีย์ ณ “วัดพันแหวน” สุนทรียภาพเล็กๆ กลางเวียง

เคยขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือเดินเล่นตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่กันไหมคะ ตั้งแต่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ออกตระเวนเที่ยวไปทั่วทุกหนแห่ง ตอนนี้คุ้นชินกับเมืองเชียงใหม่ จนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกต่อไปแล้ว ถนนท่าแพ นิมมานเหมินทร์ ห้วยแก้ว วัดวาอารามใหญ่โต ไนท์บาร์ซ่า และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อาจเป็นตัวเลือกแรกๆ ของนักท่องเที่ยวที่เพิ่งมาเชียงใหม่ครั้งแรก แต่สำหรับฉัน ฉันต้องการอะไรที่มากกว่าแหล่งท่องเที่ยว ชีวิตของเมืองเชียงใหม่...เราจะหามันได้จากที่ไหนโดยไม่ต้องออกไปไกลถึงชนบทนอกเมือง

แสงอาทิตย์อ่อนๆ ยามเย็นที่วัดพันแหวน

ตรอกซอกซอยกลางเวียงเชียงใหม่คือเมืองเชียงใหม่ที่มีชีวิต บ้านเรือนหลายหลังเรียงรายกันเป็นชุมชน มีชีวิตน่าค้นหา และมีหลายสิ่งหลายอย่างรอคอให้นักท่องเที่ยวสักคนเข้าไปค้นพบ ถนนเส้นเล็กๆ สายหนึ่งกลางเวียงเชียงใหม่พาฉันไปรู้จักกับวัดเล็กๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่น แต่เป็นศูนย์กลางของชุมชน  “วัดพันแหวน” และในพระอารามเล็กๆ แห่งนี้เองที่เลดี้ ดาริกาพบงานพุทธศิลป์ล้ำค่าหาชมยาก

เจดีย์ขาววัดพันแหวน ไฮไลท์ของพระอารามเล็กๆ แห่งนี้

ชุมชนเล็กๆ ใกล้กับประตูเชียงใหม่ ตำบลพระสิงห์ ย่านที่นักท่องเที่ยวบางตา เป็นที่ตั้งของวัดพันแหวน วัดที่ฉันอยากพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักวันนี้ พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๐ โดยขุนนางยศ “พัน” ชื่อว่า “แหวน” จึงเรียกชื่อวัดว่า “พันแหวน” ตามผู้สร้างวัด แม้ไม่ได้มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์อะไรมากมายนัก แต่ก็ถือว่าเป็นพระอารามที่เก่าแก่มากอีกแห่งหนึ่ง มีอายุกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว การตั้งชื่อวัดตามนามผู้สร้างนั้นถือเป็นธรรมเนียมนิยมในการสร้างวัดราษฎร์ของล้านนา ในเมืองเชียงใหม่เองก็มีวัดหลายแห่งที่ตั้งชื่อลักษณะนี้ เช่น วัดพันอ้น วัดพันตอง วัดพันตาเกิ๋น (วัดชัยศรีภูมิ) เป็นต้น ตำแหน่ง “พัน” เป็นตำแหน่งขุนนางระดับล่าง คุมนายร้อย ๑๐ คน และพลทหาร ๑๐๐ คนค่ะ

พระเจดีย์ตั้งอยู่หลังวิหารสัดส่วนงดงาม ลวดลายวิจิตรประณีต

ที่ฐานเจดีย์มีปูนปั้นช้างสามเศียรด้วย

ความงดงามของพระเจดีย์ขาววัดพันแหวน เป็นความประทับใจแรกของผู้มาเยือนแทบทุกคน พระเจดีย์องค์นี้มีสีขาวปลอดทั้งองค์ บางส่วนอาจกระดำกระด่างเพราะน้ำฝน และกาลเวลา แต่ก็มองได้ว่าเป็นความคลาสสิก ของสมบูรณ์แบบเกินไป ไม่งดงามเท่าของที่มีตำหนิอยู่บ้าง เพราะรอยตำหนิเหล่านั้นหมายถึงประสบการณ์ และเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นอันจะทำให้สิ่งต่างๆ นั้นมีคุณค่ามากขึ้นตามไปด้วย องค์พระเจดีย์ประดับด้วยลายปูนปั้นละเอียดวิจิตร และงดงามมาก

ส่วนยอดพระเจดีย์มีใบหน้าของพระอินทร์ (เลดี้ ดาริกาคาดเดาเองค่ะ)

องค์เจดีย์ประดับลายปูนปั้นสวยงาม

พระเจดีย์ขาววัดพันแหวน เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างเจดีย์ทรงระฆังอิทธิพลจากพม่า พัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะแบบท้องถิ่น ฐานเขียงสี่เหลี่ยมรองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ย่อเก็จ รองรับเรือนธาตุทรงแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง แต่ไม่เหลือรูปลักษณ์ขององค์ระฆังให้เห็น เนื่องจากแกะสลักเป็นใบหน้า อาจเป็นพระอินทร์ (หรืออาจเป็นพระพรหม) ไม่ทราบแน่ชัด แต่เลดี้ ดาริกาขอให้น้ำหนักไปทางพระอินทร์มากกว่า เพราะพระพรหมเป็นเทพเจ้าฮินดู ไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนประดับด้วยฉัตรสีทองบนปลายยอด

ลายปูนปั้นเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ


ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป

ความพิเศษของเจดีย์วัดพันแหวนคือลายปูนปั้นประดับองค์เจดีย์ที่มีลายละเอียดมาก ที่ฐานเป็นลายสัตว์ประจำปีนักษัตรทั้ง ๑๒ ฐานทั้งสี่มุมมีปูนปั้นช้างสามเศียร และเจดีย์บริวารขนาดเล็ก ลายปูนปั้นเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติ รูปเทวดา และลวดลายก้านขด คาดว่าอาจสร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุ ตามหลักจักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนา ที่เชื่อกันว่าเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล บริเวณยอดเขาคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ตั้งของนครไตรตรึงษ์ที่ประทับของพระอินทร์เทวราช องค์เจดีย์ด้านทิศตะวันออก (หันเข้าพระวิหาร) มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป

พระวิหารวัดพันแหวน สถาปัตยกรรมล้านนาเก่าแก่

หน้าบันพระวิหารแบบม้าต่างไหม ประดับลายก้านขดและกระจกสี


ด้านหน้าองค์เจดีย์คือพระวิหารเก่าแก่ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ทิศเหนือมีมุขยื่นออกไปคลุมบันไดนาคใช้เป็นทางเข้าออกของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระวิหารมีบันไดนาค หน้าบันแบบม้าต่างไหมเก่าแก่มาก บานประตูลายรดน้ำสีทองรูปเทวดา แม้จะเก่าแต่ก็สวยงามคลาสสิกตามแบบฉบับล้านนา ใครผ่านไปมาก็ประทับใจค่ะ



เห็นไหมคะว่า เมืองเชียงใหม่ไม่ได้มีเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ในตรอกซอยเล็กซอยน้อยทั่วทั้งเมืองนั้นมีวัดเล็กๆ ซ่อนอยู่ในเขตชุมชนอีกหลายแห่ง เปรียบไปก็เหมือนสมบัติงามล้ำค่าที่ยังบริสุทธิ์และไม่ถูกความเป็นเมืองทำลายให้เสียอรรถรส สรุปสั้นๆ ว่าเลดี้ ดาริกาประทับใจมาก และถ้ามีเวลาก็จะหาโอกาสไปตระเวนเมืองเก่าเชียงใหม่ เก็บสิ่งละอันพันละน้อยมาฝากเพื่อนๆ กันนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา   :5569fb93:
135  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / อลังการงานพุทธศิลป์ ณ วัดโขงขาว เมื่อ: มีนาคม 05, 2014, 12:12:29 AM
อลังการงานพุทธศิลป์ ณ วัดโขงขาว

หางดง เป็นอำเภอที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองเชียงใหม่มากนัก การเดินทางสะดวกสบาย ยังเข้าถึงง่ายกว่าอำเภอห่างไกลหลายๆ แห่ง ที่นี่มีสถานที่น่าสนใจหลายแห่งรอให้เราไปค้นพบ ชาวเชียงใหม่ หรือนักท่องเที่ยวที่เจนจัดเรื่องเมืองเชียงใหม่ดีแล้ว มองหาที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ไม่ไกลจากเมือง ลองอ่านบทความนี้กันดูค่ะ เพราะเลดี้ดาริกา จะพาเพื่อนๆ ไปตะลุยหางดงกันแล้ว วันนี้ขอนำเสนอเรื่อง “วัดโขงขาว”


วัดโขงขาว ตั้งอยู่ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง เดินทางจากกาดต้นพะยอม ใช้ถนนหมายเลข ๑๒๑ หรือถนนเลียบคลองชลประทาน ลงมาทางทิศใต้ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ไม่ไกลจากเมืองเชียงใหม่มากนัก เพื่อนๆ สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ง่ายๆ

ด้านหน้าวิหารวัดโขงขาว

ความเป็นมาของวัด ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย เสด็จมาสร้างพระธาตุดอยคำนั้น พระนางได้ทรงสร้างวัดโขงขาวขึ้นพร้อมๆ กันด้วย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และขยายพระราชอำนาจด้วยการศาสนาแทนการสู้รบ พระอารามแห่งนี้ได้รับการบูรณะจากเจ้าอาวาสทุกรูปต่อเนื่องมาไม่ขาดตั้งแต่นั้น ต่อมาหลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือ “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันบูรณะปูชนียสถานภายในวัดโขงขาวอีกครั้ง พร้อมสร้างถาวรวัตถุตามสมควร


ชื่อวัด “โขงขาว” ได้มาจากซุ้มโขงแบบล้านนาสีขาวด้านหลังพระประธานในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญสืบมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด แรกเห็นวัดแห่งนี้ ก็สัมผัสได้ถึงความโอ่อ่ายิ่งใหญ่ เนื่องจากมีแนวกำแพงศิลาแลงสวยงาม ภายในวัดค่อนข้างโปร่ง มีต้นไม้ให้ความร่มรื่นเป็นหย่อมๆ

ด้านหลังพระวิหาร


“พระวิหารพระราชพรหมยานไพศาลภาวนานุสิฐเยาวลักษณ์มิตรศรัทธา” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วิหารพระพุทธมหาจักรพรรดิ” เป็นปูชนียสถานสำคัญ และโดดเด่นที่สุดของวัด เนื่องจากมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่วิจิตรอ่อนช้อย ตั้งอยู่ใจกลางวัด พระวิหารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ สถาปัตยกรรมล้านนา ด้านหน้าอลังการด้วยลายปูนปั้นละเอียดประณีตมากๆ ประตูทางเข้าเป็นซุ้มโขง โดดเด่นด้วยปูนปั้นรูปนกยูงอันเป็นลักษณะเด่นของล้านนา

พระอุโบสถ

ระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถ


ภายในประดิษฐานสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมปางโปรดพญาชมพูบดี หรือปางทรงเครื่อง เป็นพระประธานภายในวิหาร เหนือขึ้นไปเป็นพระพุทธรูปลีลา ด้านข้างซ้ายขวาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และรูปหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ผู้บูรณะพระอารามแห่งนี้

พระพุทธรูปในระเบียงคด

ซุ้มประตูทิศตะวันออกของพระอุโบสถ

สักการะพระประธานภายในพระวิหารกันแล้ว ก็อย่าลืมเดินไปชมด้านหลังพระวิหารกันด้วย เพราะงดงามไม่แพ้ด้านหน้าเลยทีเดียว มีซุ้มโขงขนาดใหญ่ประดิษฐานท้าวโลกบาลทั้ง ๔ อยู่ด้านบนสุด ส่วนด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม สุเทพฤๅษี (ผู้สร้างเมืองหริภุญชัย) และพระนางจามเทวี


กู่คำด้านหลังพระอุโบสถ

เดินไปทางทิศตะวันออก จะพบอาคารสีแดงสดตั้งอยู่ด้านหลังต้นโพธิ์ นั่นคือ “ศาลาพระราชพรหมยานไพศาลภาวนานุสิฐ” (ชื่อแต่ละที่ยาวๆ ทั้งนั้น) หรือเรียกง่ายๆ ว่าระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถ เข้าไปด้านในจะพบกับ “กู่คำ” เชื่อมติดกับด้านหลังพระอุโบสถ ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ

ลวดลายผนังพระอุโบสถละเอียดประณีตมาก

พระอุโบสถหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๗.๕ เมตร หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา มีรูปนกยูงอยู่ตรงกลาง ผนังโดยรอบประดับลายปูนปั้นเครือเถา


วัดโขงขาวจึงเป็นวัดที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเยี่ยมชมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระวิหารที่อาจพูดได้ว่าสร้างจากความประณีตทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อนๆ ที่ใช้เส้นทางนี้ผ่านไปยังอำเภอหางดง ก็อย่าลืมแวะเข้าไปชมความสวยงามของวัดนี้ด้วยนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  908
136  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เยือน “วัดบ้านฟ่อน” ชื่นชมความงามระหว่างทาง เมื่อ: มีนาคม 04, 2014, 11:11:51 PM
เยือน “วัดบ้านฟ่อน” ชื่นชมความงามระหว่างทาง

เราออกเดินทางเพื่ออะไร? บางคนเดินทางเพื่อไปทำธุระ บางคนเดินทางเพื่อไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หลายคนทิ้งงานทิ้งการเพื่อออกเดินทางตามความฝันของตน ทุกคนย่อมมีเป้าหมายที่แตกต่างกันทั้งในแง่ของจุดหมายปลายทาง และจุดประสงค์ที่ออกเดินทาง หลายครั้งปลายทางของเราก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจใฝ่หา แต่อาจพบความงดงามบางอย่างระหว่างทางโดยไม่คาดคิด การออกเดินทางครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่เลดี้ ดาริกาค้นพบบางอย่างระหว่างทาง และอยากนำเสนอเพื่อนๆ ค่ะ


วัดวุฑฒิราษฎร์หรือ “วัดบ้านฟ่อน” ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข ๑๒๖๙ หางดง-สะเมิง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง เดิมชื่อว่า “วัดสันขวางบ้านฟ่อน” สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๓ โดยพระอธิการชัย อภิชโย แม้ว่าวัดนี้จะเป็นเพียงวัดเล็กๆ ระหว่างทางไปอำเภอสะเมิงเท่านั้น แต่ภายในวัดกลับมีอะไรที่น่าสนใจ และน่าค้นหา

พระอุโบสถวัดบ้านฟ่อน สีสันฉูดฉาดสะดุดตามากๆ

เพียงแค่แรกเห็นวัดนี้ ฉันก็บอกกับตัวเองว่าไม่แวะคงไม่ได้เสียแล้ว รีบเลี้ยวรถเข้าไปเยี่ยมชมภายในวัดกันดีกว่านะคะ บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างร้อน เพราะเป็นพื้นปูน และไม่ค่อยมีต้นไม้ สถานที่สำคัญสะดุดตาเมื่อแรกเห็นคือ พระอุโบสถหลังงามใหม่เอี่ยม ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น และกระจกสีสันต่างๆ

ปูนปั้นคนครึ่งนาคขนาบบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ


หน้าบันพระวิหารประดับตกแต่งวิจิตรงดงามมาก

ตัวอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสูงประมาณครึ่งเมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีป้ายเตือนชัดเจนว่า “สตรีห้ามเข้า” ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และธรรมเนียมปฏิบัติของภาคเหนือ ผู้หญิงก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปนะคะ แม้เราจะไม่ได้เข้าไปภายใน แต่เราก็สามารถบูชาพระด้วยใจได้ ว่ากันว่าที่ห้ามสตรีเข้าเขตพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์นั้น เพราะเชื่อกันว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือมีของมีอาคมฝังอยู่ ถ้าผู้หญิงเดินข้ามหรือเหยียบย่ำของอาคมเหล่านั้นอาจเสื่อม และอาจเป็นภัยต่อตัวผู้หญิงคนนั้น เห็นเหตุผลแบบนี้แล้วค่อยเบาใจว่ามีคนเป็นห่วง ฮ่าๆ

ลวดลายปูนปั้นเหนือบานประตู


ภาพจิตรกรรมด้านหน้าพระอุโบสถ


หน้าบันพระวิหารมีปูนปั้นเป็นซุ้มซ้อนกันขั้นไปหกชั้น ประดับลวดลายพรรณพฤกษา และหมู่เทวดานางฟ้ารำฟ้อน ละเอียดอ่อนช้อยงดงามมาก ใต้ชายคาเป็นปูนปั้นนูนต่ำ ๑๒ นักษัตร เสาทุกต้นประดับปูนปั้นบนพื้นกระจก ราวบันไดทั้งสองข้างขนาบด้ายคนครึ่งนาค ซุ้มประตูทางเข้าโดดเด่นด้วยลายพญานาค และพรรณพฤกษาบนพื้นกระจกสีต่างๆ บานประตูรูปเทวดาถือดาบแกะไม้ ผนังด้านหน้าวาดภาพจิตรกรรมเทวดาและยักษ์เอาไว้

พระวิหารวัดบ้าฟ่อน

กรอบประตูพระวิหาร

พระวิหาร ตั้งอยู่กลางวัด สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันมีลายปูนปั้นพรรณพฤกษาบนพื้นกระจกสีเขียว ซุ้มประตูรูปสามเหลี่ยม ด้านบนมีนกยูงสัญลักษณ์ของล้านนา บานประตูเป็นงานไม้รูปเทพพนม ผนังด้านหน้าเป็นจิตรกรรมรูปนางอัปสรโปรยดอกไม้


พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานยกสูงมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทองเจ็ดชั้น

ศาลาพระนอน


ชมความงามของอาคารสถานต่างๆ ภายในวัดกันจบอิ่มใจแล้ว ก็อย่าลืมไปกราบ “ครูบาดวงดี ยติโก” เพื่อขอพรและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ถือว่าอริยสงฆ์สำคัญรูปหนึ่งของล้านนาที่มีอายุพรรษามากที่สุด ในเดือนตุลาคมปีนี้ (๒๕๕๗) จะมีอายุครบ ๑๐๐ พรรษา ท่านเป็นทั้งพระนักพัฒนา และปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด คอยอบรมสั่งสอนพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้าน จึงเป็นที่เคารพของชาวเชียงใหม่ และประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  901
137  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / กราบพระนอนโบราณกลางทุ่งที่ “วัดพระนอนป่าเก็ดถี่” เมื่อ: มีนาคม 04, 2014, 09:40:45 PM
กราบพระนอนโบราณกลางทุ่งที่ “วัดพระนอนป่าเก็ดถี่”

เบื่อเมืองคิดถึงชนบทกันบ้างไหมคะ? เวลาผู้เขียนเครียดๆ อยากผ่อนคลายจิตใจให้แจ่มใส ก็มักเลือกที่วิ่งเข้าใส่ชนบท ไปหาทุ่งนากว้างๆ ทุ่งหญ้าเขียวๆ บ้านหลังน้อยๆ ที่หลบอยู่ตามสวนป่านาไร่ คลองส่งน้ำ หรือลำห้วยใสๆ ปล่อยเวลาปล่อยใจไปกับมันสักพัก เมื่อจิตใจเราถูกชุ่มโฉลมไปด้วยสีเขียว และเสียงนกร้องแล้ว ก็คงพร้อมและมีเรี่ยวแรงพอที่จะกลับมารับมือกับเรื่องปวดหัวทั้งหลายได้


วันนี้เลดี้ ดาริกาขอจัดความสงบเงียบมาให้เพื่อนๆ ที่นี่ เราจะออกไปชมวัดนอกเมืองกันค่ะ เป้าหมายของเราคือ “วัดพระนอนป่าเก็ดถี่” ในชนบทแถบอำเภอสารภี ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไม่ไกล แต่เส้นทางอาจจะซับซ้อนสักหน่อยนะคะ


เดินทางจากเชียงใหม่ไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูนสายเก่า เส้นที่มีต้นยางสูงใหญ่ขึ้นเรียงรายเป็นแนวสวยงาม เลยแยกหนองหอยไปประมาณ ๗ กิโลเมตร จนถึงสี่แยกในตัวอำเภอสารภี (สะพานเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ ๖๐ ปี) เลี้ยวขาวไปทางโรงเรียนสารภีพิทยาคม ขับตรงไปเรื่อยๆ จนถึงหน้าโรงเรียน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเส้นเล็กๆ ในหมู่บ้าน มีป้ายบอกทางไปวัดพระนอนป่าเก็ดถี่ชัดเจน ถนนจะพาเราผ่านหมู่บ้านในชนบทที่เงียบสงบ จนมาถึงแนวทุ่งนา วัดพระนอนป่าเก็ดถี่ก็จะปรากฏให้เราเห็นไกลๆ ตรงหน้า ใครชอบบรรยากาศแบบชนบทจะต้องชอบมากๆ ค่ะ


วัดพระนอนป่าเก็ดถี่ ตั้งอยู่ที่บ้านป่าเก็ดถี่ ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๐๙๘ มีอายุกว่า ๕๖๐ ปีแล้ว ถือว่าเป็นวัดในชนบทที่เก่าแก่มากทีเดียว ชื่อของวัดคำว่า “ป่าเก็ด” ในภาษาล้านนาแปลว่า “ป่าไม้พยุง” ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือป่าดังกล่าวให้เห็นอีกแล้ว เพราะกลายเป็นทุ่งนา และหมู่บ้านไปเสียหมด


วิหารพระนอน วัดพระนอนป่าเก็ดถี่


ประวัติการสร้างวัดไม่ทราบแน่ชัด มีตำนานอยู่สองเรื่องที่กล่าวถึงที่มาที่ไปของพระอารามแห่งนี้ เรื่องแรกมีอยู่ว่า พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย เสด็จประพาสป่าทางทิศเหนือของเมืองลำพูน กลางดึกนั้นพระนางมองเห็นแสงโชติช่วงพุ่งขึ้นมาจากป่าทิศตะวันตก รุ่งขึ้นเมื่อให้ข้าราชบริพารออกตามหาที่มาของลำแสงนั้น ก็ปรากฏพระนอน มีรูปแบบศิลปะงดงามวิจิตรมากตั้งอยู่กลางป่าเขารกชัฏ พระนางจึงโปรดให้บูรณะพระนอนองค์นั้น แล้วสร้างพระอารามขึ้น เรียกว่า “วัดพระนอนป่าเก็ดถี่”

พระนอนแสนสุข พระราชชายาเจ้าดารารัศมีประทานนามให้ตามพระพักต์ที่ยิ้มแย้ม


อีกตำนานหนึ่งเล่าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเสด็จออกโปรดสัตว์ ในป่าราชายตนะ (ป่าไม้เก็ด) มียักษ์ตนหนึ่งอาศัยอยู่ใกล้หนองน้ำ วันหนึ่งนางอุทุม บุตรสาวของนายแสนแซว่ นายบ้านชาวลั้วะได้ออกไปหาปลา แล้วหลงทางเข้าไปในป่าไม้เก็ด และพบกับยักษ์ตนนั้นเข้า ยักษ์ตนนั้นมุ่งหน้ามาหวังจะทำร้ายนางอุทุม แต่ปรากฏเสียงดังขึ้นปรามว่า “หยุดทำบาปเถิด” ในตอนแรกยักษ์ไม่ทราบว่านั้นคือพระพุทธเจ้า แต่ต่อมาพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมโปรดยักษ์ร้าย และนางอุทุม ทั้งสองเกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรมคำสอน จนฟันของยักษ์หลุดออกมา ต่อมานายแสนแซว่ผู้เป็นพ่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทานเส้นพระเกศาให้


ภาพจิตรกรรมภายในวิหารพระนอน

เชื่อกันว่าปัจจุบันเส้นพระเกศาของพระองค์ประดิษฐานอยู่ในเศียรพระนอนที่สร้างขึ้น ส่วนเขี้ยวของยักษ์ตนนั้นบรรจุอยู่ในหมอนของพระนอน พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเคยมาเยือนพระอารามแห่งนี้ และตั้งชื่อพระนอนว่า “พระนอนแสนสุข” เพราะพระพักตร์อิ่มเอิบ และอมยิ้มดูมีความสุข

พระธาตุประดิษฐานในพระวิหารพระนอน

วิหารพระนอน เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบล้านนา หลังคาต่ำ และตัวอาคารค่อนข้างยาวเพื่อปกป้องลมฟ้าให้กับพระพุทธรูปนอน ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา หน้าบันประดับลวดลายพรรณพฤกษาสวยงามมาก ภายในประดิษฐานพระนอนฝีมือช่างชาวบ้าน บ้างว่ามีรูปแบบศิลปะหริภุญชัยยุคพระนางจามเทวี แต่ผู้เขียนไม่เห็นเช่นนั้น ด้านหน้าทางเข้าพระวิหารมีรูปปั้นยักษ์สองตนเป็นทวารบาลเฝ้าอยู่

พระเจดีย์ประธานของวัด

หอพระพุทธรูปด้านหน้าพระเจดีย์

ใกล้ๆ กันนั้นมีพระเจดีย์ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ศิลปะแบบล้านนาผสมสุโขทัย ฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อเก็จ องค์เจดีย์เป็นห้องสี่เหลี่ยม แต่ละด้านมีซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปสีทอง ถัดขึ้นไปด้านบนเป็นทรงระฆัง แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรตามธรรมเนียมล้านนา ด้านหน้าพระเจดีย์เป็นที่ตั้งของหอพระพุทธรูปทรงเรียบง่าย แต่ก็แปลกตามาก

พระอุโบสถ

เบื่อเมืองเมื่อไร หาโอกาสออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ในชนบท มาทำบุญเยี่ยมชมวัดเล็กๆ นอกเมือง ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้ชีวิตเบิกบานขึ้นได้อีกแบบ นี่เป็นแค่บทความแรกเกี่ยวกับวัดในอำเภอสารภีค่ะ รออ่านบทความต่อๆ ไป ว่าเลดี้ ดาริกาจะพาเพื่อนๆ ไปไหนอีกนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :25:
138  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / กรุ่นกลิ่นกาแฟกลางเวียงกับ “Café De Museum” ไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง เมื่อ: มีนาคม 03, 2014, 10:32:22 PM
กรุ่นกลิ่นกาแฟกลางเวียงกับ “Café De Museum” ไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง

“ชีวิตคนเมือง” ในความหมายต่อไปนี้อาจหมายถึง วิถีของผู้คนในสังคมเมืองแบบที่เรียกกันว่า “ซิตี้ไลฟ์” หรืออาจหมายถึง “คนเชียงใหม่” ที่คำเมืองแต้ๆ ฮ้องว่า “คนเมือง” ก็เพราะต้องการแยกระหว่างชาวพื้นถิ่นล้านนาที่อาศัยอยู่ในเวียง กับผู้คนบนเขาบนดอยนั่นเอง ถ้าว่ากันไปตามเนื้อผ้าแล้ว “เชียงใหม่” ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่บ้านนอกคอกตื้นมาจากที่ไหน แต่สังคมที่ผันแปรรวดเร็วราวสายฟ้าแลบได้พลิกชีวิตชาวเชียงใหม่ที่เคยเนิบช้าให้กลายเป็นวิถีแบบซิตี้ไลฟ์เต็มตัวไปเสียแล้ว


Cafe' De Museum ร้านกาแฟในพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา


วันนี้เลดี้ ดาริกาตั้งใจจะนำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ยุคใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่วัดวา ผ้าซิ่น และการอู้กันแบบเนิบนาบอีกต่อไปแล้ว วิถีชีวิตแบบโมเดิร์นได้ย่างกลายเข้ามาในศูนย์กลางแห่งล้านนานี้เมื่อหลายสิบปีก่อน เติบโตบ่มเพาะขึ้นอย่างช้าๆ เงียบเชียบ มารู้ตัวอีกทีเชียงใหม่ก็มีทุกอย่างที่กรุงเทพฯมี ชาวเชียงใหม่เจเนอเรชั่นนี้ใช้เวลาในวันว่างหมดไปกับการชมงานศิลป์ เดินเล่นชิวเอาท์ จิบกาแฟเก๋ๆ หาสถานที่เก๋ๆ นั่งพูดจาปราศรัยกันตามประสาเพื่อน ต้องยอมรับจริงๆ ว่ายุคสมัยของการนุ่งซิ่น กินหมากกำลังเลือนหายไปกับการเวลา

บรรยากาศภายในร้านกาแฟ Cafe' De Museum


เกริ่นมาเสียยาวยืด เพื่อนๆ เบือนหน้าเบ้ปากหนีเพราะไม่รู้ว่าเลดี้ ดาริกาต้องการสื่ออะไรกันแน่... “ร้านกาแฟ” ค่ะ จะหาว่าพาเข้าเรื่องกันดื้อๆ ก็คงไม่ได้ เพราะถ้าพูดว่า “ร้านกาแฟ” กลายเป็นจุดนัดพบใหม่ของคนเจเนอเรชั่นนี้ไปเสียแล้วก็คงไม่มีใครกล้าเถียง “Café De Museum” คืออีกหนึ่งร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่มีเอกลักษณ์สะดุดตาสะดุดใจ ด้วยคอนเซ็ปต์ร้านกาแฟในพิพิธภัณฑ์จนเลดี้ ดาริกาอดใจไม่ไหว ต้องขุดข้อมูลมานำเสนอเพื่อนๆ กัน เพราะไม่ใช่เพียงแค่เป็นร้านกาแฟในพิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่ทำให้ที่นี่โดดเด่น เด้งดึ๋งสะดุดตากว่าร้านกาแฟแห่งอื่น แต่เพราะทำเลที่ตั้งกลางเวียงเก่า ใจกลางย่านประวัติศาสตร์ของเมืองที่มีอายุกว่า ๗๐๐ ปีแห่งนี้นี่เองที่ยิ่งเป็นตัวเสริมให้ Café De Museum ดูคลาสสิก โรแมนติก ราวกับนั่งจิบกาแฟอยู่ในอิตาลี หรือปารีส


อาคารปูนชั้นเดียวทาสีเหลืองนวลทั้งหลัง ตกแต่งโดยเน้นโทนสีส้ม และน้ำตาลไม้ ทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้ดูอบอุ่นไม่มีพิษมีภัย ทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา มีตึกแบบโรมันน่าเกรงขามตั้งอยู่ใกล้ๆ ใต้ร่มเงาไม้ที่ถูกปรับแต่งให้เป็นที่นั่งเล่น และดื่มกาแฟของแขกผู้มาเยือน สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร เข้าถึงผู้คนได้ง่าย ทั้งนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และคนเมืองที่ต้องการหาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สังสรรค์พูดคุย หรือหลบแดดลมร้อนชั่วคราว

Caramel Latte, Tasty! :)


มีคุ๊กกี้ชิ้นเล็ก เสิร์ฟฟรีพร้อมกาแฟไว้ให้ทานเล่นเป็นกิมมิคด้วย :)


นอกจากเครื่องดื่มประเภทกาแฟ ชา และน้ำผลไม้ที่มีให้เลือกหลากหลาย ที่นี่ยังมีเค้กและขนมเลิศรสนานาชนิดไว้คอยบริการผู้มาเยือนด้วย ราคาเครื่องดื่ม และของทานเล่นที่นี่ปานกลาง สมเหตุสมผล แม้บางอย่างอาจรู้สึกว่าราคาสูงไปเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับร้านกาแฟเฟรนไชน์ชื่อก้องโลกก็ยังถือว่าเป็นมิตรกว่ามากทีเดียว ความพิเศษของรสชาติล่ะ? แน่นอนว่าถ้าถามผู้เขียน คำตอบคงเน้นไปที่ “ลาเต้” สุดโปรด ความน่ารัก ถูกใจเลดี้ ดาริกามากๆ อย่างหนึ่ง คือไม่ผสมนมกับกาแฟเข้าด้วยกันอย่างที่ร้านกาแฟหลายๆ แห่งนิยมทำ เพราะเลดี้ ดาริกาชอบกาแฟลาเต้ที่แบ่งน้ำกาแฟ และนมไว้คนละชั้น แล้วสัมผัสรสชาติของทั้งสองอย่างทีละนิด ให้มันผสมกันเองในปากจนเกิดความกลมกล่อม ตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่พบเพียงไม่กี่ร้านที่ทำเช่นนี้


ดอกไม้บานที่กลางเวียง จุดเล็กๆ ที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ

leisure time in the city! :)



ใครสนใจอยากมาลองนั่งชิมกาแฟ ดื่มด่ำกับวิถีของคนเมืองสมัยใหม่ ในย่านเวียงเก่าที่สุดแสนจะคลาสสิกแล้วล่ะก็ เชิญได้ที่ Café De Museum บริเวณเดียวกับพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (อาคารศาลแขวงหลังเก่า) ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถนนพระปกเกล้า ร้านเปิดตั้งแต่เวลา 09:00 – 21:00 น ที่สำคัญน้องๆ ที่นี่น่ารักและบริการดี เอาใจใส่มากๆ ค่ะ แวะมานะคะ


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :11:
139  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / สักการะพระเจ้าแข้งคมที่ “วัดศรีเกิด” หนึ่งในพระพุทธรูปเก่าแก่ของเชียงใหม่ เมื่อ: มีนาคม 02, 2014, 11:31:28 PM
สักการะพระเจ้าแข้งคมที่ “วัดศรีเกิด” หนึ่งในพระพุทธรูปเก่าแก่ของเชียงใหม่

หลังจากเลดี้ ดาริกาพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวและทำความรู้จักกับวัดทุงยูมาแล้ว ก็คงไม่พลาดที่จะพาไปรู้จักพระอารามบ้านใกล้เรือนเคียงกัน อยู่ห่างกันเพียงถนนกั้น เพื่อนๆ ชาวเชียงใหม่คงรู้จักกันดี ใช่แล้วค่ะ วันนี้จะขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยววัดศรีเกิด กราบพระเจ้าแข้งคม พระพุทธรูปเก่าแก่คู่วัด และเดินเล่นชมบรรยากาศภายในวัดกันค่ะ

ใต้ร่มโพิธ์วัดศรีเกิด

วัดศรีเกิด ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ บนถนนราชดำเนิน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ (อยู่ห่างกับวัดทุงยูแค่ถนนเล็กๆ กั้น แต่เป็นคนละเขตตำบลกันเลยนะคะเนี้ยะ) ถ้าเดินเล่นมาตามถนนราชดำเนินจากประตูท่าแพ ย่านนักท่องเที่ยวยอดนิยม วัดจะตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ก่อนถึงวัดพระสิงห์ ถัดจากสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่มานิดเดียว แต่ก็เดินไกลจนเกือบสุดปลายถนนทีเดียวค่ะ มาจากทางวัดพระสิงห์อาจจะใกล้ และสะดวกกว่านิดหน่อยนะคะ เพราะใกล้กว่า และจอดรถไว้ในวัดพระสิงห์ได้ด้วย

พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อไรไม่มีประวัติบันทึกไว้แน่ชัด แต่คาดกันว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ก่อนพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ เรียกได้ว่าอายุอานามเก่าแก่กว่า ๗๐๐ ปี เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเลยก็ว่าได้


เดินเข้ามาภายในบริเวณวัด เราจะพบกับต้นโพธิ์ใหญ่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาครึ้มไปทั่วบริเวณ ใครเดินเล่นมาเหนื่อยๆ จะมาแวะพักที่วัดนี้ก่อนก็ได้นะคะ เพราะนอกจากต้นไม้ร่มๆ ไว้ให้หลบแดดแรงๆ แล้ว วัดนี้ยังมีบริการนวดแผนไทยไว้บริการแก่ผู้มาเยือนด้วย ดูแลกิจการโดยชมรมนวดแผนไทยเชียงใหม่ คุณภาพไว้ใจได้ค่ะ

วิหารวัดศรีเกิด


พระวิหาร ปูชนียสถานสำคัญภายในวัดแห่งแรกที่อยากแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จักเพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัด สถาปัตยกรรมล้านนา ยกพื้นสูง หลังคาหลูบเตี้ย ด้านข้างมีมุขยื่นออกไปจากตัวอาคาร เพื่อเป็นเส้นทางขึ้นลงของพระสงฆ์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของวิหารแบบล้านนา เดินเข้าไปภายในจะรู้สึกว่าหลังคาค่อนข้างเตี้ย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับวิหารหลวงวัดป้านปิงที่เราเคยนำเสนอไปแล้ว

บรรยากาศภายในพระวิหาร

“พระเจ้าแข้งคม” หรือ “พระเจ้าแค่งคม” ตามการสะกดแบบล้านนา พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ขัดสมาธิราบ หล่อขึ้นจากสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 94 นิ้ว สูง 112 นิ้ว น้ำหนักมากถึง 3,960 กิโลกรัม พุทธศิลป์แบบล้านนา สาเหตุที่เรียกกันว่า “พระเจ้าแข้งคม” เพราะว่าพระชงฆ์ (เข่า) มีลักษณะเป็นสันยาวผิดจากพระพุทธรูปองค์อื่นๆ

พระเจ้าแข้งคม

ตามตำนานชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า “พระเจ้าแข้งคม” นี้หล่อขึ้นที่วัดป่าตาลน้อยว่า มีพุทธลักษณะแบบลวปุระ หล่อขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น เมื่อหล่อพระพุทธรูปเสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประมาณ ๕๐๐ พระองค์ พระพุทธรูปแก้ว ทอง และเงิน มาบรรจุไว้ในพระเศียรของพระเจ้าแข้งคมนี้ พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้

แม้ว่าจะเป็นศิลปะแบบล้านนา แต่โดยรายละเอียดนั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากพระพุทธรูปล้านนาทั่วไป นักโบราณคดีสมัยใหม่กล่าวว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะแบบอู่ทอง และศิลปะแบบบายนผสมผสานอยู่ ก่อนหน้านี้พระเจ้าแข้งคมประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าตาลนอกเมืองเชียงใหม่ ต่อมาวัดแห่งนั้นทรุดโทรมและร้างผู้คน พระเจ้ากาวิละจึงโปรดให้เชิญพระป่าตาลน้อยมายังวัดศรีเกิด สร้างวิหารขึ้นประดิษฐานสืบมาจนปัจจุบัน

พระเจดีย์ของวัดศรีเกิด

พระเจดีย์ประธานของวัดเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมแบบล้านนา องค์เจดีย์เป็นห้องสี่เหลี่ยม แต่ละด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน แต่ละมุมขององค์เจดีย์ประดับด้วยฉัตรสีทอง เหนือขึ้นไปมีลักษณะเป็นองค์ระฆังทรงกลม รองรับบัลลังก์ ปล้องไฉน และยอดฉัตร เจดีย์ทาด้วยสีทองทั้งองค์


นอกเหนือไปจากปูชนียสถาน และโบราณวัตถุสำคัญตามที่เล่าให้ฟังไปแล้ว ภายในบริเวณวัดที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย และอาคารสถานที่น่าสนใจอื่นๆ เพื่อนๆ คนไหนมาเที่ยวเชียงใหม่ เดินเล่นบนถนนราชดำเนินก็ลองแวะมากราบพระเจ้าแข้งคม ชมวัดศรีเกิดกันดูนะคะ หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916
140  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เดินเล่นกลางเวียง แวะชมภาพจิตรกรรม “วัดทุงยู” เมื่อ: มีนาคม 01, 2014, 11:33:37 PM
เดินเล่นกลางเวียง แวะชมภาพจิตรกรรม “วัดทุงยู”

“ทุงยู” ฟังๆ ไปแล้วก็ดูอินเทรนด์ ดูเหมือนชื่อเกาหลีเก๋ๆ สักชื่อ แต่จริงๆ แล้วเป็นชื่อของพระอารามแห่งหนึ่งในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ อยู่ไม่ห่างจากวัดพระสิงห์ วัดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเชียงใหม่มักจะไม่พลาดเยี่ยมชม วัดทุงยูเป็นเพียงวัดเล็กๆ จึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว เราอาจพบเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนบางกลุ่มที่เดินเที่ยวชมภายในคูเมือง เข้ามาเยี่ยมชมภายในวัดอยู่เป็นระยะๆ แต่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยน้อยมาก


วัดทุงยู ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตรงข้ามกับวัดศรีเกิด ใครเคยเดินเล่นถนนคนเดินท่าแพยามเย็น เลยไปจนถึงถนนพระสิงห์ อาจเคยเห็นหรือผ่านวัดแห่งนี้กันมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเคยแวะเข้าไปเยี่ยมเยือน

วิหารหลวงเก่าแก่ของวัดทุงยู

วัดแห่งนี้มีอายุอานามเก่าแก่ย้อนกลับไปกว่า ๗๐๐ ปี สร้างขึ้นในรัชสมัยพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ ราวๆ ปี พ.ศ. ๒๐๑๙  เรียกได้ว่าอายุพอๆ กับนครเชียงใหม่เลยทีเดียว คำว่า “ทุงยู” หมายถึง “ร่มที่เป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศของเจ้านาย” ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม และกฎหมายโบราณของล้านนา

วิหารวัดทุงยู มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และเก่าแก่อีกแห่งของเชียงใหม่

เสาวิหารประดับตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตร

ภาพจิตรกรรมเหนือกอบประตูวิหาร เล่าเรื่องวันมาฆบูชา

จุดเด่นของวัดที่แขกไปใครมาต้องสังเกตเห็นคือวิหารหลวง ก่ออิฐถือปูนผสมโครงสร้างไม้ สถาปัตยกรรมไทยผสมล้านนาเก่าแก่ หน้าบันแบบม้าต่างไหม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานสถาปัตยกรรมล้านนา ประดับด้วยกระจกอังวะลวดลายวิจิตรเรื่อยมาจนถึงต้นเสา บันไดทางขึ้นขนาบด้วยนาคสองตัว มีคอสั้น สัดส่วนแปลกตามาก บานประตูวิหารแกะไม้สีทองรูปเทวดาปราบสิงห์ เหนือกรอบประตูเป็นภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราววันมาฆบูชา พระพุทธเจ้าประทับอยู่เหนือฐานดอกบัวในป่าไผ่ วัดเวฬุวัน มีพระสาวก ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งทุกรูปเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

บรรยากาศภายในวิหารหลวง

หมู่พระประธานภายในพระวิหาร

ภาพจิตรกรรมด้านในพระวิหาร

บานหน้าต่างแกะสลักไม้

ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชีลวดลายวิจิตร ทาปากสีแดงแสดงอิทธิพลศิลปะพม่า ด้านหน้ามีพระแก้วมรกตในเครื่องทรงฤดูร้อนจำลอง มีสีตามวันในหนึ่งสัปดาห์ หลังองค์พระประธานเป็นภาพจิตรกรรมซุ้มเรือนแก้ว เทวดาสององค์เหาะอยู่ด้านบน ฝั่งตรงข้ามพระประธานเป็นภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวในนรก เหนือขึ้นไปเป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจกันมากเป็นพิเศษ

พระอุโบสถขนาดเล็กสร้างจากหินอ่อน

สวนหย่อมเล็กๆ ด้านหน้าพระอุโบสถ

ข้างพระวิหารเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ขนาดเล็ก สร้างจากหินอ่อน สถาปัตยกรรมล้านนา ไม่เปิดให้เข้าชมภายใน ด้านหน้าพระอุโบสถมีสวนเล็กๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสีขาว และรูปหล่อครูบาศรีวิชัย

พระเจดีย์แบบพม่า

พระเจดีย์ประฐาน ศิลปะพม่า ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีสิงห์เฝ้าอยู่ทั้งสี่มุม พระเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ในรัชสมัยของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ พระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ และยกฉัตรขึ้น พระเจดีย์องค์นี้มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี

อาคารกระจกด้านหน้าพระวิหาร

ภายในจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของไทย

หน้าพระวิหารมีอาคารกระจกสร้างใหม่ตั้งอยู่ อาคารหลังนี้สถานที่เก็บหุ่นขี้ผึ้งเสมือนจริง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองไทย น่าสนใจมาก


ใครเดินเล่นผ่านไปผ่านมาบนถนนราชดำเนิน หรือเสร็จจากการเยี่ยมชมวัดพระสิงห์แล้ว เดินเลยมาด้านหน้านิดหน่อยก็ถึงวัดทุงยูแล้วค่ะ อย่าลืมแวะมาเยี่ยมชมกันนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :16:
141  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วิจิตรสถาปัตยกรรม “วัดหัวข่วง” (แสนเมืองมาหลวง) กราบพระมหาธาตุเจดีย์คู่เวียง เมื่อ: มีนาคม 01, 2014, 12:24:08 AM
วิจิตรสถาปัตยกรรม “วัดหัวข่วง” (แสนเมืองมาหลวง) กราบพระมหาธาตุเจดีย์คู่เวียง

บนถนนพระปกเกล้าด้านประตูช้างเผือก เขตเมืองเก่าเชียงใหม่ มีพระอารามแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่คนผ่านไปมาไม่สังเกตก็อาจมองไม่เห็น ใช่แล้วค่ะ เลดี้ ดาริกากำลังพูดถึง “วัดหัวข่วง” หรือมีชื่อเรียกสวยๆ อีกชื่อหนึ่งว่า “วัดแสนเมืองมาหลวง” แม้ว่าพระอารามแห่งนี้จะมีสภาพใหม่เอี่ยมอ่อง และดูสวยงาม แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นพระอารามที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่

ทางเข้าวัดแสนเมืองมาหลวง หรือวัดหัวข่วง เป็นตรองแคบๆ จากถนนพระปกเกล้า

วัดหัวข่วง หรือวัดแสนเมืองมาหลวง ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ แรกสร้างมีชื่อว่า “วัดลักขปุราคมาราม” มีความหมายว่า “วัดที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงสร้าง” มีอายุเก่าแก่กว่า ๖๐๐ ปี ในอดีตพระอารามแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำเมืองที่มีความสำคัญมากอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ประชุมทัพและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญต่างๆ

ชื่อ “วัดหัวข่วง” มีที่มาจากที่ตั้งของวัด ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมือง ใกล้กับสนามหลวง (ภาษาล้านนาเรียกว่า “ข่วง”) หรือคุ้มของเจ้านาย เป็นธรรมเนียมการสร้างวัดของเมืองทางตอนเหนือของประเทศ สังเกตได้ว่ามีพระอารามที่มีชื่อแบบเดียวกันนี้ อยู่ในเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ และเชียงตุง

วิหารหลวงวัดแสนเมืองมาหลวง สร้างขึ้นใหม่ทดแทนหลังเดิมที่ไฟไหม้เสียหาย

ตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๖๓ พระเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ ราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ ๑๑ ทรงโปรดให้บูรณะพระเจดีย์ของวัดหัวข่วงขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเก่า และโปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในมหาเจดีย์นั้นด้วย เมื่อสร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จทรงโปรดให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมเพื่อบรรจุคัมภีร์พระไตรปิฎก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าแสนเมืองมา พระอัยกาธิราช (หรือปู่) พระอารามแห่งนี้ร้างอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งพระครูปลัดทรงสวัสดิ์ ปัญญาวชิโรบูรณะฟื้นฟูวัดนี้ขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยท่านได้สร้างปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงแต่พระมหาธาตุเจดีย์เท่านั้นที่ยังคงความคลาสสิกเอาไว้

บันไดนาควิหารหลวง


เข้ามาภายในบริเวณวัด สิ่งแรกที่สะดุดตาผู้มาเยือนคือวิหารหลวง สถาปัตยกรรมล้านนา ลวดลายวิจิตรงดงามมาก พระวิหารหลังนี้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อทดแทนพระวิหารหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหาย พระประธานภายในพระวิหารคือ “พระพุทธรัตนบุรีสะหลีแสนเมืองมา” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๖ เมตร สูง ๙ เมตร กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามองค์หนึ่งของล้านนาเลยทีเดียว

พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์

ด้านข้างพระวิหารคือพระอุโบสถ สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ภายในประดิษฐานนำ “พระเจ้าศรีเมืองมา” อายุเก่าแก่กว่า ๕๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดเท่าพระองค์จริงของพระเจ้าแสนเมืองมา


พระมหาธาตุเจดีย์วัดหัวข่วง ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์ล้านนาผสมสุโขทัย สัดส่วนงดงามมาก องค์เจดีย์อยู่ในสภาพดี และไม่ถูกโบกปูนปิดทองอย่างเจดีย์องค์อื่นๆ ในเชียงใหม่ ทำให้เราได้ชื่นชมความสวยงาม และคลาสสิกขององค์เจดีย์ ซึ่งน่าประทับใจมาก ลักษณะเจดีย์สิบสองเหลี่ยม ส่วนบนมีองค์ระฆัง แสดงอิทธิพลสุโขทัย เป็นรูปแบบพระเจดีย์ที่นิยมสร้างกันมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ราวๆ รัชสมัยพระเจ้าติโลกราชต่อรัชกาลพระเมืองแก้ว มีลักษณะคล้ายพระธาตุดอยสุเทพ และพระธาตุลำปางหลวง

หอพระมณเฑียรธรรม

หอพระมณเฑียรธรรม สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระเมืองแก้ว พร้อมๆ กับการบูรณะพระเจดีย์ครั้งแรก เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่ก็ผุพังไปตามกาลเวลา หอพระมณเฑียรธรรมหลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนหลังเดิม



วัดหัวข่วง หรือวัดแสนเมืองมาหลวงอาจไม่ใช่หนึ่งในลิสต์สำคัญของนักท่องเที่ยวหลายๆ คน แต่หากพอจะมีเวลาเหลือ เลดี้ ดาริกาอยากจะแนะนำให้เพื่อนมาเยี่ยมชมความงดงามของพระอารามแห่งนี้ แม้ว่าการบูรณะจะยังไม่ครบถ้วยร้อยเปอร์เซ็น และอาคารต่างๆ อาจจะปิด ไม่สามารถเข้าชมภายในได้ แต่รับรองว่าหากเป็นคนชอบสถาปัตยกรรมสวยๆ แล้วล่ะก็ วัดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ ค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917
142  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ชมความงามวิจิตรของวัดป่านอกเมืองเชียงใหม่ที่ “วัดป่าดาราภิรมย์” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2014, 02:11:26 AM
ชมความงามวิจิตรของวัดป่านอกเมืองเชียงใหม่ที่ “วัดป่าดาราภิรมย์”

วัดป่าดาราภิรมย์ ตั้งอยู่บนถนน ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม ความเป็นมาของวัดป่าแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาถระ พระกรรมฐานนักปฏิบัติธรรมคนสำคัญรูปหนึ่งของเมืองไทย ออกธุดงค์หาความสงบบริเวณอำเภอแม่ริม และพักค้างแรมอยู่ในป่าช้าร้างบ้านต้นกอก อยู่ใกล้สวนเจ้าสบาย ตำหนักดาราภิรมย์ของพระราชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งขณะนั้นเต็มไปด้วยไม้เบญจพรรณ ท่านปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั้นระยะเวลาหนึ่ง จึงออกธุดงค์ต่อไปทางอำเภอเชียงดาว และอำเภอพร้าว

สิงห์ทวารบาลทางเข้าวัดป่าดาราภิรมย์สง่างามมาก

หลังจากนั้นป่าช้ารกร้างดังกล่าว จึงกลายเป็นสถานปฏิบัติธรรมของลูกศิษย์พระอาจารย์มั่นสืบต่อมา มีการสร้างเสนาสนะป่าชั่วคราว และมีพระธุดงค์มาปฏิบัติธรรมบ้างเป็นครั้งคราว จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ประชาชนผู้มีศรัทธาในพระอาจารย์ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างอาคารสถานแบบถาวรขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแด่พระธุดงค์ที่เดินทางมาปฏิบัติธรรมที่นี่ ตั้งชื่อว่า “วัดป่าวิเวกจิตตาราม” บ้างก็เรียกว่า “วัดป่าเรไร” หรือไม่ก็ “วัดป่าแม่ริม”

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เจ้าหญิงลดาคำ ณ เชียงใหม่ ทายาทของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ถวายที่ดินบริเวณสวนเจ้าสบายให้แก่วัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระอารามแห่งนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดป่าดาราภิรมย์” จนถึงปัจจุบัน

วิหารหลวงของวัด วิจิตรงดงามมาก

จากปากทางเข้าจนถึงวัด สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ บรรยากาศภายในวัดก็ร่มรื่นสวยงาม เป็นระเบียบ และเงียบสงบ สมกับเป็นวัดสายปฏิบัติธรรมจริงๆ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒

บรรยากาศภายในพระวิหาร

วิหารหลวง อยู่บริเวณทางเข้าวัด สถาปัตยกรรมล้านนา ประดับด้วยลายปูนปั้นทั้งหลัง มีขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๔๖ เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒  ในโอกาสที่วัดได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง และถวายพระราชกุศลเชิดชูพระเกียรติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยจำลองแบบมาจากหอคำของเจ้าหลวงเชียงใหม่โบราณ ทางเข้าเป็นซุ้มโขงวิจิตรอลังการมาก ภายในประดิษฐานพระประธานทรงเครื่องในมณฑปทรงปราสาทตกแต่งลวดลายสวยงาม และมีพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ประดิษฐานอยู่โดยรอบ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ หน้าบันมีลายปูนปั้นเครือเถาล้านนาล้อมรอบดาว ๓ ดวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของของเจ้าดารารัศมี ภายในประดิษฐานพุทธรูปศิลปะสุโขทัย "พระสยัมภูโลกนาถ" เป็นพระประธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดลูกนิมิตอุโบสถ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓

มณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ (หอแก้ว)


จิตกรรมภายในพระมณฑป

มณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ (หอแก้ว) ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมไทใหญ่ สร้างจากคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาทางพระพุทธศาสนา เป็นมณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง ๒๑ เมตร สูง ๓๙ เมตร หลังคาซ้อนกัน ๔ ชั้น ส่วนยอดเป็นปราสาทหุ้มทองจังโก ภายในประดิษฐาน “พระทันตธาตุ” ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเจดีย์สวยงามไม่แพ้กัน

พระพุทธบาทสี่รอยจำลอง


พระธาตุเจดีย์พระพุทธบาทสี่รอย เป็นพระเจดีย์ที่ดูแปลกตาเพราะส่วนล่างเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละด้านมีมุขยื่นออกมา ส่วนครึ่งบนเป็นองค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้มด้วยทองจังโก เราสามารถเข้าสักการะพระพุทธบาทสี่รอยจำลองที่ประดิษฐานอยู่ภายในได้ พระบรมสารีริกธาตุ และมี “พระพุทธการุญกิตติคุณขจร” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เป็นพระประธาน


ภาพจิตรกรรมภายในเจดีย์

ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น ศาลพัฒนานุสรณ์ มณฑปพระเจ้าทันใจ หอกิตติคุณ เป็นต้น ปัจจุบันวัดแห่งนี้เป็นสำนักศาสนศึกษา และสำนักปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

พระเจ้าทันใจ


แม้ว่าวัดป่าดาราภิรมย์จะไม่ใช่วัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน แต่ก็เป็นวัดที่มีความสวยงามไม่แพ้วัดเก่าๆ ในเชียงใหม่เลยแม้แต่น้อย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :5569fb93:
143  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เที่ยว “วัดดับภัย” กราบขอพรพระเจ้าดับภัยเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อ: กุมภาพันธ์ 27, 2014, 11:53:40 PM
เที่ยว “วัดดับภัย” กราบขอพรพระเจ้าดับภัยเพื่อความเป็นสิริมงคล

“วัดดับภัย” ฟังแล้วดูประหลาดหู แต่ก็เป็นชื่อที่ติดหู จำง่าย ดูเชื้อเชิญจนเลดี้ ดาริกาอยากเข้าไปทำความรู้จักสักหน่อย แม้ว่าชื่อจะฟังดูแปลก แต่พินิจพิจารณากันให้ดีๆ แล้วเป็นชื่อที่มีความหมายดี ให้พลังในทางบวกมากๆ เพราะ “ดับภัย” หมายถึง การไม่มีเพศภัยใดๆ มาย่ำกรายชีวิตเราได้นั่นเอง จึงไม่แปลกเลยที่พระอารามแห่งนี้จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในวัดมงคลนาม คือมีชื่อเป็นมงคลของเมืองเชียงใหม่ ในบทความนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับพระอารามแห่งนี้กันค่ะ


วัดดับภัย ตั้งอยู่บนถนนสิงหราช ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า “วัดตุงกระด้าง” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย ตามตำนานเล่าว่า มีขุนนางคนหนึ่งชื่อว่า “พระยาอภัย” เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่ง ชื่อว่า “พระเจ้าดับภัย” เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำครอบครัว ประดิษฐานเอาไว้ในห้องนอนของตน ไม่ว่าจะไปที่ใดก็จะนำพระเจ้าดับภัยไปด้วยเสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง และบริวาร

วิหารวัดดับภัย สถาปัตยกรรมล้านนา

เมื่อพระยาอภัยล้มป่วยลง ไม่มีหมอคนไหนรักษาได้ ท่านอธิษฐานขอพรต่อพระเจ้าดับภัยให้ตนหาย ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเจ้าดับภัย อาการป่วยของท่านค่อยๆ ทุเลาลง จนหายขาดในที่สุด พระยาอภัยย้ายมาปลูกเรือนใกล้กับวัดตุงกระด้าง พร้อมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้มีสภาพที่ดีขึ้น แล้วอัญเชิญพระเจ้าดับภัยมาประดิษฐานที่วัดตุงกระด้าง พระอารามแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า “วัดดับภัย” จนถึงทุกวันนี้

ลายปูนปั้นกรอบประตูพระวิหาร

ลายรดน้ำบานประตูพระวิหาร

พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และกระจกสีสันต่างๆ ซุ้มโขงประตูวิหารเป็นลายปูนปั้นสัตว์นานาชนิด ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมรูปพระพุทธเจ้า เทวดา และนางอัปสรโปรยดอกไม้

พระประธานในวิหาร ด้านหน้า (องค์เล็ก) คือพระเจ้าดับภัย


ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ด้านหน้าพระประธานเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าดับภัย” พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป เชื่อกันว่าใครก็ตามที่ประสบภัยต่างๆ ให้มากราบไหว้ท่าน ก็จะหมดภัยได้สมดั่งชื่อของพระพุทธรูปอันเป็นมงคล ฝาผนังพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ

พระเจ้าทันใจ

ด้านหน้าวิหารมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประวัติเล่าว่าในสมัยพระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่พระองค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน หลังจากพระองค์เสด็จกลับมาจากกรุงเทพฯ มหานครทุกครั้ง จะต้องมาที่วัดดับภัยเพื่อนำน้ำในบ่อนี้ไปสรงน้ำพระพุทธมนต์ จากนั้นจึงไปวัดเชียงมั่นเพื่อสืบดวงชะตา


พระเจดีย์ ตั้งอยู่หลังพระวิหาร ศิลปะล้านนา ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปจากนี้บุหุ้มด้วยทองจังโก องค์ระฆังทรงกลมสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ๗ ชั้น

พระอุโบสถ


พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังพระเจดีย์ สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและดอกบัวบนกระจกสีฟ้า ทางเข้าเป็นซุ้มโขง ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมรูปเทวดาและนางอัปสร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย จีวรริ้ว ส่วนที่ผนังมีจิตกรรมพุทธประวัติ

ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ


การมาไหว้พระเจ้าดับภัยเพื่อหวังให้ท่านช่วยดับภัยต่างๆ ที่เข้ามาเป็นมรสุมรุมเร้าชีวิต แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่สามารถหวังผลให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ อย่างน้อยก็เป็นขวัญกำลังใจให้เราต่อสู้กับภัยจนสามารถเอาชนะได้ในที่สุด วัดนี้เดินทางไปง่ายมากเลยค่ะจากหน้าวัดพระสิงห์ไปทางทิศเหนือข้ามสี่แยกไฟแดงไปเพียง 150 เมตร ก็ถึงวัด

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :25:
144  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “ภาพจิตรกรรมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์” ชมงานศิลปะชั้นครู เมื่อ: กุมภาพันธ์ 27, 2014, 09:50:54 PM
“ภาพจิตรกรรมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์” ชมงานศิลปะชั้นครู

ในบรรดางานศิลปะโบราณทุกแขนง “ภาพจิตรกรรม” เป็นสิ่งที่ดูแลรักษาได้ยากที่สุด เพราะไม่ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และกาลเวลา หากเปรียบเทียบจำนวนภาพเขียนโบราณที่ยังคงเหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์กับงานประติมากรรม และสถาปัตยกรรมนั้นถือว่าเหลืออยู่น้อยมาก แต่ฉันชอบภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังมากที่สุด เพราะเปรียบเสมือนภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราว และวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ภาพจิตรกรรมโบราณเป็นตัวแทนบอกเล่าอดีตได้อย่างดี

วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่

งานจิตรกรรมล้านนาเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่เคยเฟื้องฟูมาในอดีต ปัจจุบันหาดูได้ยาก ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักแม้กระทั้งคนที่ไม่ได้คลั่งไคล้ ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ พูดแล้วต้องร้อง อ๋อ! ต้องยกความดีความชอบให้กับจังหวัดน่าน ที่ทำให้ภาพจิตรกรรมล้านนาเก่าแก่ในวัดภูมินทร์มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ต่างกับภาพเขียนโมนาลิซ่าในพิพิธภัณฑ์ลูฟ ที่ใครไปฝรั่งเศส เป็นต้องอยากหาโอกาสไปดูสักครั้ง ในเชียงใหม่ก็มีภาพจิตรกรรมพอหลงเหลือให้เห็นหลายวัด วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก “วิหารลายคำ” วัดพระสิงห์ ชมภาพจิตรกรรมน้ำเอกอีกชิ้นของล้านนากันค่ะ

ซุ้มโขงกรอบประตูวิหารลายคำ ละเอียดอ่อนช้อยมาก

กู่ด้านหลังวิหารลายคำ

วัดพระสิงห์เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ภายในวัดเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่หลงใหลศิลปะล้านนา เพราะที่นี้มีศิลปวัตถุแทบทุกแขนงของล้านนาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้ สำหรับบทความนี้เราขอพาเพื่อนๆ เน้นเยี่ยมชมวิหารลายคำ และภาพจิตรกรรมภายในพระวิหาร



วิหารลายคำ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวงของวัด ใกล้ๆ กับพระอุโบสถและเจดีย์ เป็นวิหารสถาปัตยกรรมล้านนาบริสุทธิ์ หลังไม่ใหญ่โตนัก แต่เก่าแก่และงดงามมาก ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ หนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียง นอกจากพระพุทธสิหิงค์แล้ว ไฮไลท์สำคัญของพระวิหารหลังนี้ที่ทำให้พิเศษกว่าวิหารแห่งอื่นคือภาพจิตกรรมฝาผนังภายในวัดที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ และเขียนเต็มทั้งผนังสวยงามมาก




ภาพจิตรกรรมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ วาดขึ้นราวๆ สมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจิตรกรชื่อเจ๊กเส่ง เป็นภาพจิตรกรรมล้านนาที่มีอิทธิพลศิลปะกรุงเทพฯ เข้ามาผสมผสานได้อย่างลงตัว และมีกลิ่นอายของศิลปะตะวันตกอยู่ด้วย ผนังด้านซ้ายเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์ทอง ด้านขวาเรื่องสุวรรณหงส์ ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็น ๒ ใน ๕๐ เรื่องจากปัญญาสชาดก งานวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยเลียนแบบชาดก (เรื่องราวแต่ละชาติของพระพุทธเจ้า) ภาพจิตรกรรมในวิหารลายคำนี้เขียนด้วยสีเขียวและครามมาก แต่ก็มีสีสันสดใส สวยงาม น่าติดตาม จิตรกรเขียนภาพได้อย่างอิสระ สอดใส่ลูกเล่น และอารมณ์ของศิลปินลงไปในภาพได้อย่างน่าสนใจ ภาพผู้คนที่ปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมนี้มีลักษณะการแต่งกาย และขนบวิถีชีวิตตามอย่างคนลล้านนาทุกประการ ทั้งการนุ่งผ้าของสตรี การสักลายที่ขา และการแต่งกายของบุรุษ

ภาพจิตรกรรมปิดทองล่องชาด ด้านหลังพระประธาน



นอกจากภาพเขียนสีแล้ว ด้านหลังพระพุทธสิหิงค์ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นภาพจิตรกรรมแบบปิดทองล่องชาด ใช้เทคนิคการฉลุกระดาษปิดทองลงบนพื้นสีแดงชาด ด้านหลังพระประธานใช้ทองมากเป็นพิเศษ ลวดลายละเอียด สวยงามมาก


เพื่อนๆ คนไหนมาเยือนวัดพระสิงห์ นอกจากหอไตร วิหารหลวง พระอุโบสถไม้ และเจดีย์แล้ว อย่าลืมเข้าไปชมภาพจิตรกรรมภายในวิหารลายคำ หลังเล็กแต่แจ๋วมากๆ ค่ะ เพราะภาพจิตรกรรมภายในนั้นถือเป็นเพชรน้ำเอก งานฝีมือชั้นครูเลยทีเดียว

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :onion2012:
145  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เลาะเลียบริมปิง กินลมชมวัดที่ “วัดวังสิงห์คำ” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 26, 2014, 09:19:47 PM
เลาะเลียบริมปิง กินลมชมวัดที่ “วัดวังสิงห์คำ”

มีอีกหลายเส้นทางในเมืองเชียงใหม่ที่ฉันเองก็ยังไม่เคยไปมาก่อน อะไรที่แปลกใหม่ย่อมน่าสนใจและน่าค้นหาเสมอ ถนนเลียบแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกย่านตำบลป่าแดด เป็นเส้นทางที่ฉันไม่ได้มีโอกาสสัมผัสมากนัก ฤกษ์งามยามดี นานๆ จะได้มาขี่รถเล่นแถวนี้สักครั้ง เลดี้ ดาริกาก็ไม่ลืมที่จะหาสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมาฝากเพื่อนๆ ด้วย วันนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ “วัดวังสิงห์คำ” กันค่ะ


วัดวังสิงห์คำ ตั้งอยู่บนถนนป่าแดด ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จากสี่แยกแสงตะวัน หรือแยกพันทิพย์เชียงใหม่ มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ตามถนนช้างคลาน แยกไปตามถนนป่าแดด เลียบริมแม่น้ำปิงมาเรื่อยๆ ลอดใต้สะพานถนนมหิดล และถนนรอบเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 10.5 กิโลเมตรก็ถึงวัด

วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2417 ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร (เจ้าเจ็ดตน) เดิมวัดตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนวัดวังสิงห์คำในปัจจุบัน แต่เนื่องจากห่างจากเส้นทางคมนาคมทั้งถนน และแม่น้ำ เดินทางไม่สะดวก จึงย้ายมาตั้งอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน โดยท้าววงค์ษาได้ถวายที่ดินเพื่อก่อสร้างวัด


ชื่อของวัดแห่งนี้ ตามตำนานเล่าว่าวันหนึ่ง ชาวบ้านที่หาปลาบริเวณวังน้ำวนหน้าวัดพบพระพุทธสิหิงค์ทองคำจมอยู่ใต้น้ำโดยบังเอิญ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ภายในวัด แต่พอตกกลางคืนพระพุทธรูปองค์นั้นก็จะกลับไปอยู่ก้นแม่น้ำตามเดิม เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดจนกระทั่งหายสาบสูญไปในที่สุด พระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “วังสิงห์คำ” ตามพระพุทธรูปสิหิงค์ทองคำในตำนาน

พระวิหารวัดวังสิงห์คำ

พระประธานภายในพระวิหาร



พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษาสีทองบนพื้นสีเขียว ตรงกลางเป็นรูปช้างสามเศียร ราวบันไดเป็นมกรคายนาค ซุ้มโขงทางเข้าประดับดับด้วยลายปูนปั้นรูปสิงห์ และธรรมจักรบนกระจกสีฟ้า ผนังด้านหน้าเขียนภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นพระประธาน ที่ฝาผนังมีจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ และทศชาติชาดก

พระเจดีย์วัดวังสิงห์คำ


พระเจดีย์ อยู่ติดกับทางเข้าวัด องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีเจดีย์บริวารอยู่ทั้ง 4 มุม เหนือขึ้นไปเป็นฐานย่อมุมยกสูง แต่ละด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน เรือนธาตุเป็นทรงระฆังประดับด้วยกระจกสี ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 9 ชั้น

วิหารพระเจ้าทันใจก็สวยงามวิจิตรไม่แพ้กัน


วิหารพระเจ้าทันใจ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร อาคารสถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันโดดเด่นด้วยงานแกะสลักไม้รูปพรรณพฤกษาสวยงามมาก ด้านหน้ามีรูปปั้นยักษ์ และเทพพนม 4 ตน ภายในประดิษฐานพระเจ้าทันใจ และรูปเหมือนพระมงคลเทพมุนีวัดปากน้ำ และครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ส่วนผนังด้านหลังเป็นจิตรกรรมรูปสรวงสวรรค์และโลกมนุษย์



จุดเด่นของวัดนี้อีกอย่างหนึ่งนอกจากสถาปัตยกรรมที่สวยงามแล้ว พื้นของวัดที่ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นเป็นพื้นปูนธรรมดาๆ หรือไม่ก็เป็นพื้นดิน แต่พื้นของวัดนี้ปูด้วยอิฐตัวหนอนสีแดงตัดกับสีเขียวทั้งวัดเลยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นวัดแห่งสีสันก็น่าจะไม่ผิดนัก ใครผ่านไปผ่านมาแถวนี้ก็อย่าลืมแวะชมด้วยนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
146  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ย้อนกาลเวลาที่ “วัดป้านปิง” พระอารามเก่าแก่แห่งเวียงเชียงใหม่ เมื่อ: กุมภาพันธ์ 26, 2014, 04:07:04 PM
ย้อนกาลเวลาที่ “วัดป้านปิง” พระอารามเก่าแก่แห่งเวียงเชียงใหม่

บนถนนราชภาคินัย เขตเมืองเชียงใหม่เก่า มีวัดวาอารามเรียงรายอยู่หลายวัดตั้งแต่ฝั่งประตูช้างเผือก จนถึงฝั่งประตูเชียงใหม่ “วัดป้านปิง” เป็นเพียงพระอารามเล็กๆ บนถนนเส้นนี้ ดูผิวเผินก็เป็นเพียงวัดธรรมดาๆ ที่ไม่มีความสำคัญทางการท่องเที่ยวมากมายนัก หากเทียบกับวัดใหญ่แห่งอื่นๆ ในคูเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวน้อยคนที่จะรู้จัก ขณะที่ฉันเข้าไปเยือนวัดแห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เดินเข้ามาชมภายในวัดนิดๆ หน่อย แล้วเดินจากไป นักท่องเที่ยวชาวไทยไม่ต้องพูดถึง ฉันไม่เจอเลย นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่เลดี้ ดาริกาเอง ก็ยังมองข้ามวัดนี้ไป ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว พระอารามป้านปิงแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ และมีเรื่องราวมากมายน่าสนใจ รอให้เราเข้าไปศึกษาเยี่ยมชม


“ป้าน” เป็นคำในภาษาล้านนาโบราณ แปลว่า “ขวาง” หรือการเบี่ยงทิศทาง ชื่อวัดป้านปิง จึงหมายถึงการกั้นกระแสน้ำปิงให้ไหลไปทิศทางอื่น วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานจากพระประธานภายในพระวิหาร และองค์พระเจดีย์แล้ว คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นช่วงสมัยล้านนาตอนต้น ระหว่างรัชกาลพญามังราย เรื่อยลงมาจนถึงพญาแสนเมืองมา ราว พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๑๕๓๔ กล่าวได้ว่าเป็นพระอารามเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ทีเดียว

เจดีย์ประธานของวัด


ไม่เพียงเป็นวัดที่เก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น แต่ภายในพระอารามยังคงหลงเหลือโบราณวัตถุ และโครงสร้างสถาปัตยกรรมเก่าแก่ล้ำค่าไว้ให้เราศึกษา และเยี่ยมชมอีกด้วย เมื่อเข้าไปภายในบริเวณวัด สิ่งแรกที่สะดุดตาเราคือพระเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ ๒๘ ทรงสิบสองเหลี่ยม เป็นเจดีย์แบบล้านนาฝีมือช่างหลวง บูรณะครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ว่ากันว่าเจดีย์ลักษณะเดียวกันนี้พบทั้งหมด ๓ แห่งในล้านนา อีกสองแห่งคือที่วัดลี อำเภอเมืองฯ พะเยา และวัดเบ็งสกัด อำเภอปัว จังหวัดน่าน เจดีย์องค์นี้อยู่คู่กับวัดนี้มาตั้งแต่เมื่อยุคแรกสร้าง

วิหารวัดป้านปิง เมืองเชียงใหม่


วิหารหลวงของวัด สถาปัตยกรรมล้านนา โครงสร้างหลังคาเตี้ย ตั้งอยู่บนฐานยกสูงจากพื้น ซึ่งพระเจดีย์ประฐานก็ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับพระวิหาร ด้านข้างมีมุขยื่นออกมา ใช้เป็นประตูเข้าออกสำหรับพระสงฆ์ ประตูทางเข้าหลักของวิหารประดับด้วยซุ้มโขงปูนปั้นลักษณะจีนปูนตำสูตรล้านนา เป็นลายพญานาคสองตัวหางพันกัน เหนือขนดลำตัวสองฟากเป็นภูเขาหิมพานต์ เหนือขึ้นไปมีพระอาทิตย์และพระจันทร์ สร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาตาหลักพระพุทธศาสนา

ลวดลายซุ้มประตูวิหาร

บานประตูไม้แกะสลักสวยงาม

ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานอายุเก่าแก่ มีพุทธลักษณะแบบพระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยล้านนาตอนต้น เป็นพระประธานคู่กับวัดมาตั้งแต่ดั้งเดิม การสันนิษฐานอายุของวัด ก็สันนิษฐานจากรูปแบบของพระพุทธรูปองค์นี้ พระพุทธรูปองค์รองด้านขวา ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง สวยงามเฉกเช่นเดียวกับพระประธาน ส่วนพระพุทธรูปอันดับอีก ๔ องค์ เป็นพุทธศิลป์แบบสิงห์สามทั้งหมด คาดได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยหลัง

พระประธานภายในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง พุทธลักษณะงดงาม

ซุ้มเทวดา เป็นซุ้มขนาดเล็กก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ลักษณะคล้ายศาลพระภูมิ ตั้งอยู่ใกล้กับบันไดนาคด้านซ้าย ซุ้มนี้สร้างขึ้นตามคติล้านนาดั้งเดิม ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าก่อนเข้าไปทำบุญในพระวิหาร จะต้องกราบไหว้เทวดาก่อน และเพื่อเป็นการถวายบุญนั้นให้เทวดาได้เช่นกัน ซุ้มเทวดาลักษณะนี้ไม่ปรากฏในการสร้างวิหารยุคหลังๆ นิยมสร้างกันมาในสมัยล้านนาตอนต้น

พระอุโบสถ


ด้านหน้าพระวิหารไม่ไกลกันนั้น เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาขนาดเล็ก สวยงาม ด้านหน้าพระอุโบสถมีศิลาจารึกที่ยังจารึกไม่เสร็จตั้งอยู่ด้วย

ดินจี่ฮ่อฐานกุฏิ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ตั้งเอาไว้ด้านข้างพระวิหาร ใต้หอระฆัง มีประมาณ ๒๐ ก้อน ขุดพบบริเวณฐานกุฏิโบราณ ช่างล้านนาโบราณนิยมใช้อิฐลักษณะนี้สร้างเป็นฐานกุฏิเจ้าอาวาส สันนิษฐานว่าช่างเอาเทคนิคนี้มาจากชาวจีนฮ่อโบราณ นอกจากที่วัดป้านปิงแล้ว ยังพบอิฐลักษณะเดียวกันที่วัดอื่นในเขตเมืองเชียงใหม่อีก ๒ วัด


หอไตร


สถานที่บางแห่งเราอาจมองว่าธรรมดา ไม่น่าสนใจ ไม่มีอะไรให้ศึกษา แต่หลายๆ ครั้งที่สถานที่ธรรมดาๆ นั้นกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง เหมือนที่คนโบร่ำโบราณพร่ำสอนกันมาว่า เราไม่ควรตัดสินใครจากรูปกายภายนอก วัดป้านปิงก็คือหนึ่งในนั้น ไม่ใช่ข้อยกเว้น

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912
147  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดเสาหิน” พระอารามเก่าแก่ร่วมยุคสมัยเวียงกุมกาม เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2014, 12:06:41 AM
“วัดเสาหิน” พระอารามเก่าแก่ร่วมยุคสมัยเวียงกุมกาม

วัดเสาหิน ตั้งอยู่ในเขตเวียงกุมกาม ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เข้าได้ 2 ทาง คือจากถนนเชียงใหม่-ลำพูน บริเวณสี่แยกสถานีตำรวจภูธรแม่ปิง เลี้ยวเข้าไปในซอย 6 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ประมาณ 750 เมตร หรือที่ชาวบ้านละแวกนั้นเรียกว่าซอยโรงแรมริเวียร่า อีกทางหนึ่งจากถนนมหิดล ขับรถตามซอยมหิดล 4 ประมาณ 300 เมตร



ประวัติความเป็นมาของวัดนี้ ไม่มีหลักฐานบันทึกเอาไว้อย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเวียงกุมกาม ระหว่างปี พ.ศ. 1827 – 2101 ภายในวัดมีปูชนียสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับที่มาของชื่อวัดกันก่อนนะคะ

วิหารเสาหินจำลอง


วิหารเสาหินจำลอง เป็นอาคารทรงจัตุรมุข สถาปัตยกรรมล้านนา แต่ละด้านมีหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น กางกั้นด้วยฉัตรสีทอง 9 ชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษา เสาทุกต้นล้วนประดับด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้และกระจกสีสวยงาม บันไดทางขึ้นเป็นปูนปั้นรูปมกรคายนาคอยู่ทางด้านทิศตะวันตก


ภายในประดิษฐานเสาหินจำลองทำจากหินทรายขาวกว้าง 30 ซ.ม. สูง 199 ซ.ม. รูปทรง 8 เหลี่ยม ยอดเป็นรูปดอกบัวตูม มีพระพุทธรูปประจำวันเกิดทำจากหินทรายทั้งหมด 8 องค์อยู่โดยรอบเสาหิน ส่วนของจริงนั้นเล่ากันว่าอยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปในพระวิหาร และยังเชื่ออีกว่าเมื่อใดก็ตามที่เวียงกุมกามล่มสลาย ถ้าปรากฏเสาหินในเขตเวียงกุมกาม และมีผู้คนมาเคารพสักการะ ก็จะทำให้เวียงกุมกามกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

พระวิหารของวัดเสาหิน

พระวิหาร อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ใกล้ๆ กับโรงเรียนวัดเสาหิน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้เป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายฝาปะกน (ฝาบ้านเรือนไทยภาคกลาง) และลายประจำยาม จุดเด่นที่เห็นได้ชัดสุดๆ คือบันได เชื่อว่าคนที่เคยเห็นเป็นครั้งแรกอาจจะคิดว่าเป็นแม่ไก่ แต่ในความจริงแล้วเป็นนกการเวก ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่นที่มักจะสร้างเป็นรูปมกรคายนาค แสดงให้เห็นถึงอิสระทางความคิดของช่างในสมัยก่อน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 11 องค์ แต่เดิมเป็นพระที่สร้างจากสำริดและศิลา ต่อมาถูกขโมย ทางวัดจึงสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขึ้นมาแทน และที่ฝาผนังมีภาพจิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ฝีมือช่างภาคกลางอีกด้วย



พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร เชื่อกันว่าสร้างครอบองค์เดิม เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนศิลปะพม่า ตั้งอยู่บนฐานย่อมุขซ้อนกัน 4 ชั้น ฐานชั้นล่างสุดมีสิงห์เฝ้าอยู่ทั้งสี่มุม ส่วนชั้นอื่นๆ เป็นรูปนรสิงห์และพุ่มดอกไม้ ทางทิศเหนือมีมีซุ้มพระพุทธรูปศิลปะพม่า องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำประดับด้วยลายปูนปั้นรูปยักษ์และกระจกสีรูปดอกไม้ ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น


พระอุโบสถ อยู่ทางทิศเหนือของวิหารเสาหินจำลอง สถาปัตยกรรมล้านนา สร้างโดยพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ พระองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย มีจุดเด่นตรงที่อาคารตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสูง และนาคสะดุ้งที่ไม่เหมือนกับอาคารอื่นๆ หน้าบันประดับด้วยงานแกะสลักไม้รูปพรรณพฤกษา ซุ้มทางเข้าพระอุโบสถเป็นรูปปูนปั้นเทวดา ด้านหน้ามีสิงห์สองตัวเฝ้าอยู่




นอกจากนั้นภายในวัดยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้พื้นบาน หอไตร ศาลา วิหารมาตามหน้าบุญ และท้าวอสุรินทราหู องค์ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ เป็นที่เคารพของประชาชนชาวเชียงใหม่

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912
148  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำสถานทีเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่-สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ / เสริมสิริมงคลที่ “ตำหนักพระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 20, 2014, 10:22:22 PM
เสริมสิริมงคลที่ “ตำหนักพระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์”

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนมีความเป็นมายาวนานมาหลายร้อยปี ชาวจีนจำนวนมากอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นอิทธิพลความเป็นจีนฝังรากลึกลงในสังคมไทย แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ศาสนาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คอยผสานคนทั้งสองเชื้อชาติเอาไว้ แม้ว่าเป็นพุทธเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย ความเชื่อที่สะท้อนออกมาในรูปของงานศิลปะจึงต่างกัน เชียงใหม่เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีชาวจีนเข้าตั้งถิ่นฐาน ชาวจีนเหล่านั้นสร้างศาสนาสถานขึ้นมาตามความเชื่อของตน เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ “ตำหนักพระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์” คือหนึ่งในศาสนาสถานเหล่านั้น



วิวตำหนักพระแม่กวนอิมจากมุมสูง

ตำหนักแห่งนี้ตั้งอยู่ในตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นสาขาหนึ่งของตำหนักพระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ โชคชัย ๔ เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร สร้างโดยพระอาจารย์ใหญ่เสกกวงเซง พระเถรีผู้มีความรู้ ความสามารถ อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสงค์ให้พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในเชียงใหม่ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม และสักการะศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีน ตำหนักแห่งนี้มีเก๋งจีน สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเทพเจ้าต่างๆ ทั้งสิ้น 6 หลัง


เก๋งจีนหลังที่ 1 อยู่บริเวณทางเข้า เป็นอาคารทรงกลมหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น สถาปัตยกรรมจีน แต่ละชั้นมีรูปปั้นมังกรประดับอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือคือรูปปั้นเป็นหงส์ เสาทั้ง 4 ต้นมีมังกรพันรอบ ภายในประดิษฐานพระศิวะองค์สีดำ เทพเจ้าแห่งฟ้าดิน ประทับนั่งอยู่บนหนังเสือ ด้านขวาคือพระพิฆเนศ ด้านซ้ายคือพระขันทกุมารประทับบนนกยูง ทั้งสองพระองค์เป็นพระโอรสของพระศิวะ

รูปเคารพพระศิวะในเก๋งหลังที่ ๑


เก๋งจีนหลังที่ 2 อยู่ติดรั้วด้านทิศเหนือ เป็นอาคารทรงกลมหลังคายกสูง สถาปัตยกรรมจีนเรียบๆ ภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมปางต่างๆ และพระพุทธรูปประจำวันเกิด


เก๋งจีนหลังที่ 3 อยู่ข้างเก๋งหลังแรก เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม หลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น ประดับด้วยรูปปั้นกิเลส เสือ และมังกร ภายในประดิษฐานพระสังกัจจายน์ ประทับบนปลามังกร เทพเจ้าแห่งโชคลาภ

เก๋งที่ ๓ ประดิษฐานพระสังกัจจายน์

เก๋งจีนหลังที่ 4 อยู่ทางทิศใต้ของตำหนัก เป็นอาคารขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมพันมือ เหนือขึ้นไปเป็นพระพุทธรูปศิลปะพม่า รายล้อมด้วยระฆังกว่าร้อยใบ ตีเพื่อความเป็นมงคล

เจ้าแม่กวนอิมพันมือ



เก๋งจีนหลังที่ 5 อยู่ติดกับเก๋งหลังที่ 2 เป็นอาคารเล็กๆ ประดิษฐานเทพเจ้า 9 องค์

เจ้าปู่มังกร


เจ้าพ่อเสือ


เก๋งจีนหลังที่ 6 เป็นส่วนสำคัญที่สุดของตำหนักนี้ ตั้งอยู่ใจกลางตำหนัก ประกอบไปด้วย “เจ้าปู่มังกร” และ “เจ้าพ่อเสือ” เป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ รอต้อนรับผู้มาแสวงบุญ ให้มาลอดปากเจ้าปู่มังกร และปากเจ้าพ่อเสือ เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนเข้าให้ไปบูชาธูปมหามงคล เดินลอดปากเจ้าปู่มังกร ตลอดทางภายในตัวมังกรมีภาพจิตกรรมทั้งของไทยและจีน เล่าเรื่องพุทธประวัติ และเทพเจ้าของจีน เมื่อเข้าไปเรื่อยๆ จะพบทางขึ้นไปบนอาคารของ “พระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์” ประทับยืนบนเซี้ยมซู้ คางคก 3 ขา ให้เวียนรอบพระแม่กวนอิม 3 รอบ แล้วเดินกลับลงมาออกทางปากเจ้าพ่อเสือ นำธูปไปเผาที่เตาบริเวณปากทางเข้าตำหนัก



การเดินทางมาสู่ตำหนักแห่งนี้ จากแยกเซ็นทรัลแอร์พอร์ต มุ่งหน้าไปทางตะวันออกใช้ถนนมหิดล จากนั้นกลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำปิง ย้อนกลับมาทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร จะพบกับปางทางเข้าซอยบ้านทัศนาจร เลี้ยวเข้าซอยมาประมาณ 200 เมตร

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  908
149  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดสันคะยอม ชมความงามของวิหารไม้สักแห่งเดียวในเชียงใหม่ เมื่อ: กุมภาพันธ์ 20, 2014, 04:51:13 PM
วัดสันคะยอม ชมความงามของวิหารไม้สักแห่งเดียวในเชียงใหม่

วัดคือศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนหรือคนในท้องถิ่นนั่นๆ เราจึงเห็นวัดอยู่ในชุมชนแทบทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดใหญ่หรือวัดเล็กล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว หลายๆ วัดยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วย ครั้งนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

วิหารไม้สักแห่งเดียวในเชียงใหม่

วัดสันคะยอม ตั้งอยู่ที่บ้านสันคะยอม ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย การเดินทางก็ไม่ยากเย็นอะไร เพื่อนๆ ที่อ่านบทความวัดสันทรายมูลก่อนหน้านี้มาแล้ว วัดสันคะยอมอยู่เลยวัดสันทรายมูลไปประมาณ ๒ กิโลเมตรค่ะ สำหรับเพื่อนๆ ที่เพิ่งอ่านบทความนี้ ให้เดินทางโดยเริ่มต้นจากสี่แยกศาลเด็ก ขับรถตรงไปทางอำเภอดอยสะเก็ดประมาณ 100 เมตร พบทางแยกทางให้เลี้ยวซ้าย ไปตามทางนั้นประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อนถึงแยกสันคะยอม สังเกตทางซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางไปวัด ไปตามเส้นทางดังกล่าวอีกประมาณ 200 เมตรค่ะ


พระอารามแห่งนี้เดิมชื่อว่า “วัดศรีดอนชัย” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2343 โดยพระครูปัญญา ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสันคะยอม” ตาม “ต้นพะยอม” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของวัด ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ (องค์โสมฯ) ก็ทรงเคยปลูกต้นไม้พะยอมนี้ด้านหน้าพระวิหาร เมื่อเสด็จมาเป็นองค์ประธานยกช่อฟ้าพระวิหาร



หมู่พระประธานภายในวิหารไม้สัก

บรรยากาศภายในพระวิหาร

วิหารวัดสันคะยอม สร้างจากไม้สักทั้งหลัง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ ทรงเสด็จเป็นประธานยกช่อฟ้า ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งประดับด้วยกระจกสีสวยงาม หน้าบันโดดเด่นด้วยงานประดับกระจกสี และงานแกะสลักไม้ลวดลายพรรณพฤกษา ส่วนบนของหน้าบันมีพระปรมาภิไธยย่อพระองค์โสมฯ ประดับอยู่ด้วย โครงสร้างหลังคาพระวิหารลดหลั่นกันลงซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นมุขคลุมบันได ซึ่งขนาบด้วยปูนปั้นตัวมอม มีพระพุทธรูปปางประทานพรขนาดเกือบเท่าคนจริงตั้งประดับไว้โดยรอบพระวิหาร วิหารหลังนี้ถือเป็นวิหารไม้สักทองแห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่

พระศากยะมุนีสะหรีชัยมงคล


ภาพแกะสลักเรื่องรามเกียรติ์ภายในวิหาร

ภายในพระวิหาร ประดิษฐาน “พระศากยะมุนีสะหรีชัยมงคล” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ประทับอยู่บนฐานชุกชีไม้แกะสลัก ด้านหลังเป็นเรือนแก้วแกะสลักจากไม้รูปพญานาค ฝาผนังไม่ได้เป็นภาพจิตรกรรมอย่างที่มักพบเห็นในวิหารแห่งอื่นๆ แต่ที่นี่เป็นงานแกะสลักไม้เรื่องรามเกียรติ์


พระเจดีย์วัดสันคะยอม

พระเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร เดิมเป็นเพียงพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนธรรมดาๆ ต่อมาบุหุ้มด้วยแผ่นทองจังโกทั้งองค์ เจดีย์มีสัณฐานทรงสี่เหลี่ยม มีลายดุนแผ่นทองรูป 12 นักษัตรอยู่โดยรอบ เหนือขึ้นไปคือฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จ รองรับองค์ระฆังสีทอง ยอดเจดีย์กางกั้นด้วยฉัตรสีทอง 9 ชั้น



ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจหลายจุด อาทิ พระอุโบสถทรงไทยประยุกต์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์  หอพระไตรปิฎกทรงไทยโบราณโครงสร้างไม้ทั้งหลัง ไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของวัดนี้คือ “อุทยานการศึกษา” แหล่งเรียนรู้ของชุมชนขนาดย่อมๆ ซึ่งจัดแต่งเป็นสวนร่มรื่น มีบ่อปลา ตู้หนังสือ และพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กให้ผู้สนใจได้เข้าไปเยี่ยมชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการให้ทานการศึกษาที่ดีทีเดียวค่ะ


นอกจากนี้วัดสันคะยอมยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชนอีกหลายอย่าง ทั้งให้การอบรมพระพุทธศาสนาต่อเยาวชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักและภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916
150  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เยือน “วัดสันทรายมูล” ชมงานพุทธศิลป์ร่วมสมัย งดงามไม่แพ้ที่ใด เมื่อ: กุมภาพันธ์ 19, 2014, 04:22:55 PM
เยือน “วัดสันทรายมูล” ชมงานพุทธศิลป์ร่วมสมัย งดงามไม่แพ้ที่ใด

ถ้าจะเขียนเรื่องวัดในเชียงใหม่ ก็มีเรื่องให้เขียนมากมายไม่มีที่สิ้นสุด เพราะวัดในเมืองเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศาสนสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรวมของงานศิลปะพื้นถิ่นอันทรงคุณค่า ประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน รับใช้ทั้งบวรพุทธศาสนา และวิถีชีวิตของผู้คนมายาวนาน วัดแห่งเดียวถ้าจะเอากันให้ละเอียดก็สามารถแบ่งได้หลายสิบเรื่องแล้ว วันนี้ยังขอพาเพื่อนๆ ไปทัวร์วัดกันค่ะ ที่วัดสันทรายมูล แม้จะขึ้นชื่อว่าอยู่ต่างอำเภอ แต่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เลย


วัดสันทรายมูล ตั้งอยู่บนถนนสันทราย – พร้าว ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย เดิมชื่อว่า “วัดแสนมูลเมือง” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2370 ย้ายมาจากที่ตั้งเดิม ซึ่งถูกน้ำท่วมเป็นประจำ ชื่อวัดบ้างก็ว่าตั้งขึ้นตามชื่อหมู่บ้านสันทรายมูล แต่ในเอกสารสำรวจวัดในเมืองเชียงใหม่ เรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดสันทราย” ไม่ปรากฏคำว่า “มูล” ต่อท้าย สันนิษฐานว่าคำว่า “มูล” น่าจะมาจากนามของพระครูมงคลคุณาทร (ศรีมูล สิริจนฺโท) ซึ่งเป็นหลวงปู่ที่ชาวบ้านละแวกนี้เคารพนับถือ


เราสามารถเดินทางมาวัดแห่งนี้ได้ง่ายๆ จากแยกศาลเด็ก (เซ็นทรัลเฟสติวัล) มุ่งหน้าไปอำเภอดอยสะเก็ด ข้ามแยกแม่คาวสะอาดใสไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางแยกทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางดังกล่าวประมาณ 1 กิโลเมตร

พระวิหารวัดสันทรายมูล สร้างขึ้นใหม่แต่ก็ละเอียดสวยงามมาก

พญานาคปูนปั้นทางขึ้นพระวิหาร

หลังจากเล่าประวัติวัดให้เพื่อนๆ ได้พอรู้จักแล้ว เราลองมาดูสถานที่สำคัญภายในวัดกันบ้างนะคะ บริเวณวัดทั้งหมดปูด้วยอิฐตัวหนอนสีเขียวตัดกันดีกับตัวอาคารสีเหลืองทอง เริ่มกันที่พระวิหาร เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา วิจิตรบรรจงด้วยลวดลายปูนปั้น ช่อฟ้าเป็นช้างสามเศียร นาคสะดุ้งเป็นปูนปั้นมกรคายนาคตั้งแต่หัวจรดหาง หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษาสีทองตัดกับพื้นกระจกสีเขียว บันไดขนาบด้วยปูนปั้นมกรคายนาคเกล็ดสีม่วงชมพู

บรรยากาศภายในพระวิหาร โอ่อ่าและสวยงามมาก

พระพุทธโคตมชัยมงคล พระประธานในพระวิหาร

ภาพจิตรกรรมภายในพระวิหาร แม้จะวาดใหม่แต่ก็อ่อนช้อยสวยงาม



ภายในพระวิหารประดิษฐาน “พระพุทธโคตมชัยมงคล” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ผนังด้านหลังเป็นพื้นสีแดงเขียนสีทอง ผนังด้านอื่นๆ เป็นภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ และวิถีชีวิตชาวบ้าน จิตกรรมฝาผนังของพระวิหารหลังนี้สวยงามประณีตมาก เรียกได้ว่าหากเทียบกับภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นใหม่ในยุคหลังๆ นี้ จิตรกรรมภายในพระวิหารวัดสันทรายมูลไม่เป็นสองรองใครทีเดียว

พระเจดีย์ วัดสันทรายมูล

พระเจดีย์ ศิลปะล้านนา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหาร ฐานสี่เหลี่ยมยกสูง เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ต่อด้วยมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 7 ชั้น รองรับองค์ระฆังทรงกลมหุ้มด้วยทองจังโกถึงส่วนยอด ยอดเจดีย์กางกั้นด้วยฉัตรสีทอง 9 ชั้น

พระอุโบสถ วัดสันทรายมูล


พระพุทธชัยมงคลมหามุนี พระประธานในพระอุโบสถ

จิตรกรกำลังวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ

พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา อยู่ด้านข้างพระวิหารทิศเหนือ จะเรียกว่าเป็นพระวิหารย่อส่วนก็คงไม่ผิดนัก เนื่องจากภายนอกอาคารมีลวดลาย สีสัน และการประดับตกแต่งคล้ายกับพระวิหารมาก ด้านหน้าพระอุโบสถมีพระสีวลีอยู่สององค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย “พระพุทธชัยมงคลมหามุนี” เป็นพระประธาน ผนังก็มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามไม่แพ้ภายในพระวิหารเลย แต่อาจจะไม่ใช่ภาพจิตรกรรมที่ยึดขนบจ๋าเสียทีเดียว แต่มีความทันสมัยผสานอยู่ด้วยตามยุค

หอไตร วัดสันทรายมูล

วิหารพระเจ้าทันใจ

วัดสันทรายมูลอาจไม่ใช่พระอารามเก่าแก่อายุหลายร้อยปีเหมือนวัดอื่นๆ ในเชียงใหม่ แต่ก็จัดว่าเป็นวัดที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดๆ โดยเฉพาะความละเอียดอ่อนของภาพจิตรกรรมฝาผนัง และงานตกแต่งสถาปัตยกรรม เรียกได้ว่าถ้าลองมาเยือนแล้วจะต้องได้ความประทับใจกลับไปแน่ๆ ค่ะ เพราะเลดี้ ดาริกาเองก็เคลิบเคลิ้มไปเหมือนกัน

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :16:
151  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดผาลาด” เมื่อพระศาสนาผสานกับธรรมชาติ เมื่อ: กุมภาพันธ์ 18, 2014, 11:22:41 PM
“วัดผาลาด” เมื่อพระศาสนาผสานกับธรรมชาติ

มาเที่ยวเชียงใหม่หลายคนคงไม่พลาดไปเยือนพระธาตุดอยสุเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าระหว่างทางขึ้นดอยสุเทพมีวัดสวยงามแห่งหนึ่งซ่อนเร้นอยู่ใต้เงาไม้น้อยใหญ่ ครั้งนี้จึงขันอาสาพาเพื่อนๆ ไปรู้จักวัดที่หลายคนผ่านไปมาโดยไม่ให้ความสนใจ แต่สำหรับชาวเชียงใหม่ที่ขึ้นไปเที่ยวดอยสุเทพบ่อยๆ ก็คงจะเคยเห็นป้ายชื่อวัด “ผาลาด” กันมาบ้าง ไปทำความรู้จักกันเลยดีกว่าค่ะว่าแท้จริงแล้ววัดนี้น่าสนใจ และสวยงามมากขนาดไหน สมกับที่โม้ไว้หรือเปล่า


ศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปโดดเด่นอยู่ริมถนนสู่ดอยสุเทพ

วัดผาลาด มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "วัดสกิทาคา" ตั้งอยู่เลขที่บ้านห้วยผาลาด ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ ห่างจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยประมาณ 4.5 กิโลเมตร ทางเข้าวัดมีจุดสังเกตคือศาลา 2 หลัง กับป้ายชื่อวัดสีแดง สมัยผ่านไปมาเส้นทางนี้ช่วงแรกๆ เราก็นึกว่ามีอยู่แค่นี้ ที่ไหนได้มีอะไรมากมายซ่อนเร้นอยู่ในป่าด้านล่าง ขับรถลงไปประมาณสัก 200 เมตรก็มาถึงตัววัด ใครจะจอดรถไว้ริมถนนข้างบนแล้วเดินลงมาก็ได้

พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในศาลาริมทาง

ภาพแรกที่เห็นแล้วประทับใจคือการตกแต่งวัดที่ไม่ต่างไปจากรีสอร์ท วัดตั้งอยู่บนเชิงเขาเหนือหน้าผาที่ลาดชัน ได้ยินเสียงน้ำตกไหลกระทบหินประสานกับเสียงหรีดหริ่งเรไร ช่างน่ารื่นรมย์เสียจริง ไม่ได้เว่อร์เกินไปนะคะ


บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นมาก

ตำนานการสร้างพระธาตุดอยสุเทพเล่าเอาไว้ว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสี่ยงทายหาสถานที่สร้างพระธาตุ โดยปล่อยให้ช้างเดินไป หากช้างหยุดที่ใดก็จะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นั่น ช้างย่อเข่าลงบริเวณที่ตั้งวัดแห่งนี้ แต่ก็ลุกเดินต่อไปจนถึงดอยอ้อยช้าง จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ณ ที่แห่งนั้น ปัจจุบันคือพระธาตุดอยสุเทพ บริเวณที่ช้างหยุดย่อเขาลงครั้งแรกก็สร้างเป็นวัดแห่งนี้

ส่วนชื่อ “ผาลาด” ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าเดิมเรียกว่า “วัดผะเลิด” แปลว่า ลื่น เนื่องจากบริเวณนี้ทั้งคนและช้างมักลื่นล้มกันประจำ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดผาลาด” ตามห้วยผาลาดที่ไหลผ่านบริเวณวัด


พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์สีขาวล้วน สัดส่วนสวยงามมาก

พระวิหาร ตั้งอยู่กลางวัด แต่เดิมสร้างในสมัยพระเจ้ากือนา แต่ก็พังทลายจนเหลือแต่ฐาน จึงสร้างหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน พร้อมๆ กับเมื่อครั้งครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ โดยเลี่ยงไม่ให้ทับกับที่ตั้งวิหารหลังเดิม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนาผสมพม่า ฝีมือช่างชาวพม่า หน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักรูปนกยูง ประดับกระจกสีฟ้าเขียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบชาวลั้วะ คาดว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากือนา

วิหารของวัดผาลาด

พระประธานภายในพระวิหาร

พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา ศิลปะล้านนา ได้รับการบูรณะพร้อมๆ กับพระวิหารจึงมีรูปแบบศิลปะพม่า เพราะเป็นฝีมือช่างชุดเดียวกัน ฐานสี่เหลี่ยมรองรับฐานย่อเก็จหลายชั้น องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ประดับลายปูนปั้นยักษ์ ส่วนยอดแหลมไม่มีฉัตรกางกั้น ในอดีตเคยถูกขุดเจาะเอาของมีค่าออกไปจนยอดพังลงมา ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพสมบูรณ์

พระเจดีย์ทรงพม่า


วิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ สถาปัตยกรรมร่วมสมัย ตัวอาคารก่อด้วยอิฐ หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประตูด้านหน้ามีจิตรกรรมสวยงามรูปเทวดาสององค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์

วิหารพระเจ้าห้าพระองค์

บานประตูวิหารพระเจ้าห้าพระองค์ เขียนภาพสวยงาม

พระประธานภายในพระวิหารพระเจ้าห้าพระองค์

พระพุทธรูปหน้าผา เดิมคาดว่าที่ตั้งวิหารแบบพม่าที่ตั้งนิยมสร้างบนแนวผา ปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นเพียงส่วนฐาน เคยประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน หนึ่งในนั้นคือ “พระไล่กา” ว่ากันว่าคนโบราณลงอาคมเอาไว้ในพระพุทธรูปดังกล่าว เพื่อไม่ให้อีกา สัตว์แห่งความโชคร้าย บินผ่านวัด ต่อมาถูกทำลายไปสมัยทำสงครามกับพม่า ภายหลังชาวไทใหญ่ที่อพยพลี้ภัยสงครามมาอาศัยในบริเวณนี้ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ แต่เป็นศิลปะแบบไทใหญ่

พระพุทธรูปหน้าผา


ห้วยผาลาดเป็นลำธารที่ไหลผ่านด้านหน้าพระพุทธรูปหน้าผา น้ำจะไหลไปทางทิศตะวันออก ซึ่งในบริเวณนั้นจะเป็นหน้าผาลาดชันลงเรื่อยๆ กลายเป็นน้ำตกขนาดเล็ก จุดนี้เรามองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ได้ด้วย

จากบริเวณวัดมองเห็นวิวเมืองเชียงใหม่

บ่อน้ำทิพย์


ภายในวัดยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ทั้งบ่อน้ำทิพย์ วิหารเก่าวัดสามยอบ ศาลาพระพุทธรูป ลานปฏิบัติธรรมที่ร่มรื่น และประติมากรรมปูนปั้นต่างๆ ใครที่มาเที่ยวต้องติดใจความสงบงาม และบรรยากาศร่มรื่นราวกับหลุดมาสู่โลกอีกใบหนึ่ง วัดนี้เป็นสถานปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกา เวลาที่มาเยี่ยมชมต้องสำรมกิริยาวาจา แต่งกายสุภาพเคารพสถานที่กันด้วยนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
152  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำสถานทีเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่-สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ / สักการะพระพิฆเนศ 3 เศียรใหญ่สุดในโลก ณ “บ้านร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัยสถาน” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 18, 2014, 10:57:57 PM
สักการะพระพิฆเนศ 3 เศียรใหญ่สุดในโลก ณ “บ้านร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัยสถาน”

แม้ว่าบ้านเราจะเป็นเมืองพุทธ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานพอๆ กับพระพุทธศาสนา และแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแยกไม่ออก เห็นได้จากรูปปั้นเทพเจ้าฮินดูต่างๆ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทั่วไป หนึ่งในเทพฮินดูที่คนไทยเคารพนับถือกันมากก็คือ “พระพิฆเนศ”  เทพแห่งสติปัญญา ความสำเร็จ และศิลปวิทยาการทั้งมวล ครั้งนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์กัน เพิ่งเปิดให้ชมได้ไม่นานมานี้  “บ้านร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัยสถาน”    



บ้านร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัยสถาน ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซอย 2 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองใหม่ จากถนนสุเทพ หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งหน้าไปทางดอยสุเทพ ทางเข้าซอย 2 อยู่ตรงข้ามกับทางเข้าวัดฝายหิน ไปตามทางจนพบกำแพงปูน เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็ถึงแล้วค่ะ ตลอดทางมีป้ายบอก แต่ถ้าใครอ่านแล้วยังงงๆ อยู่ดูตามแผนที่ได้เลย


เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นโดยอาจารย์เข้ม มฤคพิทักษ์ อดีตอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเทวาลัยขนาดเล็กแต่ว่าไม่ธรรมดา เมื่อเราไปถึงจะพบพระพิฆเนศสามเศียรองค์ใหญ่ แกะสลักจากไม้ตะเคียนทั้งต้น ว่ากันว่าเป็นพระพิฆเนศไม้สามเศียรองค์ใหญ่ที่สุดในโลก สูง 6 เมตร หนัก 5 ตัน อาจารย์เข้มได้แรงบันดาลใจจากความฝัน ว่าพระพิฆเนศมาเข้าฝันให้สร้างรูปสลักท่านจากไม้ตะเคียนที่จมอยู่ในหนองน้ำในที่ดินที่อาจารย์ซื้อเอาไว้ ใช้เวลาแกะสลักกว่าปีครึ่งจึงแล้วเสร็จ ประกอบพิธีประดิษฐานบนแท่นบูชาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556 นอกจากนี้ยังมีพระพิฆเนศปางเสวยสุข แกะสลักด้วยไม้อีกองค์หนึ่ง แต่มีขนาดเล็กกว่า

พระพิฆเนศสามเศียรแกะด้วยไม้ตะเคียนทั้งต้น องค์ใหญ่ที่สุดในโลก

พระพิฆเนศปางเสวยสุข

กระจกแกะลายรดน้ำบานใหญ่ที่สุดในโลก

กระจกลายรดน้ำรูปครุฑยุดนาคเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดชม เพราะเคลมว่าใหญ่ที่สุดในโลก สูง 3.5 เมตร กว้าง 4.5 เมตร หนา 12 มิลลิเมตร เป็นลายรดน้ำโบราณแบบอยุธยา คัดแบบมาจากหีบไม้สักโบราณที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ใช้เวลาแกะปีครึ่ง พิเศษตรงที่เมื่อใช้ไฟส่องด้านหลัง ลายบนกระจกจะลอยเหมือนภาพสามมิติ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เตรียมเสนอ Guinness World Records บันทึกความเป็นที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการอีกด้วย

บ้านทวารบาล

บานประตูเขียนภาพตัวละครในรามเกียรติ์


ภาพเขียนสีทองบนพื้นแดงสวยงามมาก



สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “บ้านทวารบาล” เป็นอาคารไม้ 4 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) เหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่ามีบานประตูหน้าต่างแบบโบราณกว่าร้อยบาน ทั้งภายใน และภายนอกอาคารประดับด้วยงานศิลป์หลายรูปแบบ อาทิ จิตรกรรมสมัยอยุธยาสวยสดงดงาม เรื่องราวจากรามเกียรติ์เสียเป็นส่วนใหญ่ และภาพเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ เทวดาต่างๆ ชุดภาพโยคะ ภาพลายรดน้ำรูปเทวดา และป่าหิมพานต์ งานแกะสลักไม้พระแม่ธรณี พระแม่คงคา สัตว์ป่าหิมพานต์ เป็นต้น โดยที่งานศิลป์บนแผ่นไม้สักจะใช้แผ่นทองคำแท้ทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็น Gallery Arts ชั้นยอดสำหรับคนรักงานแบบไทยๆ ก็คงจะไม่ผิดนัก

สัตว์ป่าหิมพานต์สร้างตามคติความเชื่อจักรวาลวิทยา

งานแกะกระจกอ่อนช้อยไม่แพ้กัน

งานแกะสลักไม้พระแม่ธรณีบีบมวยผม


ภาพวาดลายพระอินทร์ตามแบบศิลปะไทย



บ้านร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ใช้เวลาในการสร้างกว่า 10 ปี ท่านอาจารย์เข้มตั้งใจให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าชมฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สโลแกนที่ว่า “ไม่ห้ามถ่ายรูป ไม่ห้ามจับต้อง” ใครอยากจับตรงไหนจับได้ตามสบาย เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ผู้ชมเข้าถึงงานศิลปะได้ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าพิพิธภัณฑ์ทั่วไป เพื่อนๆ ที่ศรัทธาในองค์พระพิฆเนศ หรือชื่นชอบในงานศิลปะไทย อย่าลืมแวะเยี่ยมชมกันนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :25:
153  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา “คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 18, 2014, 10:35:40 PM
ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา “คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)”

คนชอบเที่ยวเวียงชมวังอย่างเลดี้ ดาริกา ไปเที่ยวที่ไหนๆ นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว หากมีเวียงวังหรือคุ้มหลวงที่ไหนก็ต้องขอแวะเขาไปสัมผัสบรรยากาศคลาสสิกๆ ดูเสียหน่อย เพราะนอกจากจะได้ชมของเก่าแก่สวยๆ งามๆ แล้ว ยังได้สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตที่ไม่สามารถหาได้แล้วแน่นอนในปัจจุบัน ถึงเราจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ แต่ก็พอจะมีสถานที่บางแห่งเอาไว้โหยหารำลึกถึงรากเหง้าวัฒนธรรมบ้าง จริงไหมคะ?

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา

มาอยู่เมืองเชียงใหม่ได้ระยะหนึ่งจึงตระหนักได้ว่าที่นี่หาคุ้มหลวงเก่าๆ ให้เข้าไปเยี่ยมชมได้ยากเต็มที่ ทั้งๆ ที่ถ้าเทียบกับจังหวัดเพื่อนบ้านหลายแห่งแล้ว เชียงใหม่ถือเป็นเมืองไฮไลท์ของล้านนาทีเดียว แต่ในขณะที่จังหวัดชนบทที่ยังคงวิถีพื้นถิ่นได้ดีอย่างเมืองน่าน แพร่ และลำปางยังคงรักษาอาคารสถานเก่าๆ และเปิดให้คนได้เยี่ยมชม แต่ก็ใช่ว่าเชียงใหม่จะสิ้นไร้อาคารเก่าๆ เสียทีเดียว แต่คงเป็นพระบ้านเก่าๆ และคุ้มของเจ้านายหลายองค์ถูกใช้ประโยชน์ในทางอื่นๆ เสียมากกว่าจะเอามาเป็นพิพิธภัณฑ์ นอกจากพระตำหนักดาราภิรมย์นอกเมืองในเขตอำเภอแม่ริมแล้ว ก็ยังมี “คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์” นี่แหละที่ทำให้ฉันแฮปปี้ดี้ด้าขึ้นมาได้บ้าง ว่าแล้ววันนี้ก็ขอนำเสนอที่ท่องเที่ยวกลางเมืองเชียงใหม่ “ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์” กันดีกว่าค่ะ

คุ้มกลางเวียง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นผสมตะวันตก โดดเด่นแต่เรียบง่าย

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ หลายๆ คนเรียกกันติดปากว่า “คุ้มกลางเวียง” ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน สี่แยกกลางเวียงเก่าเชียงใหม่พอดิบพอดี ปัจจุบันอยู่ภายใต้กำกับดูแลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเป็นอาคารทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานการศึกษาวิจัยว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนาของนักศึกษา เผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปที่สนใจ



คุ้มกลางเวียงแห่งนี้ เจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ หลานของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฟั่น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๓๖ อายุประมาณ ๑๑๐ ปีแล้ว คุ้มแห่งนี้ตกทอดสู่ทายาทรุ่นต่อรุ่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับมอบจากทายาทเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ รูปแบบสถาปัตยกรรมแห่งนี้โดดเด่น เป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมท้องถิ่นล้านนา และสถาปัตยกรรมตะวันตกสองชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ชั้นสองเป็นโครงสร้างไม้ มีระเบียงยาวหนึ่งฟาก หลังคาจั่วทรงปั้นหยาแบบมะนิลา ชั้นล่างก่ออิฐหนาเป็นทรงโค้งฉาบปูน ชั้นบนเป็นพื้นไม้สักมีระเบียงโดยรอบ ถือเป็นสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกที่ยุคแรกๆ ของเชียงใหม่เลยทีเดียว

โครงสร้างชั้นสองเป็นอาคารไม้คลาสสิกมาก

ระเบียงด้านทิศเหนือ มีพื้นที่สำหรับพักผ่อนและห้องพระ

ระเบียงทางด้านทิศใต้ชั้นสอง

ปัจจุบันคุ้มแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของนักศึกษาโดยไม่เก็บค่าผ่านประตูค่ะ ภายในจัดแสดงเป็นห้องๆ เน้นนิทรรศการหมุนเวียน เมื่อเข้าไปในส่วนแรก เป็นส่วนจัดแสดงประวัติของอาคารหลังนี้ มีแบบจำลองของอาคารให้ชม ห้องด้านข้างจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เดินขึ้นบันไดไปชั้นสองของอาคารใช้จัดแสดงเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในเมืองเชียงใหม่ พร้อมแบบจำลอง ไม่เพียงแต่วิหาร หรืออาคารพื้นบ้านเท่านั้น แต่รวมไปถึงอาคารอิทธิพลตะวันตก ตลอดจนอาคารพานิชย์ในแต่ละยุค เรียกได้ว่าใครชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมเชิญที่นี่ได้เลยค่ะ

ส่วนจัดแสดงภาพถ่ายและนิทรรศการหมุนเวียนชั้นล่าง

ห้องจัดแสดงชั้นสองเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ในเมืองเชียงใหม่

แบบจำลองสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ในเชียงใหม่


ด้านนอกอาคารมีลานกว้างล้อมรอบด้วยกำแพงเก่าคลาสสิกใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและจัดแสดงผลงานกลางแจ้งในโอกาสต่างๆ จุดสนใจของที่นี่ (อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของที่นี้ไปแล้ว) คืองานศิลปะที่สร้างขึ้นจากการดัดไม้ไผ่ให้เป็นทรงเรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าว ตั้งอยู่บนโครงไม้ไผ่อีกทีหนึ่ง ศิลปินต้องการทดลองดัดไม้ไผ่ให้เป็นรูปทรงต่างๆ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เคยจัดแสดงร่วมกับงานชิ้นอื่นๆ หลังจากหมดช่วงเวลาจัดแสดงงาน ผลงานชิ้นอื่นถูกเก็บไปเหลือเพียงชิ้นนี้ไว้เท่านั้น

ผลงานการดัดไม้ไผ่ให้เป็นรูปทรงเมล็ดข้าวตั้งโดดเด่นอยู่ที่ลานหน้าคุ้ม

จากภายในบริเวณคุ้มแห่งนี้มองออกไปทางทิศตะวันตกจะเห็นยอดวิหารไม้แบบล้านนาของวัดพันเตา ไกลออกไปเห็นซากเจดีย์หลวงใหญ่โต เสียดายที่เจดีย์หลวงหักพังไป และมีสายไฟพาดผ่าน ทำให้ทัศนียภาพแย่ลงนิดหน่อย แต่ลองมานั่งคิดถึงช่วงเวลาในอดีตที่ไม่มีสายไฟพันกันรุงรังมารกรบกวนสายตา และถ้าหากเจดีย์หลวงตั้งตระหง่านอยู่ในสภาพสมบูรณ์ คงจะเป็นทัศนียภาพที่สวยงามติดตาตรึงใจไม่น้อย

กำแพงอิฐเก่าๆ ที่ดูไร้ค่าแต่กลับทรงคุณค่า...งงไหม? :)

ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 8:30 – 16:30 น

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :5569fb93:
154  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / สักการะพระพุทธไสยาสน์โบราณ ณ วัดพระนอนขอนม่วง เมื่อ: กุมภาพันธ์ 18, 2014, 02:28:45 PM
สักการะพระพุทธไสยาสน์โบราณ ณ วัดพระนอนขอนม่วง

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานทรงกล่าวกับเหล่าพระสาวกว่าพระธรรมคือตัวแทนของพระองค์ แต่ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยากจะมีสิ่งรำลึกถึงพระพุทธองค์ที่เป็นรูปธรรม จึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้น ปัจจุบันปรากฏพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากพุทธประวัติ แต่บางองค์ก็สร้างตามตำนาน  หรือจินตนาการ  หนึ่งในปางที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือปางไสยาสน์ หรือพระนอน จึงอยากพาเพื่อนๆ ไปกราบสักการะพระนอนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ที่ “วัดพระนอนขอนม่วง” กันค่ะ


วัดพระนอนขอนม่วง ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอเมืองเชียงใหม่ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นสมัยใด แต่คาดว่าน่าจะสร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 โดยเทียบกับลักษณะของโบราณสถานประเภทเดียวกัน  ตามตำนานได้กล่าวเอาไว้ว่าวัดนี้มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ชาวบ้านเรียกว่า “พระนอนพรัง” สร้างขึ้นตามความเชื่อที่ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาไสยาสน์ (นอน) บนขอนไม้มะม่วงบริเวณนี้ วัดนี้อยู่ใกล้ลำห้วยแม่ชะเยือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดพระนอนแม่ชะเยือง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2406 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ทรงบูรณะวัดและเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระนอนขอนม่วง”

พระพุทธรูปนอนภายในพระวิหาร ไฮไลท์ของวัดนี้



พระวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยครูบาศรีวิชัย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังใหญ่ สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ด้านหน้ามีทางเข้า 2 ประตู ภายในประดิษฐาน “พระพุทธรูปไสยาสน์พระนอนขอนม่วง” เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า และพระเกศาธาตุพร้อมพระอังคารธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ผนังด้านหลังเป็นกระจกรูปดอกไม้สีสันต่างๆ ถัดจากพระนอนเป็นรอยเท้าครูบาศรีวิชัย ที่ฝาผนังมีจิตรกรรมเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติในพระชาติพระเวสสันดร

วิหารพระพุทธไสยาสน์

บรรยากาศภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์

ภาพจิตรกรรมภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์


พระอุโบสถ อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยงานแกะสลักไม้พรรณพฤกษา จุดเด่นของโบสถ์หลังนี้คือไม่มีหน้าต่าง มีเพียงแต่ป่องลวงแนวตั้ง หรือช่องลมเล็กๆ เท่านั้น นับได้ว่าหาชมได้ยากในปัจจุบัน

พระอุโบสถของวัด

พระเจดีย์อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีรูปปั้นเทวดาอยู่โดยรอบ เหนือขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จ รับกับองค์เจดีย์ทรงระฆัง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 5 ชั้น เพื่อนๆ ลองมองดีๆ ลักษณะโดยรวมของเจดีย์คล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพมากเพียงแต่เล็กกว่าเท่านั้น

พระเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ

หอธรรมจัตุรมุข อยู่ด้านข้างพระอุโบสถ เป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งไม้ครึ่งปูน สถาปัตยกรรมล้านนา ชั้นล่างบริเวณซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและดอกบัว ส่วนชั้นบนเป็นอาคารไม้ทั้งหมดทรงจัตุรมุข มีชานอยู่โดยรอบ ที่ลูกกรงเป็นปูนมีลายปูนปั้นเทวดา นับได้ว่าเป็นหอธรรมที่หาชมได้ยากมาก เพราะโดยส่วนใหญ่จะเป็นหอธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากสภาพในปัจจุบันทรุดโทรมมาก ไม่ต่างจากซากปรักหักพังที่ขาดการดูแลเอาใจใส่

หอธรรมจัตุรมุข


ทุกๆ ปีจะมีงานประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปไสยาสน์พระนอนขอนม่วง พุทธศาสนิกชนที่เคารพเลื่อมใสจะเดินทางมาร่วมงาน นำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการะ พร้อมนำน้ำอบ น้ำหอม น้ำส้มป่อย มาสรงน้ำพระนอนและพระบรมธาตุ


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
155  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เยือนวัดตำหนัก ชมพุทธสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า เมื่อ: กุมภาพันธ์ 18, 2014, 02:12:42 PM
เยือนวัดตำหนัก ชมพุทธสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า

รู้จักวัดในเมืองเชียงใหม่มาเยอะพอสมควร บางคนอาจจะเริ่มเบื่อๆ กันแล้ว ครั้งนี้เลยขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับวัดชานเมืองกันบ้าง เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้จักวัดนี้ สำหรับฉันเองแล้ววัดนี้ก็เป็นม้านอกสายตาเหมือนกันค่ะ ไปเที่ยววัดนี้กันนะคะ
   
วัดตำหนัก ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนัก ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ทางทิศใต้ของสนามบินเชียงใหม่ วัดนี้เข้าได้ 2 ทาง เส้นทางแรกจากถนนสมโภช 700 ปี เชียงใหม่ อีกเส้นทางหนึ่งคือถนนเชียงใหม่-หางดง มีป้ายบอกทางชัดเจน วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นสมัยใด แต่พอจะเทียบเคียงหลักฐานจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาของพระสิริมังคลาจารย์ หนังสือพงศาวดารโยนก และชินกาลมาลีปกรณ์ ที่ได้กล่าวถึงวัดตำหนักในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป โดยมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน

วัดตำหนักฯ ต.แม่เหียะ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่

สันนิษฐานว่าอาจสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2050 ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์พระองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “วัดเวฬุวนาราม” หมายถึงป่าไผ่ ตั้งอยู่ทางทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ของนครเชียงใหม่ พระองค์เคยเสด็จไปบรรจุพระบรมธาตุ ณ พระเจดีย์ของวัดเวฬุวนารามนี้ในปี พ.ศ. 2062     
   
ข้อความท้ายคัมภีร์ของพระสิริมังคลาจารย์ พระปราชญ์แห่งล้านนาไทย เขียนไว้ว่าท่านอยู่ที่วัดสวนขวัญห่างจากวัดพระสงฆ์ไปทางทิศใต้ 1 คาวุต (ประมาณ 4 กิโลเมตร)

ร่องรอยกำแพงและซุ้มโขงโบราณภายในบริเวณวัด
   
ในปี 2339 พระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน ทรงยกทัพมาพักแรมในบริเวณนี้ ข้าราชบริพารได้สร้างพลับพลาที่ประทับถวายบริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ซึ่งชาวเชียงใหม่เรียกว่าพลับพลานั้นว่า “ตำหนัก” ผู้คนจึงเรียกหมู่บ้านแถบนี้ว่า “หมู่บ้านตำหนัก” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
   
จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตวัดนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ทั้งเวฬุวัน สวนขวัญ ตำหนัก และสิริมังคลาจารย์ ดังนั้นจึงมีการนำชื่อต่างๆ มารวมกันเป็นชื่อเดียวว่า “วัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วัดตำหนัก”

ซากปรักหักพังของซุ้มประตูโขงโบราณ

ซุ้มประตูโขงอยู่ด้านหน้าพระวิหารหลังใหม่ มีขนาดใหญ่มาก และยังคงความสมบูรณ์อยู่ สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคเริ่มสร้างวัด อีกทั้งยังมีแนวกำแพงโบราณปรากฏอยู่ข้างๆ ซุ้มประตูอีกด้วย

วิหารหลังใหม่ (สร้างทดแทนหลังเก่า)

ภาพจิตรกรรมเหนือบานประตูพระวิหาร

พระวิหารหลังใหม่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันมีลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และธรรมจักร ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ บานประตูเป็นงานแกะสลักไม้รูปพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ สวยงามมาก

หอไตรสร้างใหม่แบบล้านนา

เทวดาปูนปั้นประดับรอบๆ หอไตร
   
หอไตร ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหารหลังใหม่ เป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมล้านนา ความรู้สึกแรกที่เห็นนึกถึงหอไตรวัดพระสิงห์เลย เพราะคล้ายกันมากๆ ทั้งขนาด การตกแต่ง และลายปูนปั้นรูปเทวดาที่อยู่โดยรอบหอไตร คาดว่าน่าจะใช้หอไตรวัดพระสิงห์เป็นต้นแบบ

อนุสาวรีย์พระสิริมังคลาจารย์
   
อนุสาวรีย์พระสิริมังคลาจารย์ อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงท่านที่เคยมาพำนักที่วัดแห่งนี้

พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา รูปทรงแปลกตา

บันไดนาคหน้าพระอุโบสถ
   
พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด ได้รับการบูรณะต่อเนื่องเรื่อยมา โดดเด่นด้วยลายปูนปั้นละเอียดอ่อนช้อย  เป็นรูปมกรคายนาคที่น่าเกรงขาม

พระ้เจดีย์ศิลปะพม่า
   
พระเจดีย์ ศิลปะพม่าสร้างขึ้นครอบองค์เดิมในสมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จ 3 ชั้น โดยที่บริเวณมุมของชั้นแรกเป็นเจดีย์บริเวณ ส่วนอีกสองชั้นมีลักษณะคล้ายพานพุ่ม ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ปล้องไฉนประดับด้วยกระจกสี ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น

พระวิหารโบราณของวัด สร้างขึ้นสมัยพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่

โครงสร้างแบบเรียบง่าย แต่คลาสสิก

บานประตูไม้ของพระวิหารหลังเก่า

พระประธานภายในวิหารหลังเก่า
   
พระวิหารโบราณ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด ข้างพระอุโบสถ สร้างขึ้นในช่วงที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนาที่เก่าแก่มาก ช่อฟ้า และนาคสะดุ้งทำจากไม้ หลังคามุงด้วยแผ่นปูนบางๆ วางเรียงกัน หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักนูนต่ำลวดลายพรรณพฤกษาที่ยังคงความสมบูรณ์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชาวบ้านอยู่หลังพระประธาน   

ลวดลายแกะสลักไม้ประดับหน้าบันพระวิหาร




นับได้ว่าวัดตำหนักเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน ปรากฏร่องรอยโบราณสถานที่หลงเหลือมาจากยุคพม่าปกครองเมือง ซึ่งมีความสวยงามคลาสสิก ผสมผสานกับปูชนียสถานที่สร้างขึ้นใหม่ และยังเป็นที่พำนักของพระสิริมังคลาจารย์ ปราชญ์แห่งล้านนาอีกท่านหนึ่ง เพราะสร้างคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาไว้มากมาย จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ให้มาเยี่ยมเยือนวัดแห่งนี้ เพื่อศึกษาความงามของสถาปัตยกรรม และเรื่องราวของท่านสิริมังคลาจารย์กันค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912
156  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / นั่งเล่นจิบเครื่องดื่มในสวนหน้าบ้านที่ “Sweet Tree Fruit Juice & Coffee” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 14, 2014, 11:37:41 PM
นั่งเล่นจิบเครื่องดื่มในสวนหน้าบ้านที่ “Sweet Tree Fruit Juice & Coffee”

ยามว่างเพื่อนๆ ทำอะไรกันบ้างคะ? แน่นอนว่าเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ และผูกพันอยู่ในเว็บไซต์ก็คงจะรักการเดินทางท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ ฉันก็เหมือนกันค่ะ เรียกได้ว่ามีเวลาว่างเมื่อไรเป็นต้องเก็บกระเป๋าออกเดินทาง แต่นั้นก็ต้องเป็นวันหยุดที่ค่อนข้างยาวสักหน่อย แล้ววันธรรมดาๆ ล่ะคะเพื่อนๆ ทำอะไรกัน? สำหรับฉัน ร้านกาแฟหรือร้านชาที่มีบรรยากาศผ่อนคลายสบายๆ คือคำตอบที่ดีที่สุด และก็ช่างเป็นเรื่องเหมาะเจาะกันเสียเหลือเกิน ที่เมืองเชียงใหม่มีร้านแบบนี้อยู่เยอะแยะเกลื่อนเมืองไปหมด



“Sweet Tree Fruit Juice & Coffee” บนถนนสันติธรรม คือร้านนั่งเล่นสบายๆ อีกแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ที่เลดี้ ดาริกาอยากจะแนะนำเพื่อนๆ ค่ะ เดินทางง่ายมากๆ จากแยกแจ่งหัวริน (แยกใกล้ๆ กับเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว) เลี้ยวเข้าไปทางถนนสันติธรรมไม่ไกล สังเกตซอย YMCA ร้านตั้งอยู่ปากซอยพอดีเลยค่ะ ก่อนถึงวัดสันติธรรมเล็กน้อย

บรรยากาศภายในร้านร่มรื่นไปด้วยต้นไม้

บรรยากาศนอกร้านมีบ่อปลาคาร์ฟด้วย

บรรยากาศภายในร้านร่มรื่นไปด้วยร่มไม้น้อยใหญ่ เรียกว่าสมชื่อ Sweet Tree มากๆ โดยพี่น้องเจ้าของร้านร่วมกันสร้างสรรค์ร้านนี้ขึ้นภายในบริเวณบ้านของตัวเอง เสมือนได้พักผ่อนวันหยุดอยู่ในสวนบ้านตัวเอง อาคารของร้านทรงสูงชะลูด แทรกตัวอยู่ใต้เงาไม้ได้อย่างลงตัว ใช้สีเหลืองเป็นโทนหลัก ดูแล้วสดชื่นและอบอุ่นลึกๆ ภายในร้านสูงโปร่ง แม้จะแคบแต่ก็โล่งสบายไม่อึดอัด ที่นั่งจัดไว้เป็นสัดส่วนให้ลูกค้าได้เลือกนั่งตามรสนิยม ใครชอบบรรยากาศโล่งๆ นอกอาคารก็มีโต๊ะไว้ให้บริการใต้ไม้ใหญ่ มีปลาคาร์ฟแหวกว่ายไปมาในบ่อน้ำให้ชมเพลินๆ ด้วย หรือใครชอบแบบเหยียดนอนยาวๆ ก็เชิญด้านในสุดได้เลย หรือใครมาเป็นกลุ่มเพื่อน อยากได้ทั้งนั่งคุยเป็นส่วนตัวสักหน่อย จะลองขึ้นไปที่โซฟาชั้นลอยก็ได้นะคะ อาจจะคับแคบสักหน่อย แต่ว่าได้บรรยากาศไปอีกแบบ



ชมบรรยากาศของร้านกันแล้ว เรามาหาอะไรดื่มดับกระหายกันเสียหน่อยนะคะ จากชื่อร้านก็คงพอเดาคอนเซ็ปต์กันได้ไม่ยากนัก ใช่แล้วค่ะ...ที่นี่เน้นขายน้ำผลไม้ มีทั้งน้ำผลไม้ทั่วไปที่เราคุ้นชินกันดีแล้ว เพิ่มเมนูทางเลือกสำหรับผู้รักสุขภาพด้วยน้ำผลไม้พื้นเมืองที่มีให้ดื่มเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น และน้ำสมุนไพรดับกระหายอย่างเช่น น้ำอัญชัน น้ำใบเตย น้ำตะไคร้ นี่แค่ตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นนะคะ

นอนเหยียดยาวในวันสบายๆ ก็ดีไปอีกแบบ


สำหรับคนรักกาแฟก็ไม่ต้องตกอกตกใจไป กลัวว่าจะไม่ได้ดื่มกาแฟอย่างที่ตัวเองชอบ เพราะเลดี้ดาริกาก็เป็นคอกาแฟเหมือนกันค่ะ ที่นี่เคยเปิดเป็นร้านกาแฟมาก่อน จึงมีเมนูกาแฟให้เพื่อนๆ ได้เลือกสรรตามรสนิยมเหมือนกันค่ะ นอกจากเครื่องดื่มหลากหลายชนิดที่มีให้คุณเลือกได้ตามความชอบแล้ว ที่นี่ก็มีขนมไว้คอยบริการด้วย ที่ชอบที่สุดของคงจะเป็น “อัญชันโรล” ที่ยังเห็นดอกอัญชันเป็นกลีบๆ ยั่วยวนน้ำลายมากๆ เลยค่ะ สีน่าทานหวานมันมะพร้าว นุ่มอร่อย และที่สำคัญแปลกตามากๆ

อัญชันโรล...น่ากินไหม? ><


เครื่องดื่มและขนมที่นี่ราคาไม่แพงค่ะ เรียกว่าถูกกว่าร้านดังหลายๆ ร้านที่ราคาดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไร แต่สำหรับ Sweet Tree Fruit Juice & Coffee แล้ว ราคาสมเหตุสมผล รับได้ค่ะ ร้านนี้เปิดทุกวันค่ะ ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่ 9:30 – 18:30 น. ค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :01:
157  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดท่าใหม่อิ” เมื่อวัดกับสวนสวยเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อ: กุมภาพันธ์ 13, 2014, 11:46:52 PM
“วัดท่าใหม่อิ” เมื่อวัดกับสวนสวยเป็นเรื่องเดียวกัน

ถ้าพูดถึงวัด หลายคนคงนึกถึงปูชนียสถานต่างๆ ศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ฯลฯ ที่ตกแต่งสวยงามตามแบบฉบับของท้องถิ่นนั้นๆ เมื่อมองแล้วรู้สึกว่า “วัดนี้สวยดีเนอะ” แต่ใครจะไปคิดว่ามีอยู่วัดหนึ่ง (เท่าที่เคยไปเยี่ยมเยือนมานะคะ) ที่เมื่อแรกพบต้องอุทานว่า “เฮ้ย… นี่วัดจริงๆ เหรอ” เลยอดไม่ได้ที่จะเก็บภาพพร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝากเพื่อนๆ “วัดท่าใหม่อิ” ตามไปดูกันเลยเถอะว่าวัดนี้มีดีอะไรบ้าง 


วัดท่าใหม่อิ ตั้งอยู่บนถนนวงแหวนรอบนอก เชิงสะพานข้ามแม่น้ำปิง บ้านท่าใหม่อิ ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีอายุมากกว่า 500 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยกทัพขึ้นมารบกับพม่า สันนิษฐานว่าชื่อวัดมีที่มาจากพระนาม “พระนางมณีจันทร์” พระชายาของพระนเรศวร ซึ่งเคยใช้พระนามแฝงว่า “แม่อิ” (เป็นคำขึ้นต้นของบทสวดอิติปิโส) เพื่อความปลอดภัย ชื่อนี้ได้กลายมาเป็นชื่อของวัด “วัดท่าอิ” ต่อมาเพี้ยนเป็น “วัดท่าใหม่อิ” จนถึงปัจจุบัน

วิหารวัดท่าใหม่อิ สถาปัตยกรรมล้านนาขนากระทัดรัด แต่สง่างาม

บรรยากาศภายในพระวิหาร

หลวงพ่อมงคลพรหมวิหารบันดาลโชค

จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร

พระวิหาร สถาปัตยกรรมล้านนา อาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ หน้าบันประดับด้วยงานแกะสลักไม้พรรณพฤกษาสีทองอร่าม ราวบันไดเป็นมกรคายนาคปากนกแก้วสีขาวสะอาดตา ภายในประดิษฐานหลวงพ่อมงคลพรหมวิหารบันดาลโชค พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธาน เสาแต่ละต้นและโครงสร้างของอาคารงดงามด้วยลายคำ ฝาผนังเขียนภาพจิตกรรมเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก มีความพิเศษตรงที่ใช้ทองคำเปลวประดับในบางจุดอีกด้วย

พระเจดีย์วัดท่าใหม่อิ

พระเจดีย์ขนาดเล็กอยู่ด้านหลังพระวิหาร ศิลปะล้านนาผสมพม่า ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จสองชั้น องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดเล็กมาก ประดับด้วยกระจกหลากสี ส่วนยอดเป็นฉัตร 7 ชั้น

อุโบสถวัดท่าใหม่อิ

พระอุโบสถอยู่ด้านข้างพระวิหาร สถาปัตยกรรมล้านนา ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร หลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น หน้าบันประดับไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา

หอพระไตรปิฎก

หอพระไตรปิฎก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สถาปัตยกรรมล้านนา มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นตรงที่สามารถเข้าไปชั้นล่างได้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย


หอระฆัง ศิลปะล้านนาร่วมสมัย มี 2 ชั้น ชั้นบนมีระฆังแขวนอยู่ ส่วนชั้นล่างมีรูปปั้นขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระพิฆเนศ

บรรยากาศวัดร่มรื่นมาก


ปูชนียสถานอื่นๆ ที่น่าสนใจมีอีกหลายจุด เช่น กุฏิ ศาลพ่อปู่ฤๅษีตาไฟ ศาลาพระเจ้าทันใจ ศาลาพระประจำปีเกิด รูปปั้นพระพิฆเณศ หลวงพ่อโชคดีประดิษฐานอยู่ใต้ต้นไทร และศาลเจ้าแม่กวนอินพันมือ ปูชนียสถานสำคัญเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ใต้ร่มเงาไม้ ร่มรื่นมากๆ และประดับประดาด้วยรูปปูนปั้นต่างๆ มากมาย เดินอยู่ในสวนเลยค่ะ


ลองมาดูจุดสนใจภายในวัดที่ไม่ใช่ปูชนียสถานกันบ้าง ถ้าเป็นวัดอื่นอาจจะไม่ได้กล่าวถึง แต่วัดนี้ไม่กล่าวไม่ได้เลย เพราะเป็นจุดที่น่าสนใจมาก จุดแรกคือสวนด้านหน้าวัด อยู่ติดกับถนนใหญ่ ตกแต่งสไตล์ไทยผสมยุโรป มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ใต้ต้นก้ามปู ทางเดินและใต้ต้นไม้มีต้นทิวลิปหลากสี เป็นของเทียมนะคะ ของจริงคงอยู่ไม่ได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นยังมีกังหันลมแบบเนเธอแลนด์อีกสองอันวางอยู่ในสวนด้วย 

ภายในห้องน้ำสะอาดสวยงาม

ห้องน้ำตามปีนักษัตร

จุดที่สองคือ “ห้องน้ำลอยฟ้า” อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด มีความพิเศษตรงที่หรูหรามากๆ ราวกับห้องน้ำในโรงแรม ด้านหน้าอาคารเป็นสระน้ำขนาดย่อมมีสะพานข้ามไปห้องน้ำ ภายในแบ่งออกเป็น 12 ห้อง ตามปีนักษัตร สวยงามและสะอาด ไม่มีการแยกชายหญิง ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน เรียกได้ว่าใครเกิดราศีไหนก็เข้าห้องนั้นเลย ส่วนเพื่อนๆ ด้านนอกมีเก้าอี้รับรองสุดหรูเอาไว้ให้ญาติๆ เพื่อนๆ นั่งคอยได้ ห้องน้ำแห่งนี้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศสุดยอดส้วมระดับเขตปี พ.ศ. 2554 ประเภทศาสนสถาน จากกระทรวงสาธารณสุขด้วยนะคะ



จากที่กล่าวมาทั้งหมดความสวยงามที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือของใครอื่น เป็นฝีมือของเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้เองค่ะ “พระมหาไพศาล ฐานวุฑฺโฒ” ท่านเป็นพระนักพัฒนาตัวจริง เป็นผู้บูรณะวัดที่เคยทรุดโทรมให้กลายมาเป็นวัดที่สวยงามในทุกวันนี้ อีกทั้งตั้งใจที่จะจัดสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับวัด โดยเน้นการตกแต่งด้วยสวนที่ร่มรื่นสวยงาม มีน้ำพุเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้กับผู้มาเยือนมาทำบุญ จะได้สุขกายสบายใจ กลับบ้านไปอย่างมีความสุข จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเขาจึงได้รับสมญาว่าวัดพืชสวนโลกแห่งที่สอง

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917
158  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดอุโมงค์ “สวนพุทธธรรม” อุโมงค์พุทธสถานหนึ่งเดียวของไทย เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 12:56:09 AM
วัดอุโมงค์ “สวนพุทธธรรม” อุโมงค์พุทธสถานหนึ่งเดียวของไทย

วัดอุโมงค์ตั้งอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางเข้าวัดสามารถใช้ถนนสุเทพ หรือถนนเลียบคลองชลประทานก็ได้ แต่แนะนำถนนสุเทพด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สะดวกที่สุด จากสี่แยกหลังมอ มุ่งหน้าสู่ดอยสุเทพ สังเกตซ้ายมือจะเห็นป้ายวัดอุโมงค์สีฟ้า เข้าไปในซอยประมาณ 2 กิโลเมตร


ความเป็นมาของวัดนี้ต้องเท้าความกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 1839 หลังจากพญามังราย พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง กษัตริย์สามสหายสร้างเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์” หรือเชียงใหม่ในปัจจุบันแล้วเสร็จ พญามังรายศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จึงส่งคนไปนิมนต์พระลังกา 5 รูป โดยมีพระกัสสปะเถระเป็นหัวหน้า แล้วอาราธนาคณะสงฆ์ลังกาให้จำพรรษาที่วัดแห่งวัดเวฬุกัฏฐาราม หรือวัดอุโมงค์ในปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เพื่อรับรองคณะสงฆ์นี้โดยเฉพาะ



พระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาค่อยๆ เสื่อมลงหลังพญามังรายสวรรคต กระทั่งรัชสมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช หรือพญากือนา พระองค์ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ทรงบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม สร้างอุโมงค์ที่มีทางเชื่อมต่อกัน 4 ช่อง ทางทิศเหนือของเจดีย์ แล้วจึงอาราธนาพระมหาเถระจันทร์มาจำพรรษาที่วัดนี้ ตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์”

บรรยากาศร่มรื่นในวัดอุโมงค์ "สวนพุทธธรรม"

เสาหัวสิงห์ จำลองมาจากเสาพระเจ้าอโศกในอินเดีย

ต่อมาพระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านได้รับการอาราธนาจากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ให้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ (2492-2509) ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะพระสงฆ์ผู้ปฏิรูปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย วัดห่งนี้เปลี่ยนชื่อใหม่จาก “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” เป็น วัดอุโมงค์ “สวนพุทธธรรม” ตามสภาพพื้นที่ในบริเวณวัดที่เป็นป่าผืนใหญ่

รูปปั้นหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

เมื่อเดินทางมาถึงวัดอุโมงค์เพื่อนๆ จะพบกับความสงบร่มรื่น ประหนึ่งกำลังเดินเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติ แตกต่างจากวัดในตัวเมืองโดยสิ้นเชิง วัดนี้เป็นวัดสายปฏิบัติธรรม นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมจึงควรสำรวมกิริยาเป็นพิเศษ แนะนำให้จอดรถเอาไว้ที่ลานจอดรถบริเวณทางเข้าวัด เนื่องจากมีอุบาสก อุบาสิกา ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ใช้สองเท้าก้าวเดินชื่นชมความร่มรื่นดีกว่าค่ะ

รูปปั้นหลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญแห่งสวนโมกขพลาราม

ภายในวัดมีป้ายบอกสถานที่ชัดเจน ไม่ต้องกลัวหลง เดินจากปากทางเข้ามาด้านในประมาณ 5 นาทีก็จะพบไฮท์ไลท์ของวัด “อุโมงค์” สร้างขึ้นในสมัยพญากือนา โดยมีอุโมงค์ทั้งหมด 4 ช่อง มีทางเดินเชื่อมต่อกัน 3 ช่องแรกจะอยู่ด้านหน้า ส่วนอีกช่องหนึ่งอยู่ด้านหลัง นับได้ว่าเป็นการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อเป็นพุทธสถานแห่งเดียวในไทย แต่ละอุโมงค์มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ คาดว่ามีอายุประมาณ 500-600 ปี หลากหลายลวดลาย เช่น หงส์จีน นกยูง นกกระสา ดอกโบตั๋น ลายบัว เป็นต้น แต่ในปัจจุบันลบเลือนไปมากเหลืออยู่เพียงไม่กี่จุด ซึ่งจิตรกรรมลักษณะนี้แตกต่างจากวัดอื่นที่จะเล่าเรื่องพุทธประวัติ แต่จิตรกรรมที่วัดอุโมงค์เป็นลวดลายต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา

เจดีย์เก่าแก่ที่วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม

อุโมงค์สำหรับปฏิบัติธรรม ที่มาของชื่อวัด

พระเจดีย์ อยู่เหนืออุโมงค์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างสุโขทัย ล้านนา และพม่า  สันนิษฐานว่าสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานกลีบบัว 4 ชั้น องค์เจดีย์ทรงระฆัง อิทธิพลสุโขทัย ส่วนบนปลียอดศิลปะพม่าแบบพุกาม ไม่มีฉัตร ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยพระเมืองแก้วโดยการปรับปรุงปลียอดเป็นศิลปะพม่ายุคหลัง

ภายในอุโมงค์มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่

ลวดลายภาพจิตรกรรมอันลางเลือน


หลังจากชื่นชมอุงโมงค์และพระเจดีย์แล้ว ทางทิศใต้มีสระน้ำขนาดใหญ่ มีเกาะขนาดเล็กอยู่ตรงกลางสามารถเดินข้ามสะพานไปให้อาหารนกพิราบได้ แต่ต้องระวังนกถ่ายมูลใส่หัวด้วยนะคะ นอกจากนั้นภายในวัดยังมีสถานที่ที่น่าสนอีกหลายจุด เช่น ลานเศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา พ.ศ.1950-2100 โรงปริศนาธรรม หอสมุดธรรมโฆษณ์ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นต้น



นับได้ว่าวัดอุโมงค์เป็นวัดที่น่าไปเยือนอีกแห่งหนึ่ง ไม่ว่าในฐานะของนักท่องเที่ยว หรือนักปฏิบัติธรรม เพื่อนๆ คนใดที่กำลังใจว้าวุ่น กำลังมีความทุกข์ ลองหาเวลานุ่งขาวห่มขาว มาปฏิบัติธรรมที่วัดนี้กันดูนะคะ เผื่ออะไรๆ จะได้ดีขึ้น

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903

159  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / นมัสการพระธาตุปีจอที่ “วัดเกตการาม” หัวใจฝั่งตะวันออกของแม่ปิง เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2014, 10:06:57 AM
นมัสการพระธาตุปีจอที่ “วัดเกตการาม” หัวใจฝั่งตะวันออกของแม่ปิง

พระธาตุประจำปีเกิดเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพม่า เชื่อกันว่าสัตว์ประจำปีนักษัตรจะพาดวงวิญญาณที่พร้อมเกิดใหม่มาพักที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อวิญญาณถึงเวลาไปเกิดใหม่ ก็จะไปสถิตอยู่ที่กระหม่อมของบิดาก่อน 7 วัน จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดาต่อไป เมื่อมนุษย์คนนั้นหมดอายุไข ดวงวิญญาณก็จะกลับไปสถิตอยู่ที่เจดีย์ประจำปีเกิดนั้นตามเดิม

คติความเชื่อดังกล่าวทำให้พระธาตุเจดีย์สำคัญในภาคเหนือ อีสาน (บางแห่ง) และในพม่า กลายเป็นพระธาตุปีนักษัตร ผู้ศรัทธามักหาโอกาสไปสักการะพระธาตุปีเกิดของตน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ในจังหวัดเชียงใหม่มีพระธาตุปีเกิดอยู่ถึง 5 แห่ง ครั้งนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีจอที่วัดเกตการาม บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง


วัดเกตการามตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า “วัดสระเกษ” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1971 ในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน พระองค์ทรงโปรดให้พระยาเมือง พระยาคำ และพระยาลือ สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ชื่อ “วัดเกตการาม” มาจากคำว่า “เกศ” ซึ่งเป็นชื่อของพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า

พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี

ศิลปะล้านนา อิทธิพลสุโขทัย ประดับกระจกสีสวยงาม

“พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี” เป็นพระธาตุประจำปีจอ ศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จ แต่ละมุมมีเจดีย์บริวารและปูนปั้นพญาครุฑ พระพุทธรูปปางประทานพรประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ 4 ด้าน องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำประดับกระจกสี และทองจังโกดุนลาย ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น สร้างจำลองพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาไว้บนโลกมนุษย์ องค์พระธาตุเอียงเล็กน้อย เป็นความตั้งใจของผู้สร้าง ไม่ได้เกิดจากการทรุดตัว เพราะไม่ต้องการให้ยอดเจดีย์ชี้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงความอ่อนน้อม และไม่ล่วงเกินต่อพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีองค์จริง นอกจากจะบูชาเจดีย์ด้วยธูปเทียนแล้ว ชาวล้านนายังบูชาด้วยโคมอีกด้วย เพื่อให้โคมดังกล่าวลอยไปนมัสการพระธาตุบนสวรรค์นั่นเอง

วิหารหลวงวัดเกตการาม สถาปัตยกรรมล้านนา

ด้านหลังพระวิหารประดับกระจกสี

ภายในวิหาร โอ่อ่า สวยงามมาก

หมู่พระประธานภายในวิหารหลวง

พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระปรพธานในพระวิหาร

พระวิหาร อาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาเรียงซ้อนกัน  5 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นมุขคลุมบริเวณบันไดนาค หัวเสาประดับด้วยแก้วอังวะ หน้าบันประดับงานไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา หลังพระวิหารประดับกระจกแก้วสีต่างๆ เป็นลวดลายสวยงามมาก พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

ธรรมมาสน์สำหรับเทศนาชาวบ้าน ศิลปะแบบล้านนา

บานประตูพระวิหาร

ศิลาจารึกวัดเกตการาม ตั้งอยู่มุขด้านข้างพระวิหาร

พระอุโบสถอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ติดกับกุฏิ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา จุดเด่นของอาคารนี้คืองานแกะสลักไม้และลายปูนปั้นที่อ่อนช้อย และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ บันไดเป็นมกรคายนาคสีคล้ำ หน้าบันประดับลายพรรณพฤกษา ประตูไม้แกะสลักรูปเทพพนมสององค์เขียนสีทองบนพื้นแดง ผนังด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นรูปกิเลน สิงโต และปลา ศิลปะแบบจีน  แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานริมน้ำปิงตั้งแต่อดีต

]
พระอุโบสถ ประดับลายปูนปั้นวิจิตรมาก

บานประตูอุโบสถ


กุฏิพระสงฆ์ สามเณร เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เดิมเป็นอาคารโรงเรียนนักธรรมสำนักวัดสระเกษ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2462 โดยจีนอินทร์ และนางจีบ ซิ้มกิวฮั่วเซ้ง เพื่อใช้เป็นโรงเรียนสอนนักธรรม บาลี ปริยัติธรรม ต่อมาไม่มีการเรียนการสอน จึงปรับปรุงเป็นกุฏิพระสงฆ์ สามเณร

กุฏิสงฆ์และสามเณร เป็นอาคารไม้ วิจิตรสวยงามมาก

พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม เดิมเป็นกุฏิเจ้าอาวาส สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างทางวัดและชุมชน จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น พระพิมพ์ต่างๆ ตาลปัตร คัมภีร์ เงินโบราณ ภาชนะเก่าๆ ซึ่งในปัจจุบันหาชมได้ยาก ครั้งหนึ่งเลดี้ ดาริกาเคยเขียนบทความเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้แล้วโดยเฉาพะ ใครสนใจลองไปอ่านดูได้ตามลิงค์นี้นะคะ
http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,6839.0.html#.UvhBq2J_ubs

พิพิธภัณฑ์ชาวบ้านวัดเกตการาม

วัดเกตตั้งอยู่ในย่านการค้าเก่าแก่ของเชียงใหม่ มีทั้งชาวล้านนาและชาวต่างชาติเข้ามาทำมาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ ถ้ามีเวลาแนะนำให้เดินตั้งแต่ตีนสะพานนวรัฐไปจนถึงสะพานนครพิงค์ โดยใช้ถนนเจริญราษฎร์ เพื่อนๆ จะได้สัมผัสความคลาสสิก และมนต์เสน่ห์อีกแบบหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีทั้งตึกเก่า ร้านอาหารอร่อย ทั้งร้านกาแฟ ร้านเค้ก สเต็ก ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ รับรองว่าจะต้องชอบแน่ๆ เลยค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา :5569fb93:
160  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดลอยเคราะห์” พระอารามเก่าแก่ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ เมื่อ: กุมภาพันธ์ 09, 2014, 10:02:19 AM
“วัดลอยเคราะห์” พระอารามเก่าแก่ท่ามกลางโลกสมัยใหม่

ใจกลางชุมชนนักท่องเที่ยวต่างชาติเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนขวักไขว่และคึกคักตลอดเวลา ร้านรวงต่างๆ ผับ และบาร์เปิดบริการแก่นักเดินทางทุกค่ำคืนไม่ได้หยุดหย่อน บรรยากาศที่ช่างพลุกพล่านและดูวุ่นวาย แต่ท่ามกลางความวุ่นวายก็ยังมีความสงบสงัดอยู่บ้าง “วัดลอยเคราะห์” คือพระอารามที่ยืนหยัดคู่กับเมืองเชียงใหม่มาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่ย่านนี้เป็นเพียงหมู่บ้านแห่งหนึ่งเท่านั้น

วัดลอยเคราะห์เป็นวัดอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนเดินทางมาทำบุญเพื่อโชคลาภ เพราะมีชื่อที่เป็นมงคล เปรียบเสมือนการลอยทุกข์ลอยโศกให้พ้นตัว ผู้ที่ทุกข์ใจหลายๆ คนจึงหวังพึงวัดช่วยชโลมจิตใจที่หมองหม่น ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง


วัดนี้ตั้งอยู่บนถนนลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ อายุมากกว่า 600 ปีแล้ว ถือว่าเก่าแก่มากที่เดียว เดิมชื่อว่า “วัดร้อยข้อ” (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1910 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงปลายรัชสมัยพม่ายกทัพมาตีล้านนา และยึดครองล้านนาได้สำเร็จ วัดต่างๆ ในเชียงใหม่จึงถูกทิ้งร้างไป

บรรยากาศภายในวัด

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้พระเจ้ากาวิละรวบรวม 57 หัวเมืองในดินแดนล้านนาให้เป็นปึกแผ่น เมืองเชียงใหม่จึงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในยุคนั้นด้วย เรียกกันว่าเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนที่ยังคงอยู่ใต้การปกครองของพม่าได้สำเร็จ และกวาดต้อนชาวเชียงแสนมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงแสนตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของคูเมือง

“ชาวบ้านฮ่อม” ชาวเชียงแสนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาในสมัยนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดร้อยข้อขึ้นมาใหม่ และนำชื่อวัดในเมืองเชียงแสนมาตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า “วัดลอยเคราะห์” วัดนี้ได้รับการดูแลจากชุมชนเสมอมา ล่าสุดได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งเป็นการบูรณะที่ยังคงรักษารูปแบบเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2408

พระวิหารของวัด

กรอบประตูพระวิหารประดับลายปูนปั้นและกระจกสีอ่อนช้อย

พระวิหาร อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2545 หน้าบันโดดเด่นด้วยลายปูนปั้นพระพุทธรูปปางสมาธิ สัตว์ในวรรณคดี และลายพรรณพฤกษา ที่ละเอียดอ่อนช้อยสวยงามมาก ซุ้มประตูโขงทางเข้าพระวิหารประดับด้วยลายปูนปั้นรูปต่างๆ และกระจกสี

บรรยากาศภายในพระวิหารตกแต่งแบบล้านนาสวยงามมาก

หมู่พระประธานในพระวิหาร

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ภายในประดิษฐาน “พระพุทธศุภโชคศรีลอยเคราะห์มิ่งมงคล” เป็นที่เคารพของชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป เนื่องด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าหากผู้ใดมาสักการะจะหมดทุกข์โศกทั้งปวง ด้านหลังเป็นจิตรกรรมสีทองบนพื้นสีแดงสวยงามเข้ากันดี ผนังด้านอื่นเป็นจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ

พระอุโบสถวัดลอยเคราะห์

ประตูพระอุโบสถลงรักปิดทอง

หมู่พระประธานในอุโบสถ


พระอุโบสถ ด้านข้างพระวิหาร หลายๆ ส่วนของอาคารยังคงใช้ของเดิมจากพระอุโบสถหลังเก่า หน้าบันประดับด้วยลายก้านขดสวยงาม ประตูโบสถ์เป็นลายรดน้ำรูปเทพพนม นาคสะดุ้งที่อยู่ด้านหลังประดับด้วยกระจกสี บันไดทั้งสองข้างไม่เหมือนกัน ข้างซ้ายเป็นมกรคายนาคปากนกแก้วอ้าปาก ส่วนอีกข้างหุบปาก ภายในมีพระปางมารวิชัยเป็นพระประธาน

พระเจดีย์ของวัด

พระเจดีย์ อยู่ทางทิศเหนือของวัด ศิลปะล้านนา ฐานสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อเก็จยกสูง แต่ละด้านมีพระพุทธรูปปางรำพึงประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ ถัดไปเป็นมาลัยแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 4 ชั้น รับกับองค์เจดีย์ทรงระฆังสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น

บรรยากาศภายในวัด


นอกจากนั้นภายในวัดยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อสอนศาสนาพุทธ สอนอักษรล้านนา และดนตรีพื้นเมือง โดยที่นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเยาวชน

วัดลอยเคราะห์จึงเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของคนมีความทุกข์ บางคนยอมเดินทางไกลมาเชียงใหม่เพื่อมาดับทุกข์โดยเฉพาะ เขาเหล่านั้นหวังจะลอยเคราะห์กรรมที่ตนประสบมาให้มันลอยมลายหายไปดั่งชื่อวัด แต่ถึงกระนั้นมันก็เป็นเพียงการบรรเทาความทุกข์ในจิตใจเท่านั้น ที่เหลือมันอยู่ที่การกระทำของตัวเราด้วยว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะไปพานพบความทุกข์นั้นอีก

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  902

161  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / นมัสการพระพุทธชินราชจำลอง ณ “วัดพันอ้น” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:03:03 AM
นมัสการพระพุทธชินราชจำลอง ณ “วัดพันอ้น”

ถนนคนเดินท่าแพเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าใครที่มาเที่ยวเชียงใหม่ ตกเย็นย่ำค่ำวันอาทิตย์ก็ต้องมุ่งหน้าสู่ถนนคนเดินแห่งนี้ เพราะเป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นเมือง ของฝากน่ารักๆ  และของกินแบบบ้านๆ มากมาย เดินช้อปปิ้งกันจุใจจนแทบหมดแรง ท้องไส้คงเริ่มปั่นป่วนเพราะหิว แน่นอนว่าหลายคนคงหวังฝากท้องไว้กับร้านค้ามากมายที่ “วัดพันอ้น” เพื่อนๆ ชาวเชียงใหม่คงรู้จักวัดนี้ในฐานะที่กินมากกว่าความเป็นวัด รีวิวครั้งนี้จึงขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับวัดนี้ ในมุมที่มากกว่าแค่ของกินให้มากขึ้นค่ะ


วัดพันอ้น ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2044 ในสมัยพระเมืองแก้ว สันนิษฐานว่าสร้างโดยขุนนางที่มียศเป็น “พัน” และชื่อว่า “อ้น” รวมกันเป็น “พันอ้น” ชื่อของวัด คาดว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ความสำเร็จในชีวิตของตนเอง ซึ่งเป็นที่นิยมของคนในสมัยก่อน

พระเจดีย์สารีริกธาตุสิริรักษ์ วัดพันอ้น

วิหารวัดพันอ้น

เดิมในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดสองแห่งคือ “วัดพันอ้น” กับ “วัดเจดีย์ควัน” ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ทางทิศตะวันตก ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ในรัชสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ คณะสงฆ์ในสมัยนั้นมีความเห็นว่าบริเวณวัดพันอ้นเหมาะที่จะสร้างสำนักเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่ แต่วัดพันอ้นมีขนาดเล็กเกินไป จึงรวมพื้นที่ของทั้งสองวัดเข้าด้วยกัน เรียกรวมกันว่า “วัดพันอ้น”  ปี พ.ศ. 2498 เจดีย์ของวัดเจดีย์ควันถูกรื้อออกเหลือเพียงแต่หลุมให้เห็นในปัจจุบัน

วิหารวัดพันอ้น

บรรยากาศภายในพระวิหาร

พระพุทธชินราชจำลอง พระประธานภายในวิหาร

พระวิหาร อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด อาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้องค์จริงที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ด้านขวาประดิษฐานพระพุทธมงคลมหามุนี ส่วนที่ฝาผนังมีจิตรกรรมสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย และเนปาล

พระเจดีย์ของวัดองค์นี้สร้างขึ้นใหม่ทดแทนองค์เดิมที่เสียหายไป


พระเจดีย์สารีริกธาตุสิริรักษ์ อยู่ด้านข้างพระวิหาร สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2550 ทดแทนองค์เดิมพังทลายลงเมื่อปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำฝนซึมเข้าไปในรอยร้าวขององค์เจดีย์ เจดีย์องค์ใหม่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ. 2550 ศิลปะล้านนาหุ้มด้วยทองจังโกทั้งองค์ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานเหลี่ยมย่อเก็จมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น รับกับองค์ระฆังทรงกลมสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น

ลานร่มโพธิ์ของวัด


บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ มีโต๊ะหินอ่อนไว้ให้ใครก็ตามที่แวะเวียนผ่านมาได้พักผ่อน และใช้ประโยชน์ แม้ว่าวันเสาร์อาทิตย์จะมีคนจำนวนมากมารับประทานอาหารภายในวัด แต่ระบบการจัดการขยะของวัดทำได้ดีมากๆ วัดจึงสะอาดสะอ้านพร้อมให้ผู้มาเยือนได้พักผ่อนเสมอ เพื่อนๆ คนไหนไปรับประทานอาหารที่นี่อย่าลืมช่วยกันรักษาความสะอาดด้วยนะคะ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ รู้จักวัดพันอ้นมากขึ้นกว่าเดิม

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917




162  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / สักการะพระเจ้าห้าตื้อเพื่อเกียรติยศและความมีชัย ณ “วัดชัยพระเกียรติ” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2014, 04:44:05 PM
สักการะพระเจ้าห้าตื้อเพื่อเกียรติยศและความมีชัย ณ “วัดชัยพระเกียรติ”

บนถนนราชดำเนินกลางเมืองเชียงใหม่มีวัดวาอารามมากมายเรียงรายอยู่ตลอดเส้นทาง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง มีอายุอานามหลายร้อยปี ใครมีโอกาสแวะเวียนมาเยี่ยมเมืองเชียงใหม่ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างพระธาตุดอยสุเทพ และถนนนิมมานเหมินทร์แล้ว หาช่วงเวลาว่างๆ ยามเย็นมาเดินเล่นบนถนนเส้นนี้ เข้าวัดนั้นทีวัดนี้ทีสัมผัสจิตวิญญาณแบบเชียงใหม่ๆ คงจะดีไม่น้อย เลดี้ ดาริกาเลยขอจัด “วัดชัยพระเกียรติ” หนึ่งในวัดเก่าแก่บนถนนเส้นนี้มาเป็นน้ำจิ้มให้กับเพื่อนๆ ค่ะ


“วัดชัยพระเกียรติ” ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดชัยผาเกียรติ์” โคลงนิราศหริภุญไชยกล่าวถึงพระอารามแห่งนี้เอาไว้ว่า สร้างขึ้นในช่วงที่ราชวงศ์มังรายปกครองเมืองเชียงใหม่ (กลางสมัย) และได้รับการทำนุบำรุงโดยกษัตริย์เชียงใหม่ทุกพระองค์เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ กษัตริย์องค์ที่ 16 ของราชวงศ์มังราย องค์สุดท้ายของเชียงใหม่ยุคแรกเริ่ม

ปูชนียสถานต่างๆ ภายในได้รับการบูรณะ และสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากของเดิมมีสภาพทรุดโทรม และเสียหายไปตามกาลเวลา แม้อาคารสถานต่างๆ จะเป็นของใหม่ แต่อายุอานามของพระอารามแห่งนี้ไม่น้อยเลย เรียกได้ว่าอยู่คู่เมืองเชียงใหม่ เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองมาหลายร้อยปี

พระวิหารวัดชัยพระเกียรติ

หน้าบันพระวิหาร

พระวิหาร หันหน้าตรงกับประตูวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา  พระวิหารดั้งเดิมสร้างขึ้นในสมัยพระมหาเทวีจิระประภา กษัตริย์ลำดับที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยาราชวงศ์สุพรรณภูมิ (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเครือญาติกัน หรือไม่ก็เพื่อถวายพระเกียรติต่อพระไชยที่ไม่ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่) ส่วนพระวิหารองค์ปัจจุบันเป็นของใหม่ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษาสีทองบนพื้นกระจกสีน้ำเงิน กลางหน้าบันเป็นรูปเทพพนม บันไดมีสิงห์ปูนปั้นสองตัวตั้งไว้เป็นทวารบาล

พระพุทธรูปเมืองราย พระประธานในพระวิหาร

ภายในประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธรูปเมืองราย” รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “พระเจ้าห้าตื้อ” หล่อด้วยโลหะผสมทองหนัก 5,000 กิโลกรัม ประทับอยู่ในซุ้มโขง ชื่อ “พระเจ้าห้าตื้อ” นั้นมาจากน้ำหนักขององค์พระที่หนัก 5 ตื้อ (1 ตื้อ เท่ากับ 1,000 กิโลกรัม) ที่ฐานพระเจ้าห้าตื้อมีจารึกอักษรพม่า ส่วนด้านหลังเป็นอักษรธรรมล้านนา เชื่อกันว่าผู้ใดมาสักการะกราบไว้พระเจ้าห้าตื้อ จะรอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ และมีชัยในสิ่งที่สมหวังทุ ฝาผนังพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเรื่องราวจากชาดก

พระเจดีย์ของวัด

พระเจดีย์อยู่ทิศตะวันออก ด้านข้างพระวิหาร นับว่าแปลกที่พระเจดีย์ไม่ได้ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารตามคติการสร้างวัดแบบล้านนา ฐานเจดีย์สี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อด้วยชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกันห้าชั้นรองรับองค์ระฆังทรงกลมสีทอง ยอดประดับด้วยฉัตรสีทอง 7 ชั้น

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านข้างพระเจดีย์ทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านนา หน้าบันประดับลายปูนปั้นรูปกระต่ายและพรรณพฤกษา ประตูประดับด้วยงานแกะสลักไม้รูปเทพพนมสีทองสององค์

หน้าบันพระอุโบสถวัดชัยพระเกียรติ

วัดชัยพระเกียติถือว่าเป็นหนึ่งในวัดนามมงคลของเชียงใหม่ที่ผู้คนนิยมมาสักการะพระเจ้าห้าตื้อ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัว ด้วยเชื่อว่าจะช่วยเสริมเกียรติยศชื่อเสียงให้ดังขจรขจายราวกับชื่อของวัด หากใครมาเที่ยวเมืองเชียงใหม่แล้วไม่มีเวลามาเดินเล่นเป็นพิเศษเพราะมีเวลาน้อย แต่อาจจะต้องมาเดินช้อปปิ้งที่ถนนคนเดินท่าแพล่ะก็ อย่าลืมถือโอกาสนี้เขาไปเยี่ยมชมวัดก็ได้นะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :25:
163  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ชมสถาปัตยกรรมงามสะดุดตาแบบล้านนาๆ ณ “วัดโลกโมฬี” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2014, 01:29:04 AM
ชมสถาปัตยกรรมงามสะดุดตาแบบล้านนาๆ ณ “วัดโลกโมฬี”

บริเวณโดยรอบคูเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งของวัดต่างๆ มากมาย สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาของดินแดนล้านนาในอดีต ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศให้เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ ครั้งนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปรู้จักวัดอีกแห่งหนึ่งที่มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม ใครผ่านไปผ่านมาก็อดเหลียวหลังไปชมความงามไม่ได้

วัดโลกโมฬี ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของคูเมือง ติดกับถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ภาพแรกที่เห็นเมื่อผ่านวัดนี้คือพระเจดีย์องค์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารแบบล้านนาที่งดงามหมดจด ด้านหน้ามีซุ้มประตูโขงตกแต่งด้วยลายปูนปั้นวิจิตร ขนาบข้างด้วยยักษ์สีเขียว และแดงสะดุดตา วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ปรากฏชื่อ “วัดโลกโมฬี” ในจารึกและตำนานจากหลายแหล่ง พอจะสรุปได้ดังนี้


ตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ได้กล่าวเอาไว้ว่าในปี พ.ศ. 1910 พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จึงทรงโปรดให้อาราธนาพระเถระจากเมืองเมาะตะมะมาสืบพระศาสนาในดินแดนล้านนา ซึ่งพระรูปนั้นได้จำพรรษาที่วัดโลกโมฬีแห่งนี้

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกเอาไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2071 พระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์มังราย   ทรงโปรดให้สร้างพระมหาเจดีย์ และพระวิหารหลวง เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจของพุทธศาสนิกชน หลังจากนั้นพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 มีพิธีถวายพระเพลิงที่วัดแสนพอก และนำพระอัฐิมาไว้ที่วัดโลกโมฬีแห่งนี้

ซุ้มประตูโขงหน้าวัด

พงศาวดารโยนกบันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2149 มังนราช่อ กษัตริย์พม่าผู้ครองเชียงใหม่ (สาวัตถีนรถามังคะยอ) ราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง ให้คนบ้านแปะ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอจอมทอง) และพวกยางดอยเป็นผู้คอยดูแลวัดโลกโมฬี

ราวปี พ.ศ. 2484 วัดโลกโมฬีถูกปล่อยร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษานานกว่า 60 ปี ที่ดินของวัดซึ่งเคยมีหลายสิบไร่ถูกยึดครองโดยชาวบ้าน และเอกชน จนทำให้ในปัจจุบันวัดนี้เหลือพื้นที่เพียง 4 ไรเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 วัดโลกโมฬีได้รับการบูรณะใหม่ และกลับมามีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้ง มีพิธีหล่อพระพุทธรูป “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” ประดิษฐานในพระวิหาร และจัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติในเทศกาลยี่เป็งขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

พระเจดีย์วัดโลกโมฬี

ปูนปั้นเทวดายืนพนมมือ

พระธาตุปีเกิดจำลอง

พระเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2071 ในรัชสมัยพระเมืองแก้ว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา รอบๆ ฐานพระเจดีย์มีพระธาตุประจำปีเกิดจำลองประดิษฐานไว้ให้ผู้คนสักการะ ฐานพระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม มีสิงห์เฝ้าอยู่ทั้งสี่มุม เรือนธาตุสี่เหลี่ยมยกเก็จ แต่ละมุมประดับด้วยปูนปั้นเทวดาสององค์อยู่ในท่าพนมมือ ทั้งสี่ด้านมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทองห้าชั้น

พระวิหารแบบล้านนาสวยงามมาก

หน้าบันของวิหารหลวงปราณีตมาก


พระวิหารสร้างขึ้นพร้อมพระเจดีย์ ต่อมาถูกสร้างขึ้นใหม่ทดแทนหลังเก่า ในช่วงการบูรณะวัดในปี พ.ศ. 2544 สถาปัตยกรรมไม้สักศิลปะล้านนา ประณีตงดงาม หน้าบันโดดเด่นด้วยลายปูนปั้นสีขาวเล่าพุทธประวัติ ประดับด้วยกระจกสี ตัดกับส่วนอื่นๆ ของพระวิหารซึ่งเป็นสีดำได้อย่างลงตัว ด้านหน้ามีตุงปูนปั้นตั้งอยู่สองข้าง บันไดทางเข้าเป็นมกรคายนาค ภายในประดิษฐาน “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี (มวยผม)

ภายในพระวิหาร

มณฑปพระมหาเทวีจิระประภา

หอมณฑปพระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี อยู่ติดกำแพงวัดด้านหน้า ประดิษฐานพระรูปของพระนางจิระประภามหาเทวี ในรัชสมัยของพระนาง พระนางได้อุปถัมภ์วัดแห่งนี้มาโดยตลอด

กุฏิสงฆ์และกุฏิสมเด็จ

กุฏิสงฆ์และกุฏิสมเด็จ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของวัด ศิลปะล้านนา ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่อ่อนช้อยสวยงาม และบริเวณด้านบนซุ้มประตูประดิษฐานรูปปั้นพระเมืองแก้ว


แม้ว่าวัดโลกโมฬีจะเป็นวัดที่ถูกบูรณะมาได้ไม่นาน ปูชนียสถานส่วนใหญ่เป็นของใหม่ แต่ก็มีความงามไม่แพ้วัดเก่าๆ ในคูเมือง ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และจัดกิจกรรมในเทศกาลสำคัญๆ อยู่เสมอ เช่น ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประเพณียี่เป็ง ในช่วงเทศกาลลอยกระทง การบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน และการทำบุญอยู่วัดในวันสำคัญทางศาสนา

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :111:
164  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ตอนที่ ๓ “หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2014, 11:33:01 PM
กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ตอนที่ ๓ “หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่”

เคยนำเสนอเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์กลางเวียงไปแล้ว ๒ แห่ง คือ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา พิพิธภัณฑ์ทั้ง ๒ แห่งนั้นเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ตามโครงการปรับปรุงพื้นที่ย่านกลางเวียงเชียงใหม่ เขตประวัติศาสตร์ของเมือง ให้กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวหลักของเชียงใหม่ แต่นอกจากเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ทั้ง ๒ แห่งดังกล่าวแล้ว ยังมี “หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่” พิพิธภัณฑ์รุ่นพี่ เก๋าที่สุด เพราะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าในยุคก่อน ใครมาเชียงใหม่ครั้งแรกก็ต้องมาชมหอศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ เราจะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ครบสูตร วันนี้เลดี้ ดาริกาจึงขอพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมหอศิลปวัฒนธรรมกันอีกครั้ง สำหรับเพื่อนๆ ชาวเชียงใหม่ที่รู้จักสถานที่แห่งนี้ดีแล้ว ก็ถือว่ามาย้อนรำลึกความหลัง ส่วนเพื่อนๆ ต่างจังหวัดที่มองหาที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ก็ถือโอกาสนี้ไปศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพร้อมกันนะคะ

ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น (จำลอง)

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ อาคารพิพิธภัณฑ์เคยใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลพายัพ ในยุคที่สยามปกครองด้วยระบบมณฑลเทศาภิบาล หลังจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ย้ายออกไปนอกเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เข้าปรับปรุงอาคารและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐

ที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมในปัจจุบันนี้ เป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ เคยเป็นที่ตั้งของเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองของเชียงใหม่ เรียกบริเวณนี้ว่า “สะดือเมือง” ก่อนที่พระเจ้าติโลกราชจะย้ายสะดือเมืองไปตั้งไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เพียงแค่ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ก็สำคัญมากๆ แล้วใช่ไหมคะ

เชียงใหม่เปลี่ยนไปเมื่อทางรถไฟมาถึง

วีดีทัศน์แสดงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงใหม่แต่ละยุค

ภายในอาคารแบ่งการจัดแสดงออกเป็นห้องๆ ตามหัวข้อต่างๆ มีเส้นทางบอกให้ผู้มาเยือนเดินอย่างชัดเจน เพื่อที่จะได้ศึกษาเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่อย่างครบถ้วน ห้องแรกเป็นการฉายวีดีทัศน์เรื่องราวของเมืองเชียงใหม่ภาพรวมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อปูพื้นความรู้เกี่ยวกับเชียงใหม่แบบกว้างๆ ให้ผู้มาเยือนเสียก่อน ในห้องถัดไปเล่าประวัติของดินแดนตอนเหนือของประเทศตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การก่อร่างสร้างเมืองของอาณาจักรต่างๆ ของดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำปิง และแม่น้ำกก

ห้องจำลองเมืิองเชียงใหม่ในอดีต

เมื่อเข้าสู่ห้องจัดแสดงที่ ๓ ก็นำเข้าสู่เรื่องราวกำเนิดเมืองเชียงใหม่ ว่าด้วยตำนานสร้างเมือง ชัยมงคลทั้ง ๗ ประการที่ทำให้พญามังราย และพระสหายตัดสินใจเลือกพื้นที่ราบระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิงสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งต่อมากลายเป็นราชธานีของหัวเมืองทางตอนเหนือทั้งหมด ชัยภูมิของเมืองตามหลักทักษา และศิลาจารึกวัดเชียงมั่นจำลอง ซึ่งบันทึกเรื่องราวของการสร้างเมืองเชียงใหม่ในยุคแรกเริ่ม

จำลองบ้านและชีวิตของคนเมือง

จำลองตลาดในอดีต

เดินลึกเข้าไปข้างในเป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวเมืองเชียงใหม่ยุคใหม่ หลังจากที่มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ ทำให้วิถีชีวิตและสภาพเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในพื้นที่ต่างๆ ของเมือง ในห้องจัดแสดงนี้ นอกจากจะมีวีดีทัศน์ให้ชมแล้ว ยังมีแผนที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองเชียงใหม่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยให้เห็นจริงพร้อมๆ กับการเล่าเรื่องผ่านวีดีทัศน์ด้วย

จำลองภายในวิหารแบบล้านนา

ชั้นสองของอาคาร ส่วนแรกเป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวอดีตกษัตริย์ และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ของราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์ (พระเจ้าเจ็ดตน) และคุณูปการของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชชายาเปรียบเสมือนสายใยเชื่อมระหว่างหัวเมืองทางตอนเหนือ และสยามประเทศไว้อย่างแนบแน่นในสมัยนั้น นอกจากนี้พระราชายายังทรงทำนุบำรุงศาสนา และศิลปะ พร้อมกับส่งเสริมวิทยาการสมัยใหม่หลายๆ ด้าน

ห้องชาวเขาชนเผ่าต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่

ห้องจัดแสดงวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ในอดีตหลากหลายเชื้อชาติก็น่าสนใจมาก การจำลองบรรยากาศเมืองในอดีตเอาไว้ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุก และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นได้เป็นอย่างดี พ่อค้าผ้าเชื้อสายอินเดีย พ่อค้าชาวจีน ชาวลั้วะ คนเมือง และผู้คนเชื้อสายอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงชาวเขาเผ่าต่างๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเอกลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

ห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียน

นิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับการชมนก

ราคาค่าเข้าชมหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ผู้ใหญ่ชาวไทย ๔๐ บาท ชาวต่างชาติ ๙๐ บาท หรือจะซื้อเป็นแพกเก็จสำหรับพิพิธภัณฑ์กลางเวียงทั้ง ๓ แห่งในราคาพิเศษก็ได้ เนื่องจากหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เปิดบริการมาหลายปีแล้ว สื่อต่างๆ จึงอาจจะดูเก่า และไม่ทันสมัย แต่ยังคงสาระและเนื้อหาไว้อย่างดี หากทางพิพิธภัณฑ์ปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็คงจะเป็นหน้าเป็นตาเทียบเท่ากับพิพิธภัณฑ์ใหม่ทั้งสองแห่งได้  หอศิลปวัฒนธรรมเปิดให้ชมทุกวัน ปิดทุกวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  905

165  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เยี่ยมยลศิลปกรรมเรียบง่ายแบบฉบับชาวปะโอที่ “วัดหนองคำ” เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2014, 12:58:16 AM
เยี่ยมยลศิลปกรรมเรียบง่ายแบบฉบับชาวปะโอที่ “วัดหนองคำ”

จากหลายๆ บทความที่เคยนำเสนอไปแล้ว เราคงทราบกันดีว่าหลายๆ วัดย่านประตูท่าแพ และช้างม่อย ได้รับอิทธิพลศิลปะพม่า เนื่องจากเป็นย่านที่อยู่อาศัยของพ่อค้าชาวพม่าในอดีต ยุคที่การทำสัมปทานป่าไม้เฟื่อฟูมากในแถบภาคเหนือ แต่มีวัดแห่งหนึ่งในย่านนี้ที่แตกต่างไปจากวัดอื่น นั่นคือ “วัดหนองคำ”  วัดของชาวปะโอ


วัดหนองคำ ตั้งอยู่บนถนนช้างม่อย ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ห่างจากกาดวโรรสไปทางทิศตะวันตกเพียง 500 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2380 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวปะโอ หรือต่องสู้ (ชนกลุ่มน้อยเผ่าหนึ่งในพม่า) และชาวบ้านในละแวกนั้น พร้อมใจกันขายช้าง 7 เชือก นำเงินมาจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด

วิหารของวัดหนองคำเป็นอาคารปูนเรียบๆ ตามสถาปัตยกรรมชาวปะโอ

บรรยากาศภายในพระวิหาร

พระประธานภายในพระวิหาร ศิลปะแบบปะโอ

กู่แบบปะโอแกะสลักด้วยไม้วิจิตรอ่อนช้อยมาก

วิหารหลวง อาคารหลังใหญ่สุดในวัด ศิลปะแบบปะโอ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 กว้าง 21 เมตร ยาว 30 เมตร เป็นอาคารที่สวยงาม และดูคลาสสิก มองผิวเผินอาจดูคล้ายกับอาคารที่พักอาศัย หรือสถานที่ราชการในสมัยก่อน ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนใช้เป็นที่เก็บของ ชั้นสร้างด้วยไม้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้านซ้ายแบ่งออกเป็นห้องๆ ด้านขวาเป็นอาสนสงฆ์ ส่วนกลางเป็นห้องโถงเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ด้านในสุดประดิษฐานพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.50 เมตร ข้างๆ มีกู่ไม้แกะสลักลวดลายสวยงามอ่อนช้อยมาก นอกจากนี้ยังพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์เล็กๆ  ผนังและเสาบริเวณพระประธานแตกต่างจากส่วนอื่นเพราะประดับกระจกสี เพดานประดับตกแต่งด้วยงานแกะสลักไม้ และแผ่นโลหะสีทองเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามน่าชมทีเดียว

พระอุโบสถหลังคาสองชั้น เรียบๆ แต่มีเอกลักษณ์

ซุ้มประตูโขงเข้าสู่พระอุโบสถ

พระอุโบสถ อยู่บริเวณทางเข้าวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบชาวปะโอ กว้าง 10 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นหลังคาสองชั้น ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หลังคาชั้นบนมีหน้าบันรูปเรขาคณิตแบบง่ายๆ หลังคาชั้นสองมุงกระเบื้องเคลือบ ตัวอาคารประดับด้วยลวดลายปูนปั้นแบบชาวปะโอ แต่เดิมอาคารนี้มีหลังคา 5 ชั้น แต่ชำรุดเสียหายไปเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ด้านในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะแบบปะโอ หน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 2.5 เมตร พระวรกายสีขาวนั่งขัดสมาธิหงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระหัตถ์ซ้ายพับหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุด้านขวา

พระเจดีย์ศิลปะแบบชาวปะโอ

พระเจดีย์ อยู่ตรงข้ามกับพระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 ฐานกว้าง 9.50 เมตร สูง 21 เมตร ศิลปะปะโอผสมผสานล้านนา เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานย่อมุมสามชั้น มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน มุมของเจดีย์มีสิงห์เฝ้าอยู่ทั้ง 4 มุม จุดเด่นของเจดีย์นี้คือชั้นกลางสร้างเป็นห้องสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำบัวหงายประดับด้วยกระจกสีสันต่างๆ ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 5 ชั้น

บรรยากาศภายในวัด

ศาลา อยู่ข้างๆ กับพระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2387 เป็นอาคารปูนที่ดูเรียบง่ายศิลปะแบบปะโอ กว้าง 16 เมตร ยาว 18 เมตร ด้านในประดิษฐานประพุทธรูปปูนสีขาว หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3 เมตร

วัดหนองคำแม้เป็นเพียงวัดเล็กๆ ไม่ได้มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นวัดที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์น่าสนใจในแบบฉบับชาวปะโอ ซึ่งหาชมไม่ได้ง่ายๆ ในประเทศไทย เพื่อนๆ ที่ชื่นชอบศิลปกรรมแบบพม่า และอยากเรียนรู้เรื่องราวของชนเผ่าต่างๆ ในภูมิภาคนี้ลองมาเที่ยววัดนี้ดูนะคะ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่ๆ


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :25:


166  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดหมื่นล้าน” อีกหนึ่งวัดนามมงคลกลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2014, 10:41:18 PM
“วัดหมื่นล้าน” อีกหนึ่งวัดนามมงคลกลางเมืองเชียงใหม่

เงินทองแม้จะเป็นของนอกกาย ไม่สำคัญที่สุดในชีวิต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญเลยสักนิด จริงไหมคะ เกริ่นมาแบบนี้เลดี้ ดาริกาไม่ได้ชวนเพื่อนๆ ไปเล่นหวยที่ไหน และไม่ได้เปลี่ยนแนวไปเขียนบทความตลาดหุ้นแต่อย่างใด ยังคงพาเพื่อนๆ เที่ยวเหมือนเดิมค่ะ เพียงแต่สถานที่ที่จะแนะนำครั้งนี้มีชื่อร่ำรวย เพราะเป็นอีกหนึ่งในวัดที่มีชื่อเป็นมงคลในเมืองเชียงใหม่ “วัดหมื่นล้าน” นั่นเอง

วัดหมื่นล้าน มีชื่อเดิมว่า “วัดหมื่นสามล้าน” ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีหลักฐานกล่าวไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2002 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดย “หมื่นโลกสามล้านขุนพลแก้ว” ขุนพลคู่ใจของพระองค์ คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม “หมื่นด้ง” หรือ “หมื่นด้งนคร” เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับแม่ทัพนายกอง และทหารของล้านนาที่เสียสละชีพในสงคราม

วิหารวัดหมื่นล้าน มีมุขหลังคายื่นคลุมบันได

หน้าบันวิหารเป็นไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาและนกยูง

หมู่พระประธานภายในวิหาร เก่าแก่ และดูเป็นล้านนามาก

พระวิหาร สถาปัตยกรรมล้านนาผสมผสานพม่า “หลวงโยนการพิจิตร” (หมองปันโหย่ อุปโยคิน) คหบดีชาวพม่า หรือชาวบ้านเรียกว่า “ขุนหลวงโย” ต้นตระกูลอุปโยคิน ได้สละทรัพย์บูรณะพระวิหารหลังนี้ในปี พ.ศ. 2460 ต่อเติมมุขด้านวิหารหลังเดิม ออกมาคลุมบันได หน้าบันโดดเด่นด้วยลวดลายแกะสลักไม้รูปนกยูงรำแพนประดับกระจกสี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะพม่า รายล้อมด้วยพรรณพฤกษา ภายในวิหารยังคงเอกลักษณ์ล้านนาดั้งเดิม มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน มีพระปางมารวิชัยขนาดเล็ก และพระยืนปางต่างๆ ตั้งอยู่รายรอบ เครื่องสัตตภัณฑ์ หรือเชิงเทียนตั้งอยู่หน้าพระประธาน เป็นรูปพญานาคพันกันหลายตัว ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ

ภาพจิตรกรรมภายในวิหาร

พระเจดีย์แบบพม่าของวัด

พระเจดีย์อยู่ด้านหลังพระวิหาร ก่ออิฐถือปูน ศิลปะแบบพม่า ได้รับการบูรณะพร้อมๆ กับพระวิหาร ฐานเจดีย์ย่อเก็จ 3 ชั้น แต่ละมุมมีเจดีย์บริวารขนาดเล็ก และมีสิงห์เฝ้าอยู่มุมละ 2 ตัว องค์เจดีย์สีทอง ส่วนบนประดับด้วยกระจกสี ยอดเจดีย์เป็นฉัตร 7 ชั้น

หอไตร ประดับตกแต่งด้วยลวดลายสวยงามมาก

หอไตรอยู่ด้านข้างพระเจดีย์ สถาปัตยกรรมแบบล้านนาผสมพม่า สังเกตได้จากงานแกะสลักไม้รูปนกยูงรำแพนที่อยู่ด้านบน บางส่วนทาด้วยสีแดง ซึ่งตัดกับสีทองบางส่วนงดงาม ช่องลมเหนือบานประตูเป็นลายฉลุอ่อนช้อย กรอบช่องลมประดับด้วยปูนปั้นครุฑคาบนาค งดงามแปลกตามาก

พระอุโบสถของวัด สร้างใหม่ทดแทนของเก่าที่โดนไฟไหม้ไป

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านข้างหอไตร สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากไม่กี่ปีที่ผ่านมาถูกไฟไหม้ เป็นอาคารปูนทั้งหลัง สถาปัตยกรรมแบบล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา บริเวณด้านหน้ามีพระยืนปางรำพึงประดิษฐานอยู่

หอระฆังเก่าแก่ภายในวัด

ถนนคนเดินทุกวันอาทิตย์ ที่วัดหมื่นล้านแห่งนี้จะมีพ่อค้าแม่ขายนำอาหารหลากหลายชนิดมาขายแก่นักท่องเที่ยวที่มาเดินเล่นและชอปปิ้งที่ถนนคนเดิน มีทั้งอาหารท่านเล่น ไม่ว่าจะเป็น ไข่ป่าม หมูปิ้ง ยำต่างๆ ส่วนใครที่หิวจริงจังก็มีส้มตำ ไก่ย่าง ขนมจีน อร่อยๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ นอกจากนั้นยังมีบริการนวดแผนโบราณสำหรับคนที่ปวดเมื่อยหลังจากเดินซื้อของจนเหน็ดเหนื่อย  ใครๆ ที่มาไหว้พระที่วัดหมื่นล้าน ก็อยากให้ตนเองประสบผลสำเร็จทั่งหน้าที่การงาน ได้โชคลาภ มีเงินทองเป็นหมื่นล้าน

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :16:
167  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “วัดสวนดอก” พระอารามเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ สายใยพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2014, 12:35:02 AM
“วัดสวนดอก” พระอารามเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ สายใยพระธาตุดอยสุเทพ

“วัดบุปผาราม” ชื่อนี้เราอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ “วัดสวนดอก” หลายๆ คนคงต้องร้องอ๋ออย่างแน่นอน วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ และศิลปวัตถุ โบราณวัตถุที่ทรงคุณค่ายิ่ง ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ทางทิศตะวันตก โดยมีประตูสวนดอกเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่เก่ากับที่ตั้งของวัดในอดีต


วัดสวนดอก ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1914 โดยพญากือนา หรือพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย โดยอุทิศถวายพระราชอุทยานซึ่งเต็มไปด้วยต้นพะยอม เรียกกันว่า “สวนดอกไม้พะยอม” เพื่อสร้างพระอารามให้เป็นที่จำพรรษาพระมหาเถระสุมน พระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ว่า “วัดบุปผาราม” ต่อมานิยมเรียกสั้นๆ ว่า “วัดสวนดอก” แทน

พระธาตุเจดีย์วัดสวนดอกเคียงคู่กับวิหารหลวงทรงล้านนาขนาดใหญ่

“พระมหาเถระสุมน” สำคัญอย่างไร ทำไมพญากือนาจึงมีความศรัทธา และอุทิศถวายพระราชอุทยานให้สร้างเป็นพระอาราม... พระมหาเถระสุมน เป็นพระสงฆ์ที่พญากือนาอาราธนามาจากกรุงสุโขทัย และเป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในแผ่นดินล้านนา การเดินทางมาล้านนาในครั้งนั้น พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ต่อมาพระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในพระธาตุวัดสวนดอก อีกส่วนหนึ่งให้ช้างอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานไว้บนดอยสุเทพ สร้างพระธาตุครอบไว้ ปัจจุบันคือพระธาตุดอยสุเทพนั่นเอง

พระธาตุเจดีย์วัดสวนดอกสัดส่วนงดงามมาก

เมื่อล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดสวนดอกไม่ได้รับการดูแลจึงกลายเป็นวัดร้างไป จนกระทั่งต่อมาในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ พระองค์ทรงบูรณะพระอารามแห่งนี้ขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงสร้างกู่เพื่อบรรจุพระอัฐิของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติที่วัดสวนดอกแห่งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ครูบาศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐพร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบูรณะวัดสวนดอกครั้งใหญ่ ปัจจุบันวัดสวนดอกกลายเป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์ในภาคเหนือ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตเชียงใหม่

วิหารหลวงหลังใหญ่มากๆ

หน้าบันวิหารหลวงหลังต้องแสงอาทิตย์ยามเย็นสวยงามมากๆ

บรรยากาศภายในวิหารหลวง

พระวิหารหลวงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยเจ้าแก้วนวรัฐ และครูบาศรีวิชัย เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสถาปัตยกรรมล้านนาขนาดใหญ่มาก กว้าง 25 เมตร ยาวถึง 66 เมตร หน้าบันเป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและเทพพนมที่สวยงาม จุดเด่นของวิหารหลังนี้คือเป็นวิหารโถง ไม่มีฝาผนัง มีแต่เหล็กดัดกันขโมยโล่งๆ (ในอดีตคงไม่ได้ติดเหล็กดัดกันขโมย) ภายในประดิษฐานพระประธาน “พระเจ้าค่าคิง” พระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช ด้วยทองสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร

พระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัยส่วนหนึ่ง

บรรลังก์พระธาตุประดับด้วยกระจกสีลายดอกไม้ น่ารัก แปลกตามากๆ

พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1916 โดยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย พระธาตุสูง 48 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกสูงมีทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่ละมุมมีเจดีย์ประจำอยู่ โดยรอบยังมีเจดีย์บริวารอีก 7 องค์ องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกาอิทธิพลสุโขทัย บุหุ้มด้วยทองจังโก บัลลังก์โดดเด่นด้วยกระจกสีรูปดอกไม้ เหนือขึ้นไปประดิษฐานพระพุทธรูปยืนล้อมรอบอยู่ใต้ปล้องไฉน ส่วนยอดเป็นฉัตร 7 ชั้น

พระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ

พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธรูปสำคัญของวัด

ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ

พระอุโบสถ อยู่ทางทิศใต้ของวัด ต้องเดินลึกเข้าไปข้างในนิดหน่อยนะคะ เดินจากวิหารหลวงประมาณ 100 เมตร เป็นอาคารปูนสถาปัตยกรรมล้านนาขนาดไม่ใหญ่นัก พื้นหน้าบันประดับกระจกสีฟ้า และลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าเก้าตื้อ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน ฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.70 เมตร สร้างโดยพระเมืองแก้ว เมื่อปี พ.ศ. 2047 แต่เดิมตั้งใจจะสร้างให้เป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ แต่เมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชักลากพระพุทธรูปองค์นี้เข้าไปในเมืองได้ จึงประดิษฐานให้เป็นพระประธานในพระอุโบสถแห่งนี้แทน

กู่ครูบาศรีวิชัย

รูปปั้นครูบาศรีวิชัย ผู้บูรณะวัดสวนดอก

กู่ครูบาศรีวิชัย อยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน และเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ท่านได้บูรณะวัดสวนดอกเมื่อปี พ.ศ. 2475 อีกด้วย

กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ หรือกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ หรือกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ อยู่ทางทิศตะวันออกของพระเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 เพื่อบรรจุอัฐิของปฐมกษัตริย์จนถึงกษัตริย์พระองค์สุดท้าย รวมถึงพระประยูรญาติในสกุล ณ เชียงใหม่ และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน

Monk Chat สำหรับชาวต่างชาติที่อยากเรียนรู้พระพุทธศาสนา


วัดสวนดอกถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่หากใครมีโอกาสมาเที่ยวเชียงใหม่ต้องมาเยือนให้ได้สักครั้ง นอกจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว เลดี้ ดาริกาขอการันตีในความงามสง่าของพระธาตุวัดสวนดอก ที่กล้าการันตีก็เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้วชอบเจดีย์วัดสวนดอกมากๆ ค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916

168  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / “กาแฟมะเมี๊ยะ” ร้านกาแฟสบายๆ สไตล์ล้านนา เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2014, 12:16:47 AM
“กาแฟมะเมี๊ยะ” ร้านกาแฟสบายๆ สไตล์ล้านนา

เดี๋ยวนี้มีร้านกาแฟใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นว่าเล่น ธุรกิจร้านกาแฟเฟื่องฟูขนาดนี้ คนรักการดื่มกาแฟได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ เลยค่ะ เพราะเราจะมีตัวเลือกมากขึ้น ร้านกาแฟจะขายได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย นอกจากรสชาติ และคุณภาพของกาแฟแล้ว บรรยากาศในร้านก็ช่วยเรียกลูกค้าได้เหมือนกันนะคะ ยิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ใครๆ ก็อยากมาอย่างเชียงใหม่ด้วยแล้ว ถ้าได้ที่ตั้งเหมาะๆ คอนเซ็ปต์เก๋ๆ ล่ะก็ รับรองว่าขายดีแน่ๆ เลยค่ะ อ่ะๆ...เลดี้ ดาริกาไม่ได้มาชวนเพื่อนๆ ทำธุรกิจกาแฟนะคะ แต่จะมาแนะนำร้านกาแฟน่านั่งในเมืองเชียงใหม่อีกร้านหนึ่งค่ะ

ร้านกาแฟมะเมี๊ยะบนถนนเชียงใหม่-ลำพูน (สายเก่า)

“กาแฟมะเมี๊ยะ” ร้านกาแฟน่ารักๆ แห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ – ลำพูน (สายเก่า) จากในเมืองเชียงใหม่ขับรถข้ามสะพานนวรัฐ เลี้ยวขวาเลียบแม่น้ำปิงไปเรื่อยๆ เลยสะพานเล็กมาไม่ไกลนักเราก็จะพบกับร้านกาแฟสไตล์ล้านนาเรียบง่าย

ร้บรรยากาศภายในร้าน

ที่นั่งเป็นแคร่ไม้ไผ่กับหมอนขิด กลิ่นไอล้านนาๆ :)


เดินเข้าไปภายในร้าน ร้ากาแฟตกแต่งอย่างเรียบง่ายไม่หวือหวา แต่คงคอนเซ็ปต์และกลิ่นไอแบบล้านนาเอาไว้ ตั้งแต่ภาพวาดบนฝาผนังของร้านสีฉูดฉาด มีตั่งขนาดใหญ่ปูลาดด้วยเสื่อสาน หมอนขิด และขันโตก ให้บรรยากาศแบบชนบทเชียงใหม่ได้ดีมากๆ

นั่งเล่นหลังร้าน


มุมยอดฮิต :)

ออกมาด้านหลังร้าน มีที่แคร่สำหรับนั่งดื่มกาแฟ และรับประทานอาหาร ใต้ร่มไม้ใหญ่ครึ้ม ร่มรื่นมากๆ ใครเหน็ดเหนื่อยมาจากไหน ได้นั่งพักชิวๆ ใต้ร่มไม้ พร้อมจิบกาแฟแบบที่ชอบก็คงหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งทีเดียวค่ะ เลยไปเล็กน้อยก็ถึงริมแม่น้ำปิงแล้วค่ะ บรรยากาศตรงนี้ดีมากๆ เลดี้ ดาริกาเองก็ชอบมากค่ะ ในวันหยุดพักผ่อนสบายๆ ได้นั่งมองสายน้ำปิงไหลเอื่อยๆ ชมบรรยากาศอีกมุมหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ยิ่งช่วงนี้อากาศเย็นสบายๆ ด้วยแล้ว ฟินอย่าบอกใครเลยทีเดียว

บรรยากาศสบายๆ ริมน้ำ


มาลองดูเรื่องของกินกันบ้างนะคะ “กาแฟมะเมี๊ยะ” ไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟนะคะ นอกจากของหวานประเภทเค้กอร่อยๆ และเครื่องดื่มหลากหลายแบบแล้ว ที่นี่ยังบริการอาหารหนักๆ ด้วย เรียกได้ว่าหิวมาจากไหนก็จัดไปได้เลยตามสะดวก มีตั้งแต่อาหารจานเดียวแบบไทยๆ ไปจนถึงสปาเก็ตตี้แบบฝรั่งๆ อาหารหลายๆ เมนูมีการประยุกต์เป็นรสชาติแบบไทยๆ ด้วย

welcom drinks!! เครื่องดื่มเย็นๆ หอมๆ ชื่นใจ

ลาเต้ของโปรด >_<


ส่วนเครื่องดื่มนั้น แน่นอนว่ามาร้านกาแฟก็คงจะต้องแนะนำกาแฟ แต่ขอบอกว่ารสชาติที่นี้ไม่น้อยหน้าใครเลยค่ะ คนอื่นไม่รู้ แต่สำหรับเลดี้ ดาริกานั้นถือว่าเป็นอีกร้านที่ทำลาเต้ได้ถูกปากถูกใจมากๆ ค่ะ ราคาเครื่องดื่มที่นี้สมเหตุสมผลไม่แพงจนเกินไปค่ะ แต่ราคาอาหารอาจจะแพงสักหน่อย

บรรยากาศสบายๆ ริมน้ำ

มานั่งที่นี่สักพัก ก็พอจะสรุปได้ว่า “กาแฟมะเมี๊ย” ไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟ แต่เปรียบเสมือนจุดนัดพับ ที่สังสรรค์ของเพื่อนๆ ที่อยากนั่นพูดคุยกันในบรรยากาศสบายๆ เพราะเราจะเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนเดินเข้า หรือบางคนอาจมาเป็นคู่ หรือมาเดี๋ยวๆ มาใช้เวลาว่างพักผ่อนให้สมองปลอดโปร่งที่นี่

ร้านกาแฟมะเมี๊ยะเปิดเวลา 09:00 – 20:00 แต่ครัวเปิด 10:00 – 19:00 นะคะ หยุดทุกวันจันทร์และอังคารที่ 4 ของเดือนค่ะ :)


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :11:
169  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / สักการะพระธาตุดอยสุเทพโดยไม่ต้องขึ้นดอยที่ “วัดชมพู” เมื่อ: มกราคม 29, 2014, 09:51:25 PM
สักการะพระธาตุดอยสุเทพโดยไม่ต้องขึ้นดอยที่ “วัดชมพู”

พระธาตุดอยสุเทพถือเป็นพระธาตุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าใครมาเที่ยวเชียงใหม่ก็ต้องหาโอกาสไปกราบพระธาตุให้ได้สักครั้ง แต่คงมีไม่กี่คนนักที่รู้ว่าพระธาตุดอยสุเทพมีฝาแฝดอยู่ด้วย ยิ่งถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่แท้ๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งแทบจะไม่มีใครรู้เลย พระธาตุฝาแฝดสร้างขึ้นเพื่ออะไร อยู่ที่ไหนนั้น ในบทความนี้ เลดี้ ดาริกาขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักพระธาตุแห่งวัดชมพูกันค่ะ

วัดชมพู ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

บรรยากาศภายในวัด

พระธาตุฝาแฝดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ “วัดชมพู” วัดเก่าแก่บนถนนช้างม่อยเก่า ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้ากือนา กษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โปรดให้สร้างพระธาตุขึ้นบนดอยสุเทพ ครานั้นพระนางพิมพาเทวี พระราชมารดา ทรงปรารภว่า พระธาตุดอยสุเทพอยู่บนดอยสูงเกินกว่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะเดินข้างขึ้นมาสักการะได้ จึงโปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์อีกแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ โดยใช้สล่าชุดเดียวกันกับที่สร้างพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุองค์ใหม่นี้จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเหมือนกับพระธาตุดอยสุเทพราวกับก๊อปปี้วางเลยทีเดียว ให้ชื่อพระอารามแห่งใหม่นี้ว่า “วัดใหม่พิมพา” ตามพระนามของพระนางพิมพาเทวี พระราชมารดานั่นเอง

องค์พระธาตุตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร

เมื่อพระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ทิพย์จักราธิราช (พระเจ้าเจ็ดตน) ขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ แล้วขึ้นเสวยเมือง ครูบาชมพูได้ติดตามพระองค์มา แต่ไม่ยอมตามเข้าเมืองมาด้วย จึงขอพำนักอยู่ที่วัดใหม่พิมพาแห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการรบของแม่ทัพพม่า ต่อมาชาวบ้านในละแวกนั้นจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดครูบาชมพู” และเพี้ยนมาเป็น “วัดชมพู” จนถึงปัจจุบัน

เหมือนพระธาตุดอยสุเทพไหมคะ? :)

ในอดีตกองทัพพม่าเคยใช้พระธาตุเป็นฐานยิงปืนใหญ่ จึงทำให้พระธาตุเอียงทรุด แกนในพระธาตุซึ่งทำด้วยดินเหนียวอาจพังทลายได้ ปี พ.ศ. 2541 พระสงฆ์และชาวบ้านจึงร่วมกันจัดหาทุนบูรณะองค์พระธาตุ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปี และทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา พร้อมกันนี้นครเชียงใหม่ก็มีอายุครบ 700 ปีด้วย ใช้เวลาบูรณะทั้งสิ้น 9 ปีจึงแล้วเสร็จ

พระธาตุวัดชมพูใช้สล่าชุดเดียวกับที่สร้างพระธาตุดอยสุเทพ

ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปที่ฐานพระธาตุ

พระธาตุวัดชมพูมีอายุประมาณ 600 ปี ศิลปะเชียงแสน ขนาด และรูปทรงเหมือนกับพระธาตุดอยสุเทพเกือบร้อยเปอร์เซ็น ฐานกว้างด้านละ 11.30 เมตร สูง 30 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีช้างทรงประจำอยู่ทั้ง 4 มุม เหนือขึ้นไปเป็นฐานสูงย่อเก็จ องค์เจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม หุ้มบุด้วยแผ่นทองจังโกทั้งองค์ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายดอกกระหนก ใบเทศ และลายก้านขด บางแผ่นสลักลาย 12 นักษัตร ส่วนยอดประดับด้วยฉัตร 7 ชั้น ซึ่งต่างจากพระธาตุดอยสุเทพที่เป็นฉัตร 5 ชั้น

พระวิหารวัดชมพู

ด้านหลังพระวิหาร

พระประธานในพระวิหาร

พระวิหาร สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้ลายพรรณพฤกษา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดิน เผา เรียกว่ากระเบื้องดินขอ ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่ยังคงเป็นไม้ บริเวณฝาผนังมีจิตรกรรมภาพพุทธประวัติ

พระอุโบสถ

บรรยากาศภายในวัด

ปัจจุบันการเดินทางขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไรอีกแล้ว เพราะมีถนนลาดยางอย่างดีตัดขึ้นไปจนถึงพระธาตุ อีกทั้งยังมีกระเช้าบริการสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย ทุกวันนี้พระธาตุวัดชมพู ฝาแฝดของพระธาตุดอยสุเทพ จึงค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป เพื่อนๆ ที่มาเที่ยวเชียงใหม่จะลองแวะไปเยี่ยมชมความงามของพระธาตุแห่งนี้ด้วยก็ดีนะคะ รับรองว่างามไม่แพ้พระธาตุดอยสุเทพเลยทีเดียว

ซุ้มประตูโขงเก่าแก่ภายในวัด


ใครอยากไปกราบพระธาตุวัดชมพู แนะนำให้ใช้ถนนช้างม่อย จากคูเมืองไปกาดหลวงประมาณ 100 เมตร เลี้ยวซ้ายจะเป็นถนนช้างม่อยเก่า ประมาณ 50 เมตร สังเกตด้านซ้ายจะเห็นพระธาตุสีทองงามสง่าอยู่ ซึ่งถ้าเพื่อนๆ ใช้เส้นทางอื่นอาจหลงทางได้ เพราะบริเวณนี้ตรอกซอกซอยเยอะเหลือเกินค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  918
170  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เยี่ยมชมเจดีย์เหลี่ยม เพลิดเพลินกับเมืองเก่าเวียงกุมกาม เมื่อ: มกราคม 27, 2014, 11:59:10 PM
เยี่ยมชมเจดีย์เหลี่ยม เพลิดเพลินกับเมืองเก่าเวียงกุมกาม

เรื่องราวของเวียงกุมกามอดีตเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนาครั้งหนึ่งอาจเป็นเพียงตำนานที่ดูลางเลือน แต่หลังการค้นพบซากโบราณสถานในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอสารภีจมอยู่ใต้ดิน เรื่องราวของนครใต้พิภพนี้ก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ใครมาเชียงใหม่ก็อยากไปเยี่ยมชม “เจดีย์เหลี่ยม” หรือชื่อตามจารึกเรียกว่า “กู่คำ” จึงกลายเป็นพระเอกของงานนี้ไป เนื่องจากพระเจดีย์ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ ได้รับการดูแลอย่างดี และมีเอกลักษณ์โดดเด่น วันนี้เราจะขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับวัดแห่งนี้กันนะคะ

วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือวัดกู่คำหลวง เวียงกุมกาม

วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ ตั้งอยู่บนถนนสายเกาะกลาง ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ อยู่นอกเขตเมืองโบราณเวียงกุมกาม ตำนานเมืองเชียงใหม่เล่าว่า พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มสร้าง “เวียงกุมกาม” ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ หลังจากพญามังรายยึดครองเมืองหริภุญไชยได้สำเร็จ ทรงโปรดให้ทหารขุดคูเวียงขึ้นทั้งสี่ด้านบริเวณริมแม่น้ำปิงสายเดิมห่างจากเมืองลำพูนขึ้นมาทางเหนือ พระองค์ทรงโปรดให้ใช้ดินที่ขุดจากคูเมืองนั้นมาปั้นเป็นก้อนอิฐก่อเจดีย์ ตามแบบเจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวีในเมืองลำพูน ในจารึกบางแห่งยังกล่าวเอาไว้ว่าภายในพระเจดีย์บรรจุพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ด้วย เพื่อให้เป็นที่สักการะของชาวเมือง

เจดีย์เหลี่ยมเวียงกุมกาม ได้ต้นแบบมาจากกู่กุดที่วัดจามเทวี เมืองลำพูน

ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน รวมทั้งสิ้น ๖๐ องค์

“กู่คำ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันตามลักษณะขององค์เจดีย์ว่า “เจดีย์เหลี่ยม” เป็นเจดีย์ศิลปะหริภุญไชย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากทวาราวดีภาคกลาง ฐานเขียงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 17.45 เมตร สูง 30.70 เมตร ฐานทั้ง 4 ด้านมีพระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานอยู่ในซุ้ม แต่ละมุมมีสิงห์เฝ้าอยู่ องค์เจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยมลดหลั่นกัน  5 ชั้น แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ บางตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระชายาทั้ง 60 พระองค์ของพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย แต่ละมุมของเรือนฐานทุกชั้นมีสถูปบริวารประดับอยู่ รวมทั้งสิ้น 20 องค์ ส่วนยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองเก้าชั้น

หลังจากที่วัดถูกทิ้งร้างไปนานหลายร้อยปี ในปี พ.ศ. 2541 หลวงโยนการวิจิตร (หมองปันโหย่ อุปโยคิน) คหบดีชาวพม่ามาพบเข้า และเกิดความศรัทธา จึงบูรณะขึ้นใหม่โดยใช้ช่างชาวพม่า จึงปรากฏอิทธิพลของศิลปะพม่าอยู่ในองค์พระเจดีย์ด้วย

พระวิหารหลวงวัดเจดีย์เหลี่ยม

พระประธานในวิืหาร

ภาพจิตรกรรมในพระวิหาร

พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบริเวณวัด ด้านหน้าพระเจดีย์ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน หน้าบันพื้นสีแดงตัดกับงานแกะสลักไม้สีทองรูปพระพุทธเจ้า และพระอัครสาวก ดูแปลกตาไม่เหมือนกับหน้าบันของวัดแห่งอื่นๆ ราวบันไดเป็นปูนปั้นมกรคายนาค หางพันกับต้นเสาหน้าพระวิหาร ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยประทับอยู่ใต้ฉัตรสีทองห้าชั้น ผนังวาดภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ

พระอุโบสถสวยมากๆ ค่ะ

บรรยากาศหน้าพระอุโบสถ

พระอุโบสถตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นสีทองอ่อนช้อย สวยงามมาก บริเวณทางเข้าด้านหน้ามีตัวมอมอยู่ทั้งสองข้าง

รถนำเที่ยวในเขตโบราณสถาน

รถม้านำเที่ยวก็มีนะ

นอกจากเราจะได้มาเยี่ยมชมวัดเจดีย์เหลี่ยมอันเลื่องชื่อนี้แล้ว ภายในวัดยังมีรถม้าไว้ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมความงามของโบราณสถานอื่นๆ ในเขตเวียงกุมกามอีกด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มาเที่ยวกลุ่มเล็กๆ สองสามท่าน ใครมาเป็นกลุ่มคณะก็มีรถนำเที่ยวไว้ให้บริการ พร้อมไกด์ท้องถิ่นเล่าเรื่องราวของเวียงกุมกามให้ทุกท่านฟัง หรือถ้านั่งรถม้าคนขับแต่ละท่านก็พร้อมที่จะเล่าประวัติศาสตร์ในแต่ละจุดให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และความเพลิดเพลินด้วยนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916
171  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ไหว้พระเสริมมงคลรับปีใหม่ที่ “วัดดวงดี” อีกหนึ่งวัดมงคลนามของเชียงใหม่ เมื่อ: มกราคม 26, 2014, 11:16:24 PM
ไหว้พระเสริมมงคลรับปีใหม่ที่ “วัดดวงดี” อีกหนึ่งวัดมงคลนามของเชียงใหม่

เลดี้ ดาริกาเคยนำเสนอเรื่องราวของวัดมงคลนามในเชียงใหม่ไปแล้ว ๓ แห่ง คือ วัดหมื่นเงินกอง วัดเชียงมั่น และวัดเชียงยืน เพื่อนๆ ลองไปเที่ยวกันดูหรือยังคะ? แต่วัดมงคลนามในเมืองเชียงใหม่ยังไม่หมดเท่านี้ วันนี้ เลดี้ ดาริกาจึงงัดไม้เด็ด มาชวนเพื่อนๆ เที่ยว เพราะวัดที่จะแนะนำให้รู้จักวันนี้ชื่อเป็นมงคลมากๆ ค่ะ “วัดดวงดี” ไหว้พระเสริมบารมี ให้ดวงดีขึ้นๆ รับปีมะเมียกันค่ะ

วัดดวงดี ทางเข้าด้านถนนพระปกเกล้า

“วัดดวงดี” มีอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดพันธนุดวงดี” ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่า ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ใกล้กับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่ว่าถนนพระปกเกล้านั้น ไม่ได้อยู่ริมถนนให้เจอกันง่ายๆ หรอกนะคะ ต้องเดินเข้าไปในซอยนิดหน่อย เดินมาจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือจากทางสี่แยกกลางเวียง มีจุดสังเกตคือภาพกราฟฟิตี้รูปสิงห์ขนาดใหญ่ข้างกำแพงอาคารพาณิชย์ หรือหากมาทางถนนราชภาคินัย ให้เข้าซอยเล็กๆ ด้านข้างวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ หรือจะเที่ยววัดอุโมงค์ฯ ก่อน แล้วออกทางประตูหลังวัด ก็จะมองเห็นพระวิหารวัดดวงดีเด่นเป็นสง่า อยู่ห่างกันแค่ ๕๐๐ เมตรเอง

วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด มีเพียงจารึกที่ฐานพระพุทธรูปประธานภายในพระวิหารเท่านั้น ที่ระบุเอาไว้ว่าพระประธานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๙ คาดว่าคงสร้างขึ้นหลังจากพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้ว

พระวิหารหลวงวัดดวงดี

ไม้แกะสลักลายพรรณพฤกษาประดับพระวิหาร อ่อนช้อย วิจิตรมากๆ

พงศาวดารเมืองเชียงใหม่บันทึกเอาไว้ว่า เจ้าอาวาสวัดดวงดีเคยได้รับอาราธนาให้ลาสิกขาบทเพื่อครองนครเชียงใหม่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๐๔ – ๒๓๐๖ ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่ว่างเว้นจากการปกครองของพม่า นอกจากนี้วัดดวงดียังเคยใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนของลูกขุนนางในสมัยก่อน และเป็นอาคารเรียนชั่วคราวของนักเรียนยุพราชวิทยาลัยก่อนการสร้างโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยปัจจุบันจะแล้วเสร็จอีกด้วย

หมู่พระประธาน และภาพจิตรกรรมภายในพระวิหาร

พระเจ้าดวงดี พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในพระวิหาร

พระวิหารหลวงของวัดดวงดีหลังปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยม เสาไม้ด้านหน้าอาคารสูงโปร่ง ทำให้พระวิหารดูสง่างามมาก หน้าบันพระวิหารตกแต่งด้วยงานแกะสลักไม้ลวดลายพรรณพฤกษาและดอกบัว ปิดทองอร่ามละเอียดอ่อนช้อยมาก ภายในพระวิหารประดิษฐาน “พระพุทธรูปดวงดี” เป็นพระประธานปางมารวิชัย ที่ฐานพระมีจารึกเขียนไว้ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๙ ด้านข้างยังมีพระพุทธรูปเรียงรายอีกหลายองค์  ฝาผนังด้านหลังพระประธานเป็นภาพเขียนสีทองบนพื้นสีแดง

เจดีย์ประธานของวัด

ด้านหลังพระวิหารหลวง เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ประธานของวัด ศิลปะล้านนา ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ฐานบัวหกเหลี่ยมซ้อนกันสี่ชั้น รองรับองค์ระฆังขนาดเล็ก ประดับด้วยกระจกสี ส่วนยอดประดับด้วยฉัตรสีทองห้าชั้นตามธรรมเนียมล้านนา

พระอุโบสถ หน้าบันแบบม้าต่างไหม ประดับกระจกสี

พระอุโบสถ เป็นอาคารขนาดเล็ก สถาปัตยกรรมล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๗ ขนาดเล็กกว่าพระวิหารมาก ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหาร ด้านหน้าประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักสวยงามมาก หน้าบันแบบม้าต่างไหมประดับกระจกสี ผนังภายในเขียนภาพจิตรกรรมลายคำ

หอไตรเก่าแก่ของวัดประดับด้วยลายปูนปั้นสวยงามมาก

หอไตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๒ โดยเจ้ามหาอุปราชมหาวงศ์ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน มีหลังคาสามชั้น ส่วนยอดเป็นฉัตรเก้าชั้น บริเวณซุ้มประตู-หน้าต่าง และเสาอาคารประดับด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ฝีมือประณีตสวยงาม ปัจจุบันอาจมีบางส่วนที่ชำรุดไปตามกาลเวลา ฝาผนังภายในมีภาพลายคำเรื่องพระเวสสันดรชาดก

ลวดลายปูนปั้นประดับประตูหอไตร

วัดดวงดีเป็นหนึ่งในเก้าวัดนามมงคลที่ผู้แสวงบุญต้องมาเยือน ทำให้มีผู้คนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาสักการะขอพรกันอยู่เป็นประจำ ผู้ใดมากราบไหว้จะดวงดีสมดังชื่อวัด เพื่อนๆ ที่มาเยือนเชียงใหม่ มีโอกาสก็มาไหว้พระขอพรให้ดวงดีรับปีใหม่กันนะคะ แต่จะมัวหวังพึ่งแต่ดวง หรือโชคชะตาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดวงจะดีจะร้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาเสมอไป มันขึ้นอยู่การกระทำของเรานี่แหละคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :01:


172  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / คุยเรื่อง ดอยอินทนนท์ / ท่องเที่ยวเชิงเกษตร สัมผัสวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอที่ “บ้านแม่กลางหลวง” เมื่อ: มกราคม 24, 2014, 08:58:02 AM
ท่องเที่ยวเชิงเกษตร สัมผัสวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอที่ “บ้านแม่กลางหลวง”

การทำนาคืออาชีพหลักของคนทุกเผ่าพันธุ์ในเอเชียอาร์คเนย์มาแต่เก่าก่อน ในบ้านเรา ไม่ว่าจะไปทางไหน ก็มักเห็นนาข้าวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ทุ่งนาที่เราเคยรู้จักกันดีตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด เริ่มมีบาทบาทมากขึ้นทุกๆ วันในเชิงการท่องเที่ยว จากที่เคยเป็นเพียงกิจกรรมทางเกษตรรูปแบบหนึ่ง กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม ที่เน้นการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา นาข้าวในภาคเหนือประเทศ มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับท้องนาในที่ราบลุ่ม เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับกับที่ราบเล็กๆ ทำมีพื้นที่จำกัด ชาวนาต้องปรับพื้นที่บริเวณไหล่เขาให้เป็นนาข้าว โดยทำเป็นขั้นบันได เกิดทัศนียภาพสวยงามแปลกตา เราไปทำความรู้จักกับนาขั้นบันไดที่ได้ชื่อว่าสวยงาม และมีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ที่บ้านแม่กลางหลวงกันนะคะ

ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง หรือเรียกตามภาษาปกาเกอะญอว่า "แม่กลางคี" ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง บริเวณนี้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงรู้จักกันในชื่อ “ชาวปกาเกอะญอ” อันหมายถึง “ผู้มีความสมถะและเรียบง่าย” ซึ่งบริเวณบ้านแม่กลางประกอบด้วยชุมชนย่อย 4 แห่ง ได้แก่ บ้านอ่างกาน้อย บ้านแม่กลางหลวง บ้าหนองล่ม และบ้านผาหมอน ซึ่งยังคงยึดถือความเชื่อ และปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชนเผ่ามาตราบจนทุกวันนี้

ทิวทัศน์นาขั้นบันไดสีเขียวหน้าฝน


ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพการเกษตรทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะการทำนาข้าว และปลูกกาแฟ นาข้าวมีลักษณะเป็นนาขั้นบันได ซึ่งเป็นกิจกรรมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์เคยเสด็จมายังโครงการหลวงอินทนนท์ ทรงให้ความรู้ และแนะนำอาชีพให้กับชาวบ้านในแถบนี้ การทำนาขั้นบันได เป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่เหมาะกับพื้นที่บนภูเขา ส่งเสริมให้ครอบครัวชาวปกาเกอะญอมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวปกาเกอะญอ



นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมหมู่บ้านแม่กลางหลวง จะได้สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คน ที่ยังคงพึ่งพาธรรมชาติ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังคงดำรงตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ นาขั้นบันไดหมู่บ้านแม่กลางหลวง เป็นพื้นที่นาในหุบเขาขนาดใหญ่ เมื่อใกล้ฤดูดูเก็บเกี่ยว ข้าวในนาจะเริ่มตั้งทอง และชูรวงเหลืองอร่ามทั่วทั้งหุบเขา กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ให้มาช่วงกลางเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน แต่สำหรับผู้ชื่นชอบสายฝน และความเขียวขจีทองท้องทุ่ง อยากชมทุ่งนาสีเขียวชอุ่ม กระตุ้นความสดชื่น เสริมสร้างความกระปรี้กระเปร่าแล้วล่ะก็ ขอแนะนำให้มาเยือนที่นี่ในช่วงเดือนสิงหาคม – กลางตุลาคมจะดีที่สุด เพราะเป็นฤดูฝนพรำ ไม่เพียงแต่ผืนนาเท่านั้นที่เป็นสีเขียว แต่ป่าไม้โดยรอบก็เขียวขจีสบายตามากๆ

บ้านพักเล็กๆ ริมน้ำ สงบเงียบดีมากๆ :)



นักท่องเที่ยวที่อยากใช้ชีวิตดื่มด่ำกับธรรมชาติ สามารถพักค้างคืนในหมู่บ้านได้ มีโฮมสเตย์ไว้คอยบริการผู้มาเยือน เลือกได้หลากสไตล์ ไม่ว่าจะบ้านหลังน้อยกลางทุ่งนา หรือบ้านริมลำธารชุ่มช่ำ ราคาไม่แพง ประมาณ 500 -1,200 บาทต่อคืน ใครอยากนอนเต็นท์ ก็นำเต็นท์มากางที่ลานแค้มปิ้งได้ ราคาคนละ 30 บาทต่อคืน หรือจะเช่าเต็นท์จากชาวบ้านที่นี่ คิดคนละ 150 บาท ต่อคืนพร้อมเครื่องนอนครบถ้วน

ชมทิวทัศน์สวยๆ ปิดท้ายกันนะคะ :)



บ้านแม่กลางหลวงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่ผู้มาเยือนจะได้ใกล้ชิดธรรมชาติบริสุทธิ์ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกระเหรี่ยง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการค้างคืนก่อนเดินทางไปยอดดอยอินทนนท์ ผู้สนใจสามารถเดินทางมาที่นี่ได้ โดยใช้ถนนหมายเลข 1009 จากอำเภอจอมทองมายังบ้านแม่กลางหลวงระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร จุดสังเกตสำคัญคือทุ่งนาในเขตหุบเขาสองข้างทาง ที่เห็นแล้วคุณจะรู้ได้ทันที เตรียมตัวเลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านแม่กลางหลวงได้เลยค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917
173  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / “เวียงจูมออน” โรแมนติกกับร้านชาสีชมพู สไตล์โมร็อคโก เมื่อ: มกราคม 22, 2014, 01:32:50 PM
“เวียงจูมออน” โรแมนติกกับร้านชาสีชมพู สไตล์โมร็อคโก

บนถนนเลียบแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก ย่านชุมชนวัดเกตการาม มีร้านรวง และตึกเก่ามากมายตั้งเรียงราย รอคอยนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน นอกจากตึกโบราณอายุอานามหลายสิบปีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น วัดเกตการามศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนแถบนี้แล้ว ที่นี่ยังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านชาบรรยากาศดีๆ ไว้คอยตอนรับผู้มาเยือนในวันว่างๆ วันนี้ เลดี้ ดาริกาขอแนะนำร้านชาสุดโปรดอีกแห่งหนึ่งให้เพื่อนๆ ได้รู้จัก เผื่อใครกำลังหาที่นั่งเล่นสบายๆ ยามว่าง

"เวียงจูมออน" นครสีชมพู บนถนนเลียบแม่น้ำปิงตะวันออก ย่านวันเกตการาม

“เวียงจูมออน ทีเฮาส์” ร้านชาบรรยากาศสบายๆ ริมแม่น้ำปิงแห่งนี้เรียกความตื่นตาตื่นใจของผู้มาเยือนเป็นครั้งแรก ด้วยบรรยากาศการตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์ โดยใช้สีชมพูเฉดต่างๆ เป็นธีมของร้าน ชื่อร้านที่ว่า “เวียงจูมออน” นั้นเป็นภาษาเหนือ หมายถึง “นครสีชมพู” โดยเจ้าของร้านได้แรงบันดาลใจมาจากการท่องเที่ยวในเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ภายในร้านจะได้กลิ่นอายของโมร็อคโก ผสมผสานกับอินเดีย ช่างเป็นบรรยากาศที่ลงตัว และเพิ่มอรรถรสในการดื่มด่ำกับชาคุณภาพได้ดีมากๆ

ละเมียดละไมพิถีพิถันกับการตกแต่งร้านมากๆ :)

ด้านหน้าร้านเป็นโซนสำหรับขายสินค้าเกี่ยวกับชา มีผลิตภัณฑ์ชาหลากหลายชนิดให้เลือกสรร ทั้งชาแท้ และชาดอกไม้นานาชนิด รับรองว่าต้องถูกใจคนรักชาเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่สินค้าใบชาคุณภาพเท่านั้น ในโซนนี้ยังมีอุปกรณ์ชงชาน่ารักๆ สำหรับผู้ที่ดื่มชาเป็นประจำ ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเพื่อชงดื่มในที่ทำงาน หรือที่บ้าน แม้จะไม่ได้อยู่ที่ร้าน หรือบรรยากาศไร่ชา แต่ก็ยังดื่มด่ำสุนทรียภาพจากการดื่มชาได้นะคะ

บรรยากาศแบบโมร็อคโกสีชมพู ^_^

May I try some?...ummmm :)

ด้านบนเป็นที่นั่งสำหรับลูกค้า ติดแอร์เย็นช่ำ ตกแต่งห้องได้น่ารัก เอาใจคนชอบถ่ายรูป ใครที่ไม่ชอบความเย็นจากแอร์ แต่อยากชื่นชมธรรมชาติ สัมผัสอากาศร้อนนิดๆ ลมโชยผ่านใบไม้เบาๆ แนะนำด้านหลังของร้านเลยค่ะ ทางร้านจัดเป็นที่นั่งกว้างขวาง กางกั้นด้วยผ้าสีชมพู คล้ายกระโจมในโมร็อคโก น่ารักมากๆ เดินลงไปนิดเดียวก็ถึงริมแม่น้ำปิง มีที่นั่งกลางแจ้ง มีร่มไม้เป็นหลังคา ในวันอากาศดีๆ บริเวณนี้ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

ดื่มด่ำกับชาหลากรสหลากสไตล์


เรามาพูดถึงเมนูเครื่องดื่มแบบชาๆ และของกินอร่อยๆ กันบ้างค่ะ ที่นี่มีชามากมายหลากหลายชนิดไว้คอยบริการนักดื่มชาจนจุใจทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นชาตำรับ ทั้งชาจีน และชาฝรั่ง ที่ไม่เสริมเติมแต่งอะไร สำหรับคนรักรสชาติชาแบบธรรมชาติๆ ชาดอกไม้นานาชนิด ที่ชวนให้สาวๆ อยากลิ้มลอง อาทิ ชากุหลาบ ชามะลิ ซึ่งมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ละมุนละไม ชาผลไม้ เช่น ชาแอปเปิ้ล และชาเบอร์รี่ต่างๆ รสชาแกมรสเปรี้ยวของผลไม้พอดีๆ ช่วยดับกระหาย คลายร้อน สร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้ดี

it's sweet time! :) let's have some


แม้ “เวียงจูมออน” จะได้ชื่อว่าเป็นร้านชา หรือทีเฮาส์ แต่ก็มีของว่าง และขนมหวานหลากหลายสไตล์ไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือนด้วย เมนูเค้กก็มีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งแบบเป็นชิ้นสำหรับหนึ่งคน และจัดไว้เป็นเซ็ตสำหรับคนที่อยากลิ้มลองไปเสียทุกอย่าง เพราะน่ากินไปหมดจนเลือกไม่ถูก  แนะนำให้รับประทานคู่กับชาแบบต่างๆ เป็นการเพิ่มสุนทรียะได้ดีมากๆ นอกจากของหวานของรับประทานเล่นแล้ว ก็ยังมีของว่างที่หนักท้องนิดหน่อย สำหรับลูกค้าที่ต้องการอิ่มท้องด้วย

อันนี้มาแบบเป็นเซ็ต ชิ้นเล็กๆ แต่มีหลายรสชาติ


บลูเบอร์รี่หยดเยิ้มน่ากินมากๆ :)

มาเดินเล่นย่านวัดเกตการาม ชุมชนเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ แล้วแวะมาจิบชากินขนมที่เวียงจูมออน ก็สุนทรีย์ไปอีกแบบ แม้ว่าราคาอาจจะแพงนิดหน่อย แต่ด้วยความพิถีพิถัน และคุณภาพของชา ก็ถือว่าน่ามาลองสักครั้ง จะมาคนเดียว มากับก๊วนเพื่อน หรือมากันสองคนคู่รักกระหนุงกระหนิง ก็ยิ่งโรแมนติกไปใหญ่

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  913
174  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / “ข่วงพระเจ้าล้านนา” พุทธมณฑลภาคเหนือ พุทธศิลป์ล้านนาสมัยใหม่ เมื่อ: มกราคม 22, 2014, 01:57:40 AM
“ข่วงพระเจ้าล้านนา” พุทธมณฑลภาคเหนือ พุทธศิลป์ล้านนาสมัยใหม่

ล้านนาคือดินแดนแห่งพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีต พระพุทธศาสนาหยั่งรากลึกบนแผ่นดินแห่งนี้ หล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของผู้คน ประเพณี ศิลปะ และวรรณคดีอย่างแยกไม่ออก จึงไม่น่าแปลกใจ หากเราจะเห็นวัดวาอารามน้อยใหญ่ ทั้งเก่าและใหม่ กระจายอยู่ทุกหนแห่ง สอดแทรกอยู่ในภาพจิตรกรรม นิทานที่เล่าขานสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า

มุมมองข่วงพระเจ้าล้านนาจากถนนเลียบคลองชลประทาน

“ข่วงพระเจ้าล้านนา” สร้างขึ้นจากเหตุและผลดังที่กล่าวมานั้น เพื่อเป็นศูนย์รวมใจแห่งใหม่ของพุทธศาสนิกชนในเมืองเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ เป็นสถานที่ประชุมพลเพื่อประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ด้วยความตั้งใจมั่นของอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ ที่จะสร้างพุทธสถานเอาไว้เป็นพุทธบูชา และมรดกของแผ่นดินสืบไป หลังจากข่วงพระเจ้าล้านนาแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จ อาจารย์และชาวเชียงใหม่ได้ถวายสถานที่แห่งนี้ให้กับแผ่นดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ปัจจุบัน “ข่วงพระเจ้าล้านนา” อยู่ในความดูแลของกองทัพบก ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บนถนนเลียบคลองชลประทาน

พุทธมหาเจดีย์ข่วงพระเจ้าล้านนา เจดีย์แบบล้านนาประยุกต์

ข่วงพระเจ้าล้านนาได้รับการรังสรรค์โดยสถาปนิก ผศ. จุไรพร ตุมพสุวรรณ โดยเน้นการออกแบบให้สอดคลองกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยผสมผสานกลิ่นไอสมัยใหม่เข้าไปด้วย อาคารสถานต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณพุทธมณฑลแห่งนี้จึงเป็นแบบล้านนาประยุกต์ ที่มองแล้วได้กลิ่นไอความเป็นเมืองเหนือ แต่ก็ดูไม่ล้าสมัย หรือเก่าเกินไปจนคนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึง ใครที่สนใจเข้าชมก็เดินทางมาเยี่ยมชมได้เลยค่ะ

ภายในพุทธมหาเจดีย์ข่วงพระเจ้าล้านนา ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง

โดยรอบจำลองพระธาตุปีนักษัตร ๑๒ ปีเอาไว้ให้ผู้คนได้สักการะ

สิ่งแรกที่จะสะดุดตาผู้มาเยือนคืออาคารรูปทรงคล้ายสถูปแบบล้านนาประยุกต์ หลังคาสีทองสดใส สะท้อนแสงแดดจ้าในยามกลางวัน อาคารแห่งนี้คือ “พุทธมหาเจดีย์ข่วงพระเจ้าล้านนา” เป็นเจดียสถานที่สามารถเข้าไปภายในได้ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย จำลองมาจากวัดพระพุทธบาทสี่รอยในอำเภอแม่ริม ซึ่งถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเชียงใหม่ และเป็นที่สักการะของประชาชนทั่วไป พระพุทธบาทสี่รอยสร้างจากความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทซ้อนกันเอาไว้ ผนังด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดไว้จำนวน ๙๙ พระองค์ บนฐานโดยรอบพระเจดีย์ด้านนอก จำลองพระธาตุประจำปีนักษัตรทั้ง ๑๒ องค์มาไว้ที่นี่ เพื่อให้พุทธศาสนานิกชนได้กราบไหว้ โดยไม่ต้องเดินทางไกล

พระเจ้าล้านนา พระประธานของพุทธมณฑลแห่งนี้

ด้านหน้าสถูปมีลานกว้างใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา บริเวณใกล้ๆ กันนั้นประดิษฐาน “พระเจ้าล้านนา” พระพุทธรูปทองเหลืองมารวิชัย ภายในซุ้มโขงแบบล้านนา ตั้งอยู่บนพื้นยกสูง เพื่อเป็นพระประธานของมณฑลแห่งนี้ ลักษณะพุทธศิลป์สร้างให้ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบล้านนา

ศาลาบาตร


ภายในศาลาบาตร ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดจำนวน ๙ องค์


ใกล้ๆ กันนั้นคืออาคารล้านนาประยุกต์ เรียกว่า “ศาลาบาตร” เป็นอาคารยาว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด ๙ องค์ พร้อมวาดภาพจิตรกรรมไว้ด้านหลังองค์พระพุทธรูป แม้จะเป็นภาพวาดใหม่ แต่ก็รักษาเอกลักษณ์และกลิ่นอายแบบล้านนาเอาไว้ได้ดีทีเดียว

ศาลธรรม สร้างไว้เพื่อการปฏิบัติธรรม

พระเจ้าทันใจ พระประธานภายในศาลาธรรม

บริเวณไม่ไกลจากทางเข้านัก เราจะพบอาคารหลังหนึ่งตั้งอยู่กลางสระน้ำ เชื่อมระหว่างฝั่งกับตัวอาคารด้วยสะพานนาค เรียกว่า “ศาลาธรรม” ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนที่สนใจ ส่วนสระน้ำดังกล่าวเป็นการจำลองสระอโนดาตตามพุทธคติ ภายในศาลธรรมประดิษฐานพระเจ้าทันใจ พร้อมซุ้มโขงและแท่นแก้ว

บรรยากาศด้านในข่วงพระเจ้าล้านนา

จำลองเหตุการณ์พุทธประวัติ "ประสูติ"

จำลองเหตุการณ์พุทธประวัติ

ชมภาพบรรยากาศสวยๆ ภายในข่วงฯ

ปิดท้ายด้วยภาพนี้นะคะ :)

ด้านในของข่วงพระเจ้าล้านนา มีอาคารเล็กๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ เป็นการจำลอง “สังเวชนียสถาน” ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาไว้ที่นี่ ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นต้น ข่วงแห่งนี้เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ต้นไม้ที่ปลูกไว้จึงยังโตไม่เต็มที่ แต่จากที่ได้เดินเล่นเข้าไปภายในนั้น คิดว่าเมื่อต้นไม้โตเต็มที่คงจะร่มรื่นไม่น้อยทีเดียว


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903



175  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ชมพระอุโบสถเงินหลังแรกของโลกที่ “วัดศรีสุพรรณ” เมื่อ: มกราคม 20, 2014, 10:22:26 PM
ชมพระอุโบสถเงินหลังแรกของโลกที่ “วัดศรีสุพรรณ”

ย่านถนนวัวลายเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีชื่อเสียงของเมืองเชียงใหม่ นอกจากเป็นที่รู้จักในนามของถนนคนเดินวัวลายทุกๆ วันเสาร์แล้ว ยังเป็นแหล่งศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินเครื่องเขินที่สำคัญ เมื่อเราย่างก้าวเข้าสู่ชุมชน ก็มักได้ยินเสียงค้อนกระทบสิ่วดังมาแต่ไกล นี่คือวิถีชีวิตที่ชาวบ้านในย่านนี้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ในชุมชนแห่งนี้มี “วัดศรีสุพรรณ” เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ด้วยเอกลักษณ์ด้านเครื่องเงินนี้เองจึงทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างพุทธศาสนา และวิถีชีวิต เกิดสุดยอดงานพุทธศิลป์อันวิจิตร อดใจไม่ได้ที่จะนำเสนอเพื่อนๆ ให้ได้รู้จักกับ Unseen อีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่

พระอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ เมืองเชียงใหม่

วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ ตามหลักศิลาจารึกหินทรายแดง ระบุเอาไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2043 ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงนำพระเจ้าเจ็ดตื้อ หรือพระพุทธปาฏิหาริย์ฯ มาประดิษฐานที่วัด ต่อมาทรงสร้างพระวิหาร พระบรมธาตุเจดีย์ และอุโบสถ ในปี พ.ศ. 2052 ทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ และนำพระเจ้าเจ็ดตื้อมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ ภายหลังได้มีการบูรณะวัด โดยการสร้างพระวิหารขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2403

การประดับตกแต่งละเอียดและอ่อนช้อยมาก


ในปี พ.ศ. 2537 พระครูพิทักษ์สุทธิคุณพร้อมด้วยชาวบ้าน ได้ทำการบูรณะวิหารวัดศรีสุพรรณ วาดจิตรกรรมฝาผนัง นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงิน การดุนลายประดับตกแต่งฝาผนังวิหาร นับเป็นจุดเริ่มต้นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการบูรณาการร่วมกับพระพุทธศาสนาได้อย่างลงตัว ต่อมามีการจัดตั้ง “กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ” และปี พ.ศ. 2550 จึงจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนานวัดศรีสุพรรณ” เพื่อสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของชุมชนให้อยู่สืบไป

ลวดลายด้านหลังพระอุโบสถ


จุดเด่นของวัดคือพระอุโบสถเงินทรงล้านนาหลังแรกของเมืองไทย ทดแทนหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างด้วยโลหะเงินและดีบุก โดยฝีมือและภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องเงิน เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ด้านนอกพระอุโบสถประดับตกแต่งด้วยหัตถกรรมเครื่องเงินอย่างวิจิตอลังการ ตั้งแต่หลังคาจนถึงฐาน ด้านหลังเป็นงานดุนลายเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติ และความเป็นมาของพระเจ้าเจ็ดตื้อ ด้านในประดิษฐานพระเจ้าเจ็ดตื้อ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก เนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างหลวง องค์สีทองตัด กับสีเงินของพระอุโบสถอย่างสง่างาม


พระเจ้าเจ็ดตื้อ พระประธานในพระอุโบสถเงิน


นอกจากความงามที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชมแล้ว ยังมีเรื่องเล่าของรอยกระสุนปืนที่พระบาทซ้ายของพระเจ้าเจ็ดตื้อ ซึ่งเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก เนื่องจากบริเวณวัดศรีสุพรรณเคยเป็นฐานที่มั่นของกองทัพญี่ปุ่น ใช้หอไตรเป็นหอบัญชาการ ซึ่งในปัจจุบันยังคงความสมบูรณ์ อยู่เคียงข้างพระอุโบสถในทิศตะวันออก เมื่อกองทัพญี่ปุ่นถูกศัตรูบุก กระสุนปืนจึงมาโดนที่พระบาท ปรากฏร่องรอยมาจนถึงปัจจุบัน


หลักศิลาจารึกประวัติวัดศรีสุพรรณ อยู่ด้านข้างพระวิหารทางทิศตะวันตก จารึกด้วยอักษรฝักขามบนหินทรายแดง เป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดศรีสุพรรณสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน

พระวิหารวัดศรีสุพรรณ รูปแบบล้านนา

พระวิหารทรงล้านนา สร้างขึ้นในสมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2403 ด้านหน้าตั้งแต่ช่อฟ้าจนถึงเสาประดับด้วยลวดลายสีทองสวยงาม เมื่อเข้ามาด้านในพระวิหารจะพบกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ฝาผนังเป็นจิตรกรรมเกี่ยวกับชาดก และพุทธประวัติ มีหัตถกรรมเครื่องเงินการดุนลายประดับตกแต่งที่ฝาผนังอีกด้วย

พระประธานภายในพระวิหาร

ภาพจิตรกรรมภายในพระวิหาร

พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนาน ฐานเป็นสี่เหลี่ยม ตัวองค์เจดีย์เป็นชั้นกลีบบัวคว่ำ-บัวหงาย ซ้อนขึ้นไป 8 ชั้น ต่อด้วยองค์ระฆังคว่ำ และยอดฉัตร

เจดีย์ประธานของวัดศรีสุพรรณ

หอไตรเก่าแก่ของวัด

พระพิฆเนศ อยู่บริเวณด้านหน้าหอไตร ขนาดหน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.50 เมตร ทรงเครื่องศิลปกรรมล้านนา สร้างขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญของช่างสิบหมู่

พระพิฆเนศ

ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ และสถานฝึกอบรมศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินและเครื่องประดับ อยู่ทางทิศตะวันออกของพระวิหาร เป็นสถานที่ฝึกอบรมภูมิปัญญาด้านเครื่องเงินที่สืบทอดมาเป็นเวลากว่า 200 ปี เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และฝึกอบรมกับช่างเงินผู้ชำนาญการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใครพอมีกำลังทรัพย์ก็สามารถบริจาคได้ตามศรัทธา



นับได้ว่าวัดศรีสุพรรณเป็นอีกวัดหนึ่งที่ผู้มาเยือนเชียงใหม่ต้องแวะมาชมความสวยงามของพระอุโบสถเงินหลังแรกของเมืองไทย และยังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงินของชาวบ้านอีกด้วย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  914
176  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / กราบพระบรมสารีริกธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่ “พระธาตุศรีจอมทอง” เมื่อ: มกราคม 16, 2014, 01:02:13 AM
กราบพระบรมสารีริกธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่ “พระธาตุศรีจอมทอง”

เอ่ยถึงเชียงใหม่ ใครๆ ก็คงจะนึกถึงพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของเวียงเชียงใหม่แต่เก่าก่อน คนต่างถิ่นหลายคนอาจไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว เชียงใหม่ยังมีพระธาตุเจดีย์อีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญ และประวัติความเป็นมายาวนาน น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  ใช่แล้วค่ะ...ฉันกำลังพูดถึง “พระธาตุศรีจอมทอง” พระธาตุที่มีตำนานการสร้างย้อนกลับไปเมื่อครั้งพุทธกาลเลยทีเดียว

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

“พระธาตุศรีจอมทอง” ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ในตัวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากเทศบาลเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าลงใต้ ใช้เส้นทางสานเชียงใหม่ – ฮอด ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร เลยทางแยกขึ้นดอยอินทนนท์เล็กน้อย เข้าไปในตัวอำเภอจอมทอง พระอารามแห่งนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ย่านกลางเมือง ในอดีตบริเวณที่ตั้งพระธาตุเจดีย์แห่งนี้เป็นเนินดิน สูงจากระดับปกติเล็กน้อย ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยจอมทอง” มีผู้คนมาสักการะกราบไหว้อย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังเป็นพระธาตุสำคัญสำหรับคนเกิดปีชวด (หนู) ตามความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดอีกด้วย

พระบรมสารีริกธาตุเจ้าศรีจอมทอง เป็นส่วนพระเศียรเบื้องขวา ถือเป็นพระธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่

พระบรมธาตุที่ประดิษฐานอยู่ ณ พระธาตุเจ้าศรีจอมทองแห่งนี้ เป็น “พระทักษิณโมลี” หรือพระเศียรเบื้องขวา ตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมายังยอดดอยจอมทองแห่งนี้ และทำนายว่า หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาจะประดิษฐานอยู่ ณ ดอยจอมทองนี้ ตามประวัติการสร้างวัดสันนิษฐานว่าพระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แต่จากการสำรวจงานสถาปัตยกรรม และลักษณะพุทธศิลป์ภายในวัด ปรากฏว่าเป็นลักษณะศิลปกรรมล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งเป็นช่วงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่

พระธาตุศรีจอมทอง ปิดทองจังโกเหลืออร่ามทั้งองค์ พระธาตุประจำปีชวด

ด้านหลังพระธาตุ มองเห็นวิหารทรงจตุรมุข สร้างในรัชสมัยพระเมืองแก้ว

“พระบรมสารีริกธาตุศรีจอมทอง” มีความพิเศษแตกต่างจากพระธาตุแห่งอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้ฝังอยู่ในดินใต้ฐานพระเจดีย์ แต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ปราสาทปิดทอง ตั้งอยู่ในพระวิหารทรงจัตุรมุข สร้างโดยพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์มังราย สามารถนำออกมาประชาชนสักการะ และสรงน้ำได้ ซึ่งในอดีตกษัตริย์เมืองเชียงใหม่หลายพระองค์ได้อัญเชิญพระธาตุศรีจอมทองนี้ไปทำพระราชพิธีสรงน้ำในเมืองเชียงใหม่เป็นประจำ  โดยจะแวะพักที่วัดต้นเกว๋น นอกเมืองเชียงใหม่เพื่อในประชาชนย่านนั้นได้สักการะด้วย ซึ่งวัดพระธาตุศรีจอมทองจะจัดให้มีพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุเป็นประจำทุกปีในวันมาฆะบูชา และวันวิสาขบูชา

ภาพจิตรกรรมตกแต่งหน้าบันพระวิหาร

มุขด้านหลังของพระวิหาร ห้องนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

องค์พระเจดีย์ศรีจอมทองมีลักษณะศิลปะล้านนาในสมัยหลัง ฐานเจดีย์ย่อเก็จตามลักษณะเจดีย์แบบล้านนา ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังขนาดเล็ก มีรั้วล้อมรอบพระเจดีย์ และมีฉัตรทองที่มุมเจดีย์ทั้งสี่ทิศ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพม่าในงาศิลป์ล้านนา ด้านหน้าประตูทางเข้ามีสถูปองค์เล็กศิลปะแบบพม่า คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เพื่อให้เป็นเจดีย์คู่

ภายในพระวิหารตกแต่งอย่างสวยงาม

กู่คำและพระประธานภายในพระวิหาร

ด้านหน้าพระเจดีย์ประธานเป็นที่ตั้งของพระวิหารจัตุรมุข ก่ออิฐถือปูนเรียบๆ ไม่มีลวดลายมากมายนัก แต่หลังคาเป็นแบบล้านนา หน้าบันแบบม้าต่างไหม แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาสีทองสวยงามมาก ภายในพระวิหาตกแต่งอย่างวิจิตร โดยเฉพาะการวาดลวดลายบนโครงสร้างหลังคา มีพระประธานปางมารวิชัยประทับอยู่หน้ากู่คำแบบล้านนาที่ถือว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในห้องด้านหลังกู่คำ สามารถเดินเข้าไปนมัสการได้


วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร มีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากใครมีโอกาสไปเยือนดอยอินทนนท์ ยอดเขาที่สุดที่สุดในประเทศไทย จะลองแวะไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุก่อน ก็ถือเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือผู้เกิดปีชวด อยากมาทำบุญไหว้สาพระธาตุประจำปีเกิดก็เชิญได้ที่นี่เช่นกัน

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  :5569fb93:

177  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ตอนที่ ๒ “พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา” เมื่อ: มกราคม 14, 2014, 10:30:47 PM
กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ตอนที่ ๒ “พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา”

เรื่องราวของเมืองเหนือในมุมมองของคนต่างถิ่น และต่างชาตินั้นช่างแสนอ่อนช้อย เนิบช้า มีความงดงามและสุนทรียะสอดแทรกอยู่ในทุกจังหวะการดำเนินชีวิต สื่อสารออกมาในรูปแบบของศิลปวัตถุ ศาสนสถาน ภาษาและวรรณคดี เครื่องแต่งกาย และประเพณีพิธีกรรม ใครที่หลงใหลชื่นชอบเรื่องราวของล้านนา วันนี้คงไม่ผิดหวัง เพราะวันนี้จะขอพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมเยือนศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ย่านกลางเวียงเชียงใหม่ “พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา” พิพิธภัณฑ์ใหม่แกะกล่องที่นำเสนอเรื่องราวของศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบล้านนาเอาไว้อย่างครบถ้วน จัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ เปลี่ยนความคิดแบบเก่าๆ ที่ว่าเข้าพิพิธภัณฑ์แล้วง่วงหงาวหาวนอนให้กลายเป็นความอยากรู้อยากเห็น อยากทำความรู้จักได้ไม่ยาก

อาคารศาลแขวงหลังเก่า ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อาคารแบบตะวันตกโอ่อ่า สง่างามมาก

พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่จะปรับปรุงย่านกลางเวียงเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นย่านประวัติศาสตร์สำคัญให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยใช้อาคารศาลแขวงหลังเก่า ตรงข้ามกับหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ และอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เป็นพื้นที่จัดแสดงเรื่องราว และวัฒนธรรมพื้นบ้านของล้านนาโดยเฉพาะ เน้นให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตและความเป็นท้องถิ่นมากกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ

นิทรรศการ และการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์น่าสนใจมาก

อาคารศาลแขวงหลังเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก โอ่อ่าและสง่างามมาก สมกับเป็นสถานที่สำหรับตัดสินคดีความในอดีต ภายในอาคารแบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อต่างๆ ชัดเจน รวมได้ถึง ๑๓ เรื่อง ใครที่เพิ่งเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกอาจจะงงกับเส้นทางการเดินชมเล็กน้อย นั่นก็เพราะห้องต่างๆ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการจัดแสดงตั้งแต่แรก ดังนั้นขอแนะนำให้เพื่อนๆ สังเกตสัญลักษณ์ลูกศรสีแดงบนพื้น แล้วเดินไปตามลูกศรนั้นเรื่อยๆ ค่ะ รับรองว่าคุณจะได้ชมนิทรรศการครบถ้วยทุกห้อง ไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่ห้องเดียว

ภายในห้องจัดแสดง "ข่วงแก้วล้านนา"

เรามาเริ่มชมชั้นที่หนึ่งกันเลยนะคะ ห้องแรก “ข่วงแก้วล้านนา” นำเสนอเรื่องแนวคิดดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นล้านนา ซึ่งสื่อออกมาในรูปของพิธีกรรม ความเชื่อ และศิลปะแบบชาวบ้าน ห้องถัดมาคือ “ภายในวิหาร” จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของศิลปวัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาแก่พระศาสนา โดยจำลองบรรยากาศภายในวิหารแบบล้านนาเอาไว้ได้อย่างสมจริง

ภายในห้องจัดแสดง "ภายในวิหาร" จำลองบรรยากาศวิหารแบบล้านนา

ห้อง “เครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา” และ “ประติมากรรมในพระพุทธศาสนา” เป็นอีกสองห้องที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้หลงใหลศิลปะแบบล้านนา เพราะโดยพื้นฐานแล้วศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาส่วนใหญ่ของผู้คนในแผ่นดินไทยเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของศิลปินท้องถิ่นให้สร้างสรรค์งานศิลป์อันทรงคุณค่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ศิลปวัตถุส่วนใหญ่ในเมืองไทยนั้นเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม และความเชื่อทางศาสนาเป็นสำคัญ

ตัวอย่างพระพุทธรูปหล่อสำริดสกุลช่างล้านนา จัดแสดงภายในห้อง "ประติมากรรมในพระพุทธศาสนา"

ภายในห้องจัดแสดง "แห่ครัวทาน"

ห้องจัดแสดงที่ฉันประทับใจที่สุด คือ “ห้องจิตรกรรมล้านนา” ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานจิตรกรรมชิ้นเอกฝีมือสล่าชาวล้านนาที่น่าประทับใจ อาทิ จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ฯ โดยให้ข้อมูลสั้นๆ ที่ครบถ้วน เข้าใจง่าย ผู้ไม่มีความรู้ก็สามารถทำความเข้าใจได้

ภายในห้องจัดแสดง "จิตรกรรมล้านนา"

อักษรธรรมล้านนา จัดเป็นจิตกรรมล้านนาประเภทหนึ่ง

เรื่องราวของงานฝีมือแบบชาวบ้านที่เน้นการประดิษฐ์และสรรสร้างเครื่องใช้ไม่สอยในชีวิตประจำวันให้งดงาม เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ ภายในห้อง “หัตถศิลป์พื้นบ้าน” ได้รวบรวมศิลปวัตถุประเภทเครื่องเขิน ซึ่งถือเป็นหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นยิ่งของเมืองเหนือ ผู้สนใจจะได้เห็นตัวอย่างงานเครื่องเขินแต่ละสกุลช่าง และเข้าใจกรรมวิธีในการสร้างสรรค์ผลงานของแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจนกว่าการอ่านจากหนังสือเพียงอย่างเดียว

เครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา

งานฝีมือประดับทองของล้านนาก็อะเอียดอ่อน และประณีตมากเช่นกัน

งานผ้าล้านนา จัดแสดงไว้ใน “ห้องผ้าล้านนา” เป็นอีกหนึ่งงานหัตถศิลป์ที่แสดงออกถึงความสร้างสรรค์ และสุนทรียภาพของชนเผ่าไททุกหมู่ ซึ่งชาวล้านนาเองก็ให้ความสำคัญในการทอผ้าเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจกลายผ้า อันเป็นเอกลักษณ์เด่นของผ้าซิ่นเมืองเหนือ

ตัวอย่างงานผ้าแบบล้านนา เอกลักษณ์คือการจกตีนผ้าซิ่น

นอกจากนิทรรศการถาวรแล้ว ยังมีนิทรรศการชั่วคราวที่น่าสนใจหมุนเวียนมาจัดแสดงด้วย อาทิ นิทรรศการหัตถศิลป์เกี่ยวกับงาช้าง และการผ้าปักลาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น ด้านนอกอาคารจัดแสดงปรับปรุงภูมิทัศน์ไว้อย่างร่มรื่น เหมาะแกการพักผ่อน มีร้านกาแฟ Café de Museum จำหน่ายกาแฟ และขนมรสชาติดีสำหรับใครก็ตามที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการตระเวนชมเมือง ในราคาสมเหตุสมผล บรรยากาศภายในร้านหรูหรา แต่เป็นกันเอง

งานปักผ้าแบบล้านนา

การแกะสลักงาช้าง

หวีและแปรงสำหรับแปรงผม ทำจากงาช้าง

ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมราคาเพียง ๒๐ บาทสำหรับคนไทย และ ๘๐ บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือจะซื้อแบบเป็นแพ็คเกจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ ๓ แห่งราคาเพียง ๔๐ บาท (๑๘๐ บาทสำหรับต่างชาติ) บัตรเข้าชมมีอายุ ๗ วัน นับตั้งแต่วันซื้อบัตร

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (Lanna Folklife Museum) เปิดให้เข้าชมวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ *ยกเว้นเทศกาลสงกรานต์) เวลา 08:30 – 17:00 น. วันอาทิตย์เปิดเป็น Night Museum ปิดทำการเวลา 20:00 น.


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903

178  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดแม่สาหลวง ชมพระอุโบสถช้างล้อมลายคำ ประณีตศิลป์แห่งล้านนา เมื่อ: มกราคม 14, 2014, 10:39:46 AM
วัดแม่สาหลวง ชมพระอุโบสถช้างล้อมลายคำ ประณีตศิลป์แห่งล้านนา

เอกลักษณ์โดดเด่นของสถาปัตยกรรมในวัดวาอารามภาคเหนือ คือความประณีต และใส่ใจรายละเอียดในการสร้างปูชนียสถาน ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ดึงดูดผู้คนมากมายให้แห่แหนขึ้นมาชมความงามตามแบบฉบับล้านนาแท้ๆ นอกเมืองเชียงใหม่ออกไปไม่ไกลนัก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในเขตอำเภอแม่ริม เป็นที่ตั้งของวัด “แม่สาหลวง” วัดในเขตชนบทที่สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนหลายคนได้อย่างไม่ต้องสงสัย นั่นก็เพราะพระวิหารเก่าแก่ที่ยังคงความประณีตอ่อนช้อย งดงามตามแบบล้านนาไว้ได้อย่างดี วันนี้จะขออนุญาตพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับวัดเล็กๆ แห่งนี้ที่น้อยคนนักจะคิดถึง

วัดแม่สาหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านแม่สาหลวง ต. แม่สา อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2374 แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดดอยน้อย” หรือ “วัดสมเด็จดอยน้อย” ต่อมาย้ายวัดไปอยู่บริเวณสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีชื่อใหม่ว่า “วัดแม่สาป่าเหมือด” หลังจากนั้นจึงย้ายที่ตั้งอีกครั้ง มาอยู่ที่บ้านแม่สาหลวง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแม่สาหลวง” จนถึงปัจจุบัน

พระอุโบสถช้างล้อมลายคำที่วัดแม่สาหลวง

หน้าบันพระอุโบสถตกปต่งด้วยงานไม้แบบล้านนาประณีตและงดงามมาก

บริเวณกลางลานวัดเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถช้างล้อมลายคำ ศิลปะล้านนาโบราณ ตัวอาคารสร้างด้วยปูน หลังคากระเบื้องดินเผา ที่เหลือใช้ไม้ทั้งหมด ราวบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเป็นประติมากรรมพญานาคสีขาว มียักษ์สองตนเฝ้าอยู่บริเวณทางเข้า จุดเด่นของพระอุโบสถหลังนี้ คืองานแกะสลักไม้ในส่วนต่างๆ ของอาคารตั้งแต่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน เสา ซุ้มประตู-หน้าต่าง ล้วนถูกแกะสลักด้วยฝีมืออันประณีตของช่างในสมัยก่อน โดยรอบพระอุโบสถจะมีประติมากรรมช้างแกะด้วยหินทราย ประดับอยู่โดยรอบ จึงเรียกกันว่า “พระอุโบสถช้างล้อม”

ลายแกะสลักไม้บนบานประตูพระอุโบสถ


รูปปั้นช้างล้อมรอบพระอุโบสถ

พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกไม่เหมือนกับการสร้างพระเจดีย์ประธานในวัดแห่งอื่น ที่เจดีย์จะตั้งอยู่หลังพระวิหารหลวงของวัด ลักษณะขององค์เจดีย์คล้ายเจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม น่าจะได้รับอิทธิพลจากการสร้างเจดีย์ให้สมัยอาณาจักรหริภุญชัย กล่าวคือมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ถึง ๕ ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มด้านละสามซุ้ม ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรสีทอง

พระอุโบสถเมื่อมองจากด้านหลัง

พระธาตุเจดีย์ ลักษณะคล้ายเจดีย์เหลี่ยม

หอพระไตรปิฎก อยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ ลักษณะคล้ายกับหอไตรที่วัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่  เป็นอาคารสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นอาคารปูนทาด้วยสีชมพู ส่วนด้านบนเป็นเรือนไม้ ประดับด้วยงานไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองสวยงาม

หอพระไตรปิฎกมองเห็นอยู่ไกลๆ

พระวิหารทรงไทยประยุกต์ผสมล้านนา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด  เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบัน และเสาประดับด้วยงานกระจกสีสวยงาม ฝาผนังด้านในพระวิหารเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติ

พระวิหารหลวงของวัด

นับได้ว่าพระอุโบสถวัดแม่สาหลวงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และชื่นชมความงามของงานศิลป์ชั้นครูที่หาชมได้ยาก ถึงแม้อาคารสถานต่างๆ ภายในวัดจะถูกละเลยในเรื่องการทำความสะอาดและบำรุงรักษาไปบ้าง นักท่องเที่ยวอาจไม่เจริญตานัก แต่ก็ต้องยอมรับและยกย่องในคุณค่าของงานศิลป์เหล่านี้ หากได้รับการดูแลที่ดีมากขึ้น ฉันเชื่อว่าจะทำให้ผู้มาเยี่ยมชมความงดงามของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  914



179  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / Re: วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น เมื่อ: มกราคม 14, 2014, 10:20:06 AM
เอาข่าวพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดที่วัดอุปคุตมาฝากค่ะ คืนนี้แล้ว  911

"ด้วยทางวัดอุปคุต ได้จัดงานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด ขึ้นในวันอังคารที่ 14 เดือนมกราคม พุทธศักราช 2557 ซึ่งจะเริ่มประกอบพิธีทางศาสนาตั้งแต่เวลา 23.00 น. เป็นต้นไป จึงขอเชิญญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ร่วมทำบุญตักบาตร ณ วัดอุปคุต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามวันและเวลาดังกล่าว"
credit: https://www.facebook.com/WatUppacoot

เผื่อใครสนใจค่ะ  908
180  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ตอนที่ ๑ “หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่” เมื่อ: มกราคม 13, 2014, 11:56:05 PM
กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ตอนที่ ๑ “หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่”

พิพิธภัณฑ์คือแหล่งการเรียนรู้สำคัญ ในประเทศชั้นนำของโลก เด็กๆ จะได้รับการสนับสนุนให้เข้าพิพิธภัณฑ์ เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องราวที่ตนสนใจ ทศวรรษหลังมานี้วงการพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยซบเซา ไม่มีใครสนใจเข้าพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่เพราะว่าบ้านเราขาดศิลปวัตถุ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่ต้องยอมรับว่าหน่วยงานพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของรัฐถูกละเลยจากส่วนกลาง และขาดความรู้ในการจัดแสดงเรื่องราว หรือศิลปวัตถุ โบราณวัตถุให้น่าสนใจดึงดูดผู้เข้าชม


บริเวณกลางเวียงเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของเมือง อนุสาวรีย์สามกษัตริย์เปรียบเสมือนหัวใจของเมือง แต่เดิมบริเวณกลางเมืองเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ (อาคารศาลาว่าการมณฑลพายัพ หรือศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) นักท่องเที่ยวคนไหนมาเที่ยวเชียงใหม่ครั้งแรก ก็คงไม่พลาดมาเยี่ยมชมที่นี่

ฉันรู้สึกชื่นชมการจัดการพื้นที่ประวัติศาสตร์บริเวณกลางเมืองให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยว เพราะทุกวันนี้นอกจากจะมีหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่แล้ว ยังมีศูนย์เรียนรู้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก ๒ แห่ง คือ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ซึ่งเลดี้ ดาริกาจะขอนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังเป็นตอนๆ ไป


ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งคือ ๒๐ บาท (ผู้ใหญ่ชาวไทย) ๑๐ บาท (เด็กชาวไทย) ๙๐ บาท (ผู้ใหญ่ต่างชาติ) และ ๔๐ บาท (เด็กต่างชาติ) หรือจ่ายราคาเหมาเข้าชมได้ทั้งสามแห่งเพียง ๔๐ บาท (สำหรับนักท่องเที่ยวไทย) และ ๑๘๐ บาท (สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ) ซึ่งถือว่าคุ้มมาก

สถานที่แห่งแรกที่อยากนำเสนอคือ “หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่” อาคารทรงล้านนาประยุกต์ ตั้งอยู่ด้านหลังศาลาว่าการฯหลังเก่า ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนล้านนาในอดีต โดยแบ่งการนำเสนอได้ถึง ๑๖ เรื่อง แต่ละล้วนจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ ทั้งศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดง และสื่อที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วย

เสาไม้แกะสลักใช้ประกอบพิธีเลี้ยงผีของชาวลั้วะ

แผนที่แสดงเส้นทางการค้าระหว่างเชียงใหม่กับเมืองโดยรอบ

เมื่อเดินเข้ามาภายในตัวอาคารชั้นแรก ห้องนี้จัดแสดงเกี่ยวกับตำนานเมือง ความสำคัญของชนเผ่าลั้วะในฐานะผู้อยู่อาศัยเดิมบนแผ่นดินล้านนา เส้นทางการค้าขายระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองใหญ่น้อยโดยรอบ ภาษาและวรรณกรรมล้านนา รวมไปถึงกฎหมายฉบับแรกของล้านนาที่เรียกว่า “มังรายศาสตร์”  เรื่องราวของธรรมชาติ และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ

เครื่องแต่งกายของชาวลั้วะ

การแต่งกายของชาวพม่า

เดินขึ้นมาด้านบนเป็นส่วนจัดแสดงเรื่องราวยุครุ่งเรือง และยุคเสื่อมของอาณาจักรล้านนา การค้าขายทางน้ำ ที่เคยรุ่งเรื่องมากในอดีตก่อนมีทางรถไฟสายเหนือ ยุคที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ซึ่งกินเวลายาวนานถึง ๒๐๐ ปี ยุคเสื่อมของเมืองเชียงใหม่ และช่วงเวลาที่เชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างถึง ๒๐ ปี การคมนาคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะทางรถไฟที่เชื่อมเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ยุคฟื้นฟูเมือง และเรื่องราวในช่วงที่ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของสยาม จนถึงช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือรูปเก่าหาชมยากจำนวนมาก บอกเล่าเรื่องราวเชียงใหม่ในอดีตแต่ละช่วงสมัย

นิทรรศการเกี่ยวกับการคมนาคมสมัยใหม่

ภาพถ่ายเก่าหาชมยากของเมืองเชียงใหม่

เดินออกมาจากอาคารหลักสู่ส่วนจัดแสดงที่ ๓ ห้องนี้ทำให้ฉันตื่นเต้นเป็นพิเศษ ห้องนี้เป็นโถงจัดแสดงแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีแนวกำแพงโบราณ ซึ่งค้นพบทั้งหมด ๒ แห่ง แนวกำแพงทั้งสองแห่งนี้คาดกันว่าน่าจะเป็นแนวกำแพงของ “วัดพระแก้ว” ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดในพระราชวัง ตามแบบวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ การจัดแสดงซากกำแพงโบราณภายในอาคาร และโบราณวัตถุที่ค้นพบไว้ในพื้นที่เดิมที่ขุดค้นได้นั้น สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ได้ดีมาก ซึ่งพบน้อยมากในพิพิธภัณฑ์ไทย

แหล่งโบราณคดีแนวกำแพงโบราณ

จัดแสดงได้น่าสนใจมากๆ ค่ะ :)

ฉันเชื่อว่ารูปแบบการจัดแสดงเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะทำให้เรื่องราวแสนน่าเบื่อหน่ายกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ เปลี่ยนโบราณวัตถุเก่าๆ ที่ดูไร้ค่าให้กลายเป็นสมบัติมีชีวิต นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่ และเยาวชนรุ่นหลัง ขอแนะนำให้มาเที่ยวที่นี่กันเยอะๆ นะคะ รับรองว่าคุณจะลืมภาพลักษณ์พิพิธภัณฑ์เก่าๆ ไปเลยทีเดียว

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917
หน้า: « 1 2 3 4 »




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.558 วินาที กับ 18 คำสั่ง